ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 พฤศจิกายน 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
ในบรรยากาศการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของเหล่าบรรดานักเรียน นักศึกษา เยาวชน คนรุ่นใหม่ และประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทั่วประเทศในช่วงนี้
นอกจากจะเต็มไปด้วยพลังและความกล้าหาญในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมของประชาชนแล้ว
สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้เลยก็คือความคิดสร้างสรรค์อันพลุ่งพล่าน มุมมองอันแปลกใหม่ เต็มเปี่ยมไปด้วยไหวพริบและอารมณ์ขันของการแสดงออกในการชุมนุมทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ในหลายครั้งการแสดงออกเหล่านี้ก็ทำได้อย่างเปี่ยมสีสัน และเต็มไปด้วยแรงขับเคลื่อนทางวัฒนธรรมอย่างเต็มเปี่ยม
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ศิลปะและวัฒนธรรมมักจะเป็นเครื่องมือในการแสดงออกซึ่งเสรีภาพภายใต้การกดขี่
หลายต่อหลายครั้งที่ศิลปวัฒนธรรมถูกใช้เป็นหนทางในการแสดงการต่อต้านอำนาจรัฐอันฉ้อฉล หรืออำนาจการเมืองที่กดขี่ประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม ไปจนถึงการต่อต้านสงคราม ความรุนแรง การแบ่งแยกสีผิว และการกดขี่ทางเพศ
ศิลปะในแนวทางนี้ถูกเรียกว่าศิลปะต่อต้าน (Resistance Art) หรือศิลปะประท้วง (Protest Art) นั่นเอง
งานศิลปะต่อต้านเหล่านี้จะมีความแตกต่างกับศิลปะตามขนบแบบเดิมๆ
โดยเป็นงานสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจากกระแสเคลื่อนไหวทางสังคม การเมือง
หรือสร้างขึ้นโดยนักเคลื่อนไหวและรณรงค์ทางการเมืองเพื่อการขับเคลื่อนมวลชน ในการชุมนุม ประท้วงหรือเดินขบวน
โดยส่วนใหญ่มักเป็นงานศิลปะในเชิงสื่อสารมวลชนอย่างป้าย ภาพสัญลักษณ์ โปสเตอร์ หรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่ใช้ในการสื่อถึงสารหรือประเด็นหรือข้อเรียกร้องทางการเมือง ไปจนถึงศิลปะบนท้องถนนอย่างกราฟฟิตี้ (Graffiti) และสตรีตอาร์ต (Street art) ที่ระบายความโกรธเกรี้ยวไม่พอใจของประชาชนลงบนท้องถนนและพื้นที่สาธารณะ
หรือแม้แต่ภาพล้อเลียนอย่างมีม (meme) ต่างๆ ที่จิกกัดวิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐได้อย่างชวนหัว ทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์ ศิลปินและประชาชนที่ทำงานศิลปะประท้วงมักจะทำงานบนพื้นที่สาธารณะ เพื่อเข้าถึงผู้ชมหรือมวลชนในวงกว้าง
ถึงแม้ในประเทศไทยเองก็มีศิลปินไทยหลายคนที่มีบทบาทในการทำงานศิลปะทางการเมืองอย่างต่อเนื่องยาวนาน
แต่ทุกวันนี้การใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับอำนาจรัฐก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหมู่ศิลปินเท่านั้น
เพราะในโลกยุคปัจจุบัน เส้นแบ่งระหว่างศิลปะกับชีวิตประจำวันนั้นเลือนรางจนแทบมองไม่เห็น ไม่ว่าจะเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือแม้แต่ประชาชนคนธรรมดาก็สามารถหยิบเอากระบวนการหรือยุทธวิธีทางศิลปวัฒนธรรมมาใช้เพื่อตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงการอารยะขัดขืนต่ออำนาจอันไม่เป็นธรรมได้เช่นเดียวกันกับเหล่าศิลปิน
ในการแสดงออกทางการเมือง การละเมิดกฎหมายเพื่อแสดงการประท้วงหรือต่อต้านความไม่เป็นธรรมหรือการแสดงออกเพื่อกดดันให้รัฐเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางการเมืองที่เต็มไปด้วยการกดขี่ แบ่งแยก เอารัดเอาเปรียบ อย่างสงบไร้ความรุนแรง (เป็นส่วนใหญ่) นั้นถูกเรียกว่า “การดื้อแพ่ง” หรือ “อารยะขัดขืน” (Civil Disobedience) ซึ่งแสดงออกโดยการที่ประชาชนแสดงการไม่ยอมรับและไม่เชื่อฟังต่ออำนาจรัฐ
ผู้ประท้วงอาจเลือกการฝ่าฝืนกฎหมายบางอย่างที่พวกเขาเห็นว่าไม่ชอบธรรม
เช่น การกีดขวางทางสัญจร เข้ายึดครองสถานที่ราชการ องค์กร หรือสถาบันต่างๆ อย่างผิดกฎหมาย
โดยคาดหวังว่าจะถูกจับกุม หรือแม้แต่ถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และจะไม่ตอบสนองกลับด้วยความรุนแรง
บ่อยครั้งที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือช่วยเหลือในการกระทำอารยะขัดขืนเหล่านี้อย่างทรงประสิทธิภาพ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานศิลปะในเชิงสื่อสารมวลชนอย่างการใช้ป้ายภาพ สัญลักษณ์ สิ่งพิมพ์ ไปจนถึงเสื้อยืดพิมพ์ลวดลาย และของที่ระลึกต่างๆ ที่แสดงภาพ สัญลักษณ์ หรือข้อความสั้นๆ กระชับ แต่สื่อความหมายอย่างชัดเจนและทรงพลังเพื่อแสดงถึงจุดยืนทางการเมืองและสร้างความรู้สึกร่วมให้กับผู้ร่วมชุมนุม
