นงนุช สิงหเดชะ/ผลเลือกตั้ง “ดัตช์” ถึงฝรั่งเศส กระแส “ขวาจัด” ยังไม่กลืนยุโรป

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

ลเลือกตั้ง “ดัตช์” ถึงฝรั่งเศส กระแส “ขวาจัด” ยังไม่กลืนยุโรป

สองเหตุการณ์ใหญ่ของโลกตะวันตกในปีที่แล้วได้แก่

1. ชาวอังกฤษลงมติออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิท

2. โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ แบบพลิกความคาดหมาย ได้ทำให้นักวิเคราะห์ประเมินว่าโลกในปี 2017 จะเผชิญความเสี่ยงทางการเมืองสูงที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะเป็นไปได้ที่กระแสขวาจัดจะแพร่กระจายในซีกตะวันตก เมื่อหลายประเทศในยุโรปจะมีการเลือกตั้ง

ความเสี่ยงทางการเมืองนั้นจะส่งผลกระทบต่อทุกด้าน โดยเฉพาะในเชิงเศรษฐกิจ

เพราะเมื่อประเทศที่มีอิทธิพลต่อโลกสูง ได้ผู้นำคนใหม่ที่มีจุดยืน แนวคิด แนวนโยบายต่างออกไปจนเกือบจะสุดขั้ว ย่อมก่อผลสะเทือนต่อประเทศอื่นที่เคยเป็นคู่ค้าหรือพันธมิตร

กระทบต่อการตัดสินใจของนักลงทุน อย่างน้อยก็จะเกิดภาวะชะงักงันด้านการลงทุนเนื่องจากไม่แน่ใจในนโยบายที่เปลี่ยนไปอย่างมาก

โดนัลด์ ทรัมป์ คือตัวอย่างที่เห็นชัดว่าได้ก่อความวุ่นวายปั่นป่วนทั้งต่อสังคมอเมริกันเองและต่อโลกอย่างไร เมื่อนโยบายของเขาเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

โดยภายในประเทศเองเขาทำให้ประชาชนแตกแยกกันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะนโยบายกีดกันและเนรเทศและผู้อพยพ

ส่วนภายนอกประเทศเขาแสดงจุดยืนไม่สนับสนุนการค้าเสรีและจะเล่นงานทุกประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ

เนื่องจากในปีนี้ยุโรปมีการเลือกตั้งในหลายประเทศ ทั้งเนเธอร์แลนด์ (มีนาคม) ฝรั่งเศส (พฤษภาคม) เยอรมนี (กลางกันยายน) และอิตาลี (ราวปลายปี) ทำให้นักวิเคราะห์หวั่นใจว่า หากกระแสเบร็กซิท-กระแสทรัมป์ติดลมบนในยุโรป ตามที่นักการเมืองขวาจัดในยุโรปพยายามปลุกระดม เชิญชวนให้ประชาชนเห็นดีเห็นงามตามคนอังกฤษและคนอเมริกัน ฝ่ายขวาจัดจะชนะการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งเนเธอร์แลนด์เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้คลายความกังวลใจเรื่องกระแสขวาจัดจะแพร่ระบาด

เพราะปรากฏว่าพรรครัฐบาลเดิม (มีแนวคิดสายกลาง) ชนะเลือกตั้ง สามารถเอาชนะพรรคขวาจัดของ นายเคียร์ต วิลเดอร์ส ซึ่งมีแนวคิดเดียวกับ โดนัลด์ ทรัมป์ และอังกฤษ คือต่อต้านผู้อพยพและอียู

แม้จะไม่มีใครไปสอบถามผู้ออกเสียงเลือกตั้งโดยตรงว่าเพราะเหตุใดจึงเลือกพรรครัฐบาลเดิมซึ่งเป็นพรรคสายกลาง

แต่ผลที่ออกมาก็น่าจะบอกได้ว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรแบบสุดขั้วจากที่เป็นอยู่

สาเหตุนั้นก็น่าจะเป็นเพราะได้เห็นตัวอย่างจากอังกฤษแล้วว่าการออกจากอียู ได้ส่งผลเสียต่ออังกฤษอย่างไร

อย่างน้อยเศรษฐกิจของประเทศก็ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอน นักลงทุนไม่มั่นใจ

และสิ่งที่ชัดเจนคืออังกฤษจะสูญเสียการเป็นศูนย์กลางการเงินโลก เพราะบรรดาสถาบันการเงินได้พากันย้ายไปยังประเทศยุโรปอื่นที่ยังอยู่ในอียู ค่าเงินปอนด์ดิ่งเหว และความไม่แน่นอนนั้นจะเกาะกินอังกฤษไปอย่างน้อย 2 ปีนับจากนี้จนกว่ากระบวนการออกจากอียูจะเสร็จสิ้น

ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและใช่ว่าอียูจะยอมให้ออกไปฟรีๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

