จดหมาย / ฉบับประจำวันที่ 20-26 พฤศจิกายน 2563

จดหมาย

0 กังวาน? (1)

เรียน บ.ก.มติชนสุดสัปดาห์
1) การที่ ส.ส. และ ส.ว.หลายคนพูดในสภาว่าการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรรับฟังความเห็นของประชาชนเสียก่อน
คราวที่แล้วใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท
เขาทำดังนี้
ตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ทำทีว่ารับฟังความคิดเห็นของประชาชน
แต่ปรากฏว่า พวกกรรมการพากันพูดเสียเอง
แต่ละคนก็พูดกันยาวๆ จนเหลืออีก 5 นาที จึงถามประชาชน และให้แสดงความเห็น
ถ้ามี 5 คน ก็ได้พูดคนละ 1 นาทีเท่านั้นเอง
ผมไปดูมาแล้วหลายเวที ทำแบบนี้เหมือนกันหมด
แสดงว่ามีการทำพอเป็นพิธี เพื่อจะเอามาเป็นข้ออ้างว่า ได้รับฟังเสียงประชาชนมาแล้ว
คราวนี้ถ้ามีอีกก็คงจะทำแบบเดิม
2) การที่มีคนเสนอว่า การลงประชามติ กับการเลือกตั้ง อบจ.ควรทำพร้อมกัน เพื่อประหยัดงบประมาณ
ซึ่งมีการชี้แจงทางทีวีว่าการกาบัตรหลายใบกลัวประชาชนจะสับสน
แหมเห็นประชาชนโง่เขลาเกินไปเสียแล้ว
อนึ่ง หากมีประชาชนบางส่วนกาบัตรสับสนกลายเป็นบัตรเสีย
ถือว่าเป็นการดี เพราะได้กลั่นกรองพวกที่ไม่อีโหน่อีเหน่ออกไปแล้ว
ขอแสดงความนับถือ
ไกร กังวาล

หวังว่า ข้อเสนอของไกร กังวาล
จะ “กังวาน” ไปถึงผู้มีส่วนรับผิดชอบ
อย่างเรื่องการทำประชามติ
ที่ควรเป็น “ประชา” มติ จริงๆ
และที่ว่า เขาเห็นประชาชนโง่เขลาเกินไป
นั้นท่าจะจริง
อย่างการเลือกตั้ง แทนที่จะหาทางส่งเสริมให้คนไปใช้สิทธิมากที่สุด สะดวกที่สุด
กลับเป็นการออกกฎเหล็ก ห้ามโน่นห้ามนี่ยุบยิบไปหมด
แล้วต้องมานั่งตีความกันอีกว่า ที่ห้ามน่ะหมายถึงอะไรอีก–เฮ้อ

0 กังวาน? (2)

ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา
ประชาชนได้ออกมาแสดงพลังบนท้องถนนเพื่อสะท้อนความไม่พอใจต่อระบบระเบียบทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นโดยบรรดาขุนศึกศักดินา
เพื่อยุติความขัดแย้งและนำพาสังคมไทยไปข้างหน้า
เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ หรือ Constitution Advocacy Alliance-CALL และเครือข่าย People GO
มีมติเห็นพ้องต้องกัน
ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมี “รัฐธรรมนูญประชาราษฎร์” หรือ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”
เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
และมีหลักประกันว่าผู้ใช้อำนาจรัฐจะทำงานตอบสนองและรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์และความผาสุกของประชาชน
ภาคประชาชนจึงเห็นว่า รัฐสภาต้องมีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยุติการสืบทอดอำนาจด้วยการรื้อถอนองคาพยพทั้งหมดของ คสช.
เช่น ช่องทางนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
วุฒิสภาที่มาจากการสรรหาและคัดเลือกโดย คสช. หรือองค์กรอิสระที่ยึดโยงกับ คสช.
รวมถึงยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศที่ คสช.เป็นผู้กำหนด
นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้กลไก ส.ส.ร. เป็นเพียงพิธีกรรมรักษาอำนาจของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ภาคประชาชนจึงมีข้อเรียกร้องว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องมีหลักการดังนี้
1) สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องประกอบด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
2) สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมีอำนาจในการร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกหมวดทุกมาตราให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักประชาธิปไตย
3) สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงและมีช่องทางในการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ รวมถึงต้องมีความโปร่งใสตรวจสอบได้
เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (Constitution Advocacy Alliance-CALL)
เครือข่าย People GO
เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ
เครือข่ายสลัม 4 ภาค
กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)
กลุ่มคณะจุฬาฯ
กลุ่มเกษตรพอใจธรรม
กลุ่ม Allism (Alliance for Inclusive Society Movement)
กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
We Watch, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
iLaw

คงรู้แล้วล่ะว่า
ข้อเรียกร้องจากประชาชน
“กังวาน” แค่ไหน
จงอดทน-สู้ต่อไป