สุรชาติ บำรุงสุข : 88 ปีระบอบทหารไทย ep.19 | ภูมิทัศน์ใหม่ 2540

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“พรรคการเมืองเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการระดมคนเป็นจำนวนมาก

ในขณะที่กองทัพเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการใช้ความรุนแรง”

Xavier Marquez (2017)

ปี 2540 เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่จะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในเวทีโลก ยังคงเป็นปีที่กระแสโลกาภิวัตน์พัดพาประชาธิปไตยไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของโลก ในปีนี้รัฐบาลอังกฤษได้ส่งมอบฮ่องกงคืนให้กับรัฐบาลจีน มาเดอลีน อัลไบรท์ เป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในชัยชนะของขบวนการสิทธิสตรีในกระแสโลกด้วย แม้ปีนี้จะมีสุภาพสตรีคนสำคัญสองคนเสียชีวิตคือ แม่ชีเทเรซา และเจ้าหญิงไดอาน่า

ในปีนี้ยังเห็นถึงความเป็นโลกาภิวัตน์ในแบบของการลงนามของผู้แทน 150 ประเทศในปฏิญญาเกียวโต (Kyoto Protocol) ว่าด้วยปัญหาโลกร้อน ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทางของแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนของสภาวะอากาศของโลก (climate change) หรือแนวคิดเรื่อง “ความมั่นคงทางด้านนิเวศวิทยา” (ecological security) ซึ่งในปีดังกล่าวได้เห็นถึงความแปรปรวนของอากาศ เช่น ความแห้งแล้งอย่างรุนแรงในซีกโลกใต้ และความหนาวเหน็บในซีกโลกภาคเหนือ รวมทั้งการเกิดพายุอย่างมากด้วย อีกทั้งยังเห็นถึงการระบาดของไข้หวัดอีกแบบที่ระบาดในหมู่สัตว์ปีกในจีนและในฮ่องกง และถูกเรียกว่า “หวัดนก” (Avian Flu หรือ Bird Flu) อันเป็นการส่งสัญญาณถึงปัญหาความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด อันมีนัยหมายถึง “ปัญหาความมั่นคงด้านสาธารณสุข” (health security) เพราะเชื้อไวรัสนี้อาจระบาดจากสัตว์ปีกสู่มนุษย์ได้ และอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วย

ต่อมาในช่วงกลางปียังเห็นถึง “ปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” (economic security) ที่เป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤตต่าเงินบาทที่กรุงเทพฯ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างมาก และมีกระทบจนนำไปสู่ “วิกฤตเศรษฐกิจโลก” (global economic crisis) ในช่วงปลายปีอีกด้วย… วิถีของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป และสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ความมั่นคงไม่ใช่ประเด็นทางทหารในแบบเดิม หากเป็น “ปัญหาความมั่นคงใหม่” (non-traditional security) แม้จะมีโจทย์สงครามระหว่างรัฐ แต่ก็เป็นสงครามในมิติใหม่เช่นสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 2534… ภูมิทัศน์ความมั่นคงของโลกเปลี่ยนไป บทบาทของทหารก็เปลี่ยนไปด้วย แล้วทหารไทยจะปรับเปลี่ยนอย่างไร

ภูมิทัศน์ใหม่

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในโลกาภิวัตน์ก็คือ ประเทศไทยอยู่ภายใต้กระแสโลก และปี 2540 เป็นช่วงเวลาที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมืองไทยอีกแบบ เพราะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการการเมืองเอง เท่าๆ กับที่มีผลต่อสถาบันทหารโดยตรงด้วย

การกำเนิดของรัฐธรรมนูญ 2540 ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองใหม่ของไทย แต่เดิมรัฐธรรมนูญมักจะเป็นผลผลิตจากคณะรัฐประหาร ผู้นำทหารจึงเป็นผู้กำหนดอนาคตการเมืองด้วยการออกแบบรัฐธรรมนูญให้รองรับต่อความต้องการทางการเมืองของพวกเขาเสมอ แต่ในครั้งนี้ตัวแทนของ

ประชาชนทำหน้าที่เป็น “สถาปนิกทางการเมือง” แทนนักกฎหมายผู้ซื่อสัตย์ต่อทหาร การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจึงเป็นดังการกำเนิดของ “ภูมิทัศน์ใหม่” ของการเมืองไทย

ในอีกด้านผลพวงจาก “วิกฤตค่าเงินบาทไทย” ในปี 2540 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง จนอาจกล่าวเปรียบเทียบได้ว่า วิกฤตเศรษฐกิจไทย 2540 น่าจะมีความรุนแรงที่กระทบต่อสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรงที่สุด นับจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อประเทศไทยอย่างมากในปี 2473 วิกฤตครั้งนี้กระทบต่อกองทัพอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของงบประมาณทหาร ตลอดรวมถึงงบประมาณในเรื่องของการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ ซึ่งในขณะนั้นกองทัพอากาศได้ตกลงใจที่จะจัดหาเครื่องบินรบแบบเอฟ-18 จากสหรัฐอเมริกา และจะเป็นครั้งแรกที่กองทัพอากาศไทยจะมีเครื่องบินขับไล่ที่เป็นสองเครื่องยนต์ ทั้งที่เป็นข้อถกเถียงอย่างมากในยุทธศาสตร์ไทยว่า เอฟ-18 มีความจำเป็นมากกว่าเครื่องแบบเอฟ-16 อย่างไร

