“ประชาธิปไตย” ไม่ใกล้เลย

การเมืองในภาพใหญ่เป็นการต่อสู้เพื่อนำ “ประชาธิปไตย” ที่แท้จริง หรือใกล้เคียงกับความเป็นสากลมากที่สุดกลับมา นั่นคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้อำนาจเป็นของประชาชน นักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชนมีบทบาทในการบริหารจัดการประเทศ ไม่ใช้อำนาจหลักอยู่ที่การสืบทอดอำนาจด้วยรัฐธรรมนูญเอื้อให้คนบางกลุ่มบางพวกปิดประตูแพ้ เปิดทางชนะโล่งโจ้งอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ทว่าเรื่องราวดูจะบานปลายไปไกลกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เนื่องจากข้อเรียกร้องแรกๆ อย่าง “หยุดคุกคามประชาชน-แก้รัฐธรรมนูญ-ยุบสภา” กลายเป็นเงื่อนไขให้การเรียกร้องถูกทำให้เป็นความผิด และผู้เรียกร้องกลายเป็นผู้ต้องหา

“การคุกคามประชาชน” หนักหน่วงขึ้น จนพาบานปลายไปอย่างที่ว่า

ยากที่จะวิเคราะห์หรือคาดเดาได้ถูกว่าการเมืองในภาพใหญ่ของประเทศจะจบลงอย่างไร “ประชาธิปไตย” ได้รับการฟื้นฟู หรือสถาปนา “อำนาจนิยม” ให้แข็งแกร่ง ยั่งยืนขึ้น

ทว่าในภาพเล็กลงไป อันหมายถึง “การเมืองท้องถิ่น” ผ่อนคลายสู่ประชาธิปไตยบ้างแล้ว

“องค์การบริหารส่วนจังหวัด” หรือ “อบจ.” ได้รับการปลดปล่อยให้เลือกตั้งในวันที่ 20 ธันวาคมนี้

แต่ละจังหวัดสมัครรับเลือกตั้งกันเรียบร้อยทั้งนายก อบจ. และ “สมาชิกสภาจังหวัด” หรือ “ส.จ.”

ปรากฏการณ์ใหม่ที่ต้องจับตาสำหรับการเลือกตั้งดังกล่าว คือการนำเสนอตัวของ “คณะก้าวหน้า” ที่แตกตัวมาจาก “พรรคอนาคตใหม่” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็น “พรรคก้าวไกล” ที่ไปเล่นสภาผู้แทนราษฎร

เป็นที่รู้กันว่า “การเมืองไทย” ถูกครอบด้วย “ระบบอุปภัมภ์” มายาวนาน

“นักการเมือง” ในตำแหน่ง “สมาชิกสภา” ตามความหมายของสากลคือผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารจัดการงานของฝ่ายบริหาร เป็นผู้อนุมัติข้อบัญญัติที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่น

หน้าที่ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจเพื่อบริการประชาชนนั้น “ผู้บริหารท้องถิ่น” จัดการผ่านบทบาทของ “ข้าราชการ”

แต่ “การเมืองไทย” ไม่เป็นอย่างนั้น

“สมาชิกสภา” ต้องทำตัวให้เป็นกลไกหนึ่งของ “ระบบอุปถัมภ์” เพื่อรักษาฐานคะแนน

ใครไม่ลงพื้นที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือ บริการประชาชน จะถูกตราหน้าว่าทอดทิ้งประชาชน และโอกาสที่จะได้รับเลือกตั้งมีน้อย

“คณะก้าวหน้า” เข้ามาเปลี่ยนความผิดเพี้ยนจากระบบสากลนี้

ด้วยให้ “ส.จ.” กลับมาทำหน้าที่ตามที่ควรจะเป็นอย่าง “ประชาธิปไตยสากล” รับฟังความต้องการและปัญหาประชาชน มาควบคุมและตรวจสอบให้นายก อบจ.สั่งการให้ข้าราชการไปปฏิบัติตามความต้องการของประชาชน

ความพยายามนี้ถูกท้าทายอย่างยิ่งว่าจะฝ่าด่าน “ระบบอุปถัมภ์” อันเป็นค่านิยมเดิมที่ “ใครไม่มาบริหารประชาชน” ไม่มีโอกาสได้คะแนนได้หรือไม่

ครั้งนี้จึงเป็นการเลือกตั้งที่ท้าทายยิ่ง

ผลสำรวจล่าสุดของ “นิด้าโพล” เรื่อง “การตัดสินใจเลือกนายก อบจ.” ในคำถาม “ท่านจะเลือกนายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ.ที่สังกัดพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองเดียวกันหรือไม่”

ร้อยละ 52.06 ตอบว่าไม่เลือก จะดูตัวบุคคล มีร้อยละ 28.19 ที่บอกว่าจะเลือก ขณะที่ร้อยละ 19.75 ยังไม่แน่ใจ

หากเป็นไปตามผลการสำรวจนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ความเปลี่ยนแปลง” เพื่อให้ภารกิจขององค์การบริหารส่วนจังหวัดในภาพรวมพ้นจากค่านิยมเดิมคือ แบ่งหน้าที่ของ “นักการเมืองท้องถิ่น” กับ “ข้าราชการ” ให้ชัด น่าจะยังไม่เกิดขึ้น

นั่นหมายถึงอุปสรรคของประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็นนั้นยังคงตระหง่านอยู่

เช่นเดียวกับการเมืองในภาพใหญ่ ที่กระแสอนุรักษนิยมที่ไม่สนใจความเป็นไปของโลกเริ่มก่อตัวร้อนแรงขึ้น