นิ้วกลม | ห้ามอ่าน

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

1การแบนหนังสือคือองค์ประกอบหนึ่งของความเสื่อมของประเทศ ในโลกสมัยใหม่คงครอบคลุมไปถึงการแบนสื่อทุกช่องทาง ทั้งสื่อเดิมอย่างทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ เลยไปถึงสื่อออนไลน์ ช่องยูทูบ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือเว็บไซต์ต่างๆ เพราะทั้งหมดนั้นคือช่องทางของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นปุ๋ยของความคิด

ในปี ค.ศ.1660 กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษทรงมีพระบัญชาว่า สภาผู้ดูแลการเพาะปลูกในต่างแดนควรสั่งสอนชนพื้นเมือง ข้าราชบริวารของประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรตามแนวทางของคริสต์ศาสนิกชน

แม้พระองค์มีแนวโน้มนิยมคาทอลิก แต่ก็ประกาศตนเป็นโปรเตสแตนต์ผู้ซึ่งเชื่อตามที่ลูเธอร์สอนไว้ว่า การปลดปล่อยจิตวิญญาณขึ้นอยู่กับความสามารถส่วนบุคคลในการอ่านพระวจนะของพระเจ้า

ว่าง่ายๆ คือ ทรงประสงค์ให้ข้าราชบริวารในอาณานิคมอ่านออกเขียนได้ เพื่ออ่านพระคัมภีร์ได้เอง

แต่ชาวอังกฤษผู้เป็นเจ้าของทาสเห็นด้วย เพราะกลัวความคิดของ “ประชากรผิวดำที่อ่านออกเขียนได้” ซึ่งอาจมีความคิดปฏิวัติที่อันตรายจากการอ่านหนังสือ เมื่ออ่านแล้วคิดเองเป็นก็อาจกระตุ้นให้คิดเรื่องเสรีภาพ การคัดค้านนั้นรุนแรงโดยเฉพาะในอาณานิคมอเมริกัน รัฐเซาธ์แคโรไลนา

หนึ่งศตวรรษต่อมาได้ออกกฎหมายเข้มงวด ห้ามชาวผิวดำทุกคนไม่ว่าเป็นทาสหรือไทหัดอ่านหนังสือ กฎนี้ใช้มาจนถึงกลางศตวรรษที่ 19

2ไม่ว่าเผด็จการยุคไหนต่างก็รู้ดีว่าการปกครองฝูงชนที่ไม่รู้หนังสือนั้นง่ายกว่า ประวัติศาสตร์ในโลกการอ่านจึงเต็มไปด้วยกองเพลิงของการตรวจสอบ “หนังสือต้องห้าม” และจัดการเผาทิ้งไปเสีย

ผลงานของโปรตากอรัสถูกเผาในกรุงเอเธนส์ ปี 411 ก่อนคริสตกาล, ปี 213 ก่อนคริสตกาล จักรพรรดิชิงหวงตี้สั่งเผาหนังสือทุกเล่มในราชอาณาจักร, ปี 168 ก่อนคริสตกาล ห้องสมุดชาวยิวในกรุงเยรูซาเลมถูกทำลายโดยจงใจระหว่างที่แมคคาเบียนขึ้นครองราชย์, ศตวรรษที่ 1 หลังคริสตกาล ออกัสตัสเนรเทศกวีคอร์เนลิลัส กัลลัส และโอวิด พร้อมสั่งห้ามเผยแพร่งานของพวกเขา, จักรพรรดิคาลิกูลารับสั่งว่าหนังสือทุกเล่มที่เขียนโดยโฮเมอร์ เวอร์จิล และเลวี ต้องถูกเผา, ค.ศ.303 ไดโอเคลติอันประณามหนังสือของชาวคริสต์ทุกเล่มโดยนำไปเผา นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ “ห้ามอ่าน” ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เท่านั้น

เหตุการณ์เผาหนังสือที่เลื่องลือครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 10 พฤษภาคม 1933 ณ กรุงเบอร์ลิน เมื่อกองทัพนาซีเผาหนังสือกว่าสองหมื่นเล่มท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีของฝูงชน ผลงานของฟรอยด์ สไตน์เบ็ก มาร์กซ์ เฮมมิ่งเวย์ ไอน์สไตน์ พรูสต์ เอช จี. เวลส์ โธมัส มานน์ และนักเขียนอีกนับร้อยกลายเป็นขี้เถ้าในกองเพลิง

