“สายลมที่หวังดี” : ชีวประวัติของ “เพลงป๊อปร็อก-การเมือง” เพลงหนึ่ง

คนมองหนัง

“ฉันอาจเป็นสายฝน เมื่อเธอร้อนใจ อบอุ่นเหมือนไฟ เมื่อเธอเหน็บหนาว อาจเป็นดนตรี กล่อมเธอเมื่อเหงา อาจเป็นแสงดาว เมื่อเธอแหงนมอง”

บนเวที “ม็อบเฟสต์” ถนนราชดำเนิน เมื่อช่วงค่ำวันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน “เอ้-กุลจิรา ทองคง” และ “พัด-สุทธิภัทร สุทธิวาณิช” นักร้องนำวง “Zweedz n” Roll” ได้ร่วมกันร้องเพลง “สายลมที่หวังดี” เพื่อยกย่อง “ทราย เจริญปุระ” นักแสดง-ศิลปินรุ่นพี่ ซึ่งประกาศตัวสนับสนุนผู้ชุมนุม “ราษฎร-เยาวชนปลดแอก” มาโดยต่อเนื่อง

ภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก Aey Thongkong

อย่างไรก็ดี ก่อนจะถูกเปล่งร้อง-ขับขานออกมาโดยสองผู้เข้าแข่งขันรายการ “เดอะวอยซ์ไทยแลนด์ 2014” (ซึ่งสร้างความประทับใจให้คนดูจากการร่วมกันร้องเพลง “ไม่รักดี” ของ “อุ๊-หฤทัย ม่วงบุญศรี” ในรอบแบตเทิล)

เพลง “สายลมที่หวังดี” นั้นมีชีวประวัติอันยาวนาน ซึ่งทอดผ่านความเปลี่ยนแปลงของทั้งผู้คน อุตสาหกรรมบันเทิง-ดนตรี และสังคมการเมืองไทย

ในตลอดระยะ 21 ปีที่ผ่านมา

“สายลมที่หวังดี” คือเพลงดังที่สุดเพลงหนึ่งในชีวิตนักร้อง (ระยะสั้นๆ) ของ “ทราย เจริญปุระ” และอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นบทเพลงที่โด่งดังข้ามกาลเวลาเพียงเพลงเดียวของเธอ

“สายลมที่หวังดี” จึงมีความเชื่อมร้อยกับพัฒนาการ-พลวัตในวงการบันเทิงของ “ทราย” ชนิดแยกไม่ออก

“นาฬิกาทราย” อัลบั้มเพลงชุดแรกสุดของ “ทราย” ในสังกัดแกรมมี่เมื่อปี 2538 คือ ผลงานที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเติมเต็ม-สานต่อความสำเร็จของเธอในฐานะดาราเด็ก ซึ่งเพิ่งโด่งดังจากละครเรื่อง “ล่า” (รับบทเป็นลูกสาว “นก-สินจัย เปล่งพานิช”)

ขณะที่ “SINE” อัลบั้มชุดที่สองซึ่งออกกับสังกัด “อินแอนด์ออนมิวสิก” (ค่ายเพลงของบริษัทจัดจำหน่ายเทป-ซีดี “ออนป้า”) เมื่อปี 2541 ก็คือผลงานเพลงที่ “ทราย” ได้ร่วมงานกับ “แมว-จิรศักดิ์ ปานพุ่ม” ศิลปิน-คนเบื้องหลังที่กำลัง “มือขึ้น” ในยุคนั้น เป็นหนแรก

นี่คือผลงานเพลงที่แสดงให้เห็นว่า “ทราย เจริญปุระ” นั้นได้เติบโตขึ้นจากนักแสดงเด็กบุคลิกขี้อาย มาสู่การเป็นสาวมั่น ตัดผมสั้น และมุ่งมั่นกับดนตรีร็อก

