ในประเทศ / ประชาธิปไตยใต้ร่มผ้า (คลุม) จัดเต็ม-จัดเบิ้ม สมรภูมิสภา ‘ฉีดน้ำ-แก๊สน้ำตา’ สกัด ‘ม็อบ’ ราษฎร เพื่อ ‘รธน.’ ราษฎร

ในประเทศ

 

ประชาธิปไตยใต้ร่มผ้า (คลุม)

จัดเต็ม-จัดเบิ้ม สมรภูมิสภา

‘ฉีดน้ำ-แก๊สน้ำตา’

สกัด ‘ม็อบ’ ราษฎร เพื่อ ‘รธน.’ ราษฎร

 

การช่วงชิงพื้นที่ทางการเมือง

ทั้งในเชิงสัญลักษณ์ และทั้งในเชิงชิงพื้นที่จริงๆ

เพื่อกดดันให้มีการปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมแต่ละฝ่ายนั้น

ต้องถือว่าเป็นไปอย่างเข้มข้น แหลมคม

ในเชิงสัญลักษณ์ที่โดดเด่น

ก็คือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน

เมื่อกลุ่ม “ม็อบเฟสต์” ใช้ผืนผ้าสีขาว ขนาด 30 คูณ 30 เมตร ให้มวลชนเขียนข้อความการเรียกร้องในเรื่องต่างๆ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปสถาบัน การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร การปฏิรูปการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำ และข้อความอื่นๆ อีกนับพันข้อความ ที่บอกถึงความต้องการ ความฝัน ความหวัง ที่อยากให้ประเทศไทยเป็น

ขึ้นไปห่อหุ้มฐานวางพานรัฐธรรมนูญอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อันเป็นสัญลักษณ์การปกครองด้วยระบอบรัฐธรรมนูญของไทย

 

แกนนำผู้จัดกิจกรรมนี้บอกว่า ต้องการให้เสียงของประชาชนที่ถูกเขียนบนผืนผ้า ได้ถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญที่เข้าสู่วาระการพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 17-18 พฤศจิกายน

โดยย้ำว่า การเอาผ้าไปคลุมตัวอนุสาวรีย์ เปรียบการเปิดพื้นที่ให้มีการรับฟัง

ประชาชนควรจะได้แสดงออกถึงความต้องการของตนเอง

อย่างในกิจกรรมม็อบเฟสต์นี้ ได้เลือกเอาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะอยู่แล้ว เป็นจุดให้ประชาชนไปทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน

และส่งสัญลักษณ์ไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้รับรู้และรับฟัง

โดยแกนนำที่ทำกิจกรรม ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการลดทอนความศักดิ์สิทธิ์หรือคุณค่าของอนุสาวรีย์ลงแต่อย่างใด

ตรงกันข้ามกลับเป็นการเสริมให้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยศักดิ์สิทธิ์ขึ้น ในฐานะเป็นตัวแทนของเสียงของประชาชน

ซึ่งนอกจากหลากหลายในข้อเสนอแล้ว แต่โดยเนื้อแท้ อิงอยู่กับ 3 ข้อเรียกร้องหลักของคณะราษฎร

นั่นคือ ให้นายกฯ ลาออก แก้รัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

 

ระหว่างการทำกิจกรรมใช้ผ้าห่อหุ้มฐานวางพานรัฐธรรมนูญอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นการช่วงชิงพื้นที่ในการส่งเสียงในวันนั้น

แม้จะมีการกระทบกระทั่งกับตำรวจที่มารักษาการณ์ แต่ที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยินยอมให้ดำเนินกิจกรรมต่อไปได้

กระนั้นก็เป็นสัญญาณที่บอกว่า มีแรงเสียดทานกิจกรรมช่วงชิงพื้นที่นี้อยู่ และพร้อมจะถูกแสดงการต่อต้านออกมา

หนึ่งในนั้นก็คือ การที่สมาชิกราชสกุล พล.อ.ม.จ.จุลเจิม ยุคล นายทหารพิเศษประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ แสดงความเห็นต่อภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกคลุมผ้า ว่า

“ถ้าปล่อยให้เล่นกันสนุก ไร้ค่าแบบนี้ ก็ทุบทิ้งเถอะครับ ไม่มีประโยชน์ เกะกะทางสัญจร”

ความเห็นดังกล่าว ดูเหมือนในปีกจารีตและอนุรักษ์ จะมีการพูดอยู่เนืองๆ ที่ไม่ประสงค์จะให้มีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยต่อไป หรือถ้าจะมีก็ให้ปรับเปลี่ยนไปในฐานะที่มีความหมายใหม่

มิได้หมายถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

 

การเสนอทุบทิ้งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ของ พล.อ.ม.จ.จุลเจิม จึงได้รับความสนใจจากสังคมเป็นพิเศษ

