คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ปฏิรูปศาสนาไปพร้อมกับการเมือง (2) – ใกล้ชิดพระพุทธะ เลิกใช้คำราชาศัพท์กับพระพุทธะกันเถิด

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ตอนที่เรียนภาษาฮินดีหรือภาษาทางการของอินเดียในภาคเหนือ คำเรียกบุรุษที่สองหรือคนที่เราพูดด้วยจะมีสามระดับ คือ ระดับยกย่องให้เกียรติ ระดับเท่ากับเรา หรือต่ำกว่าเรา (เช่น ใช้เรียกลูก-หลานตัวเอง)

แต่น่าประหลาดใจที่ผู้สอนบอกว่า ปกติคนอินเดียเวลาพูดกับ “เทพ” ไม่ว่าจะที่วัดหรือในบ้าน ก็มักจะใช้ภาษาและคำเรียกระดับเสมอกัน ไม่ใช่ภาษาระดับที่สูงกว่า

ท่านบอกว่า เพราะคนอินเดียเห็นเทพเป็นดุจญาติพี่น้องในบ้าน จึงใช้คำที่สนิทสนมเหมือนกันกับญาติพี่น้อง มีอะไรก็บอกกล่าวกันง่ายๆ ไม่ต้องมากความ

เว้นแต่จะกระทำพิธีสำคัญๆ ตามขนบถึงจะมีพิธีที่เรียกว่า “สังกัลปะ” คือบอกกล่าวเทพเจ้าเป็นภาษาสันสกฤตว่ากำลังทำพิธีอะไร ที่ใดโดยใคร แล้วขอพรต่างๆ ตามประสงค์ แต่นอกพิธีก็พูดกันง่ายๆ เหมือนคนคุยกันนี่แหละ

ถ้าไปอินเดียแล้วนึกอยากใช้ภาษาแขกระดับ “ราชาศัพท์” กับเทพแบบเดียวกับที่เราชอบใช้ในภาษาไทย ก็ต้องบอกว่าทำไม่ได้ครับ

เพราะภาษาอินเดียทั้งสมัยใหม่และภาษาโบราณอย่างสันสกฤต-บาลี ไม่มีราชาศัพท์

ที่จริงวัฒนธรรมอินเดียถือว่าภาษาสันสกฤตเป็น “ภาษาสูง” เพราะเป็นภาษาในคัมภีร์ทางศาสนาและเป็นภาษาของผู้มีการศึกษาอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้สงวนไว้ใช้สำหรับกษัตริย์ หรือมีศัพท์พิเศษอะไรสำหรับกษัตริย์โดยเฉพาะ

ถ้าผมจำไม่ผิด ในละครสันสกฤตเขามักเกณฑ์ให้พวกตัวละครสูงๆ เช่น พระราชาหรือพราหมณ์พูดสันสกฤต ส่วนชาวบ้านก็พูดปรากฤตคือภาษาพื้นบ้านอื่นๆ ไป

ส่วนเทพนั้นว่ากันว่าจะพูดภาษาอะไรก็ได้ เพราะเทพย่อมเข้าใจด้วยปัญญาพิเศษ

แต่หากถามพราหมณ์ ก็ย่อมเกณฑ์เทพให้พูดสันสกฤตอยู่แล้วเพราะเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ของพวกตน

 

ที่จริงราชาศัพท์ในภาษาไทยก็มาจาก “ภาษาสามัญ” ของภาษาอื่นๆ เช่น คำสามัญของเขมรและคำสามัญของบาลี-สันสกฤต

แต่พอสงวนไว้กับคนบางกลุ่ม นานวันเข้าก็กลายเป็นศัพท์สูงไปโดยปริยายเพราะชาวบ้านไม่รู้เรื่อง

ความไม่รู้เรื่องนี่ก่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์นะครับ อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย บอกไว้ว่า ถ้าเราลองรู้ความหมายของบทสวดบาลีกันหมดรับรองว่าความศักดิ์สิทธิ์ลดลงแน่ เพราะเราจะรู้ว่าความหมายของบทสวดไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์เหมือนที่เรารู้สึก

ผมยังเคยได้ยินคนเก่าๆ แถวบ้านบอกว่า เวลาบวชพระ บทสวดที่เขาใช้บวชกันนั้นศักดิ์สิทธิ์มากเพราะทำให้คนกลายเป็นพระได้ จึงมักเอาพระเครื่องต่างๆ ฝากใส่ลงในบาตรของนาค นัยว่าเพื่อเอาเข้าปลุกเสกอีกครั้ง นี่ก็ศักดิ์สิทธิ์เพราะไม่รู้

การที่ราชาศัพท์ไทยเลือกใช้ภาษาเขมรอาจเพราะอิทธิพลของเขมรที่ปกครองในช่วงอยุธยาตอนต้น