ก่อนที่ “ทราย” จะหวนกลับตึกแกรมมี่ (หลังยุคต้มยำกุ้ง-การพังทลายลงของบรรดาค่ายเพลงอินดี้และกระแสอัลเทอร์เนทีฟ) ด้วยการเป็นศิลปินในค่ายย่อย “อัพจี” แล้วออกอัลบั้มชุด “D^SINE” ภายใต้การดูแลของ “แมว จิรศักดิ์” อีกครั้ง เมื่อปี 2542

นี่เป็นอัลบั้มที่มีเพลง “สายลมที่หวังดี” บรรจุอยู่ และกลายเป็นอัลบั้มชุดสุดท้ายบนเส้นทางสายดนตรีของ “ทราย เจริญปุระ”

ราวกับว่าเธอรู้สึกอิ่มตัวกับความสำเร็จที่เพียงพอแล้วบนเส้นทางสายดังกล่าว

นอกจากการมีเพลงดัง-เพลงดีอย่าง “สายลมที่หวังดี” แล้ว อีกหนึ่งมาตรวัดความสำเร็จของ “ทราย” ในฐานะนักร้อง และอัลบั้มชุด “D^SINE” ก็คือการที่เธอได้รับรางวัล “ศิลปินหญิงร็อกยอดเยี่ยม” บนเวที “สีสัน อะวอร์ดส์” ครั้งที่ 12

อันเป็นความสำเร็จที่ดำเนินคู่ขนานไปกับผลงานการนำแสดงภาพยนตร์เรื่อง “นางนาก” (2542) ซึ่งมีสถานะเป็น “หนังไทยทำเงินสูงสุด” ณ ห้วงเวลานั้น

รางวัลสีสันฯ ผลักดันให้ “ทราย” กลายเป็น “ศิลปินหญิงระดับขึ้นหิ้ง” เทียบเคียงได้กับยอดนักร้องสตรีหลายๆ ราย ซึ่งมีน้ำเสียงทรงพลังและเป็นเอกลักษณ์

ในประวัติศาสตร์ของ “สีสัน อะวอร์ดส์” มีการจัดมอบรางวัล “ศิลปินหญิงร็อกยอดเยี่ยม” อยู่เพียงสามคราวเท่านั้น

ก่อนหน้า “ทราย เจริญปุระ” ที่ได้รับรางวัลสาขานี้ประจำปี 2542 ก็มี “สุกัญญา มิเกล” (เพื่อน/พี่ร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองของ “ทราย” ณ ปัจจุบัน) ซึ่งได้รางวัลสาขาเดียวกันจากผลงานชุด “Crossover” เมื่อปี 2539

และหลังจาก “ทราย” ก็มีแค่ “กาน-วีรวรรณ หุยนันท์” อีกเพียงรายเดียว ที่ได้รับรางวัลสาขาดังกล่าว จากอัลบั้ม “คนไม่มีหัวใจ” เมื่อปี 2544 (นี่คือผลงานในสังกัด “แมดแคทซ์” ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ “แมว จิรศักดิ์” เช่นกัน)

หรือหากลองพลิกย้อนข้อมูลว่ามี “ศิลปินหญิง” คนไหนที่เคยได้รับรางวัล “สีสัน อะวอร์ดส์” อีกบ้าง ในระหว่างครึ่งแรกของทศวรรษ 2540 เราก็จะพบแต่เหล่า “บิ๊กเนม” ทั้งสิ้น ได้แก่

“วิยะดา โกมารกุล ณ นคร” ซึ่งได้รับรางวัลศิลปินหญิงเดี่ยวยอดเยี่ยม จากอัลบั้ม “ด้วยหัวใจอย่างเดียว” เมื่อปี 2540

“ใหม่ เจริญปุระ” ได้รับรางวัลศิลปินหญิงเดี่ยวยอดเยี่ยม จากอัลบั้ม “แผลงฤทธิ์” เมื่อปี 2541

“อุ๊-หฤทัย ม่วงบุญศรี” ได้รับรางวัลศิลปินหญิงเดี่ยวยอดเยี่ยม จากผลงานชุด “By Heart” และ “The Voice” ในปี 2542 และ 2544

“แอม-เสาวลักษณ์ ลีละบุตร” ได้รับรางวัลศิลปินหญิงเดี่ยวยอดเยี่ยม จากอัลบั้ม “City Woman” เมื่อปี 2543

