วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ส่องแนวคิดอพยพกับชาวจีนโพ้นทะเลในไทย 4 มิติ

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

จีนอพยพใหม่ในไทย (6)
หลักคิดแห่งการอพยพ (ต่อ)

หลักคิดการอพยพที่ใช้ในกรณีจีนในลำดับต่อมาคือ แนวโน้มของการอพยพนอกจากจะขึ้นอยู่กับความปรารถนาแล้วก็ยังขึ้นอยู่กับสมรรถนะ (capabilities) ในการอพยพอีกด้วย หลักคิดนี้ให้เหตุผลว่า การมองเช่นนี้ก่อให้เกิดประโยชน์พื้นฐานแก่การศึกษาการอพยพในสี่ด้านด้วยกันคือ

(1) เกิดการบูรณาการหลักคิดที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจเข้าไว้ด้วยกัน และก้าวข้ามการแบ่งประเภทของผู้อพยพ

(2) เกิดการบูรณาการหลักคิดการอพยพแบบบังคับและแบบสมัครใจ

(3) เกิดการเชื่อมโยงหลักคิดมหภาคกับจุลภาคเข้าด้วยกัน

และ (4) เปิดช่องทางใหม่ให้ศูนย์ปฏิบัติการกับวัฒนธรรมได้บูรณาการไปสู่หลักคิดการอพยพร่วมกัน

จะเห็นได้ว่า แท้ที่จริงแล้วข้อเสนอนี้ได้นำเอาหลักคิดการอพยพที่แตกต่างกันมารวมเข้าด้วยกัน แล้วสร้างกรอบการอธิบายขึ้นใหม่ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาการอพยพอีกโสดหนึ่ง

นอกจากนี้ ข้อเสนอดังกล่าวยังเสนอต่อไปว่า ควรที่จะประยุกต์แนวคิดว่าด้วยสมรรถนะของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียเจ้าของรางวัลโนเบลประจำปี ค.ศ.1998 คือ อมาตยา เซน (Amartya Sen) ที่เห็นว่าอิสรภาพคือสมรรถนะในการใช้ชีวิตของมนุษย์

ที่ซึ่งมีค่าต่อการดำรงอยู่และมีทางเลือกเพิ่มจากที่พวกเขาเคยมี สมรรถนะของอิสรภาพนี้เป็นได้ทั้งวิธีการและเป้าหมายในตัวเอง อีกทั้งอิสรภาพยังเป็นแกนหลักที่จะนำไปสู่กระบวนการเบื้องต้นของการพัฒนาจากภายใน เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิม

แต่จะทำเช่นนั้นได้ย่อมต้องมีเครื่องมือที่โดดเด่นในการก่อให้เกิดประสิทธิผล อิสรภาพจึงมีส่วนทำให้เศรษฐกิจก้าวหน้า และเป็นตัวชี้วัดเกณฑ์มาตรฐานที่ดีของการพัฒนา

จากเหตุนี้ ข้อเสนอดังกล่าวจึงเห็นว่า หากนำกรอบความคิดอิสรภาพนี้มาประยุกต์ใช้ศึกษาการอพยพแล้วก็จะสามารถอธิบายกิจกรรมต่างๆ ได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

คือสามารถอธิบายการอพยพในมิติอื่นได้อีก เช่น อพยพเพื่อการผจญภัย เพื่อใช้ช่วงว่างของปี (gap years) เพื่อใช้ชีวิตตามวิถี (lifestyle migration) หรือเพื่อทำงานหรือแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม (au pair migration) ในครอบครัวปลายทาง เป็นต้น

 

ซึ่งในกรณีจีนจะเห็นได้ว่าจีนมิได้ห้ามอิสรภาพในการอพยพ ในขณะที่ชาวจีนเองก็มีสมรรถนะในการใช้อิสรภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจภายในของตนให้ก้าวหน้า และเมื่อเป็นผู้อพยพในพื้นที่ปลายทางก็มีสมรรถนะในการใช้ชีวิตจนประสบความสำเร็จ

นอกจากหลักคิดอิสรภาพดังกล่าวแล้ว ข้อเสนอดังกล่าวยังนำเอาหลักคิดเสรีภาพของนักปรัชญาอังกฤษเชื้อสายลัตเวียที่ชื่อไอเซเออห์ เบอร์ลิน (Sir Isaiah Berlin) มาประยุกต์ใช้ด้วย หลักคิดเสรีภาพของเบอร์ลินนี้ก็คือ เสรีภาพเชิงลบ (negative liberty) กับเสรีภาพเชิงบวก (positive liberty)

