เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | น่านน้ำใจเมือง

มาน่านระหว่างวันจันทร์ที่ 9-อังคารที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อเยี่ยมชมพื้นที่วัฒนธรรมตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาวิถีชีวิต วิถีชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะตน (อัตลักษณ์) อันเป็นเสน่ห์ยิ่งของเมืองน่าน

ผู้ประสานงานนี้คือ คุณสโรธ รัตนมาศ วัฒนธรรมจังหวัดน่าน ผู้เป็นชาวน่านโดยกำเนิด จึงทุ่มเทให้กับงานศิลปวัฒนธรรมที่เป็นทั้งเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของเมืองน่านโดยเฉพาะ

เสน่ห์เมืองน่านคือความเป็นเมืองศิลปวัฒนธรรมโดยแท้

เอกลักษณ์ของเมือง นอกจากเป็นเมืองต้นน้ำน่านแล้วยังมีความโดดเด่นเป็นเอกคืออารยธรรมเมืองที่สืบเนื่องมาแต่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18 คือราว พ.ศ.1825 มีพญาภูคาเป็นพ่อเมือง ก่อนจะมาสัมพันธ์กับอาณาจักรสุโขทัย กระทั่งมาร่วมขอบขัณฑสีมาเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2331 สมัยรัชกาลที่ 1

เมืองน่านจึงรุ่มรวยด้วยอารยธรรมความเจริญรุ่งเรืองทั้งวัดวาอาราม จารีตประเพณี และเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

อันเป็นเสน่ห์น่านมาจนทุกวันนี้

ดังวัดภูมินทร์ กลางเมืองน่าน ที่งามด้วยสถาปัตยกรรมและจิตรกรรม ภาพ “กระซิบรัก” กับภาพชีวิตชาวน่าน บนผนังโบสถ์ ฝีมือของหนานบัวผัน จิตรกรเอกร่วมสมัยกับศิลปินยุคต้นรัชสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากวัดภูมินทร์แล้ว จิตรกรหนานบัวผัน จิตรกรเอกท่านนี้ยังฝากฝีมือไว้ที่ผนังโบสถ์วัดหนองบัว จังหวัดน่านอีกด้วย

บันดาลใจจากภาพ “กระซิบรัก” เราได้นำมาเขียนบทกวีชื่อ “นันทบุรี” จำเพาะภาพนี้ด้วยบทนี้ว่า

“เกาะไหล่ใกล้แก้ม แย้มแย้มยิ้มยิ้ม

ผู้หนุ่มกรุ้มกริ่ม ผู้สาวพราวใส

กางจ้องผ่องผ่อ กอดคอเคียงไหล่

ค่อยคลาดค่อยไคล ในนันทบุรี ฯ”

เมืองน่านมีอีกชื่อว่า “นันทบุรี” ซึ่งสืบเนื่องมาแต่เมืองเก่าคือ “วรนคร” ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของน่านคืออำเภอปัว

นอกจากเอกลักษณ์อันมีเสน่ห์ด้วยอารยธรรมของน่านแล้ว น่านยังมี “อัตลักษณ์” ด้วยความเป็นตัวของตัว คือชนเผ่าหลากหลาย โดยเฉพาะชุมชนบนดอยซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมมีวิถีชีวิตและวิถีชุมชนอยู่บนเทือกดอยสูงสลับซับซ้อนราวเมืองฟ้าเมืองสวรรค์ของภูมิแผ่นดินเมืองน่าน

มีโอกาสขึ้นไปที่ตำบลสกาด ชุมชนลัวะบนดอยสูงว่าราวพันสองร้อยเมตรจากระดับน้ำทะเล มีบ้านพักแรมที่เรียกโฮมสเตย์นั้น เขามีการแสดงของเยาวชนให้ชม เด็กสาวเกล้ามวยทัดกิ่งใบเมี่ยงดูงามแปลกตาดี

ใบเมี่ยงก็คือใบชา ที่นอกจากนำมาผ่านกรรมวิธีจนชงเป็นน้ำชาดื่มแล้ว ก็ใบเมี่ยงนี่แหละที่นำมาหมักปั้นเป็นก้อนเคี้ยวเล่นกินได้ด้วย ดังเป็นที่นิยมอยู่ในภาคเหนือ ว่ากันว่า คำเมี่ยงหรือเมี่ยงคำอย่างภาคกลางนี้ก็มีต้นฉบับไปจากใบเมี่ยงนี่เอง

พิเศษยิ่งคือเขายังเสาะหาใบไม้สีชมพูมาผสมชงชาใบเมี่ยง กลายเป็นชาสีชมพูรสพิเศษอีกด้วย รวมทั้งผสมขิงเป็นชาน้ำขิงสีชมพูอร่อยนัก

นี่ก็ดูเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของร้านชาชมพูบนดอยสกาด

จากนี้ไปเยี่ยมชมและพักแรมที่ดอยซิลเวอร์ เป็นโรงงานช่างฝีมือทำเครื่องประดับเงินหรูหราละเอียดนักจนแทบไม่น่าเชื่อว่านี่เป็นอัตลักษณ์ที่เป็นอารยธรรมสืบช่วงหลายชั่วคนของชนชาว “เมี่ยน” หรือ “เย้า” ที่แต่งตัวงดงามด้วยผ้าทอมือประดับเครื่องเงินบรรเจิดวิจิตรตระการและอลังการนัก

วิถีอารยะ และวิถีชีวิตที่ใช้ความสามารถเลี้ยงตัวด้วยตัวของตัวเองนี้แหละวิเศษนัก ทราบว่าชุมชนทั้งบนดอยและพื้นล่างนี้สร้างผลิตผลการเกษตร ทั้งเลี้ยงตัวและเป็นสินค้าส่งออกแทบไม่ต้องพึ่งตลาดในประเทศเลย โดยเฉพาะพืชผักออร์แกนิกส์อันเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ

สองวันแค่นี้น้อยนักที่ได้สัมผัสกับเสน่ห์เมืองน่าน ระหว่างสองวันที่ว่ายังได้เห็นคนมาเที่ยวน่านกันมากมาย ประชากรน่านมีราวหกแสนกว่าคน ก่อนโรคโควิดระบาดก็ว่ามีนักท่องเที่ยวมาน่านราวปีละกว่าหกแสนคนเช่นกัน สถานการณ์ชวนเที่ยวกันเองในประเทศดูจะดีวันดีคืน โดยเฉพาะเมืองน่านน่าจะเป็นตัวชี้วัดการท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมที่ดีที่สุด

ขอเพียงทุกจังหวัดจะร่วมบูรณาการเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่ทุกจังหวัดมีอยู่ให้กลายเป็น “ทุนวัฒนธรรม” อันทรงค่า ซึ่งนี่คือ

ภูมิบ้านภูมิเมืองโดยแท้

๐ ภูคาพ่อขุดภู

ขึ้นเป็นเวียงวรนคร

ขุนน้ำในดงดอน

มาไหลเลี้ยงทุกลุ่มลำ

น้ำย่างลงหล่อย่าน

แลน้ำน่านคือลำนำ

น้ำปัวเป็นปวงคำ

มาหล่อวัดในแหล่งเวียง

ขุนเขามิอาจขวาง

แม่เมืองข้างจึงมาเคียง

งำเมืองผงาดเรียง

จึ่งโรจน์หล้าพ่อผานอง

ขุนน้ำคือขุนน่าน

และขุนผาคือผากอง

ย้ายเมืองมาเรืองรอง

เป็นเมืองน่านนันทบุรี ฯ