การซื้ออาวุธสมรรถนะสูงที่มีมูลค่าอย่างมากเช่นในกรณีเครื่องบินรบนั้น ต้องจ่ายด้วยเงินสกุลดอลลาร์ เพราะเป็นการจัดซื้อจากสหรัฐฯ แต่ค่าเงินบาทที่ตกลงอย่างมากจากวิกฤตที่เกิดขึ้น ทำให้การจ่ายค่าเครื่องบินรบชุดนี้เป็นไปไม่ได้เลย และการจ่ายค่าอาวุธจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก และยังกระทบต่อสถานะด้านงบประมาณของกองทัพอากาศเองด้วย จนกล่าวกันว่าเครื่องบินรบฝูงนี้อาจทำให้กองทัพอากาศต้องล้มละลายได้ เพราะจะไม่เหลืองบประมาณที่จะใช้กิจการด้านอื่นๆ และในขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็ไม่สามารถแบกรับ “หนี้อาวุธ” ครั้งนี้ได้เลย จนต้องคิดใหม่ว่า กองทัพอากาศจะตัดสินใจอย่างไรกับอนาคตของเอฟ-18 ซึ่งในที่สุดแล้วกองทัพอากาศได้ตัดสินใจคืนโครงการเอฟ-18 และรัฐบาลอเมริกันก็รับโครงการนี้คืน

นอกจากนี้สถานการณ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคก็เปลี่ยนไป การสิ้นสุดของสงครามในกัมพูชาทำให้เวียดนามถอนกำลังรบกลับประเทศในปี 2532 ซึ่งรวมทั้งกำลังพลในลาวด้วย ปัญหาภัยคุกคามของเวียดนามจึงลดระดับลงอย่างมาก อาจกล่าวได้ว่า “ภัยคุกคามของสงครามใหญ่” ที่รัฐบาลและกองทัพไทยได้เตรียมการมาตั้งแต่การแตกของพนมเปญในต้นปี 2522 ยุติลงแล้ว และสงครามภายในของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยได้สิ้นสุดลงตั้งแต่ปี 2526 แล้ว… สงครามแบบเก่าของยุคสงครามเย็นในบริบทของไทยปิดฉากลงแล้ว

การเมืองใหม่

การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมเช่นนี้ ทำให้เกิดคำถามอย่างมากว่า กองทัพไทยจะปรับตัวอย่างไรกับ “โลกหลังสงครามเย็น” ในเงื่อนไขของไทย เป็นไปได้ไหมว่า เมื่อสงครามและภัยคุกคามในยุคสงครามเย็นยุติลง จะเป็นเงื่อนไขให้กองทัพหันมาสนใจกิจการทหารมากกว่ากิจกรรมการเมือง ดังเช่นที่เห็นในหลายประเทศว่า กองทัพในหลายประเทศโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ยอมรับว่าภูมิทัศน์ใหม่ของยุคหลังสงครามเย็นเป็นเงื่อนไขโดยตรงให้ “การปฏิรูปกองทัพ” เป็นความจำเป็นในตัวเอง

การเมืองไทยก็เห็นปรากฏการณ์ใหม่ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ตัดสินใจลาออกอันเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และกลายเป็นโอกาสให้พรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายชวน หลีกภัย กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่แม้การเมืองจะมีอาการ “ลุ่มๆ ดอนๆ” ตลอดรวมถึงข้อครหาอย่างไรก็ตาม แต่ข้อดีก็คือ วิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นไม่กลายเป็น “เทียบเชิญ” ให้

ผู้นำทหารกลับเข้าสู่การเมืองอีก ดังจะเห็นได้ว่านับตั้งแต่การเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (หลังจากรัฐประหาร 2534) จากรัฐบาลชวน 1 ในเดือนกันยายน 2535 จนถึงการสิ้นสุดของรัฐบาลชวน 2 ในเดือนพฤศจิกายน 2543 การเมืองจำกัดอยู่ในเวทีรัฐสภา และการเมืองขับเคลื่อนด้วยระบบรัฐสภา ไม่จำเป็นต้องอาศัย “รถถัง” มาช่วยผลักดัน

