คำ ผกา | ไล่แล้วไม่ไปทำไงดี

คำ ผกา

ในขบวนการเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนครั้งนี้นำไปสู่การตั้งคำถามว่า ออกมาชุมนุมกันเรื่อยๆ แต่ถ้ารัฐบาลโนสนโนแคร์ ดันทุรังจะทำอย่างที่อยากทำ ม็อบจะไปจบที่ตรงไหน?

ฉันคิดว่าข้อเรียกร้องทางการเมืองในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทยครั้งนี้ ไม่เหมือนครั้งใดๆ ที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย

เพราะขบวนการทางการเมืองของผู้คนที่ต้องการเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยครั้งนี้มีข้อเรียกร้องอยู่ในขบวนการ 2 ระดับ คู่ขนานกันไปโดยตลอด

ข้อเรียกร้องระดับแรก เป็นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล และสภา เช่น ประยุทธ์ต้องลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่แบบมี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หรือข้อเรียกร้องปลีกย่อยเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมาย เช่น กฎหมายการแต่งงานของเพศเดียวกัน กฎหมายเกี่ยวกับการทำและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กฎหมายทำแท้ง ฯลฯ

ข้อเรียกร้องระดับที่สอง สำหรับฉัน ไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องที่มีต่อรัฐบาลหรือผู้กุมอำนาจรัฐโดยตรง แต่เป็นข้อเรียกร้องที่ถูกโยนลงมาใส่หน้าคนไทยทุกคน

ข้อเรียกร้องเหล่านี้ เช่น การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การปฏิรูปตำแหน่งแห่งที่ของพุทธศาสนากับการเมือง การปฏิรูปการศึกษา และการปฏิรูปกองทัพ

เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าขบวนการประชาธิปไตยในสังคมไทย ณ ขณะนี้ ต้องการความเปลี่ยนแปลงในระดับที่เป็นโครงสร้างทางวัฒนธรรมการเมืองในระดับที่ลึกที่สุด

พูดให้ง่ายๆ คือ พวกเขาต้องการนิยามความเป็นไทยใหม่ทั้งหมด และต้องการสร้างความเป็นไทยแบบใหม่ขึ้นมาแทนที่

ก่อนที่เราจะไปดูว่านิยามความเป็นไทยที่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยต้องการคืออะไร เราต้องเริ่มสำรวจก่อนว่า นิยามความเป็นไทยแบบเดิมหรือแบบที่เป็นอยู่คืออะไร?

นิยามความเป็นไทยแบบเดิม เริ่มตั้งแต่ชาติไม่ได้เป็นของประชาชน และประชาชนต้องสำนึกในบุญคุณของเจ้าของชาติ เป็นนิยามของชาติผ่านเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ฉบับราชการที่บอกว่า บ้านนี้เมืองนี้ได้รับการดูแล กอบกู้ ปกปักรักษาผ่านบูรพกษัตริย์

นิยามความเป็นไทยแบบดั้งเดิม เชื่อในเรื่องบุญทำกรรมแต่ง ชะตาชีวิต คุณภาพชีวิต ความร่ำรวย มั่งคั่ง ยากจน ใดๆ ของเรา เป็นเรื่องของการสั่งสมบุญกรรมของชาติที่แล้ว

ดังนั้น ชะตาชีวิตของเราถูกลิขิตมาแล้วล่วงหน้าจาก “ชาติกำเนิด”

นิยามความเป็นไทยแบบดั้งเดิมเชื่อในเรื่องลำดับชั้นต่ำสูง ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่ ต่อให้ผู้ใหญ่ทำผิด แต่ผู้น้อยก็ควรสงวนท่าทีและความเห็น เพราะการหักล้าง หรือก้าวร้าวต่อผู้ใหญ่เป็นเรื่องไม่สมควร ไม่น่ารัก

นิยามความเป็นไทยแบบดั้งเดิมเชื่อว่า พุทธศาสนากับความเป็นไทยนั้นแยกออกจากกันไม่ได้ ไม่มีพุทธคือไม่มีไทย ไม่มีไทยคือไม่มีพุทธ

