การทูตแบบนักรบหมาป่า

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จีนปรากฏเป็นข่าวเกี่ยวกับประเด็นระหว่างประเทศหลายชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่แนวโน้มเป็นการตอบโต้กับชาติต่างๆ ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ สงครามการค้ากับสหรัฐ หรือความขัดแย้งกับไต้หวัน ที่จีนออกสื่อตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนดุดัน

ล่าสุด รัฐบาลแคนาดาก็ได้ฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต 50 ปีกับจีน ด้วยการประณามวิถีทางการทูตของจีนที่บีบบังคับกับหลายประเทศ ในขณะที่จีนบั่นทอนขบวนการประชาธิปไตยในฮ่องกงผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติและการละเมิดสิทธิชาวอุยกูร์

และไม่นานมานี้ แคนาดาเองได้ผ่านแนวปฏิบัติตรวจคนเข้าเมืองให้กับคนหนุ่ม-สาวชาวฮ่องกงที่ต้องลี้ภัยจากการปราบปรามของรัฐบาลจีนหรือชาวฮ่องกงที่ทำงานอยู่ในแคนาดาแบบพิเศษ เพื่อตอบโต้จีนที่ไฟเขียวให้สภานิติบัญญัติฮ่องกงถอดถอน 4 สมาชิกสภาฝ่ายประชาธิปไตย

เฉพาะกรณีแคนาดากับจีน ก็มีปัญหาหลายอย่างไม่แพ้สหรัฐ ทั้งการจับกุมเมิ่ง วัน โจว ลูกสาวซีอีโอหัวเว่ย บริษัทที่ถูกสหรัฐแปะป้ายว่าเป็นบริษัทที่รัฐบาลจีนหนุน หรือการที่จีนจับกุม 2 ชาวแคนาดาในข้อหาจารกรรมข้อมูล ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการเอาคืนรัฐบาลแคนาดา

การออกมาตอบโต้ชาติต่างๆ กับใครก็ตามที่มีปัญหากับจีนทั้งถ้อยคำหรือการปฏิบัติแบบแข็งกร้าว จึงเป็นที่กล่าวขานและถูกเรียกด้วยศัพท์การทูตที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ว่า “การทูตแบบนักรบหมาป่า”

 

ศัพท์ที่ฟังดูอาจเท่นี้ ที่มาของคำ กลับมาจากภาพยนตร์จีนแนวแอ๊กชั่นอย่าง Wolf Warrior ว่าด้วยเรื่องราวของทหารหน่วยรบพิเศษของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนที่ทำภารกิจสำคัญทั่วโลก

โดยพล็อตของหนังมีการปลูกฝังแนวคิดความรักชาติของจีนผ่านตัวละครและบทคำพูดที่ถูกใส่ลงไปในภาพยนตร์

แต่ไม่ว่าด้วยอะไร ชื่อของภาพยนตร์กลับถูกใช้อธิบายวิธีทางการทูตของจีนที่พร้อมตอบโต้ สวนกลับทุกอย่างกับอะไรก็ตามที่ส่งผลเชิงลบต่อภาพลักษณ์หรือความเชื่อมั่นของรัฐบาลจีนหรือความภาคภูมิใจในความเป็นชาติมหาอำนาจที่จีนพยามสร้างขึ้น

พฤติการณ์แข็งกร้าวและตอบโต้ในทันทีนี้ สะท้อนผ่านนักการทูตของจีนหรือถ้อยแถลงต่างๆ เพื่อกำจัดภาพลบต่อจีนในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถืออย่างมาก

คำพูดอันแข็งกร้าวของจีนที่ก่อนหน้ามักใช้กับประเทศขนาดเล็กหรือด้อยกว่า ก็กลับมาใช้ตอบโต้ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐหรือชาติยุโรปอย่างเปิดเผย โดยเฉพาะคำพูดของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เรียกโควิด-19 ว่า “ไวรัสจีน” ผลก็คือ จีนออกมาตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนในทันที

“การทูตแบบนักรบหมาป่า” จึงเกิดขึ้นในเวลานี้ เพื่ออธิบายวิธีทางการทูตตอบโต้เอาคืนแบบรวดเร็วฉับไว พร้อมหันคมเขี้ยวใส่ใครก็ตามที่คุกคามหมาป่าอย่างจีน

 

วิธีการทูตของจีนแบบนี้ ถือว่าเกิดขึ้นไม่นาน โดยเฉพาะยุคโซเชียลมีเดียที่ข่าวสารส่งผลต่อความคิดหรือมุมมองของผู้ใช้ทั่วโลก และเรื่องราวของจีนในสื่อออนไลน์ต่างประเทศโดยเฉพาะสื่อตะวันตก มักฉายให้จีนเป็นเหมือนผู้กระทำต่อผู้อ่อนแอ ไม่ว่ากับฮ่องกง กับไต้หวัน

การที่จีนใช้วิธีนี้ ก็แสดงให้เห็นอย่างหนึ่งว่า รัฐบาลจีนอ่อนไหวต่อภาพลักษณ์ที่ปรากฏบนโซเชียลมีเดียอย่างมาก ทำให้นักการทูตต้องเกาะติดข่าวสารที่ไหลเวียนบนโลกเสมือนจริง

ไม่เพียงเรื่องภาพลักษณ์ของรัฐบาลจีน แม้แต่เรื่องที่จีนเชิดชูอย่างหลักการ “จีนเดียว” (One China) ทุกชาติต้องเห็นแต่จีนในความคิดคือจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น อย่าให้ความสำคัญกับบางพื้นที่อย่างไต้หวัน

เช่นล่าสุด สื่อของอินเดียทำข่าวเกี่ยวกับไต้หวันมากขึ้น แม้แต่ข่าวจีนซ้อมรบในช่องแคบไต้หวันที่สะท้อนท่าทีอันแข็งกร้าวของจีนต่อไต้หวันและยังนำมาเชื่อมโยงกับกรณีพิพาทระหว่างจีนกับอินเดีย บนเส้นแบ่งเขตควบคุมตามจริง หรือ LAC

หรือการทำข่าวในสื่ออินเดียยิ่งเสนอเกี่ยวกับการเป็นเอกราชของไต้หวัน สถานทูตจีนในอินเดียจะรีบออกมากดดันแบบข่มขู่ว่าละเมิดหลักการจีนเดียวและอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ

 

ไทยเองก็เกี่ยวข้องกับการทูตแบบนี้ด้วย แต่ไม่ใช่ในฐานะคู่กรณี แต่เป็นตรงกลางของสงครามน้ำลายกันเมื่อมีการพาดพิงถึงจีนอย่างกรณีแม่น้ำโขงที่เกิดปัญหาการไหลของน้ำจนส่งผลกระทบต่อประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง โดยสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยเสนอข้อมูลผลกระทบของแม่น้ำโขงลงบนโซเชียลมีเดีย โดยกล่าวถึงการสร้างเขื่อนของจีนส่งผลต่อการไหลของน้ำตามธรรมชาติจนกระทบต่อประชาชนหลายประเทศและระบบนิเวศ

ผลก็คือสถานทูตจีนประจำประเทศไทยออกมาตอบโต้อย่างรวดเร็ว โดยเสนอภาพลักษณ์เชิงบวกของจีนต่อแม่น้ำโขงและตอบโต้สหรัฐไปพร้อมกัน

นี่จึงแสดงให้เห็นว่า จีนไม่ยอมอยู่เฉยๆ ให้ถูกฉายภาพว่าตัวเองเป็นผู้ร้ายที่ก่อความเสียหาย

 

อย่างไรก็ตาม วิธีการทูตแบบนี้ก็ส่งผลด้านกลับเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น กรณีการตอบโต้บนโลกโซเชียลจากปรากฏการณ์บนทวิตเตอร์ของนักแสดงชาวไทยจากซีรี่ส์แนววาย ที่จับพลัดจับผลูต้องโดนถล่มเพราะเรื่อง “จีนเดียว” และ “ไต้หวัน” ตามมาด้วยการตอบโต้บนทวิตเตอร์ระหว่างผู้เล่นชาวจีนและผู้เล่นชาวไทยที่ด่าไทยยังไง ผู้เล่นชาวไทยกลับไม่สะเทือนแล้วยังโต้คืนชนิดเจ็บแสบกว่า

โต้กันจนกระแสซาลงไป แต่แล้วสถานทูตจีนประจำประเทศไทยก็ใช้วิธีการทูตแบบนี้ปลุกกระแสขึ้นอีกครั้ง โดยผลิตซ้ำหลักการจีนเดียวและย้ำคำพูดว่าไทยกับจีนเป็นบ้านพี่เมืองน้อง แต่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยที่ต่อต้านรัฐบาลปัจจุบันซึ่งชอบทำตัวเป็นลูกไล่รัฐบาลจีนด้วย เห็นการตอบโต้แบบไม่ดูตาม้าตาเรือนี้ จึงออกมาวิจารณ์กันสนั่นก่อนเกิดคำว่า “ชานมข้นกว่าเลือด” และปลุกให้ตื่นรู้ปัญหาแม่น้ำโขงที่จีนเป็นตัวก่อปัญหา

และนั่นกลายเป็นที่มาของ “พันธมิตรชานม” (Milk Tea Alliance) ซึ่งมีแกนหลักคือ ฝ่ายประชาธิปไตยในไทย ไต้หวันและฮ่องกง

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า จีนต้องเข้าใจการทูตระหว่างประเทศในเวลานี้ว่า การใช้วิธีตอบโต้ข่มขู่กับประเทศอื่นๆ แบบที่ทำอยู่นั้นไม่ใช่หนทางที่ถูกที่ควร แต่ต้องอาศัยการเจรจาและปรึกษาหารืออย่างถูกต้อง

การให้ทูตออกมาแสดงความรักชาติแบบล้นเกินผ่านคำพูดและน้ำเสียงราวกับเสียงขู่ของหมาป่า แม้จะได้เสียงหนุนจากในประเทศที่สนับสนุนรัฐบาลจีน แต่ในประชาคมระหว่างประเทศนั้น จีนจะมีแต่สูญเสียเพื่อนและโดดเดี่ยวตัวเองจากโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

แทนที่ภาพลักษณ์จะดีขึ้น จีนกลับแสดงอิทธิพล มาทำลายอิทธิพลที่ตัวเองมีลงเสียเอง