“ลุงโจ” มาแล้ว อินทรีจะท้ามังกรรบไหม? | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

พอมีสัญญาณค่อนข้างชัดว่า โจ ไบเดน จะชนะการเลือกตั้งสหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา คำถามใหญ่สำหรับชาวโลกข้อหนึ่งก็คือ

ไบเดนจะเปิดศึกกับสีจิ้นผิงของจีนเหมือนโดนัลด์ ทรัมป์ ไหม? ความตึงเครียดจะเบาลงหรือหนักขึ้น?

ประเด็นนี้มีความสำคัญต่อชาวโลกและคนไทยมากเพราะ “สงครามการค้า” ระหว่างจีนกับสหรัฐที่ทรัมป์เปิดฉากมาตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อ 4 ปีก่อนได้สร้างความวุ่นวายและโกลาหลกับโลกอย่างยิ่ง

ผลกระทบไม่เพียงแต่เป็นเรื่องการค้าและการลงทุนเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงมิติอื่นๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างปฏิเสธไม่ได้

ไม่ว่าจะเป็นการเมือง, เศรษฐกิจ, ความมั่นคง, เทคโนโลยีและแม้ด้านวัฒนธรรมก็ไม่พ้นมีผลกระเทือนไปด้วยอย่างกว้างขวาง

ไบเดนมีท่าทีต่อจีนอย่างไรจึงเป็นเข็มทิศกำหนดบรรยากาศของโลกหลังโควิด-19 จางหายไป

คาดเดายากว่าถ้าสีจิ้นผิงเลือกได้ จะเอาทรัมป์หรือไบเดน

แต่ที่แน่ๆ ก็คือว่า นโยบายของไบเดนต่อจีนในเนื้อหาจะไม่เบาลงไปกว่าของทรัมป์

ที่ต่างกันก็คงจะเป็นเพียงลีลาและท่าทีของไบเดนที่จะ “โฉ่งฉ่าง” น้อยกว่าทรัมป์

แต่ลีลาขับเคลื่อนแบบนิ่งๆ แต่กร้าวลึกนี่แหละที่น่ากลัวกว่า

แต่ในทางปฏิบัติแล้วเชื่อได้ว่ารัฐบาลสหรัฐภายใต้ไบเดนจะเดินหน้ากดดันจีนไม่ให้ขยายอิทธิพลในด้านต่างๆ ทั่วโลกให้มากไปกว่านี้

ตอนที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา ไบเดนเคยประกาศแนวทางการดึงให้จีนปรับปรุงตัวเองด้วยการที่วอชิงตันคบหาปักกิ่งทางด้านการค้า

ด้วยความหวังว่าจะสามารถผลักดันให้จีนแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ด้านการค้ากับสิ่งอื่นๆ ที่อเมริกาอยากเห็นจีนยอมทำตาม

แต่ในระหว่างหาเสียงตำแหน่งประธานาธิบดี ไบเดนเรียกขานจีนเป็น “เผด็จการ”

และไม่เกรงใจที่จะเรียกผู้นำจีนว่าเป็น “โจร” (“thug”)

และประกาศว่าหากได้รับเลือกตั้งเข้านั่งทำเนียบขาว เขาจะประกาศมาตรการ “คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ” หากจีนพยายามจะ “ปิดปาก” พลเมืองและบริษัทอเมริกัน

“สหรัฐมีความจำเป็นต้องมีจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อจีน” ไบเดนกล่าวไว้ตอนหนึ่งในบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Foreign Affairs เพื่อแสดงท่าทีของเขาต่อปักกิ่ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้ไบเดนเห็นจีนเป็น “คู่แข่งทางยุทธศาสตร์” และเมื่อเขาชนะเลือกตั้งครั้งนี้ ไบเดนก็ต้องพิสูจน์ว่าเขาสามารถจะบริหารความสัมพันธ์กับ “คู่แข่งหมายเลขหนึ่ง” อย่างจีนที่มีประสิทธิภาพมากกว่ายุคทรัมป์

เพราะทรัมป์พบกับสีจิ้นผิงหลายครั้ง และอ้างว่ามี “ความสัมพันธ์อันดียิ่ง” กับผู้นำจีน

