วิเคราะห์ : “ใครก่อมลพิษ คนนั้นต้องจ่าย” ทางเลือกแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

“ขยะพลาสติกอยู่ทุกหนแห่ง ลอยฟ่องอยู่กลางลำน้ำ ทะเลสาบ มหาสมุทร มันเป็นตัวอันตรายของสัตว์ป่า ชาวแคนาเดียนต้องการให้รัฐบาลจัดการขยะพลาสติกเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไป”

ถ้อยแถลงของรัฐบาลแคนาดาหลังจากประกาศให้ทุน 2 ล้าน 3 แสนเหรียญแคนาดา หรือราว 50 ล้านบาทแก่กลุ่มนักวิจัยด้านผลกระทบของขยะพลาสติก ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนจำนวน 16 โครงการ

การจัดสรรทุนดังกล่าวสืบเนื่องจากรัฐบาลแคนาดาได้รับผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดว่า ขยะพลาสติกไม่ว่าจะเป็นเชือก ตาข่าย หรือถุงพลาสติกล้วนแล้วเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าทั้งสิ้น เพราะเมื่อสัตว์กลืนกินเข้าไปขยะจะติดอยู่ในลำคอ ขัดขวางระบบการย่อยอาหาร และเสียชีวิตในที่สุด

ขณะเดียวกันชาวแคนาเดียนทิ้งขยะพลาสติกปีละกว่า 3 ล้านตัน

ขยะเหล่านี้มาแปรรูปกลับไปใช้ใหม่เพียงแค่ 9 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือซุกฝังในกองขยะ หรือกระจายเกลื่อนในพื้นที่สาธารณะ

แม้ขยะพลาสติกจะมีผลลบต่อสิ่งแวดล้อม แต่กระนั้นชาวแคนาเดียนอีกจำนวนมากไม่ได้ตระหนักรู้ถึงผลร้ายของขยะพลาสติก

ส่วนหนึ่งของเงินกองทุนจึงแบ่งไปจัดทำโครงการเผยแพร่ความรู้เพื่อกระตุ้นเตือนให้ช่วยกันดูแลรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและใช้พลาสติกน้อยลง หรือเลือกใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น

นอกจากนี้แล้วรัฐบาลแคนาดายังริเริ่มแผนวิทยาศาสตร์พลาสติก มุ่งเน้นลดจำนวนขยะพลาสติกป้องกันมลพิษที่เกิดจากขยะพลาสติกและนำพลาสติกมาใช้ในเชิงเศรษฐกิจหมุนเวียน

ตามแผนดังกล่าวคิดวางตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มจากการออกแบบใช้สอยให้มีประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด โรงงานนำวัตถุดิบพลาสติกที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดมาผลิต และเมื่อใช้แล้วสามารถนำกลับมาแปรรูปวนกลับไปใช้ใหม่

กระบวนการทั้งหมดนี้ คาดหวังว่าจะนำไปสู่เป้าหมายประเทศแคนาดาปลอด “ขยะพลาสติก” ในปี 2573 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า

 

ผมนำข่าวนี้มาตอกย้ำให้เห็นว่า ทุกประเทศทั่วโลกต่างเจอปัญหาขยะพลาสติกและพยายามหาทางแก้ไขกันอย่างอุตลุด

ในบางประเทศนั้น เอากฎหมายเข้ามาจัดการปัญหา อย่างเคนยา เจอขยะพลาสติกล้นเมือง เนื่องจากร้านค้าต่างพากันแจกถุงพลาสติกไม่อั้น เฉลี่ยปีละ 100 ล้านถุง ส่วนชาวบ้านใช้ถุงพลาสติกแล้วทิ้งเรี่ยราด

เมื่อ 3 ปีที่แล้วรัฐบาลเคนยาตัดสินใจออกคำสั่งห้ามใช้ถุงพลาสติก ใครฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุด 38,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 ล้าน 1 แสนบาท หรือจำคุก 4 ปี

กฎหมายลงโทษคนละเมิดใช้ถุงพลาสติกของรัฐบาลเคนยาถือว่ารุนแรงที่สุดในโลก กระนั้นก็เกิดผลดี เพราะจำนวนขยะพลาสติกหายไปถึง 80 เปอร์เซ็นต์

เมื่อกลางปีนี้ รัฐบาลเคนยาสั่งห้ามซื้อ-ขายพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นการยกระดับการต่อสู้กับขยะพลาสติก

 

รัฐบาลลุงตู่กล้าๆ กับการใช้กฎหมายเข้มๆ เหมือนอย่างเคนยา คงจะช่วยลดขยะพลาสติกบ้านเราไปอีกโข