และนำไปสู่ปฏิกิริยาเห็นต่าง

อย่างนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Charnvit Kasetsiri มีเนื้อหาว่า

“ครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว Aj. Craig Reynolds – Australia เคยเปรียบเทียบวัฒนธรรมสถานทั้งสองนี้ ว่ามีความหมายคล้ายคลึงกัน ในฐานะเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค

เมื่อฟังแรกๆ ผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไร ผมคิดว่ามหาเจดีย์ชเวดากอง ขลังกว่า

ส่วนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขลังน้อยกว่า

หลายสิบปีผ่านไป ผมเริ่มเปลี่ยนใจ อนุสาวรีย์ของไทยค่อยๆ ถูกต่อเติมความขลัง เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จากการเป็นจุดชุมนุมใหญ่ของเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 จากการแบกศพวีรชนห่อผ้าขึ้นไปฟ้องประชาชนในเหตุการณ์ครั้งนั้น จากการดัดแปลงให้กลายเป็นสวนดอกไม้ จากการกีดกันประชาชนออกไปให้ห่าง

แม้แต่การเสนอให้ดัดแปลง เปลี่ยนรัฐธรรมนูญและพานแว่นฟ้า ให้เป็นพระรูปรัชกาลที่ 7 บ้าง หรือไม่ก็ให้ทุบทิ้ง จากการพยายามลดบารมี รัศมีของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ดำริให้ก่อสร้าง 2483/1940

แต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลับขลังขึ้นๆ จนกลายเป็นที่ชุมนุมใหญ่ เกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ กลายเป็นภาพ background ที่ขลัง ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาปีแล้วปีเล่า จากช่วงทศวรรษ 2530s ถึง 2550s จนกระทั่ง 2560s ในทุกวันนี้ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง คงทุบทิ้งไปง่ายๆ ไม่ได้แล้ว

เหตุการณ์จากการชุมนุมเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2563 บอกเราว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง change เดินทางมาถึงแล้ว”

 

นี่คือ ความแหลมคมของการช่วงชิงในเชิงสัญลักษณ์

แน่นอน “ใต้ร่มผ้า” ที่คลุมอนุสาวรีย์ ยังมีอะไรที่คลุมเครืออยู่มาก

แม้ภายนอกจะแจ่มชัดผ่านข้อความของ “ม็อบเฟสต์” ที่ส่วนหนึ่งเปล่งเสียงให้แก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอประชาชน

แต่ภายใน ทั้งที่เกี่ยวกับรัฐบาล พรรคการเมือง และ ส.ว. กลับมากด้วยความไม่ชัดเจน

และการตั้งข้อสงสัย ไม่ว่าการรับเงินทุนจากต่างชาติ การพยายามแก้ไขหมวดที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบัน รวมไปถึงการเปิดช่องให้นิรโทษกรรมคดีทุจริต เป็นต้น

เสียงออกตัวในทำนองขอฟังการอภิปรายในส่วนรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขของไอลอว์ หรือฉบับประชาชน ก่อนจึงดังกระหึ่ม

ความไม่แน่นอนและชัดเจนดังกล่าว

ทำให้คณะราษฎร 2563 ประกาศไปยึดพื้นที่หน้ารัฐสภา เพื่อกดดันให้ ส.ส. และ ส.ว.รับร่างแก้ไขฉบับประชาชน ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ท่าทีดังกล่าว ทำให้ฝ่ายเห็นต่างในปีกกลุ่มคนเสื้อเหลือง กลุ่มไทยภักดี กลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน ประกาศที่จะมาช่วงชิงพื้นที่หน้ารัฐสภา เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้

จึงทำให้พื้นที่ดังกล่าว เป็นการช่วงชิงของ 3 ฝ่าย ทั้งตำรวจและฝ่ายความมั่นคงที่เข้ามารักษาพื้นที่ คณะราษฎรมาสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ และฝ่ายกลุ่มปกป้องสถาบันที่มาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ศึกชิงพื้นที่ จึงร้อนระอุ

 

และที่สุดก็ได้กลายเป็นจุดไฟโหมไหม้

เมื่อกลุ่มราษฎรประกาศล้อมรัฐสภาทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อกดดันให้สมาชิกรัฐสภารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับของไอลอว์

ขณะที่กลุ่มไทยภักดีและพันธมิตรก็นัดชุมนุมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ส่วนตำรวจประกาศพื้นที่บริเวณหน้ารัฐสภา เป็นพื้นที่ควบคุมในระยะ 50 เมตร

ไม่อนุญาตให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปทำกิจกรรมใดๆ

มีการวางแนวแบริเออร์ ลวดหนาม พร้อมกำลังตำรวจดูแลแนวรักษาความปลอดภัยอย่างหนาแน่น โดยมีรถฉีดน้ำเป็นอุปกรณ์เสริม