แต่เมื่อเกิดปัญหาการค้าระหว่างกัน ทรัมป์ก็เรียกจีนเป็นศัตรูที่ต้องกดดันอย่างต่อเนื่อง

ยิ่งเมื่อเกิดการระบาดของโควิด ทรัมป์ก็ไม่ลังเลที่จะชี้นิ้วไปที่จีนกล่าวหาว่าเป็นต้นตอของโคโรนาไวรัสครั้งนี้ที่มีผลกระทบต่อสหรัฐอย่างใหญ่หลวง

เผลอๆ จะเป็นสาเหตุใหญ่ประการหนึ่งที่ทำให้ทรัมป์แพ้เลือกตั้งครั้งนี้

เมื่อปี 2001 ขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ต่างประเทศของวุฒิสภา ไบเดนเยือนจีนเพื่อผลักดันให้จีนเข้าสู่องค์การการค้าโลกหรือ WTO

โดยที่เขาอ้างว่าสหรัฐต้องการช่วยให้จีนเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรระหว่างประเทศก็เพื่อจะทำให้จีน “เล่นตามเกม”

ไบเดนอ้างว่าสหรัฐยินดีที่จีนจะกลายเป็นมหาอำนาจ

“เพราะมหาอำนาจมักจะทำตามกติกาสากลในด้านการควบคุมการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์, สิทธิมนุษยชนและการค้า”

ผ่านมา 20 ปี วันนี้จีนได้ผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจแล้ว…และในสายตาของนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อย…จีนก็กลายเป็น “คู่ต่อสู้ที่น่ากลัว” ของอเมริกา

มังกรยักษ์ตื่นแล้ว…พญาอินทรีเริ่มจะเกิดความหวั่นไหวอย่างหนัก

ผมติดตามข่าวคราวความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนมายาวนานพอสมควร

วันนี้ภาพของการเผชิญหน้าระหว่างสองประเทศนี้กำลังเด่นชัดขึ้นอย่างมาก

ไม่ใช่เพียงแค่จะเกิดภาพสงครามเย็นรอบใหม่เท่านั้น

แต่ยังอาจจะนำไปสู่ “ดุลแห่งอำนาจโลกใหม่” ที่มีจีนมายืนตระหง่านอยู่แถวหน้าเคียงคู่กับอเมริกาทั้งด้านเศรษฐกิจ, การเมืองและความมั่นคง

มีทฤษฎีของนักวิชาการตะวันตกบางท่านบอกว่าในประวัติศาสตร์โลกทุกครั้งที่ประเทศอันดับสองทำท่าว่าจะมาท้าทายเบอร์หนึ่งอย่างชัดเจน และหากหมายเลขหนึ่งรู้สึกถูกคุกคามอย่างจริงจัง

ก็จะเกิดสงครามระดับโลกขึ้นได้เสมอ

แนววิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ต้องการจะสรุปบทเรียนจากอดีต วิเคราะห์แนวโน้มปัจจุบันเพื่อจะหาทางป้องกันสงครามล้างโลกรอบใหม่ระหว่างสองยักษ์ใหญ่

ทำให้บทบาทของ “อำนาจขนาดกลาง” หรือ Middle Power เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้หรืออาเซียนมีความสำคัญมากขึ้นอย่างน่าสนใจ

อีกทั้งบทบาทของประเทศใหญ่อย่างอินเดีย และกลุ่มประเทศอย่างยุโรปที่น่าจะมีบทบาทสำคัญไม่น้อยในการมีบทบาทเป็น “ดุลถ่วง” ของสมการโลกใหม่ก็ควรจะได้รับการพิจารณาอย่างรอบด้าน

หัวข้อนี้ทำให้ผมสนใจที่จะแสวงหาแนววิเคราะห์และทางเลือกของประเทศต่างๆ ที่จะหลีกเลี่ยงหายนะแห่งสงครามรอบใหม่