เพราะแว่วๆ ออกมาแล้วว่าอียูอาจจะเรียกเก็บเงินจากอังกฤษสูงถึง 1 แสนล้านยูโร เป็นค่าออกจากอียู และกำหนดเงื่อนไขการออกไว้ค่อนข้างโหด

เมื่อมาถึงการเลือกตั้งฝรั่งเศส ซึ่งจัดขึ้น 2 รอบ คือ 23 เมษายน ซึ่งได้ตัวเต็งมา 2 คนคือ เอ็มมานูเอล มาครง นักการเมืองอิสระซึ่งมีแนวคิดสายกลาง กับ นางมารีน เลอเปน จากพรรคขวาจัด เพื่อชิงกันในรอบตัดสินคือ 7 พฤษภาคม

ทั่วโลกก็ต้องกลั้นหายใจลุ้นระทึกพร้อมกับหวั่นใจว่า มารีน เลอเปน จะพลิกล็อกชนะขึ้นมา

เพราะเห็นตัวอย่างจากคราวลงประชามติของชาวอังกฤษแล้วว่าความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้เสมอในนาทีสุดท้าย

แต่ฝ่ายที่ต้องลุ้นกว่าใครก็คือบรรดาผู้นำของอียู 27 ประเทศ เพราะหากนางเลอเปน ซึ่งต่อต้านอียูและผู้อพยพ เกิดเป็นฝ่ายชนะขึ้นมา จะก่อวิกฤตให้กับค่าเงินยูโรและยูโรโซนทั้งหมดอีกครั้ง

และเป็นไปได้ที่ฝรั่งเศสในฐานะสมาชิกรายใหญ่อันดับ 2 ของอียูจะถอนตัวจากอียูตามรอยอังกฤษ

แต่ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ก็ทำให้เกิดความโล่งใจ เมื่อนายมาครงชนะแบบขาดลอยถล่มทลาย 66.06% ต่อ 34.94%

ซึ่งเท่ากับส่งสัญญาณว่าคนฝรั่งเศสส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยกับแนวคิดขวาจัดของนางเลอเปน

ไม่เอาด้วยกับแนวคิดต่อต้านผู้อพยพ

ไม่เอาด้วยกับการออกจากอียู

ผลที่ออกมา ก็น่าจะอนุมานได้เช่นกันว่า คนฝรั่งเศสกลัวสิ่งที่เกิดขึ้นกับอังกฤษและสหรัฐ

โดยขั้นแรกเลยก็คือสังคมจะแตกแยกอย่างหนัก

อย่างกรณีของอังกฤษนั้น ทันทีที่ผลประชามติออกมาซึ่งชนะกันฉิวเฉียด ก็เกิดปรากฏการณ์ คนลอนดอนออกมาประท้วงขอแยกตัวเป็นอิสระจากอังกฤษเพื่อจะได้อยู่ร่วมกับอียูต่อไป

ส่วนที่สหรัฐ คนแคลิฟอร์เนียขอแยกเป็นประเทศอิสระเพราะไม่อยากอยู่ภายใต้การปกครองของทรัมป์ซึ่งมีแนวคิดทำลายคุณค่าความเป็นอเมริกัน

เป็นไปได้หรือไม่ว่า เพราะนางเลอเปนก๊อบปี้แนวหาเสียงแบบเดียวกับทรัมป์ (France First) แถมทรัมป์ยังสนับสนุนเธอออกนอกหน้า

โดยก่อนการเลือกตั้ง ทรัมป์ได้ทวีตข้อความว่า “เลอเปนคือผู้ชิงตำแหน่งที่แข็งแกร่งที่สุดในเรื่องผู้อพยพและก่อการร้าย” จึงทำให้คนฝรั่งเศสหวาดกลัวเธอมากขึ้น เพราะถ้าเธอชนะแล้วทำตัวแบบเดียวกับทรัมป์ ก็ไม่น่าจะมีอะไรดีสำหรับฝรั่งเศส

คนที่น่าจะผิดหวังผลการเลือกตั้งฝรั่งเศสครั้งนี้อีกคนหนึ่งก็คือ ไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรค UKIP ของอังกฤษซึ่งเป็นตัวพ่อในการรณรงค์ให้คนอังกฤษลงประชามติออกจากอียู

เพราะเท่ากับว่าความฝันของเขาที่จะทำให้ทุกชาติในยุโรปได้ผู้นำแบบเดียวกับทรัมป์ไม่ประสบความสำเร็จ (ฟาราจ ชื่นชอบทรัมป์มาก)

สิ่งพึงระวังสำหรับนักการเมืองประเทศอื่นๆ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ก็คือเมื่อไหร่ก็ตามที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้าไปยุ่งเกี่ยวสนับสนุนแล้วละก็ค่อนข้างจะเชื่อได้ว่าเขาหรือเธอผู้นั้นจะแพ้การเลือกตั้งค่อนข้างแน่นอน