นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ยุทธภูมิประวัติศาสตร์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

เบื้องหลังความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ ไม่ได้อยู่ที่เผด็จการ, รัฐธรรมนูญ หรือสถาบันกษัตริย์ แต่อยู่ที่การแย่งชิงพื้นที่ความทรงจำของคนไทย เพราะความทรงจำใหม่หรือประวัติศาสตร์สำนวนใหม่ได้ครอบครองพื้นที่กว้างขวางขึ้นในสังคม จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากทนต่อระบอบเผด็จการในรูปต่างๆ ต่อไปไม่ได้

ผมเรียกว่าความทรงจำใหม่อาจทำให้ไขว้เขว เพราะมันไม่ได้ใหม่ถอดด้าม แต่ได้สั่งสมเผยแพร่ผ่าน “สื่อ” นานาชนิดมาตั้งแต่หลัง 14 ตุลาคม 2516 แล้ว ความทรงจำนี้ไม่ได้สืบทอดโดยตรงมาจากความทรงจำที่ชนชั้นนำได้สร้างสมไว้มาก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้สืบทอดจากสิ่งที่ฝ่ายซ้ายเช่น พคท.ได้สร้างสมไว้โดยตรงเช่นกัน

และด้วยเหตุดังนั้น เมื่อมันปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน จึงทำให้น่าตระหนกแก่ชนชั้นนำอยู่ไม่น้อย เพราะเหมือนสัตว์ประหลาดที่ซ่อนตัวอยู่ใต้น้ำมานาน แล้ววันหนึ่งมันก็โผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำ มีขนาดใหญ่กว่าที่ใครๆ เคยคาดการณ์เอาไว้ ซ้ำยังมามีชีวิตในพื้นที่ทั่วไป ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในวงวิชาการอย่างที่ผ่านมา

ความทรงจำนี้เข้ามาแย่งยึดพื้นที่ความทรงจำของ “ชาติ” ซึ่งชนชั้นนำได้สถาปนาขึ้นไว้ในอดีต และสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

ก่อนปลายรัชสมัยพระจุลจอมเกล้าฯ ความทรงจำเกี่ยวกับอดีตของคนไทยมีเนื้อหาแคบๆ เพราะเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งในสามอย่างดังนี้คือ วงศ์กษัตริย์, เรื่องราวของศาสนาและคณะสงฆ์, ตำนานสถานที่, พุทธเจดีย์ หรือตำนานเกี่ยวกับผีบางตน แม้ว่าได้เกิดรัฐสมัยใหม่ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในนามของราชอาณาจักรสยามแล้ว ก็ไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับรัฐนี้ พระราชดำรัสเปิดโบราณคดีสโมสร คือการเรียกร้องให้ช่วยกันสร้างความทรงจำหรือประวัติศาสตร์ของรัฐสมัยใหม่ที่ชื่อว่าสยามดังกล่าว (ดังที่อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ได้ชี้ให้เห็นใน “Siam”s Colonial Conditions and the Birth of Thai History.”)

การตอบสนองของปัญญาชนหลังจากนั้น โดยเฉพาะสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แม้ว่าเป็นความพยายามจะสร้างความทรงจำให้แก่ราชอาณาจักรแบบใหม่เท่านั้น แต่กลับมีพลังอย่างมาก จนเมื่อเกิดสำนึกความเป็นชาติในภายหลัง นักชาตินิยมก็ไม่ตะขิดตะขวงที่จะรับเอาเนื้อหาของประวัติศาสตร์ราชอาณาจักร มาเป็นเนื้อหาของประวัติศาสตร์ชาติ และกลายเป็นสำนวนที่ครอบงำ “ชาติ” สืบมาอีกนาน

