จัตวา กลิ่นสุนทร : ยังหาทางออกไม่พบ?

ติดตามการเมืองอย่างต่อเนื่องด้วยความวิตกกังวลว่าจะมีการกระทบกระทั่ง นำไปสู่ความรุนแรงเสียเลือดเนื้อเหมือนสูตรสำเร็จจากในอดีต

เพราะดูคล้ายว่าความแตกแยกที่ปรากฏยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลง

ตรงกันข้าม ฝ่ายที่ต่อต้านการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร 2563” ต่างเร่งปลุกระดมผู้คนออกมาแสดงพลังกระจายไปตามจุดต่างๆ บางครั้งทำท่าเหมือนจะไปประจันหน้ากันเมื่อได้ข่าวว่ากลุ่มราษฎรมีนัดชุมนุมเหมือนดังที่ผ่านๆ มา

หลายคนพยายามอย่างยิ่งยวดในการแสดงเหตุผลต่างๆ นานาเพื่อค้นหาทางออก หากแต่ไม่มีใครเดินเข้าไปกระซิบบอกกับต้นตอของปัญหาอย่าง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ให้ “ลาออก” แล้วทุกอย่างจะเดินหน้าต่อไปได้

แต่กลายเป็นเหล่ากองหน้าองครักษ์พิทักษ์ของเขาต่างเรียงหน้าออกมาปะทะกับทุกคนทุกกลุ่มที่ลงความเห็นตรงกันว่าประยุทธ์ควรลงมาจากตำแหน่งได้แล้ว

บางคนไปไกลถึงกับคิดว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ลงจากตำแหน่งจะไม่มีใครขึ้นแทนที่ได้ดีเท่า ซึ่งมันเป็นเรื่องเหลวไหล ทุกคนสามารถทดแทนได้ แถมอาจจะดีกว่าเสียด้วยซ้ำในเวลานี้ โดยปล่อยให้เรื่องดำเนินไปตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญฉบับเจ้าปัญหานี้แหละ เสร็จแล้วค่อยหาทางแก้ไขจัดทำขึ้นใหม่ตามคำเรียกร้องต้องการของประชาชน ให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนเพื่อประชาชน

 

ประเทศเรามิได้มีแต่ พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้นที่บอกว่าตัวเองเป็นคนเก่ง คนดี เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วถ้าไม่ใช้กองทัพกำลังทหารแบกอาวุธไปควบคุมตัวไปยึดอำนาจเขามา ถ้าเดินตามเส้นทางสู่การเมือง “คนเก่ง คนดี” คนนี้ยากที่จะได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” โดยประชาชนเลือกเข้ามา

อ้างอยู่ทุกวันว่ามาตามระบอบประชาธิปไตยโดยรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 มาจากการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ.2562 ก็ย่อมเป็นที่รู้กันว่าได้ใช้อำนาจจัดการจัดวางแบบสมรู้ร่วมคิดกันทุกภาคส่วน เอาเปรียบพรรคการเมืองคู่แข่งอื่นๆ แบบมัดมือชกจึงได้เข้ามาแบบบิดๆ เบี้ยวๆ และสร้างปัญหาอยู่ทุกวันนี้

พล.อ.ประยุทธ์ชอบโบ้ยความผิดถึงรัฐบาลที่ผ่านๆ มาเหมือนแผ่นเสียงตกร่องมานานหลายปีแล้ว เขามักย้อนกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ.2557 ว่ามันเป็นอย่างไร? ถ้าหากตัวเอง (กับพวกพ้องจากกองทัพ) ไม่ยึดอำนาจ

ความจริงมันไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้หรอกว่าเหตุการณ์วันนั้นมันอาจคลี่คลายไปตามสภาพด้วยเวลา ด้วยตัวของมันเอง ถ้าหากเราปล่อยให้การเมืองได้รับการแก้ไขด้วยการเมือง ให้มันดำเนินไปตามเส้นทางของประชาธิปไตย โดยมีเจ้าหน้าที่บ้านเมือง (ตำรวจ-ทหาร) ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายช่วยกันประคับประคองรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างไม่มีขั้วไม่มีข้างเพื่อให้มีการ “เลือกตั้ง” ขึ้น โดยไม่มีกลุ่มโน้นนี้ใช้อภิสิทธิ์เหนือกฎหมายออกมาขัดขวาง