ท้ายที่สุดน่าเชื่อว่าการพยายามหาข้อมูล, สรุปบทเรียน, ประเมินผลกระทบจากยุคดิจิตอลของทุกฝ่ายจะทำให้เราเห็นภาพของ “ดุลอำนาจโลกใหม่” ที่ชัดเจนขึ้น

ผมเห็นว่าคนไทยจะต้องสนใจหัวข้อนี้อย่างจริงจังและให้ครบทุกมิติเพราะไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ประเทศไทยก็จะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังรุกไล่เราทั้งเร็ว, แรงและไม่หยุดยั้ง

ความคิดความอ่านที่ผมกำลังรวบรวมผสมกับแนววิเคราะห์ส่วนตัวเองนั้นล่าสุดมาจากหนังสือหลายเล่มที่ผมได้ทยอยอ่านมาหลายเดือนแล้ว

เล่มที่หนึ่งชื่อ Destined for War โดย Graham Allison : Can America and China Escape Thucydides”s Trap?

อีกเล่มหนึ่งชื่อ Has China Won? The Chinese Challenge to American Primacy โดยนักการทูต-นักวิชาการสิงคโปร์ Kishore Mahbubani

ก่อนหน้านั้นมีอีกเล่มหนึ่งที่ฟันธงเลยว่าจีนมี “ยุทธศาสตร์ลับ” ที่มีเป้าหมายต้องการจะทดแทนสหรัฐเป็นมหาอำนาจโลกชื่อ The Hundred-Year Marathon โดย Michael Pillsbury ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐสมัยอดีตประธานาธิบดี Richard Nixon และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและที่ปรึกษาด้านความมั่นคง Henry Kissinger

เล่มล่าสุดที่ผมเพิ่งได้อ่านชื่อ Superpower Showdown : How the Battle Between Trump and Xi Threatens a New Cold War โดย Bob Davis Lingling Wei

ทั้งสองเป็นนักข่าวของ Wall Street Journal ประจำจีน ร่วมกันรายงานและวิเคราะห์ข่าวว่าด้วย “สงครามการค้า” ระหว่างสองยักษ์ใหญ่มาตลอด 3 ปีก่อนหน้านี้

ประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้เน้นตรงที่ว่าการก่อศึกระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ กับสีจิ้นผิง อาจจะนำไปสู่ “สงครามเย็นรอบใหม่” ได้อย่างไรหรือไม่

และหลายปีก่อน ผมอ่าน Dealing with China : An Insider Unmasks the New Economic Superpower โดย Henry M. Paulson Jr. อดีตรัฐมนตรีคลังของสหรัฐ ในรัฐบาลประธานาธิบดี George W. Bush

ก่อนหน้าจะมาเป็นเสนาบดีคลัง พอลสันเคยเป็นซีอีโอของ Goldman Sachs บริษัทที่ปรึกษาและลงทุนในตลาดการเงินยักษ์ใน Wall Street

หนังสือหลายเล่มเหล่านี้มีความหลากหลายตรงที่มองจากมุมมองของนักวิชาการ, นักปฏิบัติด้านความมั่นคง, นักข่าวที่พูดภาษาจีนได้คล่องแคล่ว และนักการเงินที่มีปฏิสัมพันธ์ตรงกับระดับบริหารของรัฐบาลจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยตรง

ที่มาที่ไปของการเผชิญหน้าระหว่างสองยักษ์ใหญ่ระดับโลกในจังหวะที่สหรัฐกำลังจะเปลี่ยนผู้นำย่อมเป็นประโยชน์สำหรับคนไทยที่จะติดตามเพื่อ “รู้ทัน” ความเป็นไปของโลก

ด้านหนึ่ง มังกรยักษ์กับพญาอินทรีต้องชิงความเป็นหนึ่งระดับโลก

อีกด้านหนึ่ง สองยักษ์ต้องพึ่งพากันและกัน

หากเกิดสงครามก็เจ็บหนักทั้งคู่

มุมมองยุทธศาสตร์ของมวยคู่เอกจึงเป็นเรื่องที่เราควรจะต้องศึกษาใคร่ครวญให้จงหนัก

จะได้ว่าต่อในตอนต่อๆ ไป