เป็นธรรมดาที่ความทรงจำของราชอาณาจักรย่อมมีกษัตริย์เป็นศูนย์กลางของเรื่องราว แต่แทนที่จะเน้นเรื่องของ “วงศ์” หรือการสืบตำแหน่งเป็นหลัก ก็เปลี่ยนเป็นการตัดสินใจและการกระทำของกษัตริย์ที่มีผลต่อบ้านเมืองหรือ “ราชอาณาจักร” แทน พระราชอำนาจในความทรงจำสำนวนนี้จึงถูกใช้เพื่อประโยชน์สุขของบ้านเมืองเสมอ ทั้งๆ ที่ในตัวหลักฐานจริง (เช่น พระราชพงศาวดาร) ไม่ได้ระบุว่าเป็นเช่นนั้น และอาจตีความว่าพระราชอำนาจถูกใช้เพื่อตอบสนองพระบรมเดชานุภาพก็ได้ ท้องพระคลังหลวงก็ได้ หรืออย่างน้อยก็เพื่อดำรง “สถานะเดิม” ทางสังคมและการเมืองให้คงอยู่ต่อไปก็ได้

และเป็นธรรมดาอีกเช่นกันที่การตีความประวัติศาสตร์ในลักษณะนี้ ย่อมนำมาซึ่งข้อสรุปสองสามอย่างดังจะกล่าวถึง ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจของนักประวัติศาสตร์

ประการแรก พลังที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์มาจากบุคคลเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะมหาบุรุษหรือกษัตริย์

ประการที่สอง สังคมไม่มีความขัดแย้งที่แฝงอยู่ในตัวระบบมากไปกว่าความขัดแย้งของชนชั้นนำ ซึ่งอาจแย่งชิงอำนาจกันเอง หรือหวงแหนอำนาจที่มีอยู่ไว้ไม่ให้ผู้อื่นล่วงล้ำ คนนอกกลุ่มชนชั้นนำเช่นผู้นำท้องถิ่นหลากหลายระดับ, พ่อค้า, นักบวช, ชนชั้นนำชายขอบเช่นเจ้าปลายแถวหรือลูกหลานเหลนของขุนนาง, ไพร่, ผู้หญิง, ทาส, โจรสลัด, ชนเผ่า ฯลฯ ไม่มีบทบาทอะไรอื่นมากไปกว่าฉากหลังของเรื่องราว

ประการที่สาม ด้วยเหตุดังนั้น พลวัตของความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์จึงมักมาจากภายนอกเสมอ เพราะสังคมภายในไม่มีพลวัตเพียงพอที่จะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้

ประวัติศาสตร์ชาตินิยมที่เริ่มขึ้นหลัง 2475 โดยเฉพาะงานของหลวงวิจิตรวาทการ รับการตีความของประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมาอย่างง่ายๆ ไม่ประสบความสำเร็จในการดึงเอาประชาชนในฉากหลัง ให้ขึ้นมามีบทบาทเป็นตัวหลักของท้องเรื่องอดีต ให้สมกับการเป็นประวัติศาสตร์ของ “ชาติ” ได้แต่เพียงยกย่องเชิดชูประชาชน ที่ปราศจากหน้าตาและตัวตนในท้องเรื่องอย่างเดิม ซึ่งแวดล้อมกับพระราชกรณียกิจของรัชกาลต่างๆ

ความไม่มีหน้าตาของประชาชนนั้น ไม่ได้เกิดจากการที่ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับประชาชนตกทอดมา แต่เพราะนักประวัติศาสตร์ชาตินิยมไม่ได้ตั้งคำถามใหม่ที่ต่างไปจากประวัติศาสตร์ราชอาณาจักร ดังนั้น แม้ในระยะต่อมามีการค้นพบหลักฐานใหม่ๆ อีกไม่น้อย แต่หลักฐานเหล่านั้นก็ไม่เปลี่ยนเนื้อหาของประวัติศาสตร์ไทยไปแต่อย่างไร ยกเว้นเช่นปีศักราชขึ้นครองราชย์ หรือจำนวนของรัชกาลของสุโขทัยและอยุธยา ฯลฯ

