#ถ้าการเมืองดี บทบาทของพระภิกษุสงฆ์ ในโลกฆราวาสจะเป็นอย่างไร

ความไม่คุ้นชินกับการออกมาเคลื่อนไหวร่วมขบวนชู 3 นิ้ว สนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ของกลุ่มประชากรพระภิกษุสงฆ์ นำมาซึ่งคำถามต่างๆ มากมาย

อาทิ การแสดงออกทางการเมืองของพระภิกษุสงฆ์ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่

พระภิกษุสงฆ์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับโลกฆราวาสเป็นการทำผิดพระวินัยของพระภิกษุสงฆ์หรือไม่

ฟังคำตอบจากใจเหล่าพระภิกษุสงฆ์ในวงเสวนา “#ถ้าการเมืองดี โลกและธรรมจะสัมพันธ์กันอย่างไร” จัดโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระนิสิตปริญญาเอก หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตอบคำถามถึงการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของพระภิกษุสงฆ์ว่า

“คนที่พูด พระสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองคือหลับตาพูด ไม่สนใจความสัมพันธ์อะไรเลย ในความเป็นจริงแม้แต่ความเป็นพระจะเกิดขึ้น ก็ล้วนแต่เป็นการเมืองอยู่ในตัว ณ วันนี้ ดีใจที่ได้เห็นพระ-เณรรุ่นใหม่มีความกล้าหาญมากขึ้น พระหลายรูปก็ยังไม่กล้าที่จะออกมาเคลื่อนไหวเพราะยังเกรงกลัวต่อระบบ”

พระมหาไพรวัลย์อธิบายเพิ่มเติมว่า พระภิกษุสงฆ์หลายรูปลองพิจารณาให้ดี จะยังเห็นแก่ความเจริญรุ่งเรืองในทางพระพุทธศาสนา งอกงามไพบูลย์ ความมีหน้ามีตาในคณะสงฆ์ สิ่งเหล่านี้คือความจริงหรือไม่

คณะสงฆ์ที่เข้มแข็งจริงๆ ทุกวันนี้เป็นพระสงฆ์ที่อยู่ภายนอกมหาเถรสมาคมทั้งหมดเลย ถ้าหันกลับมาอยู่กับชุมชนพุทธศาสนาจะอยู่รอด

ฝากถึงพระสงฆ์หลายๆ รูปที่ยังตกอยู่ในมายาคติที่ว่าการออกมาเคลื่อนไหวจะนำไปสู่วันที่ศาสนาจะต้องถูกเลิกอุปถัมภ์โดยรัฐ หรือรัฐถูกทำให้ออกห่างจากศาสนา ไม่ได้รับการอุปถัมภ์อย่างที่เคยเป็นมา แล้วจะทำให้ศาสนาอยู่ไม่ได้ เป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงที่สุดเลย

ความจริงคือศาสนาที่เป็นอยู่ภายใต้การดูแลปกครองโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่ปรับปรุงแก้ไขฉบับ 2561 มันยิ่งสร้างความอ่อนแอให้กับคณะสงฆ์หนักกว่าอีก

พระมหาเมธี สิริเมโธ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาสภานิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มองการเมืองกับศาสนาว่า ปัจจุบันนี้รัฐเข้ามาแทรกแซงในการปกครองคณะสงฆ์ ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ถามว่ากฎระเบียบเหล่านี้ออกมาเพื่ออิงกับใคร หรือว่าเอื้อให้กับพระสงฆ์ตรงไหน สิ่งเหล่านี้ยังมีคำถามที่เกิดขึ้นในใจอยู่ตลอด

พระมหาเมธีอธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันคำว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงจะต้องได้รับการยอมรับ แล้วก็รับฟังความคิดเห็นหรือว่าความเห็นต่าง ซึ่งกับพระผู้น้อยก็ควรจะเป็นเช่นนั้น

