ทางออกที่ยังไร้ไฟเขียว! ปฏิบัติการ “แกงกันเอง” เรื่อง คกก.สมานฉันท์ “บิ๊กแอ้ด” กับบท “โซ่ข้อกลาง”?

“คณะกรรมการสมานฉันท์” ยังไม่ทันตั้งขึ้น แต่เจอกระแสตีกลับ กลายเป็น “ชนวนขัดแย้ง” รอบใหม่อีกครั้ง ไม่ใช่จากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเท่านั้น แต่มาจากฝั่งรัฐบาลด้วยกันเอง ตามสภาวะ “สนิมเนื้อใน” ที่มีมาตั้งแต่ก่อตั้งรัฐบาล

โดยเฉพาะระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ ในสภาพ “กล้ำกลืนฝืนทน” ของทั้งสองฝ่าย ที่จะแยกจากกันก็ลำบาก

ทั้งนี้ เจ้าภาพหลักในการปูทางตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์คือรัฐสภา จึงเป็นหน้าที่ของประธาน “ชวน หลีกภัย” ในการนำทัพ โดยแบ่งเป็น 2 ภารกิจหลัก คือ การยกหูสายตรงถึง “อดีตนายกฯ” และการให้สถาบันพระปกเกล้าทำโมเดลคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือจากฝ่ายต่างๆ

ก่อนหน้านี้ โมเดลคณะกรรมการสมานฉันท์ถูกเสนอขึ้นในการประชุมสมัยวิสามัญร่วมสองสภา โดย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

แต่ก็ถูกมองว่าเป็นแนวคิด “แผ่นเสียงตกร่อง” และเป็นเพียง “ปาหี่” ของผู้มีอำนาจเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เริ่มมีการพูดถึง “นัยยะสำคัญ” ของการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ หลังประธานรัฐสภายกหูสายตรงถึงอดีตนายกรัฐมนตรีหลายคน

รายชื่อแรกๆ ที่เปิดเผยออกมาคือ อานันท์ ปันยารชุน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยรายชื่อส่วนใหญ่ล้วนมี “ภูมิหลังทางการเมือง” ที่ (คล้ายจะ) ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หรือเหมือนอยู่คนละขั้วกับนายกฯ บิ๊กตู่

ในส่วนชื่อ 2 อดีตนายกฯ พี่น้องตระกูลชินวัตร “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ที่ถือเป็น “ตัวแปรสำคัญ” ทางการเมือง ประธานชวนระบุว่า ไม่ได้มีการพูดคุย โดยพูดคุยเพียงอดีตนายกฯ ที่อยู่ในประเทศเท่านั้น

อย่าลืมว่าทั้ง “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ก็คือ “ขั้วตรงข้าม” กับพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น

ส่วนชื่อบิ๊กสุ พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกฯ-อดีตแกนนำ รสช. ที่โลว์โปร์ไฟล์ตัวเองไปตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ก็ถือเป็นอีกบุคคลสำคัญทางการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ถูกนำไปเปรียบเทียบเสมอ

โดยประธานสภาระบุว่า ไม่ได้หารือกับ พล.อ.สุจินดา ด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพ

อีกชื่อที่ประธานชวนเปิดเผยว่ามีการยกหูสายตรงไปถึง ก็คือ “บิ๊กแอ้ด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” ประธานองคมนตรี

ทำให้ทุกสายตาจับจ้องไปยังปฏิสัมพันธ์ดังกล่าว เพราะเป็นการพูดคุยกันระหว่าง “2 ประธาน” สถาบันทางการเมืองอันเป็นหลักของประเทศ ได้แก่ “ประธานองคมนตรี” และ “ประธานรัฐสภา” ท่ามกลางสถานการณ์ที่ข้อเรียกร้องเรื่องการ “ปฏิรูปสถาบัน” ของผู้ชุมนุม “ทะลุเพดาน” ไปแล้ว

แน่นอนว่าสายสัมพันธ์ของอดีต 2 นายกฯ เช่น “ประธานชวน-บิ๊กแอ้ด” นั้นมีความแนบแน่นในฐานะ “2 ลูกป๋า” ภายใต้ “สี่เสาเทเวศร์คอนเน็กชั่น”

โดยชวนเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีหลายตำแหน่งในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม และด้วยความที่ต่างเป็น “คนใต้” ชวนและป๋าจึงมักสื่อสารกันด้วยภาษาถิ่นใต้ เมื่อพบปะกันเป็นการส่วนตัว

ส่วนลูกป๋าอย่าง พล.อ.สุรยุทธ์ ก็ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.สมัยนายชวนเป็นนายกรัฐมนตรีควบ รมว.กลาโหม โดยกระโดดข้ามมาจากตำแหน่งในกรุ คือ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. อย่างน่าอัศจรรย์

แม้ประธานชวนจะออกมาระบุว่า พล.อ.สุรยุทธ์ในฐานะประธานองคมนตรี ไม่สามารถให้ความเห็นทางการเมืองได้ แต่บิ๊กแอ้ดก็ขอให้ทุกฝ่ายเห็นแก่ส่วนรวม โดยตนได้พูดคุยกับอดีตนายกฯ ในฐานะผู้ใหญ่ของบ้านเมืองและผู้มีประสบการณ์

แต่ไม่มีการพูดคุยเรื่องสถาบัน เพราะไม่มีเหตุผลที่จะไปคุยเรื่องนั้น

อย่างไรก็ตาม มีการมองว่าบทบาทของ พล.อ.สุรยุทธ์ อาจเป็นเสมือน “โซ่ข้อกลาง” ในสถานการณ์ตึงเครียดเช่นนี้

ที่ผ่านมามีการ “ปล่อยข่าว” จากฝ่ายการเมืองบางกลุ่มว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังถอดใจ และต้องการลาออกจากเก้าอี้นายกฯ แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้รับ “ไฟเขียว” ให้เปิดหมวกอำลา

นอกจากนั้น มีข่าวลือว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจต้องหลุดเก้าอี้ผู้นำประเทศ จากกรณีบ้านพักทหารหรือบ้านพักรับรอง ใน ร.1 รอ. ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยในวันที่ 2 ธันวาคม

แต่มีการวิเคราะห์ว่า พล.อ.ประยุทธ์มีโอกาสรอดจากกรณีนี้ หากยึดตามระเบียบบ้านพักสวัสดิการ ทบ. ปี 2548

ในอีกมุม พล.อ.ประยุทธ์กลับมีท่าทีที่ดูเบาใจขึ้น สังเกตได้จากสีหน้าที่ผ่อนคลายลง รวมทั้งการได้พบปะกับ ผบ.เหล่าทัพ ในการมอบนโยบาย กอ.รมน. ที่ได้มีการพูดคุยนอกรอบในห้องรับรอง และได้ทักทาย “2 ผบ.เหล่าทัพคอแดง” อย่างใกล้ชิด ด้วยการตีแขนเบาๆ

นั่นคือ “บิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้” ผบ.ทบ. และ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 และ “บิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์” ผบ.ทหารสูงสุด และรอง ผบ.ฉก.ทม.รอ.904

พล.อ.ณรงค์พันธ์ได้กล่าวถึงโอกาสรัฐประหารว่ายัง “ติดลบ” ส่วนสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ ผบ.ทบ.มองว่า มีทางออก โดยการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง ขอให้ทุกคนมีสติ มองกระจกให้รอบด้าน อย่ามองด้านเดียว ให้มองว่าตอนนี้ควรทำอะไร

ทั้งนี้ กระแสข่าวบิ๊กตู่ถอดใจ เกิดขึ้นหลังจากการ “พูดเป็นนัย” เมื่อครั้งไปเปิดหลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 63 โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงคุณสมบัติของนายกฯ คนต่อไป ที่ต้องดีกว่าตน รวมทั้งตัดพ้อว่าเบื่อการใช้อำนาจ