ดังนั้น ประวัติศาสตร์ชาติหลัง 2475 จึงรับมรดกอคติในข้อสรุปทั้งสามมาจากประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบราชอาณาจักรไว้อย่างพร้อมมูล ซ้ำยังเสริมด้วยการแปรเปลี่ยนกษัตริย์บางพระองค์ให้กลายเป็น “มหาบุรุษ” และเน้นย้ำคุณสมบัติวิเศษของมหาบุรุษเหล่านั้น เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ผู้ปกครองในปัจจุบันและอนาคต

ประเพณีการเขียนประวัติศาสตร์ชาติแบบนี้ นอกจากไม่ทำให้ชาติซึ่งหมายถึงประชาชนปรากฏอย่างเด่นชัดในความทรงจำของผู้คนแล้ว ยังกลับส่งเสริมระบอบเผด็จการรูปแบบต่างๆ ให้มีอำนาจเหนือชาติเสียอีก เพราะชาติจะเจริญก้าวหน้าหรือมั่นคงได้ก็เพราะมหาบุรุษ (ไม่ใช่เพราะประชาชน)

และนี่คือประเพณีประวัติศาสตร์ที่ครอบงำการศึกษาประวัติศาสตร์ในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน เข้าไปเป็นแกนกลางของตำรา, เป็นสมมุติฐานของงานวิจัย และคือเนื้อหาหลักอันหนึ่งของคำปราศรัยของนักการเมือง, นักรัฐประหาร, บุคคลสาธารณะอื่นๆ และเป็นเนื้อหาของคำปลุกใจของชาตินิยมไทย

ถ้าไม่นับเนื้อร้องเพลงชาติเสียอย่างเดียว มรดกของประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทยคือการลิดรอนอำนาจของประชาชนลงจนแทบไม่เหลือทางเลือกอื่นเลย นอกจากลุกขึ้นกบฏ

แม้หลังการปฏิวัติประชาชาติใน 2475 แล้ว เราจึงมีชาติที่ปราศจากประชาชนอันเป็นเจ้าของสืบมาได้หลายสิบปี

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ผลงานของคุณจิตร ภูมิศักดิ์ มีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้นักประวัติศาสตร์ไทยตั้งคำถามใหม่ๆ เกี่ยวกับอดีตของชาติ งานศึกษาในทิศทางใหม่ๆ เช่นนี้ขยายตัวขึ้นอย่างช้าๆ แม้ไม่สามารถแทรกเข้าไปในหลักสูตรของการศึกษาได้ แต่ “ตลาด” ที่รองรับผลงานเหล่านี้ก็ขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

ที่น่าสนใจไม่น้อยกว่ากันก็คือ ผลงานเหล่านี้ไม่อาจถูกผนวกรวมหรือกลมกลืนเข้าไปในองค์ความรู้แบบเดิมได้ หรือนำไปให้ความหมายใหม่เพื่อกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์แบบเดิม วิธีเดียวที่เหลืออยู่สำหรับการจัดการกับความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ได้จากการตั้งคำถามใหม่คือการผลักออกไป นับตั้งแต่การไม่ถูกอ้างถึงไปจนถึงการ “แบน” ผลงานเหล่านั้น

แม้แต่วัตถุสิ่งของที่เป็นรูปธรรม เช่น สถานที่หรือสิ่งก่อสร้าง หากประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรไม่อาจกลืนให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวได้ ก็จะถูก “แบน” หลากหลายวิธี นับตั้งแต่รื้อลง, “อุ้มหาย” หรือเปลี่ยนโฉมให้ไม่เหลือร่องรอย ดังที่อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ ได้ชี้ให้เห็น (“คณะราษฎรหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549”)

