วันที่จีนแซงมะกัน โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร? | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

ไม่ว่าทีท่าของรัฐบาลสหรัฐภายใต้โจ ไบเดน ต่อจีนจะแข็งกร้าวมากหรือน้อยกว่ายุคของโดนัลด์ ทรัมป์ การเผชิญหน้าระหว่างสองยักษ์ใหญ่จะยังดำเนินต่อไปอย่างแน่นอน

“จีนจะเป็นภัยคุกคามใหญ่ที่สุดสำหรับสหรัฐภายในปี 2025”

คือบทสรุปของฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐในเอกสารหลายชุดที่ประเมินว่าใครคือศัตรูอันดับต้นๆ ของสหรัฐ

ก่อนหน้านี้สหภาพโซเวียตคือเป้าหมายของอเมริกาอันดับหนึ่งเพราะมอสโกมีแสนยานุภาพทางทหารที่พร้อมจะแข่งกับวอชิงตัน

แต่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จีนพัฒนาตัวเองทั้งด้านเศรษฐกิจ, เทคโนโลยีและการป้องกันประเทศอย่างรวดเร็วและแคล่วคล่องจนในสายตาของนักวางแผนสหรัฐเกือบทุกวงการสรุปตรงกันว่าจีนได้มาแทนที่รัสเซียในบทบาทของผู้ท้าชิงตำแหน่งแชมป์โลกแล้ว

จีน, รัสเซีย, เกาหลีเหนือคือสามพันธมิตรที่ยืนอยู่คนละข้างกับอเมริกาอย่างเห็นได้ชัด

ทรัมป์ได้แสดงความเป็นกันเองกับสีจิ้นผิง, ปูติน และคิมจองอึน ในช่วง 4 ปีที่อยู่ในทำเนียบขาว

และสร้างความร้าวฉานกับพันธมิตรเก่าอย่างยุโรปและข่มขู่เปิดสงครามด้านการค้ากับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ (รวมถึงการกระตุกอย่างเปิดเผยให้ควักกระเป๋าจ่ายเงินเพิ่มเพื่อดูแลฐานทัพสหรัฐในประเทศเหล่านั้น)

ทำให้สมการแห่งอำนาจระหว่างประเทศเอียงกระเท่เร่จนกลายเป็นความสับสนอลหม่านในเวทีระหว่างประเทศ

ไบเดนจะดำเนินนโยบายด้านนี้อย่างสุขุมมากขึ้น ยืนยันจะใช้ “กฎกติกาของโลก” หรือ rule-based ในความสัมพันธ์เหล่านี้

กฎกติที่ว่านี้ส่วนใหญ่ก็เขียนและกำหนดโดยสหรัฐนั่นแหละ

ไบเดนกับทรัมป์จะต่างกันในเรื่องนี้ก็ตรงที่ไบเดนจะไม่ใช้ “การทูตโทรโข่ง” และไม่ใช้ทวิตเตอร์ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ

ขณะที่ทรัมป์เป็นผู้นำที่คนอื่น “คาดการณ์ได้ยาก” (unpredictable) แต่ไบเดนจะใช้วิธีการที่ “ผลต้องการจากเหตุ” คือทำนายได้ว่าถ้าประกาศแนวทางอย่างไรก็จะเดินตามนั้น

ทรัมป์เคยอ้างว่าการที่คนอื่นคาดการณ์อะไรเขาไม่ได้นั้นคือ “ข้อได้เปรียบ” ของเขาเพราะคู่แข่งหรือศัตรูไม่อาจจะพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่าเขาจะเดินหมากอย่างไร ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถจะวางกลยุทธ์ที่จะมาสกัดเขาได้

ในหนังสือเล่มใหม่ชื่อ Has China Won? ของเขา Kishore Mahabubani นักการทูตนักคิดนักเขียนคนดังของสิงคโปร์ตั้งคำถามที่ท้าทายให้เกิดการถกแถลงประเด็นจีนกับสหรัฐอย่างน่าสนใจ เช่น

เป็นไปได้ไหมที่ GDP หรือผลผลิตมวลรวมของจีนจะใหญ่กว่าสหรัฐในอีก 30 ปีข้างหน้า?

หากเป็นเช่นนั้นสหรัฐจะต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์อย่างไรบ้างเมื่อตนไม่ได้เป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งทางเศรษฐกิจอีกต่อไป

เป้าหมายหลักของสหรัฐควรจะเป็นการพยายามยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน 330 ล้านของตนแทนที่จะทุ่มเททรัพยากรส่วนใหญ่เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นเบอร์หนึ่งของโลก

เขาตั้งคำถามอีกประเด็นหนึ่งที่ชวนคิดมากว่า

ในช่วงสงครามเย็น สหรัฐทุ่มงบประมาณทางทหารอย่างเต็มที่และบังคับให้สหภาพโซเวียตซึ่งมีเศรษฐกิจที่เล็กกว่าต้องแข่งขันด้วยการจัดสรรงบประมาณอย่างหนักมาแข่ง ผลที่ตามมาก็คือสหภาพโซเวียตมีอันต้องล้มละลายเพราะเหตุนั้น

จีนได้บทเรียนจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

ผู้นำจีนปรับยุทธศาสตร์ทุกวิถีทางที่จะไม่ให้เดินตามแนวทางของมอสโก เพราะรู้ว่าหากวิ่งแข่งกับอเมริกาทางด้านงบทหารก็อาจจะมีอันแตกสลายเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ปักกิ่งจึงใช้นโยบายควบคุมการใช้จ่ายทางทหารไม่ให้เกินตัว แต่หันมาบริหารทรัพยากรทุกๆ ด้านเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

