เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | หนึ่งร้อยยี่สิบปีครูมนตรี ตราโมท

มูลนิธิมนตรี ตราโมท ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้จัดงานร่วมรำลึกและเชิดชูครูมนตรี ตราโมท เนื่องในวาระบรรลุครบ 120 ปี แห่งชาตกาลของท่าน

งานนี้จัดที่โรงละครแห่งชาติ วังหน้า เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า เมื่อวันเสาร์ที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา

องค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จไปทรงเป็นประธาน ประทับทอดพระเนตรสดับฟังดนตรีพร้อมการแสดงประกอบจากศิลปินนักดนตรีทั้งมืออาชีพและนักเรียน-นักศึกษาหลากสำนัก หลายสถาบัน

อลังการตระการตาใจนัก

ทุกรายการทั้งหมดล้วนเป็นผลงานของครูมนตรี ตราโมท ทั้งสิ้น

ครูมนตรี ตราโมท นอกจากได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติรุ่นแรกแล้ว ยังได้รับยกย่องเป็นปรมาจารย์ดุริยางคศิลป์แห่งแผ่นดินสยามอีกด้วย

ท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ 17 มิถุนายน พ.ศ.2443 แผ่นดินรัชกาลที่ 5 ถึงแก่กรรมเมื่อวันอาทิตย์ 6 สิงหาคม พ.ศ.2538 สิริรวมอายุ 95 ปี 1 เดือน 19 วัน

เป็นศิลปินห้าแผ่นดินโดยแท้

ศิลปินแห่งชาติรุ่นแรกมีสี่ท่าน สี่สาขา คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สาขาวรรณศิลป์ อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ สาขาจิตรกรรม ม.ล.แผ้ว สนิทวงศ์เสนี สาขานาฏศิลป์ และครูมนตรี ตราโมท สาขาคีตศิลป์

ครูมนตรีกับอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ นั้นนอกจากนามสกุลจะคล้ายกันคือ ปราโมช กับตราโมท แล้วยังมีอะไรคล้ายกันอีกหลายอย่าง

เช่น ทั้งสองท่านเกิดในเรือนแพ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั้นเกิดที่สิงห์บุรี ส่วนครูมนตรีเกิดที่เรือนแพสุพรรณ

บิดาของทั้งสองท่านยังทำงานใกล้ชิดกันด้วย คือ พลโทพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ พระบิดาของอาจารย์คึกฤทธิ์มีตำแหน่งอธิบดีตำรวจ นายยิ้ม บิดาของครูมนตรีเป็นตำรวจคุมเครื่องเรือกลไฟของกรมตำรวจ ชื่อเรือพิษณุแสน ซึ่งท่านอธิบดีตำรวจออกตรวจราชการทางเรือพิษณุแสนเป็นประจำ ทั้งสองท่านจึงผูกพันใกล้ชิดกันมาก

โดยเฉพาะท่านอธิบดีกรมตำรวจพระบิดาของอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ประทานนามสกุลให้บิดาครูมนตรีด้วยนามสกุล “ตราโมท” ซึ่งมีสำเนียงล้อกับนามสกุล “ปราโมช” ของพระองค์ท่านด้วย

ส่วนชื่อเดิมของครูมนตรีคือ “บุญธรรม” มารดาของครูมนตรีชื่อนาง “ทองอยู่”

ประวัติชีวิตของครูมนตรี คือวิถีของดนตรีไทยยุครุ่งเรืองเฟื่องฟูตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 ด้วยจากเด็กเรือนแพแม่น้ำสุพรรณ (ท่าจีน) หน้าวัดสุวรรณภูมิ (วัดใหม่หรือวัดกลาง) ซึ่งแม่ทองอยู่เป็นหลานของเจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัด เด็กชาย “บุญธรรม” หรือครูมนตรีจึงได้รับอุปการะช่วยเหลือด้านการศึกษาตลอดมา ครูมนตรีเก่งคณิตศาสตร์สอบได้ที่ 1 ตลอด

พิเศษคือ ครูมนตรีชอบแต่งโคลงมาแต่ยังเป็นเด็กชายบุญธรรม เรียนจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 อันเป็นชั้นสูงสุดของจังหวัด ต่อมามีโอกาสได้เรียน จบ ม.6 ที่กรุงเทพฯ

วัดสุวรรณภูมินั้นเป็นแหล่งดนตรีไทย ท่านเจ้าอาวาสเองมีฝีมือทางช่างมาแต่เดิม ชำนาญสร้างเครื่องดนตรีไทยและมีวงปี่พาทย์ของวัด มีชื่อไปทั้งจังหวัด

เด็กชายบุญธรรมจึงได้รับการหล่อหลอมทางดนตรีจากทั้งเสียงและเข้าร่วมวงตีกรับตีฉาบมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เป็นเด็กวงปี่พาทย์สุวรรณภูมิจนร่วมวงร่วมงานเป็นประจำ เช่น ตีฆ็องวงเล็ก ตีระนาดทุ้มเหล็กได้ทั้งที่ยังไม่ได้หัดเป็นทางเป็นการเลย

จนอายุ 13 ปี เด็กชายบุญธรรมก็จากบ้านออกเผชิญโลกดนตรีไทย นับแต่มารดาเสียชีวิต ถวายบ้านและทรัพย์สินแก่วัดสุวรรณภูมิ ซึ่งปัจจุบันเครื่องถ้วยชามของนางทองอยู่ได้จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัดสุวรรณภูมิ

ก่อนหน้านั้นแม่ทองอยู่มีอาชีพทางเรือขายพืชผักจากอัมพวาไป-มาสุพรรรณฯ ประจำ พาลูกชาย “บุญธรรม” มาฝากครูสมบุญ สมสุวรรณ ครูดนตรีไทยที่อัมพวา

ด้วยฝีมือความสามารถ ความรักในดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ และความมีวินัยของครูมนตรีนี่เองที่ลิขิตชีวิตให้ท่องไปในวิถีอันรุ่งโรจน์แห่งยุคสมัย เป็นทั้งนักดนตรีประจำวังต่างๆ จนถึงวังหลวงในรัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลที่ 7 ซึ่งทำให้มีประสบการณ์ทั้งเล่นดนตรีประกอบการแสดงละครและประพันธ์เพลง

โดยเฉพาะในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงโปรดดนตรีไทยมากกระทั่งทรงแต่งเพลงไว้ถึงสามเพลงคือ ราตรีประดับดาว เขมรลออองค์ และโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง ซึ่งสะท้อนยุคสมัยช่วงเก่า-ใหม่ของวิถีเพลงและดนตรีไทยอย่างน่าศึกษายิ่ง

ครูมนตรียังเป็นศิษย์ครูดนตรีขั้นปรมาจารย์หลายครูหลายสำนัก เช่น พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และแทบทุกครูทุกวงทุกวัง กระทั่งนักดนตรีเอกยุคนั้นจะมีครูมนตรีร่วมวงอยู่ด้วยเสมอ

พัฒนาการดนตรีไทยตลอดห้าแผ่นดินจนถึงปัจจุบันที่มีกรมศิลปากรดูแลรักษาอยู่นี้ ล้วนมีครูมนตรี ตราโมท เป็นครูผู้ร่วมรังสรรค์มาแต่ต้น

ครูเป็นตำนานของดนตรีไทย ที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งในโลก

ครูเป็นครูของดนตรีที่เป็นอมตะ

ครูต่อชีวิตให้ดนตรีไทยมีชีวิตชีวา

แม้จนวันนี้