หรือการใช้ร่างกายคนเป็นสื่อในการแสดงออกอย่างการแสดงละคร, ศิลปะแสดงสด (Performance art) และศิลปะสถานการณ์ (Happening art)
ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมกินแซนด์วิชต้านเผด็จการ การอ่านหนังสือ 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ หรือการนั่งรถไฟไปชมอุทยานราชภักดิ์ ของนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวเมื่อปีที่ผ่านๆ มา
หรือกิจกรรมในปีนี้ของกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างกลุ่มศิลปะปลดแอก (Free Arts) ที่จัดเทศกาลศิลปะเพื่อการต่อต้านเผด็จการ ทั้งในพื้นที่ทางวัฒนธรรมอย่างหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือในพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองบนท้องถนน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานศิลปะแสดงสดชุด “99 Dead” โดยศิลปินละคร ดนตรี กวี และนักแสดงอาสาสมัคร เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี พ.ศ.2553 ด้วยการจำลองภาพการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม
ประกอบการใช้ป้ายสัญลักษณ์ที่สื่อถึงเหตุการณ์อย่าง “พื้นที่การใช้กระสุนจริง”, “เขตอภัยทาน”
ยิ่งไปกว่านั้น การแสดงครั้งนี้ยังมีพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาผู้เสียชีวิตในการสลายการชุมนุมที่วัดปทุมวนารามร่วมแสดงอยู่ด้วย
หรือการชุมนุมที่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสื่อสารได้อย่างเปี่ยมสีสัน ไม่ว่าจะเป็นงานชุมนุม “ศิลปะราษฎร” ที่จัดโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free YOUTH) ที่ผู้ชุมนุมเปลี่ยนถนนสีลมให้กลายเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะของประชาชน
โดยนำผลงานศิลปะเพื่อการต่อต้านเผด็จการและแสดงข้อเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มผู้ชุมนุมมาจัดแสดงบนพื้นถนน
และยังมีการจัด “รันเวย์ของประชาชน!” โดยปูพรมแดงบนถนนคล้ายกับรันเวย์ของแฟชั่นโชว์ และมีเหล่าผู้ชุมนุมแต่งกายด้วยแฟชั่นในธีมที่สะท้อนสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยเดินแบบกันอย่างครึกครื้นบันเทิง เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองได้อย่างเปี่ยมอารมณ์ขันและแสบสันยิ่ง
หรือการจัดแฟลชม็อบ (Flash mob) ที่ใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมป๊อปได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพ
อย่างม็อบแฮมทาโร่ ที่หยิบเอาตัวการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง “แฮมทาโร่ แก๊งจิ๋วผจญภัย” และเพลงการ์ตูนมาดัดแปลงเนื้อหาในเชิงเสียดสีทางการเมืองอย่างเจ็บแสบปนน่ารักน่าชัง เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และแก้ไขรัฐธรรมนูญ
หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย” ของกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย (Mahanakorn for Democracy Group – MDG) และกลุ่มมอกะเสด (Kased Movement) ที่จัดการชุมนุมในธีมแฮร์รี่ พอตเตอร์ โดยผู้ร่วมชุมนุมแต่งตัวเป็นพ่อมด-แม่มดและร่วมกันแสดงการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการเสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย และขับไล่อำนาจมืดของ “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” ผู้อยู่เบื้องหลังปัญหาแต่ไม่มีใครกล้าเอ่ยนาม
หรือ “ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล” ที่จัดโดยกลุ่มเสรีเทยฺย์พลัส (Free Gender TH) ผู้สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทยและเครือข่าย กับการชุมนุมและเดินพาเหรดทางการเมืองที่ชูประเด็นในการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ การสมรสเท่าเทียม การทำแท้งเสรี การยกเลิกกฎหมายปราบปรามและเอาผิดผู้ค้าประเวณี
ไปจนเรียกร้องสวัสดิการผ้าอนามัย ฯลฯ
ศิลปะในการประท้วงเหล่านี้ไม่ได้ถูกทำขึ้นเพื่อหวังชื่อเสียง เกียรติยศ หรือเงินทอง
หากแต่เป็นการแสดงออกถึงความอึดอัดขัดข้องใจกับสภาวะอันบีบคั้น กดดันจากความบิดเบี้ยวไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม
และเป็นการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ที่ถูกระบายและแสดงออกบนพื้นที่สาธารณะ และสื่อสารประเด็นทางการเมืองได้อย่างชัดเจน จะแจ้ง แหลมคม ตรงไปตรงมาอย่างยิ่ง
จนขยับเพดานและขยายขอบเขตในการแสดงออกทางการเมืองด้วยงานศิลปะได้สูงและไกลกว่าที่เคยเป็นมา
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากกลุ่มศิลปะปลดแอก, เยาวชนปลดแอก, มหานครเพื่อประชาธิปไตย, มอกะเสด, เสรีเทยฺย์พลัส