ถ้าเรามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในครั้งนั้น บางทีเราอาจจะเปลี่ยนผ่านมาได้โดยไม่ต้องตกอยู่ในสภาพการเมืองการปกครองแบบรวบอำนาจอย่างเช่นทุกวันนี้ก็ได้

หลายคนชอบพูดว่าจะเกิดการสูญเสีย อยากถามเหมือนกันว่า ในประวัติศาสตร์ประเทศไหนในโลกที่เปลี่ยนผ่านสู่ “ประชาธิปไตย” ประชาชนได้ปกครองตนเองจะไม่มีการสูญเสีย

มันต้องแลกกันมาด้วยความเจ็บปวดทั้งสิ้น เพียงแต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันได้มีการวางเกมวางแผนตั้งเป้าหมายไว้เพื่อจะรวบอำนาจพร้อมสานต่อภารกิจตั้งแต่เดือนกันยายน ปี พ.ศ.2549 ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่าทำให้ประเทศต้องวนเวียนอยู่ในความยากจน ประชาชนทุกข์ยาก

 

ไม่อยากย้อนไปคิดถึงเรื่องที่ผ่านมาตั้ง 6-7 ปีแล้ว ถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่งัดขึ้นมาพูดเหมือนกับเป็นผลงานชิ้นเอก เอาขึ้นมาเรียกร้องทวงบุญคุณคนในประเทศนี้ในทุกๆ ครั้งที่ถูกผู้แทนฝ่ายค้านอภิปรายถึงผลงานและความล้มเหลวของรัฐบาลเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในช่วง 6 ปีกว่าที่ผ่านมา ขณะที่เขาได้ขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโตแล้ว

ถึงวันนี้แล้วเป็นไง? เป็นอย่างที่เห็นว่าการเมืองมันติดกับเดินหน้าต่อไม่ได้ จะเปลี่ยนแปลงตามระบอบรัฐสภากลับถูกล็อกไว้ด้วย “รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560” วุ่นวายสับสนหาทางออกยังไม่พบ ยังไม่รู้จะจบอย่างไร?

บ้านเมืองของเราอาจจะไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ก็ได้ ถ้าหากเปลี่ยนเป็นคนอื่น พรรคการเมืองอื่น พร้อมทีมงานอื่นได้เข้ามาบริหาร แปลง่ายๆ ว่า ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ได้ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ประเทศนี้คงจะดีกว่านี้ ซึ่งมันหันหลังกลับไปไม่ได้ แต่ไม่ได้แปลว่าสายไป ถ้า พล.อ.ประยุทธ์วางมือลงทันทีโดยไม่สำคัญตนเองผิดๆ คิดว่าตนเองเก่ง

ในเวลาเดียวกัน เมื่อประชาชนเรียกร้องให้จัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่เพราะหลายฝ่ายที่มีความเป็นธรรมลงความเห็นว่ามันจะเป็นทางออกของประเทศชาติที่กำลังแตกแยกวุ่นวายเวลานี้ อย่างน้อยก็เป็นการปลดล็อกไปเปลาะหนึ่ง กลับถูกขัดขวางโดยพรรคการเมืองซีกรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจาการแต่งตั้ง ที่คนทั่วไปเรียกว่าลากตั้ง (เพราะพวกเขาได้รับผลประโยชน์อย่างเป็นกอบเป็นกำ)

โดยใช้วิธีการต่างๆ นานาหลายรูปแบบทั้งยืดเยื้อทุกมิติเพื่อซื้อเวลา รวมทั้งบรรดากองหน้าตัวชนของ พล.อ.ประยุทธ์ พวกลิ่วล้อกระจอกงอกง่อยที่เกาะเกี่ยวห้อยโหนเพื่อตักตวงเอาประโยชน์ ออกมาชนดะไม่ว่ารุ่นไหนๆ แต่กลับเปลือยล่อนจ้อนให้ประชาชนที่มีวุฒิภาวะได้เห็นสติปัญญาความสามารถของผู้แทนราษฎรพวกนี้

 

ทีมงานซีกพรรครัฐบาลที่พวกเราสมัครใจเรียกว่าพวกประจบสอพลอแบบไม่ลืมหูลืมตา เมื่อถูกเชื้อเชิญไปพูดคุยดีเบตเรื่องรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 เขามักจะหยิบยกการทำประชามติในปี พ.ศ.2559 ว่าประชาชนเห็นด้วย ได้รับการยอมรับจากประชาชนถึง 16 ล้านคน โดยไม่ฟังฝ่ายตรงข้ามที่บอกว่าการทำประชามติในปีดังกล่าวนั้นมันไม่ชอบมาพากล ไม่โปร่งใส

