ในประเทศ : ล้ม “รธน.” ฉบับประชาชนตามคาด จับสัญญาณผ่าน 2 ร่าง เอื้อต่ออายุ “รัฐบาล”

ที่ประชุมรัฐสภาระหว่างวันที่ 17-18 พฤศจิกายน ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. … ทั้ง 7 ญัตติ ที่เสนอโดยทั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ส.ฝ่ายค้าน 6 ญัตติ และ 1 ญัตติของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ที่มีประชาชนเข้าชื่อจำนวน 98,041 คน

ไฮไลต์การพิจารณารวมทั้งทิศทางการอภิปราย รวมทั้งการลงมติของสมาชิกรัฐสภา ทั้ง 732 คน (ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้) แบ่งเป็น ส.ส. 487 คน ส.ว. 245 คน

ว่าจะเห็นชอบให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใดเดินหน้าต่อไปได้ โดย 6 ญัตติจากฝ่ายการเมืองที่จะนำสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบด้วย

1. ญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล เสนอแก้ไขมาตรา 256 เปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีสัดส่วนมาจากการเลือกตั้ง 150 คน แต่งตั้ง 50 คน กำหนดการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 240 วัน

2. ญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย เสนอแก้ไขมาตรา 256 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. จากการเลือกตั้ง 200 คน กำหนดแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 120 วัน

3. ญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านโดยพรรคเพื่อไทย 4 ญัตติ ได้แก่ ญัตติแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และแก้ไขมาตรา 159 ปิดทางเลือกนายกรัฐมนตรี

4. ญัตติแก้ไขมาตรา 270 และมาตรา 271 ตัดอำนาจ ส.ว.ติดตามการปฏิรูปประเทศ

5. ญัตติแก้ไขมาตรา 279 ยกเลิกการรับรองความชอบด้วยกฎหมายของประกาศ คำสั่ง และกระทำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

6. ญัตติแก้ไขระบบเลือกตั้งจากบัตรเลือกตั้งใบเดียว กลับไปใช้ 2 ใบ แยกกันระหว่างระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง แบบรัฐธรรมนูญ 2540

 

ส่วนญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือร่างฉบับไอลอว์ เสนอให้แก้ไขมาตรา 256 จัดตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

สาระสำคัญคือ ยกเลิกช่องทางนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ยกเลิกการนิรโทษกรรมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

แก้ไขที่มานายกฯ ยกเลิกบัญชีว่าที่นายกฯ และให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. แก้ไขที่มาของ ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้ง และตัดอำนาจ ส.ว.ไม่ให้เลือกนายกฯ

รวมทั้งแก้ไขที่มาองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญพร้อมสรรหาใหม่ยกชุด รวมทั้งแก้ไขวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่าย ใช้แค่เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา

โดยมีสัญญาณร้อนทางการเมืองภายนอกรัฐสภา โดยเฉพาะการชุมนุมของกลุ่มราษฎร มาติดตามการลงมติของสมาชิกรัฐสภาว่าจะให้ญัตติไหนได้ไปต่อ

โดยเฉพาะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ ที่สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล อย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล รวมทั้ง ส.ว. ต่างตั้งป้อมอภิปราย ชำแหละ โจมตี กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์ว่า เป็นองค์กรที่รับเงินสนับสนุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยนายจอร์จ โซรอส ผู้มีส่วนทำให้ประเทศไทยต้องประสบวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540

ดังนั้น ไอลอว์จึงไม่ควรมีสิทธิในการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเท่ากับให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงครอบงำการแก้ไขรัฐธรรมนูญของไทย

รวมทั้งประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญไอลอว์ ที่เสนอยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ส่งผลให้กลุ่ม ส.ว. และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เกิดความกังวลว่า การยกเลิกกฎหมายดังกล่าวย่อมมีผลเป็นยกเลิกการลงโทษผู้ที่ถูกศาลได้พิพากษาลงโทษในคดีทุจริตตามกฎหมาย ป.ป.ช. ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการสอบสวนและฟ้องคดีต่อศาล นายทักษิณ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จะกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ เดินทางกลับประเทศไทยได้

อย่างที่ “คำนูณ สิทธิสมาน” ส.ว. ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การเสนอยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จะมีผลต่อกระบวนการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและคดีทุจริตประพฤติมิชอบอื่นๆ แน่นอน เพราะการไปกำหนดให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่เป็นฐานกำหนดความผิดโดยตรงมีอันสิ้นผลไป

หรือพูดง่ายๆ ว่ายกเลิกนั้น จะมีผลเสมือนเป็นการนิรโทษกรรมคดีทุจริตในทางปฏิบัติ ตามหลักกฎหมายอาญาที่ว่ากฎหมายมีผลย้อนหลังได้หากเป็นคุณแก่ผู้กระทำผิด ตามที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาหลายฉบับวางบรรทัดฐานไว้

 

ผลการลงมติของที่ประชุมรัฐสภาก็ไม่ได้เหนือความคาดหมาย

เพราะที่ประชุมรัฐสภาลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในฉบับที่ 1 รับหลักการ 576 เสียง ไม่รับหลักการ 21 เสียง งดออกเสียง 123

ร่างที่ 2 รับหลักการ 647 เสียง ไม่รับหลักการ 17 เสียง งดออกเสียง 55 เสียง

ส่วนฉบับที่ 3 ถึงร่างที่ 6 ที่ประชุมลงมติไม่รับหลักการ

ส่วนร่างฉบับที่ 7 ฉบับไอลอว์ เสียงรับหลักการ 212 เสียง (ส.ส. 209 ส.ว. 3 เสียง) ไม่รับหลักการ 139 เสียง งดออกเสียง 369 เสียง

ประเด็นที่ต้องติดตามแม้ญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งร่างของพรรคร่วมรัฐบาล และร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะผ่านความเห็นชอบในขั้นรับหลักการ เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ขึ้นมาพิจารณาในวาระ 2 จำนวน 45 คน

โดยยึดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลักในการพิจารณาในชั้น กมธ.วิสามัญ

 

แต่หนทางในกระบวนการแก้ไขรัฐบาล ยังต้องฝ่าอีกหลายด่านที่พร้อมจะส่งผลถึงขั้นทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องคว่ำไป

ทั้งญัตติที่สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ ส.ว.เข้าชื่อกัน 72 คน เพื่อขอมติที่ประชุมรัฐสภา ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

รวมทั้งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยว่าการแก้ไขมาตรา 256 จะต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ กระบวนการก็เดินหน้าต่อ

แต่ยังมีด่านของการทำประชามติภายหลังการพิจารณาในวาระที่ 3 ซึ่งการทำประชามติภายใต้กลไกและอำนาจของรัฐบาลอาจส่งผลต่อการทำประชามติ ทั้งในเรื่องของความโปร่งใสและความอิสระที่สุ่มเสี่ยงจะถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐ จนอาจมีผลต่อการทำประชามติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

นอกจากนี้ แม้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านการทำประชามติแล้ว แต่ขั้นตอนก่อนการทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ยังมีขั้นตอนให้สมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกที่มีอยู่เข้าชื่อเพื่อให้ประธานสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 หรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ย่อมส่งผลให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอันต้องล้มไป

กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ กติกาที่จะเป็นตัวชี้ทิศทางทางการเมือง ก็ยังเป็นกติกาเดิม คือ รัฐธรรมนูญ 2560

ฉบับที่เรียกขานว่า “ดีไซน์” มาเพื่อพวกเรา เอื้ออำนวยให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อยู่ยาวจนอาจจะครบวาระ