ประวัติศาสตร์กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อการควบคุมพลเมือง มากกว่าเป็นเนื้อหาทางวิชาการ แทนที่จะสร้างพื้นที่ให้ประวัติศาสตร์สองสำนวนนี้ได้ปะทะแลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสขัดเกลาจุดยืนทางวิชาการของตนให้คมชัดมากขึ้น และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ทำให้การตีความประวัติศาสตร์เป็นเพียงความเห็น กลับทำให้กลายเป็นหลักศาสนาที่เมื่อยึดถือแล้ว ก็ศักดิ์สิทธิ์เสียจนใครจะแตะต้องไม่ได้หรือเปลี่ยนความเห็นเมื่อไรก็กลายเป็นเปลี่ยนศาสนา

แต่ความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ในสังคมทำให้ “ตลาด” ของงานเหล่านี้ยิ่งเปิดกว้างขึ้น (ในทางตรงกันข้าม ผลงานชิ้นหลักๆ ของประวัติศาสตร์แบบเดิมกลับมี “ตลาด” ที่แคบลง) ผลก็คือรัฐสูญเสียอำนาจในการควบคุมความทรงจำของคนไทยรุ่นใหม่

คุมความทรงจำไม่ได้ ก็ย่อมคุมสำนึกต่อสังคมไม่ได้ไปพร้อมกัน

ความขัดแย้งที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้ จึงเป็นความแตกต่างของความทรงจำ ที่ทำให้มีสำนึกต่อสังคมที่แตกต่างกันไปด้วย

คนที่ยังมีความทรงจำแบบประวัติศาสตร์ของรัฐราชอาณาจักร ย่อมต้องการวางอำนาจเหนือรัฐไว้ในมือของบุคคลที่ตนเชื่อว่ามีคุณวิเศษต่างๆ ในขณะที่คนซึ่งมีความทรงจำแบบใหม่ ต้องการให้อำนาจรัฐอยู่ในมือของตนเอง นั่นคือ ใครจะเป็นผู้ถืออำนาจรัฐควรมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ยังต้องอยู่ในความควบคุมของประชาชน

ความทุกข์ยากเดือดร้อนของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม ไม่ได้เป็นธรรมดาที่เราต้องยอมรับ อย่างที่ประวัติศาสตร์แบบเก่าไม่พูดถึงไว้เลย แต่เป็นสิ่งที่อาจแก้ไขหรือบรรเทาลงได้ หากจัดการให้ระบบมีความเป็นธรรม

อำนาจปกครองเป็นเรื่องที่ต้องกระจายไปยังคนทุกกลุ่ม เพื่อให้ต่อรองกันได้ ไม่มีใคร ไม่ว่าจะมีคุณสมบัติที่ได้จากกำเนิด, การศึกษา หรือกำปั้น ควรหวงอำนาจไว้เพียงกลุ่มเดียว แต่การต่อรองที่เท่าเทียมกันและอำนาจที่กระจายไปยังคนหลายกลุ่ม ย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้งไม่ราบรื่นเป็นธรรมดา ในบรรดาผู้มีความทรงจำแบบเก่าเห็นว่าเป็นอันตราย เพราะประวัติศาสตร์ที่ตนเรียนรู้มาบอกว่าสภาพเช่นนี้ คือความเสื่อม ตรงกันข้าม ผู้มีความทรงจำแบบใหม่ต่างเชื่อว่า สภาพเช่นนี้เป็นธรรมดาในทุกสังคม ในบางช่วงของประวัติศาสตร์ เราอาจมองไม่เห็น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไม่มีอยู่ ในท้องทะเลที่สงบ ย่อมแฝงศักยภาพที่จะเกิดคลื่นลมได้เสมอ

เฉพาะความต่างในด้านความทรงจำเพียงอย่างเดียว ก็เสี่ยงที่ความขัดแย้งครั้งนี้จะนำไปสู่ความรุนแรงได้ เพราะสังคมไทยภายใต้ระบอบเผด็จการหลายรูปแบบ ไม่เคยมีประสบการณ์ของการแลกเปลี่ยนสังสันทน์ของความเห็นต่าง