สมชัย ศรีสุทธิยากร | เทียบ 3 โมเดล ส.ส.ร. ใครเข้าท่ากว่ากัน

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แม้จะมาได้จาก 4 ทาง คือ จากคณะรัฐมนตรี จาก ส.ส.หนึ่งในห้าของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จาก ส.ส.และ ส.ว.หนึ่งในห้าของสมาชิกรัฐสภา และจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งห้าหมื่นชื่อ

แต่การพิจารณาวาระประชุมเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2563 มาจาก 2 ช่องทางเท่านั้น คือ จาก ส.ส.หนึ่งในห้า และจากประชาชนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นชื่อ

ร่างที่เกี่ยวกับการแก้ไขวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ ในมาตรา 256 จึงประกอบด้วยแค่ 3 ร่าง คือ ร่างแรกของญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีผู้ร่วมลงนาม 132 คน

ร่างที่สอง ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล มีผู้ร่วมลงนาม 239 คน

และร่างที่สาม ที่เสนอโดยประชาชน มีผู้ร่วมลงนาม 100,732 คน

นอกเหนือจากการแก้ไขในส่วนขั้นตอนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 แล้ว ทั้งสามร่างยังได้เสนอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ในการยกร่าง

แต่มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้

ข้อเสนอ ส.ส.ร. จากพรรคร่วมฝ่ายค้าน

ส.ส.ร.มีจำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทั้งหมดโดยยึดจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยทุกจังหวัดจะมี ส.ส.ร.อย่างน้อยหนึ่งคน มีกรอบเวลารับสมัครภายใน 30 วันหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้

กกต.ต้องจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ภายใน 60 วัน โดยจัดให้มีการแนะนำตัวผู้สมัครอย่างเท่าเทียม ผู้มีสิทธิหนึ่งคนลงคะแนนเลือกได้ 1 เสียง ผู้ที่ได้คะแนนสูงเรียงลำดับเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง

มีกรรมาธิการยกร่าง 45 คน ที่มาจาก ส.ส.ร. 30 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย 5 คน ด้านรัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 5 คน และผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองหรือการบริหารราชการแผ่นดินและการร่างรัฐธรรมนูญ 5 คน

ร่างให้เสร็จใน 120 วัน โดยขณะร่างต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างทั่วถึง ห้ามแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ร่างเสร็จมีการทำประชามติ ภายใน 45-60 วัน หากผ่านก็ทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย

ในกรณีประชามติไม่ผ่าน สามารถเสนอญัตติร่างขึ้นใหม่ได้อีก โดยต้องได้คะแนนเสียงเห็นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสองสภา และบุคคลที่เป็น ส.ส.ร.มาแล้วจะมาร่างอีกไม่ได้

ข้อเสนอ ส.ส.ร.จากพรรคร่วมรัฐบาล

ส.ส.ร.มีจำนวน 200 คน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ เลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน 150 คน สมาชิกรัฐสภาคัดเลือก 20 คน ที่ประชุมอธิการบดีเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ 10 คน และที่เลือกจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา จำนวน 10 คน

ให้ กกต.จัดการเลือกตั้งของกลุ่มแรก โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จใน 90 วัน มีการแนะนำตัวที่จัดโดย กกต.อย่างเท่าเทียม

มีกรอบเวลาในการร่าง 240 วัน ห้ามแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์

เมื่อร่างเสร็จเสนอต่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ หากเห็นชอบเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ให้ทูลเกล้าฯ เสนอลงพระปรมาภิไธย

แต่หากเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้มีการจัดออกเสียงประชามติว่าจะเห็นชอบตามร่างหรือไม่

หากเห็นชอบให้ทูลเกล้าฯ หากไม่เห็นชอบก็สามารถเสนอให้มีการร่างใหม่ได้ โดยใช้เสียงสองในสามของรัฐสภา และห้ามบุคคลที่เคยเป็น ส.ส.ร.มา แล้วมาร่างอีก

ข้อเสนอ ส.ส.ร.จากร่างของไอลอว์

ส.ส.ร.มีจำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง

สามารถสมัครเป็นรายบุคคล หรือเป็นกลุ่มก็ได้

ผู้มีสิทธิออกเสียงหนึ่งคน มีสิทธิออกเสียงหนึ่งเสียง บุคคลที่ได้คะแนนสูงสุดในระดับประเทศจากลำดับที่ 1-200 เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร.