แต่ปัจจุบันไม่ใช่เลย

ข้อคิดเห็นหรือข้อเห็นต่างเราอิงกับพระวินัย ระหว่างฆราวาสกับพระสงฆ์สังเกตว่าเราต่างก็มุ่งรับใช้รัฐ มีส่วนน้อยที่จะเข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง

แน่นอนว่าการที่เราออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อันดับแรกคนที่ไม่เข้าใจจะตั้งธงไว้ก่อนเลยว่า พระออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างไร ยิ่งได้ยินคำพูดของเหล่าผู้ใหญ่ในสำนักพุทธที่บอกว่าถ้าไม่ถูกใจก็ให้สึกออกไป ไม่ได้บังคับให้บวช

วาทะเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความคิดหรือตรรกะของพระผู้ใหญ่ว่าคิดอย่างไรกับพระหนุ่ม-เณรน้อย

ทำไมไม่หาโอกาสหรือพูดคุยว่าพระหนุ่ม-เณรน้อยต้องการศึกษาในลักษณะไหน

ยกตัวอย่างเช่น ในอดีตเราคิดว่าตะเกียงคือแสงสว่างที่ดีที่สุด แต่ ณ ปัจจุบันเรามีไฟฟ้า สิ่งเหล่านี้มันย่อมดีกว่า ซึ่งความเห็นต่างนั้นมันควรจะได้รับการรับฟังและแก้ไข

“เพราะว่าเรามัวแต่อิงอยู่กับระบบอุปถัมภ์ แม้แต่วันนี้ที่ออกมาพูด แล้วไม่ถูกใจพระผู้ใหญ่ ต่างก็มองว่าพระรุ่นใหม่ไม่ให้ความเคารพ อยากจะถามกลับว่า สิ่งที่ทำเหล่านี้ผิดพระธรรมวินัยข้อไหน ต้องคุยกันด้วยเหตุและผล”

ณ ปัจจุบันต้องทำความเข้าใจว่าทุกคนมีสิทธิที่จะพูดที่จะคุย ถ้ามันถูกต้องตามหลักที่ตั้งธงไว้ การพูดหรือว่าการแสดงความคิดเห็นถ้าไม่ถูกใจ ต่อให้สิ่งที่พูดถูกต้องก็ผิดอยู่ดี พระสงฆ์ก็ควรจะมีความเท่าเทียมกันได้ ถ้าจะให้เป็นพระสงฆ์ที่น่ากราบไหว้คือต้องอยู่ในพระธรรมวินัย หากกล่าวว่าการเมืองไม่เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์แม้กระทั่ง 6 ตุลาฯ จอมพลถนอม กิตติขจร ที่ลี้ภัยทางการเมือง สุดท้ายก็ต้องมาอิงศาสนาเพราะบวชสามเณรเข้ามาในประเทศไทย

จึงอยากจะตั้งคำถามกลับไปว่าใครกันแน่ที่มายุ่งเกี่ยวกับพระสงฆ์ ระหว่างกับสงฆ์ออกไปก่อน หรือว่าการเมืองเข้ามาก่อน

เพราะฉะนั้น การที่เราหันหน้าเข้ามาคุยกันโดยฟังเสียงจากทุกฝ่ายมันจะก้าวหน้าไปด้วยกัน หมุนวงล้อธรรมจักรไปด้วยกัน

ในเรื่องของโครงสร้าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี 2505 พระมหาเมธีสะท้อนว่า มันกดขี่ในด้านของความคิดแล้วก็การแสดงออกในสิทธิเสรีภาพของพระสงฆ์ สิทธิเสรีภาพที่ออกไปเคลื่อนไหวคือไม่ได้ทิ้งพระธรรมวินัย

ถ้าฆราวาสบอกว่าพระไม่ควรยุ่งกับการเมือง แล้วทำไมพระสงฆ์-สามเณรยังต้องไปเกณฑ์ทหาร ชาวพุทธยุคใหม่ยุคปัจจุบันควรเปิดใจให้กว้าง แล้วรับฟังความคิดเห็นของพระภิกษุ-สามเณรยุคใหม่ด้วย