ทั้งหมดนั้นเพื่อควบคุมความคิดของมวลชนไม่ให้แตกแขนงออกไปจากสิ่งที่รัฐต้องการ ผู้ปกครองซึ่งเผาหนังสือล้วนคิดตรงกันว่า การควบคุมความคิดจะนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

“อำนาจ” จึงมักกลัวการอ่าน

เพราะการอ่านทำให้ตั้งคำถามกับทุกสิ่ง, รวมถึงอำนาจด้วย

3ปี1445 ที่เมืองไมนซ์ในเยอรมนี โยฮันน์ กูเทนแบร์ก เปิดตัวแท่นพิมพ์แบบตัวเรียง นวัตกรรมที่ทำให้การพิมพ์หนังสือกลายเป็นเรื่องง่าย (บางตำราบอกว่าเขาประดิษฐ์สำเร็จตั้งแต่ ค.ศ.1439) เมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่ต้องคัดลอกด้วยมือซึ่งทำให้หนังสือเป็นของหายาก ราคาแพง ผู้มีหนังสือในครอบครองก็มีแต่คนฐานะดีเท่านั้น

การพิมพ์ทำให้หนังสือถูกลง ผลิตได้เร็วและเยอะ

หนังสือชุดแรกที่กูเทนแบร์กพิมพ์คือ คัมภีร์ไบเบิลฉบับละติน

การพิมพ์หนังสือคือองค์ประกอบสำคัญในการพลิกโฉมยุโรป เพราะเป็นครั้งแรกที่องค์ความรู้ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ความรู้ไม่ได้ถูกผูกขาดโดยพระอีกต่อไป คนธรรมดาสามารถซื้อหนังสือมาอ่าน ทำให้เกิดการตั้งคำถามและตีความในแบบของตัวเอง

แท่นพิมพ์ขยายตัวอย่างรวดเร็วในยุโรปตะวันตก ปี 1460 มีโรงพิมพ์ที่สทราซบูร์ในฝรั่งเศส ปลายทศวรรษที่ 1460 แพร่ไปทั่วอิตาลี มีโรงพิมพ์ทั้งในกรุงโรมและเวนิส ตามด้วยลอนดอน ออกซ์ฟอร์ด แพร่ไปถึงสเปนและยุโรปตะวันออก

4แต่ก็ใช่ว่าทุกที่จะอ้าแขนต้อนรับเทคโนโลยีการพิมพ์ สุลต่านบาเยซิดที่ 2 แห่งออตโตมันออกกฎหมายห้ามชาวมุสลิมพิมพ์เป็นภาษาอารบิกตั้งแต่ปี 1485 สุลต่านเซลิมที่ 1 นำกฎหมายนี้กลับมาใช้อีกในปี 1515 และต้องรอจนกระทั่งปี 1727 โรงพิมพ์แห่งแรกจึงได้รับอนุญาตให้ตั้งในแผ่นดินออตโตมันได้

เท่ากับว่า ช้ากว่ายุโรปตะวันตกไปกว่า 300 ปี

ผู้ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงพิมพ์คือมุเตเฟร์ริกา แต่อะไรก็ตามที่เขาจะพิมพ์ ต้องผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการของดะโต๊ะยุติธรรม ซึ่งเป็นผู้รู้ทางศาสนาและกฎหมายเสียก่อน

การตรวจสอบที่เข้มงวดเช่นนี้ทำให้ความรู้ถูกเผยแพร่ผ่านการพิมพ์อย่างจำกัดเต็มที แม้กระทั่งความรู้ของเหล่าดะโต๊ะยุติธรรมเองก็ตาม

สุดท้ายมุเตเฟร์ริกาก็พิมพ์หนังสือได้ไม่มากนัก นับตั้งแต่ตั้งแท่นพิมพ์ในปี 1729 จนเลิกกิจการไปในปี 1743 ภายในเวลา 14 ปี เขาพิมพ์หนังสือเพียง 17 เล่มเท่านั้น

ออตโตมันยังผลิตหนังสือโดยอาศัยคนคัดลอกด้วยมือไปจนถึงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19

5การต่อต้านแท่นพิมพ์มีผลต่อการรู้หนังสือ การศึกษา และความเจริญทางเศรษฐกิจของออตโตมันอย่างมาก ในปี 1800 มีพลเมืองในจักรวรรดิออตโตมันเพียงร้อยละ 2-3 เท่านั้นที่รู้หนังสือ ขณะที่อังกฤษมีผู้ชายรู้หนังสือร้อยละ 60 ผู้หญิงร้อยละ 40 ซึ่งในเนเธอร์แลนด์และเยอรมนีมีอัตราการรู้หนังสือที่สูงขึ้นไปอีก

