มองบ้านมองเมือง/ที่มาของความแปลกแยก

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

ที่มาของความแปลกแยก

ใครที่เคยสัญจรบนทางยกระดับถนนพระรามสี่ จากสะพานเหลืองไปยังสวนลุมพินี ที่เรียกขานกันว่า สะพานไทยญี่ปุ่น และต่อเนื่องกับสะพานไทยเบลเยียมนั้น คงจะสังเกตเห็นว่า ทางวิ่งแยกห่างจากกัน มีช่องว่างตรงกลางตลอดแนว

คงมีใครที่สงสัยว่า ทำไมต้องสร้างแยกเป็นสองทาง การก่อสร้างน่าจะยุ่งยากและแพงกว่ารวมเป็นทางเดียว ที่สำคัญ ทำให้ทางขึ้นลงตรงหน้าวัดหัวลำโพงวุ่นวาย ต้องไปแทรกอยู่ตรงกลาง

ที่มาของความแปลกแยกในนี้ อาจทำให้เข้าใจในสภาพวุ่นวายของ กทม.

เมื่อหลายสิบปีก่อน ผู้เขียนอยู่ในคณะผู้จัดทำ รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยก ศาลาแดง สุรวงศ์ และสามย่าน ที่ยาวต่อเนื่องกัน ตามแนวถนนพระรามสี่

จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า แนวถนนพระรามสี่ ที่ยาวตลอดจากหัวลำโพง ผ่านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสวนลุมพินี ไปจนถึงคลองเตยนั้น เป็นแนวเดียวกับคลองที่ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา จากบริเวณคลองเตย มาคลองผดุงกรุงเกษม ที่เป็นคลองชั้นนอกของเมืองบางกอกในเวลานั้น เพื่อช่วยลดเวลาในการเดินเรือ ไม่ต้องอ้อมไกลไปทางบางคอแหลม บางกระเจ้า และบางรัก

คลองลัดนี้ จึงมีขนาดกว้าง ใหญ่ และลึก สำหรับเรือบรรทุกสินค้า ส่งผลให้ดินที่ขุดขึ้นมามีจำนวนมาก พอถมพื้นที่ลุ่มสองข้างคลอง

เมื่อบดอัดดินให้แน่น ก็พอใช้เป็นทางให้ฝรั่งขี่ม้าเล่นในระยะแรก และขี่รถยนต์รับลมในระยะหลัง

เนื่องจากแนวคลองที่ขุดเป็นแนวตรง ไม่เหมือนคลองอื่น ทำให้ผู้คนจึงเรียกขานว่า ถนนตรง โดยลำดับแล้ว ทางสายนี้เกิดก่อนถนนเจริญกรุง

แต่เมื่อไม่ได้ตั้งใจสร้างเป็นถนน หากเป็นผลพลอยได้มาจากการขุดคลอง จึงไม่ใช่ถนนสายแรกของบางกอก

ต่อมา ฝรั่งได้รับสัมปทานเดินรถไฟสายแรกของไทย จากหัวลำโพงไปปากน้ำ ก็อาศัยถนนริมคลองตรงทางทิศเหนือ สร้างทางรถไฟ

การขนส่งทางรถไฟที่สะดวกรวดเร็วกว่าการเดินเรือในคลอง ทำให้การสัญจรทางน้ำค่อยๆ ลดลง จนคลองตรงกลายเป็นทางระบายน้ำ ที่เน่าเหม็นและตื้นเขินในเวลาต่อมา

พอถึงยุคน้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี ในปีสองพันห้าร้อย กระแสการถมคลอง ขยายผิวจราจรทั่วประเทศ คลองตรงและทางสองข้างจึงกลายเป็นถนนพระรามสี่ ที่กว้างขวางจนถึงปัจจุบัน

ระหว่างการก่อสร้างถนนนั้น ยังมีอีกโครงการที่เกิดขึ้นพร้อมกัน คือ การสร้างท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ใต้แนวถนน เพื่อรองรับน้ำจากเขตชั้นในแนวคลองผดุงกรุงเกษม ไปลงแม่น้ำเจ้าพระยาที่คลองเตย ส่งผลให้พื้นที่บริเวณนี้ รอดพ้นจากปัญหาน้ำท่วม

เช่นเดียวกับโครงการสะพานข้ามทางแยกนั้น ก็มีแผนก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนระบบรางในเขตทางเดียวกัน ผู้ออกแบบจึงกำหนดให้รางรถไฟฟ้าอยู่สูงระดับ 14 เมตรตรงกลาง ส่วนสะพานข้ามทางแยกที่อยู่ระดับ 7 เมตร อยู่สองข้าง

คงเป็นเพราะงบประมาณก่อสร้างระบบรางสูงมาก ประกอบกับมีคนต่อต้านว่า จะทำให้บ้านเมืองไม่สวยงาม

แต่ที่สำคัญคือ ปริมาณผู้สัญจรยังไม่มากพอ ทำให้โครงการรถไฟลอยฟ้าถูกยกเลิกไป

ทิ้งช่องว่างไว้ให้ปรากฏเช่นในปัจจุบัน

เมื่อระบบขนส่งระบบรางของรถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้งสายสุขุมวิทและสีลมประสบความสำเร็จ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เอ็มอาร์ที จึงลงมือก่อสร้างระบบรางตามแผนเดิม แต่คงไม่อยากตามใครเลยเลือกเป็นใต้ดินแทน ที่ก่อให้เกิดอุปสรรคมากมาย

เพราะทางรถไฟลงไปอยู่ใต้ดิน ไปเจอะเจอกับท่อยักษ์ที่มีอยู่เดิม รวมทั้งโครงสร้างใต้ดินของสะพานข้ามทางแยก แนวรางจึงต้องย้ายมาทางทิศเหนือ คือใกล้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มากกว่าวัดหัวลำโพง อีกทั้งตัวสถานียังต้องแบ่งเป็นสองระดับ และฝังตัวลงไปลึกมาก

ส่งผลให้สถานีหัวลำโพง สามย่าน ศาลาแดง ลุมพินี และคลองเตย มีรูปแบบสถานีที่ไม่ธรรมดา