พระมหาเมธี สิริเมโธ กล่าวทิ้งท้าย

สามเณรสหรัฐ สุขคำหล้า นักศึกษาปริญญาตรี วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล สะท้อนภาพการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของคณะสงฆ์ว่า ต้องการที่จะแยกศาสนาออกจากรัฐ ไม่สนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาเป็นศาสนาประจำชาติ

หยุดใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือของความแตกแยก และหยุดใช้ศาสนาเป็นโฆษณาชวนเชื่อ

จากตัวอย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กับคำพูดที่ว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ผ่านกิตติวุฑฺโฒ เป็นการส่งเสริมอำนาจและความชอบธรรมให้การปราบนิสิต-นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ยืนยันว่าการออกมาเคลื่อนไหวไม่ได้มีจุดประสงค์ทำให้พระภิกษุสงฆ์แตกแยก

พร้อมกับเชื่อว่า ถ้าการเมืองดี สิทธิรัฐสวัสดิการต้องได้ทุกคน ไม่ใช่แค่พระหรือข้าราชการ

จากเวทีเสวนา “#ถ้าการเมืองดี โลกและธรรมจะสัมพันธ์กันอย่างไร” ผศ.กริช ภูญียามา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายไว้ว่า ขบวนการนักศึกษาที่เกิดขึ้นช่วงนี้เป็นการเกิดใหม่ของคณะราษฎร

แก๊งแครอทหรือขบวนการเคลื่อนไหวของพระภิกษุ-สามเณรในช่วงนี้ ก็คือการเกิดใหม่ของขบวนการคณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนาในปี 2484 มาเกิดใหม่ในปี 2563 เช่นเดียวกัน

“การออกมาเคลื่อนไหวของพระภิกษุสงฆ์เกิดจากความรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมภายใต้โครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ที่เป็นอยู่ พระภิกษุ-สามเณรที่ออกมาเคลื่อนไหวตอนนี้ล้วนแล้วแต่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เสี่ยงต่อความมั่นคงปลอดภัยในสมณเพศ”

หลักใหญ่ใจความที่หลายๆ ท่านยกมาพูดว่า การออกมาของพระภิกษุ-สามเณรเป็นการขัดคำสั่งของมหาเถรสมาคม เมื่อปี 2538 ห้ามพระภิกษุ-สามเณรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยสรุปก็คือห้ามภิกษุ-สามเณรเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ห้ามอภิปรายหรือบรรยายเกี่ยวกับการเมืองไม่ว่าจะจัดขึ้นในบริเวณวัดหรือนอกบริเวณวัด โดยส่วนตัว ผศ.กริชสะท้อนว่า จะต้องปฏิบัติต่อพระเหมือนพลเมืองคนอื่นๆ เพราะพระก็เป็นพลเมืองไม่ต่างกับโยม แน่นอนว่าโยมมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ พระก็ต้องมีด้วย เว้นแต่สิทธิบางอย่างที่รัฐธรรมนูญจำกัดให้มีได้เฉพาะโยม พระมีไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น สิทธิเลือกตั้ง อันนี้รัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้ชัด

โดยหลักการต้องยืนยันให้ได้ก่อนว่า พระเป็นพลเมือง เมื่อเป็นพลเมืองย่อมมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกันกับประชาชนชาวไทยทั่วไป

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งมหาเถรสมาคมมันคือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 2 ตัว 1 คือเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธ 2 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รัฐธรรมนูญรับรองเสรีภาพ 2 ตัวนี้ให้กับปวงชนชาวไทย

เพราะฉะนั้น ในความเห็นของตน พระภิกษุ-สามเณรก็ย่อมมีเสรีภาพนี้เช่นเดียวกันกับฆราวาส