โดยเสรีภาพเชิงลบหมายถึงเสรีภาพที่ทำให้พ้นซึ่งอุปสรรค สิ่งกีดขวาง หรือแรงบีบคั้น ส่วนเสรีภาพเชิงบวกหมายถึงเสรีภาพที่เป็นไปได้หรือสามารถกระทำได้ในอันที่จะควบคุมชีวิตและบรรลุวัตถุประสงค์ของตน

การประยุกต์ใช้หลักคิดนี้ก็คือ แม้จะถูกบีบบังคับจากภายใน (เสรีภาพเชิงลบ) แต่ผู้อพยพก็ยังสามารถออกจากพื้นที่ต้นทางแล้วเคลื่อนย้ายไปยังปลายทาง อันเป็นพื้นที่ที่ผู้อพยพสามารถกำหนดชีวิตตนเองได้ (เสรีภาพเชิงบวก)

ที่สำคัญ ข้อเสนอนี้ยังเห็นว่า ในทางกลับกัน หากสามารถลดเสรีภาพเชิงลบลงไปได้ก็จะทำให้การอพยพลดน้อยลงไปด้วย

ซึ่งหากกล่าวในกรณีจีนแล้วจะไม่มีปัญหาเสรีภาพทางเศรษฐกิจ แต่จะมีปัญหาเสรีภาพทางการเมือง ในกรณีหลังนั้นย่อมมีผลในเชิงบีบคั้นให้เกิดการอพยพอยู่ด้วย และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจอพยพของชาวจีน

 

โดยสรุปคือ ข้อเสนอดังกล่าวเห็นว่า หลักคิดการอพยพที่มีอยู่มากมายล้วนมีจุดอ่อนจุดแข็งอยู่ในตัว สิ่งที่ข้อเสนอนี้ได้ทำไปก็คือ นำเอาจุดแข็งของหลักคิดการอพยพแนวต่างๆ มาบูรณาการ จากนั้นก็นำเอาหลักคิดที่มิใช่การอพยพมาประยุกต์ใช้ร่วมกับหลักคิดการอพยพที่บูรณาการแล้ว

ผลที่ตามมาก็คือ ได้เกิดกรอบการอธิบายการอพยพที่มีความรอบด้านมากขึ้น และโดยยึดโยงกับความเป็นจริงของแต่ละสังคมแล้วจะทำให้พบว่า การอพยพที่เกิดขึ้นนั้นมีปัจจัยภายในของแต่ละสังคมที่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นสังคมต้นทางหรือปลายทาง และทำให้การตัดสินใจอพยพของปัจเจกหรือส่วนรวมแตกต่างกันไปด้วย

เนื่องจากจีนเป็นสังคมที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจการเมือง และวัฒนธรรมแตกต่างไปจากสังคมอื่น การใช้กรอบการอธิบายตามข้อเสนอดังกล่าวจึงมีประโยชน์ต่อการศึกษาในที่นี้

อย่างน้อยก็ในฐานะทางเลือกหนึ่งของหลักคิดการอพยพที่มีอยู่มากมาย

หลักคิดการอพยพจากที่กล่าวมาโดยตลอดนี้ จะว่าไปแล้วทุกหลักคิดต่างก็สามารถนำมาอธิบายในกรณีจีนได้ทั้งสิ้น แต่จะอธิบายได้มากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่แต่ละหลักคิดและการปรับใช้ของผู้ศึกษาแต่ละคน

เพราะถึงที่สุดแล้วแต่ละหลักคิดต่างก็ได้รับการวิจารณ์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เท่าๆ กับที่ถูกระบุถึงข้อดีอยู่ด้วยเสมอ

บนพื้นฐานความจริงนี้ทำให้การศึกษาในที่นี้เห็นว่า การบูรณาการหลักคิดการอพยพต่างๆ เข้าด้วยกันและการนำเอาหลักคิดอื่นมาประยุกต์ใช้น่าจะเป็นแนวทางที่พึงประสงค์ ทั้งนี้ มิใช่เพราะแนวทางนี้มีความยืดหยุ่น มิใช่เพราะเป็นแนวทางที่ดึงเอาข้อดีของทุกหลักคิดมาใช้