อย่างไรก็ตาม นักสิ่งแวดล้อมทั่วโลกเป็นกังวลว่า ปัญหาขยะพลาสติกจะลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากจีนซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าขยะพลาสติกใหญ่ที่สุดของโลก ออกกฎหมายห้ามนำขยะต่างชาติเข้าประเทศ

กฎหมายฉบับดังกล่าวทำให้กลุ่มประเทศตะวันตกซึ่งเป็นแหล่งบริโภคนิยมพากันร้องระงมเพราะในอดีตนั้นต่างขนขยะไปทิ้งในจีนและชาวจีนก็ชอบเพราะเอาไปแปรรูปได้ แต่เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงอากาศเป็นพิษ น้ำเน่าเสียและสุขภาพของผู้คนทรุดโทรม

ฝ่ายจีนเองเมื่อมีคำสั่งห้าม บรรดาพ่อค้าแห่กันมาลงทุนตั้งโรงงานรีไซเคิลในต่างประเทศ ทั้งในเมืองไทย และอีกหลายประเทศในภูมิภาคนี้

ช่วง 2-3 ปีมีข่าวออกมาเป็นระยะๆ ว่า บริษัทของจีนรับจ้างขนตู้คอนเทนเนอร์อัดขยะพลาสติกจนแน่นเอี๊ยดจากประเทศตะวันตกส่งมายังโรงงานในไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลกัมพูชาเพิ่งส่งตู้คอนเทนเนอร์ขยะพลาสติกคืนกลับประเทศแคนาดาและสหรัฐ 83 ตู้ พร้อมๆ กับติดป้ายบนตู้คอนเทนเนอร์เขียนภาษาอังกฤษตัวโตๆ แปลความได้ว่า “กัมพูชาไม่ใช่ถังขยะ”

ส่วนรัฐบาลอินโดฯ ก็ส่งคืนตู้คอนเทนเนอร์ขยะพลาสติกหลายร้อยตู้ให้ประเทศต้นทางเช่นกัน

รัฐบาลออสเตรเลีย รัฐบาลนอร์เวย์ ดูเหมือนรู้สึกละอายใจกับการส่งขยะไปประเทศอื่นๆ จึงมีคำสั่งห้ามส่งออกขยะพลาสติก

 

นอกจากขยะพลาสติกแล้ว ชาวโลกกำลังเป็นห่วงกับขยะดิจิตอลหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีแนวโน้มเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นทุกที เพราะขยะประเภทนี้มาจากเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต เครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น สมาร์ตทีวี หรือแม้กระทั่งรองเท้าวิ่งที่มีตัวเซ็นเซอร์ฝังอยู่ด้วย

ในรายงานของโกลบอล อี-เวสต์ มอนิเตอร์ 2020 ระบุว่า ทุกๆ 1 นาที ชาวโลกทิ้งขยะดิจิตอล 38 ล้านตัน และในปีหน้าจะเพิ่มเป็น 57 ล้านตัน

ถ้าเปรียบเทียบจำนวนขยะทุกชนิดที่ชาวโลกทิ้ง 2,000 ล้านตันต่อนาที ขยะดิจิตอลมีสัดส่วนเพียงน้อยนิด แต่เป็นขยะที่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เนื่องจากมีโลหะหนักและสารพิษปนเปื้อน

การทำลายทิ้งเป็นเรื่องยาก หลายประเทศจึงหันมาออกฎหมายบังคับใช้โดยยึดหลักการใครก่อมลพิษ คนนั้นต้องจ่าย (polluter pay principles) บีบบังคับบริษัทแสดงความรับผิดชอบกับสินค้าที่ผลิต

เมื่อสินค้ากลายเป็นขยะดิจิตอลบริษัทนั้นๆ จะต้องนำกลับไปรีไซเคิลหรือทำลายทิ้งไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากผู้ผลิตไม่มีระบบกำจัดหรือแปรรูปของตัวเอง ก็ต้องเสียภาษีค่าบำบัดขยะให้กับรัฐ

มาตรการ “ใครก่อมลพิษ คนนั้นต้องจ่าย” ถือว่าเป็นการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เพราะถ้ารัฐเปิดทางให้ผู้ผลิตผลิตสินค้าออกมาขายโดยไม่มีความรับผิดชอบ และปล่อยให้ผู้บริโภคทิ้งขยะโดยขาดจิตสำนึกสาธารณะ ขยะจะล้นบ้านล้นเมืองทำลายสภาพแวดล้อมอย่างที่เป็นกันทั้งโลก