ท่ามกลางสถานการณ์อันตึงเครียด

และกลายเป็นความรุนแรง เมื่อตำรวจอ้างว่า การ์ดผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรใช้คีมตัดเหล็กตัดลวดหนามหีบเพลงออก เพื่อฝ่าแนวตำรวจเข้าไปประชิดทางเข้ารัฐสภา

ทำให้ตำรวจนำรถฉีดน้ำมาประชิดแนว เตือนผู้ชุมนุมให้หยุดตัดลวดหนาม แต่การ์ดผู้ชุมนุมไม่หยุด เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงฉีดน้ำใส่กลุ่มราษฎรเป็นระยะๆ

ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรตอบโต้ด้วยพลุสีมีควัน มีกลิ่น เข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ

ตำรวจจึงใช้แก๊สน้ำตา ทำให้เกิดเหตุชุลมุนขึ้น

กลุ่มผู้ชุมนุมที่โกรธเคืองจึงเข้ากดดันจนตำรวจต้องถอยร่น

และทำให้แนวหน้ากลุ่มราษฎรเกิดเผชิญหน้ากับกลุ่มปกป้องสถาบัน ที่สามารถชุมนุมได้โดยสะดวก สามารถฝ่าด่านเข้าไปยื่นข้อเรียกร้องถึงวุฒิสภา ได้เขตรัฐสภา การเผชิญหน้าโดยไม่มีตำรวจดูแลดังกล่าว ทำให้เกิดปะทะกันอยู่เป็นระยะๆ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย

ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ได้รายงานสรุปจำนวนผู้ที่ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล (ร.พ.) รวม 55 ราย

มีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และประชาชน โดยเฉพาะฝ่ายคณะราษฎร

อาการที่ได้รับแจ้ง เป็นอาการป่วยทั่วไป 4 ราย

ได้รับบาดเจ็บ 51 ราย ในจำนวนนี้โดนแก๊สน้ำตา 32 ราย ถูกยิง 6 ราย และอื่นๆ 13 ราย

สามารถออกจากโรงพยาบาลแล้ว 51 ราย เหลือนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 4 ราย

 

หลังเหตุชุลมุนและกลุ่มราษฎรสามารถฝ่าแนวกั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจไปปักหลักปราศรัยและทำกิจกรรมหน้ารัฐสภาได้

นายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ปราศรัยว่านอกจากแก๊สน้ำตา ถูกคนเสื้อเหลืองทำร้ายแล้ว ยังมีการปาระเบิดปิงปอง มีผู้บาดเจ็บและมีคนถูกกระสุนปืนยิงที่ขาได้รับบาดเจ็บ

“นี่คือสัญญาณของชนชั้นนำว่าไม่เห็นหัวราษฎร จึงประกาศ ณ ตรงนี้ ต่อไปนี้ไม่มีการประนีประนอมใดๆ ทั้งสิ้น”

“คนใดล้มร่างรัฐธรรมนูญประชาชน พวกนั้นทรยศต่อราษฎร พรรคการเมืองใดคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พรรคนั้นคือทรราชของประชาชน”

“เมื่อสภา ส.ส. ส.ว. ไม่ยอม ก็เชิญโหวตไป จะคว่ำกี่ร่างผ่านกี่ร่างโหวตไป วันที่ 18 พศจิกายน เราจะแสดงพลังอีก กลางเมือง เราจะแสดงความโกรธแค้นอีกครั้งที่ ‘แยกราชประสงค์’ คือพื้นที่การแสดงออก เป็นนัยยะสำคัญ ว่าเราต้องการอะไร ต่อสู้ไปถึงไหน ไปแสดงฉันทามติร่วมกัน นี่คือสัญญาณว่า เราจะต่อสู้ร่วมเป็นร่วมตาย เพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่สุด เท่าที่ประเทศไทยเคยมี” นายอานนท์ประกาศ

 

ขณะที่คณะราษฎรประกาศก้าวข้ามการโหวตรัฐธรรมนูญ

แต่ในรัฐสภา ยังคงอภิปรายเรื่องรัฐธรรมนูญกันต่อไป

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์

อันทำให้หลายคนย้อนนึกสถานการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2549 และพฤษภาคม 2557

ที่มีข้ออ้างจากทั้ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้า คมช. และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.

ว่าเกิดการปะทะระหว่างมวลชน 2 ฝ่ายอันอาจจะบานปลายกลายเป็นมิคสัญญีในทางการเมือง

จึงมีความจำเป็นที่กองทัพต้องรัฐประหาร

ข้ออ้างนี้จะกลับมาอีกหรือไม่

นี่คือสิ่งที่ท้าทาย พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ที่ประกาศ “รัฐประหารเป็นลบ” จะ ซตพ.–ซึ่งต้องพิสูจน์

รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยของไทย ภายใต้ ใต้ร่มผ้าคลุม

          ยัง “หมกปัญหา” และรอการปะทุรุนแรงอยู่ไม่สร่างซา!