“ไม่เคยคิดว่าจะต้องมายืนอยู่ตรงนี้ ไม่คิดว่าอยู่ตรงนี้มา 6 ปีแล้ว ทำไมมาอยู่ตรงนี้ ทุกคนคงเข้าใจ ถ้าเราไม่เข้าใจ ก็ไปยาก ผมว่าวันนี้หรือวันหน้า ถ้ามีคนที่เขาเก่งและดีกว่าผม ที่เขาซื่อสัตย์กว่าผม ก็ทำงานเหล่านี้ต่อไปเพื่อประเทศไทย” นายกฯ กล่าว และว่า

“การมีอำนาจ ใครที่เข้ามารับผิดชอบ ไม่ใช่เรื่องสนุก แต่ผมใช้อำนาจไปเยอะ เป็นทหารมาเกือบ 40 ปี เป็น ผบ.ทบ. 4 ปี เป็นผู้บังคับหน่วยมาตลอด ผมเบื่อที่จะต้องใช้อำนาจ การใช้อำนาจ ใช้เฉพาะดูแลคนที่เขาทำความดี ลงโทษคนทำไม่ดี สองอย่างนี้ยังยากเลย อย่าใช้อำนาจในทางที่ไม่ดี หลายคนก็บอกว่าผมใช้

“ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าผิดกฎหมายตรงไหน เพราะผมทำตามกฎหมายทุกประการ”

จึงอาจเป็นเรื่อง “ไม่บังเอิญ” เมื่อบรรดา ส.ส.ตัวจี๊ดของพรรคพลังประชารัฐ ทั้งสิระ เจนจาคะ และปารีณา ไกรคุปต์ ได้ดาหน้าออกมาเชือดเฉือนประธานชวน และอดีตนายกฯ หลายคน ที่มีชื่อข้องเกี่ยวกับคณะกรรมการสมานฉันท์ ราวกับได้รับ “ไฟเขียว” มา ผ่านวิวาทะ “ดองเค็ม-แช่ฟอร์มาลิน”

โดยฝั่งพรรคพลังประชารัฐมองว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ จะเป็นการ “แกงกันเอง” มากกว่าเป็นการแสวงหา “ทางออกร่วม”

รอยร้าวระหว่างพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ปรากฏผ่านวิวาทะระหว่างสิระกับอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังเดอะมาร์คเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ใช้ดุลพินิจในเรื่องการลาออกหรือยุบสภา พร้อมด้วยการแก้กติกาทางการเมือง เพราะผู้ชุมนุมมองว่าบิ๊กตู่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ

โดยสิระมองว่าอภิสิทธิ์หวังส้มหล่นจะได้เป็นผู้นำประเทศสมัยที่สอง พร้อมถามว่าสมัยโดนคนเสื้อแดงขับไล่ ทำไมนายกฯ มาร์คไม่ลาออกบ้าง

แม้แต่อดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ก็ขอให้บิ๊กตู่รับฟังเสียงผู้ชุมนุม ซึ่งชื่ออานันท์ก็ถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของแคนดิเดต “นายกฯ คนนอก”

น่าสนใจว่าอานันท์เคยเป็นนักเรียนอำนวยศิลป์ จึงถือเป็นรุ่นพี่ของบิ๊กบี้ ผบ.ทบ. จนมีการตั้งคำถามว่าจะเกิดปรากฏการณ์ “อำนวยศิลป์คอนเน็กชั่น” หรือไม่?

ทั้งหมดนี้อยู่ที่ “ผลสรุป” ในการพูดคุยปรึกษาหารือของคณะกรรมการสมานฉันท์ และคงต้องตั้งคำถามว่าข้อเสนอของคณะกรรมการชุดนี้จะมีผลผูกพันกับการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์เพียงใด?

โดยเฉพาะหากทางออกสุดท้ายที่ถูกโยนออกมาคือให้นายกฯ ลาออก ซึ่งอาจถือเป็นพลังในการส่งสัญญาณทางการเมืองครั้งสำคัญว่า เครือข่ายชนชั้นนำยื้อบิ๊กตู่เอาไว้ไม่ไหวแล้ว

นี่เป็นแนวโน้มทางออกที่ยังไร้ไฟเขียว