“ปาน-ธนพร แวกประยูร” ได้รับรางวัลศิลปินหญิงเดี่ยวยอดเยี่ยม จากอัลบั้ม “True Story ความรัก ผู้ชาย ปลาย่าง” เมื่อปี 2545

นอกจากนั้น เมื่อปี 2542 ยังมี “ริค วชิรปิลันธ์” ที่ได้รับรางวัลเพลงบรรเลงยอดเยี่ยม จากเพลง “ปฐม” ที่เธอสร้างสรรค์ร่วมกับ “สุกี้ กมล สุโกศล แคลปป์” และมีเพลง “ตบมือข้างเดียว” ที่ได้รับรางวัลเพลงยอดเยี่ยม โดยเครดิตตกเป็นของ “สุทธิพงษ์ สมบัติจินดา” ผู้แต่งคำร้อง และ “วุฒิชัย สมบัติจินดา” ผู้แต่งทำนอง (ขณะที่เจ้าของเสียงร้องในเพลงคือ “ปาน ธนพร”)

สำหรับวงการเพลงไทย ทรายจึงกลายเป็น “ศิลปินหญิงแถวหน้า” ผ่านการได้รับรางวัลสำคัญ ที่นักร้องรุ่นพี่ผู้โด่งดังหลายราย เช่น มาลีวัลย์ เจมีน่า และคริสติน่า อากีล่าร์ ไม่เคยได้รับ

ส่วนศิลปินหญิงน้ำเสียงโดดเด่นที่มีผลงานสตูดิโออัลบั้มในช่วงทศวรรษเดียวกัน เช่น รัดเกล้า อามระดิษ เสาวนิตย์ นวพันธ์ และธาริณี ทิวารี ก็ไปไม่ถึง

ในเครดิตบนปกเทป-ซีดีของอัลบั้มชุด “D^SINE” ระบุว่า ผู้เขียนคำร้อง-แต่งทำนองเพลง “สายลมที่หวังดี” คือบุคคลปริศนาซึ่งใช้นามแฝงว่า “Peter งุ้ยตระกูล”

ต่อมา มีการเปิดเผยข้อมูล (ที่พอจะสืบค้นได้ในโลกอินเตอร์เน็ต) ว่าตัวตนจริงๆ ของ “Peter งุ้ยตระกูล” คือ “อิทธิพล เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา” นักแต่งเพลง ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายภายใต้นามปากกา “เวสป้า”

“อิทธิพล” หรือ “เวสป้า” สร้างชื่อเสียงจากการเป็นนักแต่งเพลงฝั่งอาร์เอสในยุค 90 ก่อนจะข้ามฟากไปทำงานกับทางแกรมมี่ และได้ออกผลงานเป็นศิลปินดูโอในนามวง “สเตอร์” ร่วมกับคนเบื้องหลังอีกรายคือ “ณรงค์ เดชะ” จนมีเพลงฮิตติดหูอย่าง “100 เหตุผล”

กระทั่งได้ย้อนกลับไปทำงานที่อาร์เอสอีกรอบในนาม “เวสป้า อาร์สยาม”

หากเข้าใจไม่ผิด การแต่งเพลง “สายลมที่หวังดี” ด้วยนามแฝง “Peter งุ้ยตระกูล” นั้นน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่ “เวสป้า” ยังไม่ได้เดินออกจากอาร์เอสอย่างชัดเจน และไม่ได้เดินเข้าชายคาแกรมมี่อย่างเต็มตัว

นอกจากนั้น การดำรงอยู่ของคนเบื้องหลังที่รับเหมาแต่งได้ทั้ง “คำร้อง” และ “ทำนอง” เช่น “Peter งุ้ยตระกูล” ก็แลดูเป็นเรื่องแปลกใหม่ อันผิดแผกจากจารีตการทำงานของทีมแต่งเพลงแกรมมี่ตลอดทศวรรษ 2530 (ซึ่งมีการแบ่งแยกหน้าที่ “คนเขียนคำร้อง” และ “คนแต่งทำนอง-เรียบเรียงดนตรี” ออกจากกันอย่างเด่นชัด)