มีกรอบเวลาในการร่างให้แล้วเสร็จใน 360 วัน

เมื่อร่างเสร็จให้เสนอรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ โดยใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา หากผ่านก็ทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย หากไม่เห็นชอบให้ไปออกเสียงประชามติว่าจะรับร่างของ ส.ส.ร.หรือไม่ หากผ่านประชามติให้ทูลเกล้าฯ

แต่ไม่มีกรณีที่ระบุว่า หากไม่ผ่านจะดำเนินการอย่างไร

เปรียบเทียบความต่างของ 3 โมเดล

ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล เป็นร่างที่อนุรักษนิยมที่สุด โดยยังคงเอกลักษณ์วิธีการคิดของผู้มีอำนาจที่ดูแคลนความสามารถของประชาชน กำหนดให้ต้องมี ส.ส.ร.ที่มาจากคัดเลือกของรัฐสภา และจากที่ประชุมอธิการบดี

แม้จะคล้ายดูดีว่าเป็นการเปิดให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา มาร่วมร่าง แต่ต้องคิดในมุมแห่งความเป็นจริงว่า บุคคลเหล่านี้จะมีเวลาเต็มวันในการมาร่วมประชุมร่างอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาได้อย่างไร แถมยังไม่ชัดเจนในกระบวนการได้มาของกลุ่มนี้ ที่มอบให้ กกต.เป็นผู้ไปออกแบบ

ร่างของฝ่ายค้าน ดูจะเป็นร่างที่ประนีประนอม ระหว่างแนวทางของร่างรัฐบาลและร่างประชาชน โดยให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด แต่ให้มีกลไกการยกร่างจากคณะกรรมาธิการที่มาจาก ส.ส.ร. 30 คน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกอีก 15 คน ที่เปิดให้คนที่มีความรู้และประสบการณ์มาสนับสนุนการร่างรัฐธรรมนูญแต่ยังอยู่ใต้การกำกับของ ส.ส.ร.

ร่างของฝ่ายค้านที่ดูก้าวหน้าอีกประเด็นหนึ่ง คือ เมื่อร่างเสร็จให้ไปลงประชามติทันที ซึ่งจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่ แต่เท่ากับการต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มกับการออกเสียงประชามติ ในขณะที่ร่างของรัฐบาลและร่างของไอลอว์ ให้ผ่านรัฐสภาก่อน หากสภาผ่านก็ไม่ต้องประชามติ แต่หากสภาไม่ผ่าน จึงไปใช้กระบวนการลงประชามติเพื่อตัดสิน

นอกจากนี้ ทั้งร่างพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน เขียนตรงกันในเรื่องห้ามแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์

ร่างของไอลอว์มีการออกแบบการได้มาซึ่ง ส.ส.ร.ที่แตกต่างจาก 2 ร่างแรก ในเรื่องการให้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งมีข้อดีในการที่ผู้สมัครเป็น ส.ส.ร.จะต้องเป็นคนที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ ไม่มีใครสามารถทุจริตซื้อเสียงแบบหวังผลได้โดยง่าย แต่มีข้อเสียคือ อาจได้คนไม่ครบทุกจังหวัด โดยอาจกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่ และเป็นภาระต่อผู้เลือกตั้งในการพิจารณารายชื่อจากทั้งประเทศ

ร่างของไอลอว์ยังกำหนดให้ใช้เวลาในร่างที่ยาวนานกว่าร่างอื่นๆ คือ ให้เวลาถึง 360 วัน หรือเกือบหนึ่งปีเต็มๆ ซึ่งหลายฝ่ายอาจจะรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เวลามากขนาดนั้น

ร่างทั้ง 3 ที่นำเสนอ สามารถนำข้อดีข้อเสียมาขัดเกลาโดยกรรมาธิการในวาระสองได้ ซึ่งควรจะต้องพิจารณาถึงรูปแบบที่เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมไทย ทั้งในเรื่ององค์ประกอบ ที่มา วิธีการทำงาน และกระบวนการขั้นตอนที่เหมาะสม

ร่างทั้ง 3 แบบ เป็นตัวอย่างที่ดีในทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ที่จะให้เข้าใจถึงพื้นฐานวิธีการคิดอันเป็นที่มาของร่างในฝ่ายตน ให้เห็นถึงแนวอนุรักษนิยม แนวก้าวหน้า และแนวประนีประนอม

คงต้องเลือกข้างกันเอง ว่าจะอยู่ข้างใคร