คุยกับทูต : อาซิม อิฟทิคาร์ อาห์หมัด ให้แคชเมียร์ได้พูดบ้าง ตอนที่ 1

ได้เกิดการสู้รบกันอย่างครึกโครมเมื่อ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ระหว่างสองประเทศ คือ อินเดีย กับปากีสถาน ที่ต่างครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ณ พรมแดนแคชเมียร์ตอนเหนือ ซึ่งทั้งสองประเทศต่างอ้างสิทธิ์ ทำให้มีพลเรือนและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเสียชีวิตจำนวนมาก นับเป็นยอดผู้เสียชีวิตสูงสุดในปีนี้

โดยอินเดียกล่าวโทษว่า ทางการปากีสถานหนุนหลังกองกำลังติดอาวุธ

ส่วนปากีสถานปฏิเสธและตำหนิที่อินเดียปฏิบัติต่อชาวบ้านมุสลิมอย่างไม่เป็นธรรม

ในประวัติศาสตร์ แคว้นจัมมูและแคชเมียร์ซึ่งมีพื้นที่ถึง 222,236 ตารางกิโลเมตร เคยเป็นดินแดนที่เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา

แต่ต่อมา ประชาชนส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม เคยอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิดุรรานีในอัฟกานิสถาน จักรวรรดิโมกุลในอินเดีย และเคยอยู่ใต้การปกครองของชาวซิกข์

เมื่ออังกฤษเข้ามา กษัตริย์ของแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ช่วยอังกฤษรบกับชาวซิกข์ จึงได้เป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ

หลังจากอังกฤษได้แบ่งบริติชราชออกเป็นสองรัฐเอกราช คืออินเดีย และปากีสถานเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 1947 โดยทั้งสองประเทศต่างมีสถานะเป็นประเทศในเครือจักรภพ ชนวนความขัดแย้งดินแดนในแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ (เรียกสั้นๆ คือแคชเมียร์ ที่ดินแดนส่วนมากตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย) ก็ได้เกิดขึ้น

รัฐจัมมูและแคชเมียร์ (ในขณะนั้น) เป็นรัฐมหาราชา คั่นระหว่างอินเดียกับปากีสถาน

แต่มหาราชาฮารี ซิงห์ ผู้ปกครองแคชเมียร์ในขณะนั้นนับถือศาสนาฮินดู จึงเลือกยอมรับอินเดีย

ทำให้ประชาชนในแคว้นแคชเมียร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม นับถือศาสนาอิสลามลุกฮือต่อต้าน จึงถูกทางการรัฐจัมมูและแคชเมียร์สังหารหมู่ชาวมุสลิมในแคชเมียร์จำนวนมาก

พระราชอำนาจของมหาราชาฮารี ซิงห์ จึงเริ่มสั่นคลอนสูญเสียการควบคุมพื้นที่ของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ทางภาคตะวันตก เกิดสงครามระหว่างอินเดียกับปากีสถาน แย่งชิงแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ ครั้งแรกในเดือนตุลาคม ปี 1947

อินเดียส่งกำลังทหารตามที่มหาราชาฮารี ซิงห์ ร้องขอความช่วยเหลือ แลกกับการที่แคว้นจัมมูและแคชเมียร์จะเข้ามาเป็นหนึ่งในแคว้นของอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศนับถือฮินดูเหมือนกัน

 

จากนั้นสงครามการสู้รบได้ยืดเยื้อยาวนาน จนมาสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 1 มกราคม 1949 ปากีสถานสามารถยึดดินแดนได้ราว 1 ใน 3 ของแคว้นแคชเมียร์ ในขณะที่สหประชาชาติได้เข้ามาเป็น “ตัวกลาง” ไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายยอมสงบศึก โดยให้มีการจัดตั้งเส้นแบ่งเขตหยุดยิงระหว่างอินเดียและปากีสถาน และบังคับให้มีการลงประชามติสอบถามความเห็นของประชาชนในแคว้นแคชเมียร์ แต่จนมาถึงปัจจุบันก็ยังไม่เคยมีการจัดลงประชามติในแคว้นแคชเมียร์เลย

มีสงครามชิงแคชเมียร์และการสู้รบย่อยๆ มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน กระทั่งมาถึงปี 1972 อินเดียและปากีสถานได้ลงนามในข้อตกลงซิมลา (SIMLA Agreement) กำหนดให้เปลี่ยนเส้นหยุดยิงเป็นเขตการควบคุม ระยะทาง 740 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นพรมแดนแบ่งพื้นที่การยึดครองแคว้นแคชเมียร์ของทั้งสองประเทศ แต่ไม่ได้ช่วยให้ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศนี้ลดลง

