ต่างประเทศ : ความวุ่นวายทางการเมือง “เปรู” เปลี่ยนผู้นำ 3 คนในสัปดาห์เดียว

กลายเป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

หลังจาก “เปรู” ได้ทำการเลือกประธานาธิบดีคนที่ 3 ของประเทศ ภายในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ เพื่อพยายามหยุดยั้งการประท้วงตามท้องถนนที่กำลังลุกลามอย่างหนัก จากการที่รัฐสภาผ่านญัตติถอดถอนนายมาร์ติน บิซการ์รา ออกจากประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จากข้อกล่าวหาเรื่องการติดสินบน ที่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน

หลังการถอดถอนนายบิซการ์รา ก็มีการแต่งตั้งนายมานูเอล เมอริโน ขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี

 

หากแต่การขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของนายเมอริโน ในวัย 59 ปี กลับทำให้ประชาชนจำนวนมากพากันออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่นายเมอริโน

เนื่องจากประชาชนยังคงมีความชื่นชมในตัวของนายบิซการ์ราอยู่

เพราะนโยบายการปฏิรูปประเทศตลอดเวลา 2 ปี ที่ทำให้ประเทศมีความคืบหน้าในหลายๆ ด้าน

การปลดนายบิซการ์ราจึงสร้างความโกรธแค้นให้แก่ประชาชนอย่างมาก

และสถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ จนเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ประท้วง โดยตำรวจมีการใช้ทั้งปืนสั้นและแก๊สน้ำตากวาดล้างผู้ประท้วง

จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 2 ราย และบาดเจ็บอีกนับสิบคน

หลังข่าวการตายของผู้ประท้วง นายเมอริโนก็เลยประกาศขอลาออกจากตำแหน่ง ทั้งที่เพิ่งรับตำแหน่งมาได้ไม่ถึงสัปดาห์

โดยในการแถลงลาออกที่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ นายเมอริโนได้ขอให้คณะรัฐมนตรีที่เหลืออยู่ช่วยกันทำงานต่อไปในช่วงเปลี่ยนผ่าน

หลังจากที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของเมอริโน 11 คน จาก 18 คน ได้ลงจากตำแหน่งไปก่อนหน้านี้แล้ว

โดยนายเมอริโนยังได้กล่าวยอมรับว่าการลาออกนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมกับเรียกร้องสันติภาพและความสามัคคีให้เกิดขึ้นในประเทศด้วย

 

ทั้งนี้ การลาออกของนายเมอริโนทำให้ประชาชนต่างพากันออกมาเฉลิมฉลองตามท้องถนน แม้ว่าการลาออกจะทำให้เกิดภาวะสุญญากาศขึ้นในการบริหารประเทศของเปรู และทำให้ประเทศขาดเสถียรภาพ ในขณะที่ประเทศยังคงต้องเผชิญอยู่กับสภาพเศรษฐกิจที่เลวร้ายอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่คาดกันว่าอาจจะทำให้เกิดการหดตัวทางเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบศตวรรษของประเทศเปรู

โดยนายเมอริโนนั้น เป็นอดีตประธานสภาคองเกรส เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้มีการปลดนายบิซการ์รา

ส่วนนายบิซการ์รานั้น เป็นนักการเมืองสายกลาง ที่ไม่อิงกับการเมืองพรรคใด แต่ได้รับความนิยมจากชาวเปรูอย่างมาก จากนโยบายต่อต้านการรับสินบน

หากแต่เขากลับโดนกล่าวหาในเรื่องพัวพันกับการรับสินบน

โดยสภาคองเกรสของเปรูระบุว่า นายบิซการ์ราได้รับสินบนเพื่อแลกเปลี่ยนกับการอนุมัติสัญญางานจ้างสาธารณะ ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแคว้นโมเกกัว ระหว่างปี 2554-2557

และยังล้มเหลวในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่เป็นผู้นำประเทศ

จึงได้ยื่นถอดถอนนายบิซการ์รา ในข้อหา ขาดคุณสมบัติทางศีลธรรมอย่างถาวร

แม้ว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่เมื่อสภามีมติถอดถอนนายบิซการ์รา ก็ออกมายอมรับมติการถอดถอนดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายบิซการ์ราออกมายืนยันว่า เขาไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา แต่ก็จะไม่ดำเนินการทางกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติแต่อย่างใด เพราะไม่อยากให้สาธารณชนเข้าใจว่า จิตวิญญาณของการรับใช้ประชาชนของเขานั้น เพียงเพื่อต้องการใช้อำนาจเท่านั้น

 

การถอดถอนดังกล่าว ไม่ใช่เพียงแค่ประชาชนที่ไม่พอใจ หากแต่ยังมีนักการเมืองหลายคนที่ออกมาแสดงพลังร่วมกับประชาชน และระบุว่า การถอดถอนนายบิซการ์รานี้ เป็นรัฐประหารปลอมตัวมา และว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ที่ขึ้นมาแทน ถือว่าเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย

จนกลายเป็นที่มาของการออกมาประท้วงอย่างรุนแรง ต่อต้านการขึ้นมาของเมอริโน และนำไปสู่การลงจากตำแหน่งภายในเวลาไม่กี่วัน

กระทั่งในวันที่ 16 พฤศจิกายน สภาผู้แทนราษฎรของเปรู ก็ได้เลือกผู้นำคนใหม่ขึ้นมา คือ นายฟรานซิสโก ซากัสติ อายุ 76 ปี ผู้นำพรรคสีม่วง ที่มีแนวคิดทางสายกลาง โดยมีวาระที่จะต้องดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเปรู ไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 และจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 11 เมษายน ปี 2564

ทำให้นายซากัสติกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ของเปรู ภายในเวลา 7 วันเท่านั้น!!