มีการจับกุมผู้อภิปรายรณรงค์คัดค้านการออกเสียงประชามติ ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้รับเสียงยอมรับจากประชาชน รวมทั้งมีคำถามพ่วงแบบประชาชนงงๆ พร้อมประชาสัมพันธ์ว่าให้ผ่านๆ ไปก่อนเถอะจะได้จัดการเลือกตั้ง โดยใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปสักระยะหนึ่งแล้วค่อยทำการแก้ไขทีหลัง

มีคำถามที่ค้างคาใจมานานแล้วว่า รัฐบาล หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งรับผิดชอบการทำประชามติจัดพิมพ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพื่อแจกจ่ายประชาชนได้อ่าน ได้ศึกษาพิจารณาจำนวนสักกี่เล่มก่อนจะออกไปลงประชามติ เชื่อว่ามีประชาชนไม่กี่คนได้อ่านจริงๆ เพราะยามปกติก็ไม่มีใครอ่านอยู่แล้ว

ผมเองซึ่งติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิดยังไม่เคยได้รับรู้เรื่องการจัดพิมพ์รัฐธรรมนูญและได้รับมาอ่านก่อนไปลงประชามติ เชื่อว่าประชาชนทั่วๆ ไป (ที่ไปออกเสียงรับรัฐธรรมนูญ) ย่อมไม่แตกต่างกัน

ประชาชนของประเทศนี้ต่างรู้ว่าประชามติครั้งนั้นมันผ่านด้วยเหตุผลอะไร รัฐบาลในขณะนั้นบริหารประเทศด้วยระบอบอะไร? หนีไม่พ้นเผด็จการทหารที่พยายามขจัดปัดคนที่เห็นต่างให้พ้นทาง ใครต่อต้านจะถูกเรียกตัวไปปรับทัศนคติ ยังพอจำกันได้อยู่ไหม? ทหารมีอำนาจมาก คุกคามประชาชนทุกรูปแบบต่อเนื่องถึงปัจจุบัน?

 

วันนี้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนที่มีการศึกษาได้ศึกษาหาความรู้จนตื่นรู้ มีการติดตามการบริหารประเทศของรัฐบาลนี้มาตั้งแต่ต้น เข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญและทุกเรื่องราวของประเทศนี้ทุกมิติ ได้รวมตัวกันออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องถามหา “ประชาธิปไตย” แต่พวกเขาถูกกีดกันปิดกั้น คุกคามปราบปรามด้วยสารพัดกฎหมายโดยไม่คำนึงเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน

รัฐบาลไม่ฟังเสียงใครนอกจากคำหวานจากพวกเดียวกัน มองพรรคการเมืองอื่นคนอื่นๆ ที่คิดต่างอย่างไร้คุณค่า พยายามทำลายพรรคการเมืองที่เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ๆ ให้พ้นทาง แทนที่จะปล่อยให้พวกเขาได้ต่อสู้อย่างเปิดเผยในสภาตามกระบวนการในระบอบประชาธิปไตย

โลกมันเปลี่ยนแปลง คนรุ่นเก่าๆ ส.ส. ส.ว.ที่คร่ำครึย่อมตามอะไรไม่ทัน อ่านอะไรไม่ออก ยังงุ่มง่ามงมงายอยู่กับความเก่ากับผลประโยชน์ ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ไม่คิดแบ่งปัน และความจริง แน่นอนว่าย่อมจะไม่เข้าใจเทคโนโลยีและสติปัญญาความคิดของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน บ้านเมืองมันจึงเกิดวิกฤตขึ้น

เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีคนเก่ง “ลาออก” ก็ทำมึนลอยตัว “ไม่ออก” ขอให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ช่วยกันขัดขวาง พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งร่วมรัฐบาล (บอกจะแก้รัฐธรรมนูญ) เสนอจัดตั้งคณะกรรมการพูดคุยหาทางออก ซึ่งเชื่อว่าคงทำอะไรไม่ได้ เสียเวลาเปล่า เพราะทุกอย่างอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงคนเดียวที่จะปลดล็อกได้

ข้อเรียกร้องของประชาชนผู้ชุมนุม “คณะราษฎร 2563” มันชัดเจน ตรงเป้าเข้าใจดีอยู่แล้ว