เวลาก็ผ่านมาแล้วกว่า 72 ปี เรื่องราวที่ค้างคายังไม่มีความคืบหน้า

 

วันนี้เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย นายอาซิม อิฟทิคาร์ อาห์หมัด (H.E. Mr.Asim Iftikhar Ahmad ) ได้มาชี้แจงเพิ่มเติมถึงข้อเท็จจริง

“ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและข้อพิพาทระหว่างประเทศที่ค้างคามายาวนาน แคชเมียร์กลายเป็นกรณีคลาสสิคของคำสัญญาที่ไม่สมบูรณ์และคำมั่นสัญญาที่ไม่บรรลุผล”

“จากถ้อยแถลงและการสื่อสารมากมายของเยาวหราล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ได้ให้คำมั่นสัญญาของรัฐบาลอินเดียต่อชาวแคชเมียร์ ปากีสถานและประชาคมระหว่างประเทศว่าอินเดียจะเคารพความปรารถนาของชาวแคชเมียร์โดยคำนึงถึงอนาคตของพวกเขา”

ตัวอย่างในถ้อยแถลงของเขาต่อหน้าสภาร่างรัฐธรรมนูญของอินเดียเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 1947 บัณฑิตเนห์รูกล่าวว่า

“เพื่อแสดงถึงความจริงใจของเรา เราได้เสนอว่า เมื่อประชาชนได้รับโอกาสในการตัดสินใจอนาคตของพวกเขา ก็ควรดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของศาลที่เป็นกลาง เช่น องค์การสหประชาชาติ”

ครั้งต่อมาในรัฐสภาอินเดียเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 1952 นายเนห์รูกล่าวว่า

“ขอพูดอย่างชัดเจนว่า เรายอมรับเรื่องพื้นฐานที่ว่าอนาคตของแคชเมียร์กำลังจะถูกตัดสินโดยความปรารถนาดีและความยินดีของประชาชนในที่สุด ความปรารถนาดีและความพึงพอใจของรัฐสภาไม่มีความสำคัญในเรื่องนี้ ไม่ใช่เพราะรัฐสภานี้ไม่มีความเข้มแข็งในการตัดสินปัญหาของแคชเมียร์ แต่เนื่องจากการจัดเก็บภาษีใดๆ จะขัดต่อหลักการที่รัฐสภานี้ยึดถือ”

“แคชเมียร์อยู่ในความคิดและจิตใจของเรามาก และหากโดยพระราชกฤษฎีกาหรือความโชคร้ายบางอย่างทำให้ยุติการเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย ก็จะกลายเป็นความเจ็บปวดอย่างยิ่งยวดสำหรับเรา”

“อย่างไรก็ตาม หากชาวแคชเมียร์ไม่ต้องการอยู่กับเรา ก็จงปล่อยพวกเขาไปอย่างเด็ดขาด เราจะไม่ทำสิ่งที่ขัดต่อความประสงค์ของพวกเขา ถึงแม้ว่าจะทำให้เราเจ็บปวดก็ตาม”

“เราต้องการเน้นว่า มีเพียงชาวแคชเมียร์เท่านั้นที่สามารถตัดสินอนาคตของแคชเมียร์ได้”

“ไม่ใช่ว่าเราพูดอย่างนั้นต่อสหประชาชาติและต่อชาวแคชเมียร์ แต่เป็นความเชื่อมั่นของเราและเป็นสิ่งที่เกิดจากนโยบายที่เราดำเนินการ ไม่เพียงในแคชเมียร์เท่านั้น แต่ในทุกที่”

“ถึงแม้ว่าห้าปีที่ผ่านมาจะมีความยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมายที่เราได้ทำไปแล้วทั้งหมด แต่เราก็เต็มใจที่จะจากไป หากมีการแจ้งให้เราทราบอย่างชัดเจนว่าชาวแคชเมียร์ต้องการให้เราไป”

“อย่างไรก็ตาม เราอาจรู้สึกเสียใจกับการจากไป แต่เราจะไม่อยู่โดยขัดกับความปรารถนาของผู้คน”

“เราจะไม่ยัดเยียดตัวเองเข้าไปในชีวิตของใครโดยที่เขาไม่ต้องการเราด้วยดาบปลายปืน”

 