ในช่วงระยะเวลากว่า 8 ปีนั้น การเปลี่ยนอำนาจของการเมืองไทยเกิดขึ้นในระบบรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ การลาออกของนายกรัฐมนตรี และมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลถึง 4 ชุด คือ รัฐบาลชวน 1 รัฐบาลบรรหาร รัฐบาลชวลิต และรัฐบาลชวน 2 อีกทั้งน่าสนใจอย่างมากที่ผู้นำทหารไม่มีท่าทีที่จะคุกคามต่อการคงอยู่ของรัฐบาลพลเรือนเหล่านี้แต่อย่างใด แม้การเมืองจะมีปัญหาหรือมีข้อครหา ตลอดรวมถึง “เรื่องอื้อฉาว” (scandals) เพียงใด สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นการ “ออกบัตรเชิญ” ให้ทหารเข้ามายึดอำนาจแต่อย่างใด

สถานการณ์ใหม่เช่นนี้ ดูเหมือนผู้นำทหารเองก็ต้องการที่จะอยู่ใน “กรอบการเมืองใหม่” ที่ทหารจะไม่เอากำลังรบออกมาเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จนเชื่อว่าการเมืองไทยกำลังเกิดแนวคิดเรื่องของ “การควบคุมโดยพลเรือน” (civilian control) ซึ่งเป็นหัวใจของการจัด “ความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือน-ทหาร” ในระบอบประชาธิปไตย (civil-military relations) ที่กองทัพจะอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนในฐานะของการเป็นเครื่องมือในนโยบายแห่งรัฐ เช่นในประเทศพัฒนาแล้ว ภายใต้หลักการนี้ กองทัพจะไม่อยู่ในฐานะของการเป็น “คู่แข่งขัน” หรือในบางกรณีจะไม่เป็น “ผู้ท้าทาย” กับรัฐบาลพลเรือน และทหารจะไม่แทรกแซงทางการเมือง

ภายในกองทัพไทยเองก็เกิดความตื่นตัวอย่างมากกับ “กระแสปฏิรูปกองทัพในยุคหลังสงครามอ่าวเปอร์เซีย” ดังจะเห็นได้ว่าสงครามที่สหรัฐฯ และพันธมิตรเปิดการโจมตีกองทัพอิรักในการยึดครองคูเวตในต้นปี 2534 นั้น เป็นสงครามในมิติใหม่ ที่มีทั้งบริบทของเทคโนโลยีทหารใหม่ แนวคิดการยุทธ์ในสนามใหม่ อันส่งผลให้การโจมตีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และจบลงอย่างรวดเร็วในทางการรบ สงครามชุดนี้เป็นสงครามใหญ่ครั้งแรกในยุคหลังสงครามเย็น ที่นักการทหารทั่วโลกต้องเรียนรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และท้าทายอย่างมากกับชุดความคิดเก่าทางทหาร เพราะการปลดปล่อยคูเวตใช้เวลาของปฏิบัติการทางทหารเพียง 100 ชั่วโมงหลังจากกำลังรบทางบกเปิดการโจมตี ไม่ใช่เวลาเป็นปีเช่นเมื่อครั้งปลดปล่อยปารีสในสงครามโลกครั้งที่ 2

โลกใหม่ของทหาร

โลกทางทหารเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทำให้นายทหารในกองทัพไทยหลายส่วนเริ่มหันมาสนใจปัญหาภายในกองทัพมากขึ้น เวทีสัมมนาและอภิปรายในเรื่องของ “กิจการทหาร” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในกองทัพไทย จนเป็นเสมือนสัญญาณในเชิงบวกว่า นายทหารในกองทัพสนใจเรื่องทางทหาร มากกว่าเรื่องการเมือง ซึ่งความสนใจเช่นนี้จะเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างและพัฒนาความเป็น “ทหารอาชีพ” ของไทย (professional soldiers) อันจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทย เพราะหากคณะนายทหารมีแนวโน้มที่จะเป็น “ทหารการเมือง” มากกว่าเป็น “ทหารอาชีพ” แล้ว การสร้างประชาธิปไตยในไทยจะไม่มีทางที่จะประสบความสําเร็จได้เลย และจะทำให้การเมืองวนเวียนอยู่กับเรื่องของการแทรกแซงของทหารไม่รู้จบ

สภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดเป็นความฝันสำหรับนักประชาธิปไตยไทยอย่างมากว่า การเปลี่ยนผ่านในไทยตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่แม้อาจจะไม่ราบเรียบทั้งหมด แต่อย่างน้อยถ้าทหารไม่กลับมาทำรัฐประหารอีก และการเมืองไทยในระบอบรัฐสภาจะมีโอกาสและเวลาในการพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น อีกทั้งเมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 จะถูกนำออกมาใช้จริง เพื่อที่ทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองอย่างที่หลายฝ่ายได้วาดความฝันไว้ ก็จะทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยไทยมีความ “ยั่งยืน” มากขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้นำไปสู่ความหวังประการสำคัญว่า นับจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว รัฐประหารจะเป็นเพียงอดีตของการเมืองไทย แต่ใครเล่าจะรับประกันว่าความหวังเช่นนี้จะไม่เป็นเรื่อง “ลมๆ แล้งๆ” ในวันข้างหน้า!