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา “อิทธิพล” หรือ “เวสป้า” มีรายชื่ออยู่ในข่าวที่น่าสนใจสองชิ้น

ชิ้นแรก คือ เรื่องที่เขาออกมาเป็นโต้โผในการทวงคืนสิทธิประโยชน์ให้แก่นักแต่งเพลงจำนวนมากที่ไม่มีสิทธิ์ในผลงานของตนเอง เพราะสัญญาขายขาดเพลง/จ้างให้แต่งเพลง/การโอนสิทธิ์ ที่เคยทำไว้กับค่ายเพลงใหญ่

น่าสนใจว่า ในอีกด้านหนึ่ง ก็เพิ่งมี “นักแต่งเพลงรุ่นเก๋า” ที่ถือสิทธิ์ในเพลง “ดีดีกันไว้” ออกมาประกาศผ่านโซเชียลมีเดียว่า เขาไม่อนุญาตให้ใครก็ตามนำเพลงนี้ไปใช้ จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากตนเองโดยตรง

นั่นหมายความว่าเจ้าของเสียงร้องในเพลงดังกล่าว คือ “สุกัญญา มิเกล” อาจจะหมดสิทธิ์ร้องเพลง “ดีดีกันไว้” ทั้งในอีเวนต์เชิงพาณิชย์หรือกิจกรรมการเมืองใดๆ

ถัดมา ยังเคยปรากฏข่าวว่า “เวสป้า อิทธิพล” คือหนึ่งในคนบันเทิงที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกของพรรคพลังประชารัฐเมื่อปี 2561

จากปี 2542 มาสู่ปี 2563

สองศิลปินอย่าง “เอ้-พัด เดอะวอยซ์” ขึ้นไปร้องเพลง “สายลมที่หวังดี” ให้ “ทราย เจริญปุระ” มิใช่เพื่อชื่นชมเธอในฐานะศิลปินหญิงร็อกยอดเยี่ยมบนเวที “สีสัน อะวอร์ดส์” หรือนางเอกหนังไทยรายได้เกินร้อยล้านบาทเรื่อง “นางนาก”

แต่นักร้องรุ่นน้องทั้งคู่กำลังมองว่า “ทราย” คือ “สายลมที่หวังดี” ซึ่งโบกพัดมายังประชาชนฝั่งประชาธิปไตย เช่นเดียวกับที่ผู้ชุมนุม “ราษฎร” ก็พร้อมจะเป็น “สายลมที่หวังดี” อันพัดหวนย้อนคืนไปสู่ “ท่อน้ำเลี้ยง” ของพวกตน

ยิ่งกว่านั้น “เอ้ เดอะวอยซ์” ยังชูรูป “จิตร ภูมิศักดิ์” พร้อมกับข้อความ “อาจเป็นแสงดาวเมื่อเธอแหงนมอง” ขณะขับร้องเพลง “สายลมที่หวังดี” บนเวทีการชุมนุม

เหล่านี้คือการใส่ความหมายใหม่ ใส่บริบทใหม่ ใส่ชีวิตใหม่ ให้แก่ “ทราย เจริญปุระ” “จิตร ภูมิศักดิ์” เพลง “สายลมที่หวังดี” และเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา”

เป็นการใส่ความหมาย-บริบท-ชีวิตใหม่ ที่ขยับขยายล่วงเลยไปจากภารกิจดั้งเดิมของนักแต่งเพลงและบทบาทเก่าก่อนของศิลปิน ทว่าเชื่อมโยงเอื้อมไปถึงพลังอำนาจของประชาชน ที่ยังรับฟังและขับร้องบทเพลงนี้ซ้ำๆ ไม่รู้จบ มาตราบถึงปัจจุบัน

นี่คือชีวิตอันโลดโผนของ “เพลงป๊อปร็อก-การเมือง” เพลงหนึ่ง ซึ่งมีคุณค่าแปรผันไป ในแต่ละยุคสมัยทางประวัติศาสตร์