พุทธศาสนาคืออัตลักษณ์ของความเป็นไทยที่สำคัญที่สุด

บ้างก็บอกว่านี่คือรากเหง้าของความเป็นไทยที่แท้จริง

ดังเราจะได้ยินอยู่เนืองๆ ว่า เมืองไทยเมืองพุทธ คนไทยคนพุทธ เมื่อเป็นดังนี้ เมืองไทยและคนไทยจึงดูเหมือนว่าจะดีกว่าคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นพุทธ

และโดยความเชื่อเช่นนี้ ก็ทำให้คนไทยจำนวนมากหวาดกลัวกับคำว่า “ไม่มีศาสนา” และกรีดร้องเสมอเมื่อรู้ว่าในโลกนี้มีคนที่ไม่มีศาสนา

และยิ่งถ้าคนไม่มีศาสนาคนนั้นเป็นคนไทย ก็ยิ่งกรีดร้องว่า แล้วคนเหล่านั้นเค้าจะมีอะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจเหรอคะ

เค้าจะมีชีวิตอยู่ได้ยังไงคะ

เวลาตายเค้าจะทำยังไงกับศพเค้าเหรอคะ

เวลามีความทุกข์เค้าจะฆ่าตัวตายเลยไหมคะ

เขาจะลุกขึ้นมาฆ่าคนเป็นว่าเล่นไหมคะ เพราะเขาไม่กลัวบาป?

นิยามความเป็นไทยแบบดั้งเดิมมองว่า โรงเรียนเป็นที่ฝึกระเบียบวินัยและการเชื่อฟังคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ นักเรียนอยากดีอยากเก่งต้องตัดผมสั้นตามระเบียบ แต่งตัวถูกต้องตามระเบียบ ต้องทำทุกอย่างตามที่ครูบอก อย่าเถียง อย่าตั้งคำถาม แล้วทุกอย่างจะดีเอง เพราะการเคารพผู้ใหญ่จะส่งเป็นกุศลบุญให้เราได้ดิบได้ดีไปเอง

นิยามความเป็นไทยแบบดั้งเดิมมองว่า ระเบียบวินัยแปลว่าการทำตามคำสั่ง ซ้ายหัน ขวาหัน แถวตรง ไม่เกี่ยวกับเรื่องความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น

นิยามความเป็นไทยแบบดั้งเดิมมองว่าผู้หญิงที่ดี พิสูจน์กันที่การเป็นลูกสาวที่ดี และการเป็นแม่ที่ดี ผู้หญิงที่ดีต้องสวยงามทั้งกาย วาจา ใจ กล้าหาญแต่อ่อนโยน ไม่พูดคำหยาบคาย

ผู้ชายที่ดีคือ ชายชาติทหาร สุภาพบุรุษ

แน่นอนว่าในนิยามของความเป็นไทยดั้งเดิม ไม่มีคำว่าเพศทางเลือก ตุ๊ด เกย์ กะเทย

แต่ถ้าเป็นตุ๊ด เกย์ กะเทย ทอม ดี้ แล้วอยากได้รับการยอมรับจากสังคม ก็จงสมาทานความเป็นไทยแบบดั้งเดิมนี้ให้มากกว่าคนอื่นๆ

เช่น ต้องแสดงออกซึ่งความรักชาติแบบเว่อร์ๆ เล่นใหญ่ๆ ใส่เสื้อ ติดเข็ม โพสต์ด่าคนชังชาติ แบบแรงๆ ก็จะได้รับการยอมรับ

นิยามความเป็นไทยแบบดั้งเดิมมองว่า เด็กคือผ้าขาว เด็กไม่รู้อะไร เด็กผ่านโลกมาน้อย บุ่มบ่าม ใจร้อน

เด็กที่ฉลาดจะต้องเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน

ผู้ใหญ่เตือนก็ควรจะฟัง เพราะผู้ใหญ่ผ่านห้วงวัยใจร้อน บุ่มบ่ามนั้นมาแล้ว เคยผิดพลาดมาแล้ว

ผู้ใหญ่เหล่านี้ชอบบอกว่า สมัยตนเองเจอความลำบากมามาก แล้วผ่านมันมาได้ ทำไมเด็กสมัยนี้รักสบาย ดีแต่เรียกร้องความเปลี่ยนแปลงนู่นนั่นนี่ ทำไมไม่พยายามเริ่มการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเอง

นิยามของความเป็นไทยแบบดั้งเดิมเชื่อว่า ผู้นำประเทศ รัฐบาล คือ “ผู้ปกครอง” คือ ผู้หลักผู้ใหญ่ ในความเป็น “ไทย” นั้นมองว่า คนที่จะขึ้นเป็นนายกฯ นั้นก็คงคล้ายๆ เสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ พึงเป็นผู้มีชาติกำเนิดสูง เป็นคนดี

หรือหากเป็นสามัญชนก็ต้องมาจากครอบครัวที่ตั้งมั่นอยู่ในความจงรักภักดีอย่างสูงยิ่ง

มีความเป็นพุทธศาสนิกสูงยิ่ง ต้องแสดงออกซึ่งความเป็นพุทธมามกะที่ดี หมั่นเข้าวัดเข้าวา ต้องใจซื่อมือสะอาด (ไม่ใช่จากการกระทำ แต่จากการยืนยันว่าตัวเองเป็นไทยและเป็นพุทธ)

ในความเป็น “ไทย” นี้ หน้าที่ของนายกฯ ไม่ใช่การบริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้า

แต่นายกฯ ต้องทำหน้าที่พิทักษ์ “ความเป็นไทย” ทั้งหมดทุกข้อที่กล่าวมา และในภาษาที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เราจะเรียกสิ่งนี้ว่า “ความมั่นคง”

และใดๆ ที่ท้าทายความเป็นไทยนี้ เราจะเรียกมันว่า “ภัยความมั่นคง”

ทีนี้ในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย เขาต้องนิยามความเป็นไทยอย่างไร?

นิยามความเป็นไทยแบบเสรีนิยม ชาติเป็นของประชาชน ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ และประเทศชาติบริหารด้วยภาษีประชาชน

ดังนั้น ความรักชาติ ย่อมหมายถึงความรักในประชาชนที่เป็นเพื่อนร่วมชาติ

ดังนั้น ในความเป็นชาตินี้ไม่มีใครพึ่งบุญใคร และไม่มีใครเป็นหนี้บุญคุณใคร

อีกทั้งความเป็นชาติไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติ เจ๊ก แขก ไท ลาว

แต่หมายถึงคนสัญชาติไทย ที่ทำงาน เสียภาษีอยู่ในประเทศไทย จะมาเก่ามาใหม่ เพิ่งอพยพเข้ามา ก็คือว่าเป็นพลเมืองของประเทศไทยเท่าเทียมกัน

และพึงได้รับการดูแลจากรัฐไทย ได้รับสวัสดิการใดๆ เสมอหน้ากันทั้งสิ้น

นิยามความเป็นไทยเสรีนิยม คนเท่ากันในชาตินี้ ไม่เกี่ยวกับบุญ กรรม หรือชาติกำเนิด

คนอาจจะสวยไม่เท่ากัน รวยไม่เท่ากัน ประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลวในชีวิตได้ต่างๆ กัน

แต่ทั้งหมดนี้ โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพลเมือง ต้องเป็นไปโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

ไม่ใช่การอยู่ในสังคมอุดมความเหลื่อมล้ำที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเข้าไม่ถึงโอกาสในการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง

ในขณะที่คนที่เข้าถึงทุกโอกาสก็มีแต่จะได้รับโอกาสนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ คนรวยก็ยิ่งรวย จนกระทั่งความมั่งคั่งและคุณภาพชีวิตที่ดีกลายเป็นสมบัติเฉพาะ ถูกผูกขาดไว้กับคนบางกลุ่มในสังคมเท่านั้น

นิยามความเป็นไทยแบบเสรีนิยมมองว่า รัฐกับศาสนาต้องแยกจากกัน เป็นรัฐโลกวิสัย รัฐวางตัวเป็นกลางทางศาสนา ไม่ทั้งสนับสนุนหรือต่อต้านศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ การมีสำนักพุทธภายใต้การกำกับของรัฐบาล จึงเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดว่ารัฐไทยไม่ได้เป็นรัฐโลกวิสัยอย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งโครงสร้างการบริหารกิจการสงฆ์ไทยยังเป็นประหนึ่งระบบราชการคู่ขนานกับระบบราชการของรัฐฆราวาสอีกด้วย