ออตโตมันจึงค่อยๆ ถูกถ่างออกจากยุโรปตะวันตก ค่อยๆ กลายเป็นดินแดนล้าหลังทางความคิดและนวัตกรรม ซึ่งแน่นอนว่าทำให้เศรษฐกิจถดถอยตามไปด้วย

กฎข้อห้ามที่สั่งตรวจสอบและจำกัดการผลิตหนังสืออย่างเคร่งครัดเกิดขึ้นได้ในดินแดนออตโตมันซึ่งปกครองโดยผู้มีอำนาจไม่จำกัดและขูดรีด ไม่น่าแปลกใจที่สุลต่านจะไม่ชอบแท่นพิมพ์ เพราะประชาชนที่อ่านหนังสือแล้วคิดเยอะย่อมควบคุมลำบาก

กระนั้นอีกด้านของเหรียญก็คือ การปิดกั้นความคิดไม่ให้งอกงามก็ทำให้หน่ออ่อนของการสร้างสรรค์และการพัฒนาถูกถอนทิ้งไปด้วย

6แม้เราอาจไม่ได้เห็นการเผาหนังสือจำนวนมากแบบในอดีตอีกต่อไปแล้ว แต่ในบางประเทศที่ไม่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพของความคิด ต้องการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารที่ทำให้ผู้คนตั้งคำถามและคิดเป็น เราก็ยังเห็นการแบนสื่อ ยึดหนังสือ สั่งห้ามวางจำหน่าย หรือกระทั่งบุกตรวจสอบสำนักพิมพ์กันอยู่

ในโลกที่ทุกอย่างแปลงเป็นไฟล์ดิจิตอลได้หมดแล้ว การทำลาย “ความรู้” นั้นไม่ง่ายแบบเดิมอีกต่อไป เมื่อทุกอย่างไปอยู่ในโลกดิจิตอล มันก็พร้อมจะแบ่งตัวออกไปจนมิอาจควบคุมได้หมด

การจัดการกับข้อมูลข่าวสารในยุคนี้จึงมิใช่การไล่ปิดหรือไล่ลบ เพราะสิ่งที่ต้องการปกปิดก็จะไปโผล่ที่ใดที่หนึ่งอีกอยู่ดี

หากคือการเปิดพื้นที่เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสได้แสดงข้อมูลที่หลากหลายมากพอ มีเสรีภาพในการถกเถียง หักล้าง ใช้เหตุผลในการโน้มน้าวคนในสังคม

ถึงที่สุดแล้วข้อมูลที่เป็นเท็จย่อมถูกตรวจสอบและหมดความน่าเชื่อถือไปในที่สุด

สังคมที่สามารถตรวจสอบ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ กระทั่งหาข้อสรุปของตัวเองได้ย่อมเป็นสังคมอุดมปัญญา ผู้คนในสังคมนั้นถูกฝึกให้คิด ใคร่ครวญและใช้เหตุใช้ผลอยู่เสมอ มิได้เชื่อเพราะถูกโฆษณากรอกหู หรือหลงตามด้วยอารมณ์ สังคมเช่นนี้ย่อมเอื้อต่อการสร้างสรรค์ คิดค้นนวัตกรรม ต่อยอดไอเดีย รวมถึงตั้งคำถามท้วงติงเมื่อมีใครดำเนินไปในทางที่ไม่เหมาะไม่ควร

สังคมที่เป็นดินอุดมของความคิดอาจไม่สงบเรียบร้อย แต่กลับคึกคักไปด้วยความคิดที่ถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งมิได้น่าหวาดวิตกแต่อย่างใด ตรงกันข้าม, สังคมที่สงบเรียบร้อยแต่เงียบงันทางปัญญานั้นน่ากลัวกว่ามาก เพราะมันจะนำพาไปสู่ความเสื่อมในระยะยาว

หากการเผาหนังสือคือการเผาสติปัญญาของผู้คน การยึดหนังสือหรือแบนหนังสือย่อมคือการยึดสติปัญญาด้วยเช่นกัน

ทุกครั้งที่มีการเผา ปิด ห้าม คำถามที่ดังในใจของผู้ใฝ่หาปัญญาคือ

“เขาไม่อยากให้เรารู้อะไรหรือ”

*ข้อมูลประกอบการเขียน : Why Nations Fail โดย Daron Acemoglu และ James A. Robinson และ A History of Reading โดย Alberto Manguel