อีกนัยหนึ่งนั่นหมายความว่าผู้นำจีนมองทะลุว่าจะต้องให้ปากท้องประชาชนอิ่มก่อนที่จะหาญกล้าท้าพญาอินทรีรบ

และเมื่อเศรษฐกิจแข็งแกร่งแล้วจีนจึงหันมาพัฒนากองทัพและแสนยานุภาพทางทหารเพื่อให้มีกองกำลังเพียงพอที่จะปกป้องรักษาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของตน

เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและอดีตที่ปรึกษาความมั่นคงของทำเนียบขาวเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างกลยุทธ์ของจีนกับสหรัฐผ่านเกมหมากรุก

เขาบอกว่ายุทธศาสตร์จีนใช้หลักของ “หมากล้อม” ไม่ใช่หมากรุกตะวันตก

ความแตกต่างอยู่ที่ว่าหมากรุกตะวันตกจะใช้ความเร็วในการรุกเพื่อบุกยึดตัวขุนให้ได้โดยเร็วที่สุด

แต่กลยุทธ์หมากล้อมของจีนคือการค่อยๆ สร้างอำนาจต่อรองจนสามารถจะโค่นอีกฝ่ายหนึ่งด้วยการปิดล้อมฝ่ายตรงกันข้าม

นั่นคือความแตกต่างระหว่างกลยุทธ์ระยะสั้นกับยุทธศาสตร์ระยะยาว

หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่าสหรัฐได้ประสบความล้มเหลวในการพยายามจะสกัดการก่อเกิดของสององค์กรของจีนที่เป็นแผนการสร้างความแข็งแกร่งระยะยาว

โครงการแรกของจีนคือการก่อเกิดของธนาคารเพื่อการลงทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของเอเชียที่ชื่อว่า Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB)

ในช่วงปี 2014-2015 รัฐบาลของบารัค โอบามา พยายามสกัดไม่ให้พันธมิตรเข้าร่วมธนาคารที่จีนริเริ่ม

แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะท้ายที่สุดประเทศในยุโรปและเอเชียเป็นจำนวนมากก็รับคำเชิญของปักกิ่งที่เข้าร่วมจนสามารถทัดเทียมบทบาทของธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชียที่สหรัฐเป็นแกนสำคัญมาตลอด

โครงการที่สองที่จีนริเริ่มเพื่อขยายบารมีของตนคือ “One Belt One Road” หรือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า Belt and Road Initiative (BRI)

รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามอย่างยิ่งที่จะชักชวนไม่ให้ประเทศต่างๆ เข้าร่วมกับจีนในโครงการนี้

แต่ผลปรากฏว่าหลายประเทศถูกชักชวนจากปักกิ่งจนยอมร่วมเพราะเห็นประโยชน์ที่เกิดจากการได้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการคมนาคมที่จีนเป็นผู้ผลักดัน

สหรัฐพยายามจะเสนอความร่วมมือในลักษณะคล้ายกัน แต่เงื่อนไขต่างๆ ของวอชิงตันไม่อาจจะเทียบกับของจีนที่มีทั้งการร่วมทุน, การให้กู้, การสร้างหุ้นส่วนในรูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องกับประเทศนั้นๆ

ที่สำคัญคือจีนไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับระบอบการเมืองการปกครองของประเทศนั้นๆ

ขณะที่สหรัฐ โดยเฉพาะหากโจ ไบเดน เดินหน้าตามนโยบายให้อเมริกากลับมาเป็นหัวหอกของประชาธิปไตยและเสรีภาพการแสดงออกอีกครั้ง จะยิ่งทำให้หลายประเทศจะรู้สึกอยากคบกับจีนมากกว่าเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้าที่จับต้องได้มากกว่า

Kishore ระบุไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่าเขาจงใจที่จะตั้งคำถามที่ยั่วยุให้เกิดการถกแถลงในประเด็นของสองมหาอำนาจ

คำถามท้าทายนั้นก็คือสหรัฐจะถูกจีนแซงหน้าในมิติต่างๆ จนกลายเป็นเบอร์สองของโลกหรือไม่

สหรัฐมีความภาคภูมิมาตลอดว่าเป็นประเทศที่ “แข็งแกร่งที่สุดของโลก” ทั้งด้านเศรษฐกิจ, ทหาร, เทคโนโลยี และวัฒนธรรม

สถาบันสำคัญๆ ของสหรัฐมีความแข็งแกร่งเพราะมีตลาดเสรีที่เปิดกว้าง, นิติรัฐที่ให้ทุกคนเสมอภาคภายใต้กฎหมายและมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกที่เป็นแหล่งความรู้และนวัตกรรมที่ไม่มีประเทศไหนเทียบทันได้ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

แต่ถ้าจีนเริ่มวิ่งเร็วขึ้นและสร้างความแข็งแกร่งขึ้น วันหนึ่งในอนาคตอันใกล้ จีนจะกลายเป็น “ผู้ชนะ” และอเมริกาเป็น “ผู้แพ้” ได้หรือไม่

นี่เป็นคำถามใหญ่ที่ยิ่งมีความเร่งด่วนมากขึ้นเมื่อคนอเมริกันกว่า เกือบ 80 ล้านคนเทคะแนนให้ไบเดน และ 72 ล้านให้ทรัมป์

เท่ากับว่าคนอเมริกันแบ่งแยกกันครึ่งๆ อย่างชัดเจน

นี่คือสัญญาณแห่งความแตกแยกที่บั่นทอนความเป็นเลิศของสหรัฐ

หรือเป็นจุดเริ่มต้น “สมานแผล” ของสังคมที่ร้าวลึกกันแน่?