ส่วนที่ใช้บาลี-สันสกฤตก็คงเพราะทั้งสองภาษาเป็นภาษาของคัมภีร์จากศาสนาพุทธและพราหมณ์ เพื่อความศักดิ์สิทธิ์

ที่จริงนอกจากคำราชาศัพท์ ภาษาไทยยังมีการใช้คำกับบุคคลระดับต่างๆ มากมายซับซ้อน เป็นต้นว่า ในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ก็มีราชาศัพท์ต่างระดับกันไป ในหมู่ขุนนางก็มีระดับภาษาต่างกัน แม้แต่ในหมู่พระภิกษุสงฆ์ก็ยังมีคำใช้ต่างกัน

คำราชาศัพท์เป็นคำที่ใช้จากล่างขึ้นข้างบน กล่าวคือผู้น้อยใช้กับคนที่สูงกว่าตน ส่วนคนที่สูงกว่าจะใช้อย่างไรต่อผู้น้อยก็ได้

ทั้งหมดนี้สะท้อนระบบอำนาจนิยมในวัฒนธรรมไทย ยิ่งซับซ้อนก็ยิ่งสะท้อนอำนาจที่มากขึ้นไปด้วย

 

การที่คำราชาศัพท์ยังคงมีเรียนในสถาบันการศึกษา แม้เราจะมีโอกาสใช้คำราชาศัพท์กันจริงๆ น้อย เพราะนอกจากต้องถูกบังคับเรียนในฐานะวัฒนธรรมอันสูงส่งของไทยแล้ว ผมว่ามันก็ยังใช้อยู่ในวงการศาสนาอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะใช้กับพุทธประวัติและบทเทศนา

ผมร่ายยาวมาเพื่อมาสู่ข้อเสนอซึ่งไม่ใช่ของผมเอง แต่เป็นของมิตรสหายหลายท่านในวงวิชาการทางศาสนา เช่น วิจักขณ์ พานิช และอาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์ ว่าเราควรยกเลิกการใช้คำราชาศัพท์ในวงการศาสนา โดยเฉพาะกับ “พระพุทธะ”

วิจักขณ์เป็นคนแรกที่ใช้คำว่า “พุทธะ” ในงานเขียนหรือการสอนแทนคำว่า “พระพุทธเจ้า” โดยตัดทั้งคำว่า “พระ” ข้างหน้า และ “เจ้า” ที่ต่อท้ายออกไป แม้แต่คำอื่นทางศาสนาที่มี “พระ” นำหน้า เขาก็มักจะตัดออกด้วย เช่น โพธิสัตว์ ธรรม พุทธศาสนา ฯลฯ

นอกจากนี้ เขายังเลิกใช้ราชาศัพท์กับพระพุทธะไปเลย กลับมาใช้คำสุภาพธรรมดาๆ อย่าง เดิน นอน นั่ง ฯลฯ ที่เราใช้กันทั่วไป

 

ผมเห็นคล้อยตามเขา แต่มักจะเหลือคำว่าพระไว้หน้า “พุทธะ” เพราะ “พระ” สำหรับผม นอกจากจะแปลว่าประเสริฐ ยังสามารถหมายถึงภิกษุนักบวชทั่วๆ ไป จึงน่าจะเก็บไว้ได้

ผมคิดว่าข้อเสนอดังกล่าว มีเหตุผลง่ายๆ คือ คำเหล่านี้เป็นการแสดงสถานะพระพุทธะ ในฐานะที่เป็น “พระราชา” หรือ “เจ้า” แม้พระพุทธะเองจะเคยเป็นอดีต “เจ้าชาย” คือเป็นเจ้าจริงๆ แต่อย่างที่ผมบอกไปแล้ว ลองไปสืบค้นดูได้ครับว่า ในวัฒนธรรมอินเดียไม่มีราชาศัพท์ ภาษาสันสกฤต บาลี ไม่มีราชาศัพท์ ในพระไตรปิฎกก็ใช้ภาษาทั่วๆ ไปกับพระพุทธะ เหตุใดต้องนำราชาศัพท์ซึ่งไม่มีในวัฒนธรรมเดิมไปยัดเยียดให้โดยไม่จำเป็น

ที่สำคัญ พระพุทธะได้ละทิ้งความเป็นเจ้าไปแล้ว มุ่งสู่การบวช ไม่มียศศักดิ์ใดๆ การใช้ราชาศัพท์หรือคำเจ้ากับคนที่ทิ้งความเป็นเจ้าไปแล้ว เป็นการไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง

แม้ในคัมภีร์ทางศาสนามักจะบอกว่าพระพุทธะเป็น “ธรรมราชา” คือ ราชาแห่งธรรม (ไม่ใช่ในความหมายที่เรามักหมายถึงราชาผู้ทรงธรรม) แต่ธรรมราชานั้นไม่เหมือนอย่างราชาทางโลก ธรรมราชานั้นไม่มีอำนาจอื่นใดนอกจากอำนาจของธรรม พูดให้ชัดเจนเลยว่า จะเป็นธรรมราชาได้ก็เพราะปฏิเสธขนบความเชื่อและสถานะของราชาทางโลกด้วยซ้ำ

ในวัฒนธรรมพุทธศาสนาของประเทศอื่นหรือแวดวงพุทธศาสนาสากลต่างก็ใช้คำสุภาพทั่วๆ ไปกับพระพุทธะทั้งสิ้น และไม่เห็นจะเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามแต่อย่างใด

บางท่านให้เหตุผลว่า การใช้คำราชาศัพท์กับพระพุทธะคือการยกย่องอย่างสูงในวัฒนธรรมไทย แต่ผมคิดว่านี่ไม่ใช่เหตุผลจริงๆ หรอกครับ สมมุติว่าเรามีเพื่อนคนหนึ่ง เพื่อนคนนั้นลาออกจากงานที่เขาไม่ชอบเลย แต่เราก็ยังเรียกเขาด้วยตำแหน่งในที่ทำงานเดิม ผมกลับคิดว่านี่ไม่ใช่การยกย่องแต่คือการดูถูกหรือเสียดสีด้วยซ้ำ

ผมคิดว่าเหตุผลจริงๆ คือในสมัยโบราณ พระราชาต้องการแสดงสถานภาพว่าเป็นอย่างเดียวกับพระพุทธะ จึงใช้คำอย่างเดียวกัน เช่น พระหน่อฯ พระพุทธเจ้าหลวง หรือให้ข้าราชบริพารเรียกตนว่า “ข้าฯ พระพุทธเจ้า” แต่พระพุทธะแบบนี้เป็นพระพุทธะในแง่ของบุคคลพิเศษที่เปี่ยมบารมีและบุญกุศล จึงอาจสามารถมาปกครองเวไนยสัตว์และพาข้ามห้วงทุกข์ได้ ตามคติเถรวาทอย่างไทยๆ

ราชาศัพท์ที่ใช้กับพระพุทธะจึงเป็นสิ่งแสดงสถานภาพอันศักดิ์สิทธิ์ เชื่อมโยงเข้ากับความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 

หากแต่คติที่แท้จริงของพุทธศาสนา แต่ละคนย่อมมีโอกาสที่จะเป็นพระพุทธะได้ทั้งนั้น ไม่มีใครที่จะมีโอกาสมากกว่าหรือผูกขาดการเป็นพระพุทธะไปได้ ยิ่งในฝ่ายมหายานถึงกับบอกว่าทุกๆ คนมีพุทธภาวะในตัวอยู่แล้ว

พระพุทธะเดินออกจากโลกแห่งอำนาจราชศักดิ์ มิใช่เพราะแค่เบื่อหรือขี้เกียจ แต่เห็นโทษภัยของอำนาจราชศักดิ์อันนั้น เห็นเป็นสิ่งอันควรรังเกียจ จึงเลือกชีวิต “สมณะ” อันยากไร้ ไม่มีทั้งสถานภาพและเงินตรา ตั้งคณะสงฆ์ก็เพราะต้องการสร้างพื้นที่ให้คนทั้งหลายออกจากโทษภัยในสถานภาพเดิมของตน มาเป็นชุมชนของคนไร้สถานภาพเช่นกัน

การเลิกใช้ราชาศัพท์กับพระพุทธะ นอกจากจะสลายความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมิใช่ความศักดิ์สิทธิ์แบบพุทธศาสนาลงแล้ว ผมคิดว่าเราจะได้ใกล้ชิดท่านมากขึ้น เห็น “ความเป็นมนุษย์” ของท่านมากขึ้น

เมื่อเราเห็นแง่มุมของความเป็นมนุษย์ในพระพุทธะ มิใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไร้ชีวิตชีวา เราย่อมสามารถที่จะค้นพบความบันดาลใจ ค้นพบความอบอุ่น ความรัก และค้นพบตัวอย่างในเส้นทางการปฏิบัติของเราแต่ละคนได้

อีกอย่างหนึ่ง เราจะได้ตระหนักและตั้งคำถามว่า ในเมื่อพระพุทธะผู้ประเสริฐ เดินออกจากความเป็นเจ้า เดินออกจากอำนาจราชศักดิ์เพื่อแสวงหาความหลุดพ้นและยังประโยชน์แก่โลกด้วยความรักอย่างเรียบง่าย อย่างมิตร

ไฉนสาวกของท่านจึงเดินสวนทาง กลับไปเป็นเจ้า กลับไปแสวงหาอำนาจ

ที่เรียกว่า “สมณศักดิ์”