และมิใช่เพราะเป็นแนวทางที่ดีเลิศประเสริฐศรีที่สุด

หากแต่เป็นเพราะเป็นแนวทางที่เหมาะต่อการนำมาใช้กับการศึกษาชาวจีนอพยพใหม่ ชาวจีนผู้ซึ่งมีภูมิหลังพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจการเมือง และทางวัฒนธรรมเฉพาะตนมาช้านาน

 

วิธีการศึกษาเรื่องชาวจีนอพยพใหม่ในไทย

เนื่องจากการศึกษาชาวจีนอพยพใหม่เป็นการศึกษาเรื่องกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในไทย วิธีการศึกษาที่ดีที่สุดจึงไม่ต่างกับงานศึกษาเรื่องราวของกลุ่มคนอื่นๆ นั่นคือ การใช้วิธีการสัมภาษณ์ตัวบุคคล

และโดยที่งานศึกษานี้มีประเด็นที่ต้องการจะรู้เกี่ยวกับจำนวนชาวจีนอพยพอยู่ด้วย การให้ได้มาซึ่งตัวเลขในส่วนนี้จึงต้องกระทำผ่านแบบสอบถาม และแบบสอบถามที่ได้มานี้จะถูกนำไปคำนวณหาตัวเลขประมาณการจำนวนผู้อพยพอีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้ โดยผ่านหลักวิชาทางสถิติ

การศึกษาในส่วนนี้จะนำเสนอเป็นการต่างหากออกไป

แต่กล่าวเฉพาะงานศึกษาในที่นี้จะได้นำเอาบางส่วนของแบบสอบถามมาใช้บางด้านแต่เพียงส่วนน้อย และเฉพาะที่เห็นว่ามีความสัมพันธ์กับการเขียนในบทนี้เท่านั้น พ้นไปจากนี้แล้วก็คือ ใช้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคล (ชาวจีนอพยพ) และการศึกษาจากเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

จากวิธีการศึกษาดังกล่าว การสัมภาษณ์บุคคลเป็นวิธีที่มีอุปสรรคมากที่สุด เพราะโดยวัฒนธรรมจีนที่ให้ความสำคัญกับสายสัมพันธ์ (กวานซี่, connection) ที่มีต่อบุคคลนั้น ผู้ศึกษาจึงต้องเริ่มจากการสร้างสายสัมพันธ์กับบุคคลที่เป็นเป้าหมาย ซึ่งมิใช่เรื่องง่ายและเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอยู่ไม่น้อย

เพราะชาวจีนอพยพที่ผู้ศึกษารู้จักมีเพียงไม่กี่คน และไม่เพียงพอต่อการศึกษาชาวจีนอพยพที่อยู่ในสี่ภาคของประเทศไทย

หลังจากที่ใช้ความพยายามไประยะหนึ่ง การเข้าถึงสายสัมพันธ์กับชาวจีนอพยพจึงเป็นไปในสองลักษณะด้วยกัน

ลักษณะแรก ผ่านสายสัมพันธ์ที่มีกับบุคคลที่หนึ่งซึ่งมิใช่ชาวจีนอพยพใหม่ เพื่อให้บุคคลนี้นำไปสัมภาษณ์บุคคลที่สองที่เป็นชาวจีนอพยพใหม่ ในลักษณะนี้บอกให้รู้โดยปริยายว่าบุคคลที่หนึ่งมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลที่สอง อันเป็นกลุ่มเป้าหมายของการศึกษา

ลักษณะที่สอง เป็นสายสัมพันธ์ที่ผู้ศึกษามีกับชาวจีนอพยพโดยตรง ลักษณะนี้มีขึ้นตั้งแต่ยังมิได้มีโครงการวิจัยนี้ และที่มีขึ้นได้ก็เนื่องจากผู้ศึกษามีกิจธุระกับชาวจีนกลุ่มนี้เป็นการส่วนตัว ลักษณะนี้จึงมีจำนวนไม่มาก อีกทั้งข้อมูลของบางบุคคลยังได้มาตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการวิจัยนี้นานนับสิบปี

แต่เป็นข้อมูลที่น่าสนใจและมีค่าไม่น้อย

 

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง “ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย” โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป