สุรชาติ บำรุงสุข | 88 ปีระบอบทหารไทย Ep.18 จากปี 2535-2540

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“รัฐประหารมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้อีก จนกว่าผู้นำ [พลเรือน] จะมีทักษะมากเพียงพอที่จะคุมทหารไว้ได้”

Xavier Marquez

Non-Democratic Politics (2017)

ภูมิทัศน์ของการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังจากความพ่ายแพ้ของกองทัพต่อการชุมนุมของนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535

บทบาททางการเมืองของผู้นำทหารลดลงอย่างมาก และเป็นความหวังอย่างมากว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทยได้เวลาเดินไปข้างหน้าอีกครั้งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

การที่กองทัพถูกกดดันให้ต้องออกจากการเมืองบนเงื่อนไขจากการชุมนุมบนถนนมีส่วนอย่างสำคัญต่อการปรับบทบาทของทหารในการเมือง

และในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เปิดโอกาสให้การต่อสู้ของพรรคการเมืองขยายตัวมากขึ้น

การเมืองไทยส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย และเป็นความหวังอย่างมากว่าการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะ “ยั่งยืน” มากขึ้น

เพราะอย่างน้อยหลักประกันที่สำคัญคือ ผู้นำทหารมีบทเรียนที่เจ็บปวด

และพวกเขาน่าจะไม่กลับเข้ามาอีกแล้ว

การเมืองภาคพลเรือน

หลังการเปลี่ยนผ่านที่เกิดในปี 2535 แล้ว การเมืองไทยรวมศูนย์อยู่กับภาคพลเรือนมากกว่าจะเป็นเรื่องของผู้นำทหาร

ข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของผู้นำพลเรือนจากพรรคการเมือง และสัญญาณการลดอำนาจของฝ่ายทหารเริ่มเห็นได้ชัดอีกส่วนด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 ที่เป็นผลผลิตจากการร่างภายใต้อำนาจของคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจในต้นปี 2534

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ถูกร่างเพื่อเปิดช่องให้คณะรัฐประหารสามารถสืบทอดอำนาจได้ตามต้องการ ซึ่งดูจะกลายเป็นแนวทางของผู้นำทหารในยุคต่อมา ซึ่งหลังจากยึดอำนาจจนสามารถล้มล้างรัฐธรรมนูญเดิมได้สำเร็จแล้ว ก็จะต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตามมาด้วยการเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญนี้จะถูกออกแบบเพื่อเปิดช่องให้เกิด “การสืบทอดอำนาจ” ด้วยการที่นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทหารจะได้กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเลือกตั้งอีกครั้ง

ซึ่งว่าที่จริงแล้วผู้นำทหารไทยเล่นเกมการเมืองในลักษณะเช่นนี้มาโดยตลอด จนกลายเป็นดัง “สูตรสำเร็จ” ทางการเมืองในยุคหลังรัฐประหารว่า

ขั้นตอนแรกคือ การเป็นนายกรัฐมนตรีจากการยึดอำนาจ และขั้นตอนที่สองคือ นักรัฐประหารคนเดิมก็จะขอเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ก็ไม่ยอมพาตัวเองเข้าสู่การเลือกตั้ง

การร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ความต้องการของผู้นำทหารเป็นจริงได้ จึงต้องออกแบบให้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิด “ระบอบพันทาง” เพราะจะต้องไม่ปล่อยให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยสามารถขับเคลื่อนการเมืองไทยได้เต็มที่

และผู้นำทหารก็ฉลาดพอที่จะเรียนรู้ว่านักกฎหมายบางคนพร้อมที่จะรับบทบาทเป็น “มหาบุรุษแห่งความฉ้อฉล” ที่จะพลิกแพลงหลักกฎหมาย เพื่อให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเป็นการสร้างระบอบ “กึ่งอำนาจนิยม” ที่ทำให้การสืบทอดอำนาจของนักรัฐประหารมีความชอบธรรม ภายใต้เสื้อคลุมของการเลือกตั้ง

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญภายใต้อำนาจของคณะรัฐประหารนั้น ทำให้เห็นชัดเจนว่า “นักร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ผู้นำทหารใช้หลังการรัฐประหาร ไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะที่เป็น “นักกฎหมายรัฐธรรมนูญ”

หากแต่พวกเขาแสดงบทเป็น “ข้ารับใช้ผู้ซื่อสัตย์” ของผู้นำกองทัพ ที่ยอมทำตามความต้องการของนักรัฐประหารเหล่านี้โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความถูกต้องและหลักการทางกฎหมาย

รัฐธรรมนูญจึงถูกออกแบบด้วยข้อกำหนดที่คาดเดาได้ไม่ยากว่า จะมีหนึ่งมาตราที่ระบุว่า “นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” อันเป็นการเปิดช่องให้เกิดการสืบทอดอำนาจด้วย “นายกฯ คนกลาง”

และรู้กันว่านายกฯ คนกลางจะต้องมาจากผู้นำทหาร

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญปี 2534 ยังพยายามที่จะลดอำนาจของตัวแทนประชาชนด้วยการกำหนดให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานสภา รวมถึงการขยายอำนาจของวุฒิสภาในการเปิดอภิปรายทั่วไปอีกด้วย

แต่เมื่อกองทัพต้องออกจากการเมืองในปี 2535 แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ถูกแก้ไขอย่างรวดเร็วตามการเรียกร้องของประชาชนบนถนน

และรัฐบาลใหม่ของนายอานันท์ ปันยารชุน ที่เข้ามาจัดระเบียบการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีระยะเวลาอยู่ในอำนาจเพียง 20 วัน (10-30 มิถุนายน 2535) แตกต่างกับรัฐบาลทหารอย่างเห็นได้ชัด ที่มักจะมีข้ออ้างในการอยู่ยาว

ในที่สุดการเลือกตั้งกลับอีกครั้งในวันที่ 13 กันยายน 2535 จึงเท่ากับในปีนี้ มีการเลือกตั้งทั่วไปถึงสองครั้ง (ครั้งแรก 22 มีนาคม 2535) ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ “พรรคทหาร” ที่ผู้นำรัฐประหารร่วมมือกับนักการเมืองพลเรือนบางส่วนสร้างขึ้นคือ “พรรคสามัคคีธรรม” ได้สลายตัวไป และพรรคการเมืองในปีกต่างๆ ได้เปิดตัวมากขึ้น และเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่เห็นถึงการแข่งขันของพรรคการเมืองอย่างเต็มที่

เช่นเดียวกับที่เห็นถึงการเติบโตของภาคประชาสังคม (civil society) จากการขยายบทบาทของขบวนการทางสังคมที่เป็นกลุ่มพัฒนาสังคม (กลุ่มเอ็นจีโอ) ที่ดำเนินการในเรื่องต่างๆ

การเมืองที่ทหารไม่เป็นใหญ่

สังคมการเมืองไทยหลังปี 2535 จึงเป็นดังทฤษฎีของการสร้างประชาธิปไตย ดังจะเห็นได้จากทิศทางหลัก 3 ประการ ได้แก่ กองทัพลดบทบาททางการเมืองลง พร้อมกับการแข่งขันของพรรคการเมืองในระบบเปิดมีมากขึ้น เช่นเดียวกับที่ภาคประชาสังคมเติบโตมากขึ้นด้วย

แน่นอนว่าองค์ประกอบสังเขปสามประการเช่นนี้ทำให้นักประชาธิปไตยอดที่จะ “ฝันหวาน” กับความสําเร็จของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในขณะนั้นไม่ได้ หรืออย่างน้อยก็เชื่อว่า บาดแผลจากปี 2535 จะทำให้ผู้นำทหารไม่คิดหวนคืนสู่การรัฐประหาร

และบางคนฝันแม้กระทั่งว่า รัฐประหาร 2434 จะเป็นการยึดอำนาจครั้งสุดท้ายในการเมืองไทยแล้ว!

ยิ่งมองออกไปนอกบ้าน ความฝันของนักประชาธิปไตยไทยก็ดูจะสอดรับกับ “กระแสโลกาภิวัตน์” เป็นอย่างยิ่ง กระแสนี้มาพร้อมกับการล่มสลายของระบอบอำนาจนิยมที่ใหญ่ที่สุดชุดหนึ่งของโลกคือ ระบอบการปกครองแบบพรรคเดียวของโลกสังคมนิยม

ดังการล้มลงของระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกและในสหภาพโซเวียตรัสเซีย ที่เป็นผลจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นในเวทีโลก ขณะที่ระบอบอำนาจนิยมชุดเก่าของรัฐบาลทหารได้ล่มสลายไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยมีสัญญาณจาก “การล้มละลายทางการเมือง” ของรัฐบาลทหารในละตินอเมริกาในช่วงทศวรรษของปี 2523

จนอาจกล่าวได้ว่า “กระแสประชาธิปไตย” ก็คือโลกาภิวัตน์ในทางการเมืองนั่นเอง… ระบอบคอมมิวนิสต์ที่เข้มแข็งด้วยอำนาจรวมศูนย์ยังถึงจุดจบ และพ่ายแพ้แก่กระแสประชาธิปไตย

หากมองการขับเคลื่อนจากปัจจัยภายนอกแล้ว ระบอบอำนาจนิยมของรัฐบาลทหารไทยในอนาคตไม่มีพลังพอที่จะต้านทานการเข้ามาของกระแสโลกได้เลย

ซึ่งในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์แล้ว การเปลี่ยนผ่านในการเมืองไทยคือ การตอกย้ำ “คลื่นประชาธิปไตยลูกที่สาม” (Democracy”s Third Wave) ของแซมมวล ฮันติงตัน นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่กล่าวว่า โลกกำลังเห็นถึง “การปฏิวัติประชาธิปไตยของโลก” (global democratic revolution)