ท่านทูตอาซิม อิฟทิคาร์ อาห์หมัด เสริมว่า

“อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดาย เพราะอินเดียผนวกรัฐจัมมู-แคชเมียร์มานานกว่า 70 ปีด้วยวิธีการต่อต้านความปรารถนาของชาวแคชเมียร์ด้วยดาบปลายปืน”

“อย่างไรก็ตาม แคชเมียร์ได้รับการขนานนามว่าเป็นดินแดนแห่งสวรรค์บนดินมาช้านานแล้ว จากความสวยงามและความสงบเงียบของดินแดนแห่งนี้ น่าเสียดายที่สวรรค์บนดินแห่งนี้ได้กลายเป็นสถานที่ที่ถูกกดขี่อย่างโหดร้ายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก”

“แคชเมียร์ถูกยึดครองอย่างผิดกฎหมายโดยกำลังทหารอย่างเต็มรูปแบบ เรื่องราวของแคชเมียร์จึงไปอยู่ท่ามกลางข่าวที่น่าเศร้าในเรื่องของการสังหารโหดและการละเมิดสิทธิมนุษยชน มากกว่าเรื่องของความมีเสน่ห์ ความงดงามของประเทศ รวมถึงความน่ารักของประชาชน”

“แคชเมียร์กลายเป็นดินแดนข้อพิพาทและเขตขัดแย้งมานานหลายทศวรรษ และยังเป็นที่รู้จักกันในนามจุดวาบไฟของความขัดแย้งนิวเคลียร์ (nuclear flashpoint) ของโลก”

“ผู้คนมักจะตั้งคำถามเราบ่อยครั้งว่าข้อพิพาทของจัมมูและแคชเมียร์คืออะไร เกี่ยวข้องกับอะไร และจะแก้ไขได้อย่างไร”

“คำตอบสั้นๆ แต่ชัดเจนคือ การตัดสินใจด้วยตนเอง (self-determination) อันหมายถึงสิทธิของประชาชนในการเลือกรูปแบบการปกครองและรัฐบาลของตน”

“ต้นกำเนิดของปัญหาแคชเมียร์ จึงอยู่ที่สิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเองของชาวแคชเมียร์ ซึ่งการแก้ปัญหาข้อพิพาทดังกล่าวขึ้นอยู่ที่การใช้สิทธินั้นด้วย”

“ทั้งรัฐชัมมูและแคชเมียร์เป็นประเด็นของข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตระหว่างอินเดียและปากีสถานนับตั้งแต่ทั้งสองประเทศได้รับเอกราชจากการปกครองของอังกฤษในปี 1947 ข้อพิพาทดังกล่าวเป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยเป็นวาระของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ตั้งแต่ปี 1948”

“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา UNSC ได้มีมติหลายประการเพื่อส่งเสริมการยุติข้อพิพาทอย่างสันติ ปมของมติเหล่านั้น คือเรื่องสิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเองในการเลือกรูปแบบการปกครองและรัฐบาลของตนเอง โดยคณะมนตรีความมั่นคงได้กำหนดสถานะสุดท้ายและการร้องขอเพื่อเข้าครอบครองจัมมูและแคชเมียร์ของสองฝ่าย คือจะต้องถูกตัดสินโดยเจตจำนงของชาวแคชเมียร์ที่แสดงออกผ่านวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยตามแบบที่องค์การสหประชาชาติจะจัดขึ้น”

“ซึ่งไม่มีอะไรจะชัดเจนไปกว่านี้แล้ว สิทธิในการตัดสินใจอนาคตของตนเองของชาวแคชเมียร์จะได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษและได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยเริ่มต้นด้วยการรับรองและยอมรับจากทั้งอินเดียและปากีสถาน”

“แต่ด้วยเหตุใดปัญหาจึงยังไม่ได้รับการแก้ไข นั่นเป็นเพราะอินเดียมีการกลับลำเปลี่ยนท่าทีจากพันธสัญญาที่ให้ไว้ ด้วยความกลัวว่าการเลือกลงคะแนนเสียงแบบเสรีนั้นจะทำให้แคชเมียร์ลงมติไม่เข้าร่วมกับอินเดีย ดังนั้น อินเดียจึงปฏิเสธที่จะให้ UN จัดทำการลงคะแนนเสียงชี้ขาดโดยประชาชนทั่วไป”

“นับเป็นเวลากว่า 72 ปีแล้วที่อินเดียได้เข้ายึดครองรัฐชัมมูและแคชเมียร์อย่างผิดกฎหมายและไม่ถูกต้องตามความปรารถนาของชาวแคชเมียร์ และเป็นการละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงอย่างชัดเจน”