นิยามความเป็นไทยในแบบเสรีนิยมต้องการปฏิรูประบบการศึกษา เพื่อล้างมรดกอุดมการณ์แนวคิดอำนาจนิยมที่ค้ำจุนอุดมการณ์โลกทัศน์ ความเป็นไทยแบบดั้งเดิมออกไปให้หมด การศึกษาต้องเป็นเครื่องมือที่ปลดปล่อยคนออกจากความเป็นทาส ไปสู่การเป็นมนุษย์ที่มีเจตจำนงเสรีของตนเองอย่างแท้จริง

นิยามความเป็นไทยแบบเสรีนิยมเห็นว่า นายกฯ รัฐมนตรี ผู้บริหารประเทศคือตัวแทนประชาชน เราให้เกียรติคนทั่วไปอย่างไร เราก็ให้เกียรติหรือมีมารยาทกับนายกฯ หรือข้าราชการ หรือคนมีตำแหน่งสำคัญๆ อย่างนั้น

ในความเป็นไทยแบบที่เรานิยามใหม่ไม่มีคำว่า “ผู้ใหญ่” หรือ “คนใหญ่คนโต” การเข้ามาทำงานการเมืองก็เป็นงานอย่างหนึ่ง ไม่ใช่การเสียสละเพื่อบ้านเมืองที่จะมากลายเป็นบุญเป็นคุณอะไร

นิยามความเป็นไทยแบบเสรีนิยมต้องการอธิบายเรื่องเพศสภาพ เพศวิถี ในสังคมใหม่ทั้งหมด อันจะนำมาซึ่งการนิยมคุณค่า ความดี ความงามของคนในสังคมที่ไม่มีคุณค่าแบบที่ถูกกำหนดมาจากโลกทัศน์ที่โลกหมุนรอบผู้ชาย

พูดให้เข้าใจง่ายที่สุด ในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งนี้ ไม่ได้ต้องการแค่ให้ประยุทธ์ลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว

แต่ต้องการเผยแพร่อุดมการณ์ว่าด้วยความเป็น “ไทย” ที่ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้อง “ไม่เหมือนใคร”

ความเป็น “ไทย” ที่พวกเขาต้องการคือความเป็นไทยที่ align หรือเรียงตัวไปกับระบบคุณค่าของสากลโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สุนทรียะทางวรรณกรรม ดนตรี ศิลปะ ศาสนา ปรัชญา

ดังนั้น ต่อคำถามที่ว่า ถ้าประยุทธ์ไม่ลาออก ไม่ทำอะไรสักอย่างที่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของม็อบ ม็อบจะทำอย่างไร

ฉันคิดว่า ประยุทธ์จะลาออกหรือไม่ลาออก ม็อบก็จะดำเนินไปเช่นนี้

เพื่อสื่อสารนิยามความเป็นแบบใหม่ออกสู่สังคมและผู้คนไปเรื่อยๆ

อีกทั้งรูปแบบของการเคลื่อนไหวก็จะไม่ใช่แค่การชุมนุมทางการเมืองอย่างเดียว

แต่พัฒนาเป็นนิทรรศการที่รวมผู้คนและกิจกรรมอันหลากหลายมาไว้ในนั้น และสื่อสารแนวคิด อุดมการณ์เกี่ยวกับความเป็นไทยที่ไม่ขัดแย้งต่อคุณค่าของโลกสากลต่อไปเรื่อยๆ

ทีละเล็กทีละน้อย เราจะเลิกภูมิใจอะไรแปลกๆ เพียงเพราะว่ามันเป็น “ไทย” ที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนใครในโลก ตรงกันข้าม เราจะเข้าใจว่า ความเป็นไทยที่ควรจะเป็นคือการได้สมาทานคุณค่าเดียวกับที่ชาวโลกเขาเป็นกัน

ทีละเล็กทีละน้อย เราจะค่อยๆ เข้าใจตรงกันหมดว่า โลกไม่ได้แบนอย่างที่เขาพยายามจะหลอกตัวเอง