และกระแสนี้กำลังเดินหน้าไปทั่วทุกมุมโลกอย่างไม่อาจหยุดยั้งได้… คลื่นประชาธิปไตยไหลบ่าโถมทับการพังทลายของระบอบอำนาจนิยมทุกหนแห่งในเวทีโลก

จนสุดท้ายแล้วปราการของระบบพรรคเดียวของโลกสังคมนิยมเหลืออยู่เพียงใน 5 ประเทศ คือ จีน เกาหลีเหนือ เวียดนาม ลาว และคิวบา…

โลกสังคมนิยมที่เคยเกรียงไกรในการท้าทายต่อโลกทุนนิยมตะวันตกล่มสลายไป

ถ้าเช่นนี้แล้วข้อสรุปที่เป็นความฝันแบบง่ายๆ ก็คือ ไม่มีทางที่ระบอบอำนาจนิยมไทยจะฟื้นตัวขึ้นมาอีกได้เลย

ประกอบกับการเมืองของภาคพลเรือนก็เคลื่อนตัวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง การเมืองของผู้นำทหารกลายเป็นเรื่องในอดีตที่ถูกทิ้งไว้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งไม่มีใครตอบได้ว่า ความฝันนี้จะอยู่กับเราอีกนานเพียงใด

แต่อย่างน้อยสังคมไทยในช่วงเวลาดังกล่าวกำลังก้าวสู่การเป็น “การเมืองที่ทหารไม่เป็นใหญ่” แบบเก่า

แม้การเมืองไทยจะมีข้อครหาและอื้อฉาวในหลายเรื่อง มีปัญหาการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ แต่การเมืองในภาคพลเรือนก็เดินไปข้างหน้า จากการเลือกตั้งในเดือนกันยายน 2535 (มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ) ตามมาด้วยการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2538 (มีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกฯ) และต่อมาด้วยการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2539 (มี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกฯ)

การเลือกตั้งได้กลายเป็นบรรทัดฐานของการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง การได้อำนาจแบบเก่าของพวกอำนาจนิยมด้วยการรัฐประหารได้ลดความเป็นไปได้ลง

จนดูราวกับว่าระยะเปลี่ยนผ่านไทยกำลังก้าวสู่ระยะของ “การสร้างความแข็งแรงของประชาธิปไตย” (democratic consolidation) ที่ทุกฝ่ายยอมรับว่า อำนาจได้มาด้วยกระบวนการประชาธิปไตย… มาด้วย “รถหาเสียง” ไม่ใช่ “รถถัง”

บรรทัดฐานเช่นนี้ยังเห็นได้จากเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคม 2540 (วิกฤตค่าเงินบาท) แต่ก็ไม่เป็นเงื่อนไขให้ระบอบอำนาจนิยมฟื้นตัวขึ้นมาได้แต่อย่างใด หรือไม่กลายเป็นโอกาสให้ผู้นำทหารใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อาจเป็นเพราะวิกฤตนี้ใหญ่เกินกว่าที่ผู้นำทหารจะกล้าเข้ามาแบกรับ

และทหารไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์เพียงพอจะแก้วิกฤตเศรษฐกิจมหภาคเช่นนี้ได้เลย

ปัญหานี้เป็นหนึ่งในวิกฤตทุนนิยมของโลกในยุคโลกาภิวัตน์

และถูกเรียกตามชื่ออาหารไทยที่มีชื่อเสียงว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง”

วิถีการเมืองใหม่

วิกฤตเศรษฐกิจนี้นำไปสู่การประท้วงใหญ่ต่อต้านรัฐบาลในเดือนตุลาคม 2540 และกลายเป็นแรงกดดันต่อรัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อย่างมาก

จนในที่สุด พล.อ.ชวลิตตัดสินใจยอมลาออก และเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สองที่ลาออกจากตำแหน่งในการเมืองไทยสมัยใหม่ ต่อจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จนเกิดความหวังในทางทฤษฎีถึงการสร้างความแข็งแรงของระบอบประชาธิปไตย ที่การเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาลไม่จำเป็นต้องอาศัยการรัฐประหารเป็นเครื่องมือ การเปลี่ยนอำนาจเกิดด้วยกระบวนการในรัฐสภา และเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเมืองของประเทศ มากกว่าต้องใช้การขับเคลื่อนด้วย “รถถัง”

นอกจากนี้ ในอีกด้านที่เป็นความฝันใหญ่ของฝ่ายประชาธิปไตยก็คือ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่จากตัวแทนของประชาชนจำนวน 99 คน ที่เป็นความหวังว่าจะทำให้เกิด “การปฏิรูปการเมือง”… รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ประกาศใช้ในเดือนตุลาคม จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” และเป็นความหวังอย่างสำคัญว่า กระบวนการสร้างความแข็งแรงของประชาธิปไตยไทยได้เกิดขึ้นจริงๆ แล้ว

และไทยจะเป็นหนึ่งในตัวแบบของกระแสปฏิวัติประชาธิปไตยในเวทีโลก!