เฟมินิสต์อาร์ตตัวแม่ ผู้ขับเคลื่อนสังคมด้วยศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เล่าเรื่องนิทรรศการศิลปะติดกันมาหลายตอน ตอนนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศด้วยการหยิบเอาเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญอีกคนมาเล่าให้ฟังกันบ้าง

คราวนี้เป็นคิวของศิลปินเฟมินิสต์อาร์ตตัวแม่อีกคนของโลกศิลปะ

ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า มาร์ธา รอสเลอร์ (Martha Rosler)

ศิลปินอเมริกัน ผู้ทำงานภาพถ่าย, คอลลาจ (ปะติด), วิดีโอ, ศิลปะจัดวาง, ประติมากรรม, ศิลปะแสดงสด ไปจนถึงการใช้ข้อความในงานศิลปะ

ผลงานของเธอมุ่งเน้นในการสำรวจประเด็นเกี่ยวกับวิถีชีวิตประจำวันและพื้นที่สาธารณะ ตลอดจนสำรวจพื้นที่ทางสถาปัตยกรรม สภาพแวดล้อมของเมือง บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย สภาวะการเร่ร่อนของผู้คน ไปจนถึงระบบการสื่อสารและคมนาคม

โดยเฉพาะประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อประสบการณ์ของเพศหญิง

รอสเลอร์เป็นศิลปินคนสำคัญที่ส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อพัฒนาการของโลกศิลปะร่วมสมัย จากความสามารถในการตีแผ่ให้เห็นถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้เปลือกนอกและพันธนาการของสังคม ทั้งสิ่งที่เรามองไม่เห็นหรือเพิกเฉยไป

เธอยังเป็นศิลปินที่มีบทบาทอย่างมากต่อกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบสตรีนิยม (Feminist art) ในช่วงปี 1970 ด้วยการสำรวจประเด็นเกี่ยวกับการถูกกดขี่ข่มเหงและความอยุติธรรมที่มีต่อเพศหญิง

และศิลปินในกระแสเคลื่อนไหวป๊อปอาร์ต ที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของสื่อสารมวลชนที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคในวิถีชีวิตของผู้คน

House Beautiful: Bringing the War Home (1967-1972), ภาพจากhttps://bit.ly/363HQ8r

รวมถึงมุ่งมั่นในการเปิดโปงการปกปิดข้อเท็จจริงอันเลวร้ายในสังคมด้วยความบันเทิงชวนฝันของสื่อต่างๆ อย่างรายการโทรทัศน์ เรียลลิตี้ และโฆษณาชวนเชื่อ/ชวนซื้อต่างๆ

ผลงานของรอสเลอร์มักจะนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง เช่น สงคราม หรือความอยุติธรรมในสังคม และถ่ายทอดออกมาในแง่มุมที่ท้าทาย ด้วยการดึงเอาประเด็นเหล่านั้นให้เข้ามาใกล้วิถีชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น

ยกตัวอย่าง เช่น การตัดต่อหรือคอลลาจภาพจากสงครามเข้ากับภาพแคตตาล็อกโฆษณาสินค้าในบ้านอันเก๋ไก๋ อบอุ่นชวนฝัน เพื่อย้ำเตือนให้ผู้ชมหันไปสนใจต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่ถึงแม้จะไม่ได้เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมใกล้ๆ ตัว และกระตุ้นให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทของสื่อที่ควบคุมการรับรู้ของผู้คนต่อเหตุการณ์ในโลกใบนี้

รอสเลอร์เป็นศิลปินหัวหอกของกระแสศิลปะแบบสตรีนิยมในยุค 1970 ด้วยความที่ผลงานของเธอเปิดเผยให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางเพศ และความรู้สึกของผู้หญิงที่ต้องถูกจำกัดบทบาทภายใต้กรอบของสังคมอย่างการแต่งงาน ความเป็นแม่คนและแม่บ้าน หรือแม้แต่การถูกจำกัดบทบาทและพื้นที่ภายในบ้านให้อยู่แต่ในห้องครัว

เธอยังนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ (ในยุคนั้น) อย่างวิดีโอมาใช้ทำงานศิลปะ เพื่อขับเน้นความแตกต่างจากศิลปินเพศชายที่มักจะภาคภูมิใจในการใช้สื่อแบบประเพณีที่มีมาแต่ดั้งเดิม

Semiotics of the Kitchen (1974/75), ภาพจากhttps://bit.ly/362x0Q

ผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของเธอคือ Semiotics of the Kitchen (สัญศาสตร์ของห้องครัว) (1974/1975) ที่เป็นการบุกเบิกศิลปะวิดีโออาร์ตในงานศิลปะแบบสตรีนิยม วิดีโอความยาวหกนาทีกว่า แสดงภาพรอสเลอร์กำลังสวมบทบาทล้อเลียนรายการทำอาหารทางโทรทัศน์ชื่อดังของยุค 1960 และ 1970 อย่าง The French Chef ของจูเลีย ไชลด์ (Julia Child)

แต่แทนที่จะสาธิตการทำอาหารหรือนำเสนอสูตรอาหารตามปกติ รอสเลอร์กลับส่งเสียงขานชื่อระบุอุปกรณ์ครัวตามตัวอักษร อย่าง a) apron (ผ้ากันเปื้อน), b) bowl (ชาม), c) chopper (เครื่องหั่น) ฯลฯ

ดูเผินๆ อาจดูเหมือนเธอกำลังสาธิตการใช้งานอุปกรณ์ครัวอย่างง่ายๆ

แต่การแสดงท่าทางใช้งานอุปกรณ์ครัวเหล่านี้ด้วยท่วงทีขึงขัง ดุดัน น้ำเสียงกระด้างเย็นชา ใบหน้าไร้อารมณ์ ความรุนแรงที่แฝงอยู่ในท่วงท่าการสาธิตอุปกรณ์ครัวของรอสเลอร์ ไม่ว่าจะเป็นการกระแทกกระทั้นเครื่องหั่นลงในชาม, ทิ่มที่เจาะน้ำแข็งลงโต๊ะ, เขย่าขวดและกระทะ, จ้วงแทง/ปาดเฉือนส้อมกับมีดในอากาศ ราวกับจะแสดงออกถึงความโกรธเกรี้ยวและความไม่พอใจออกมา

ซึ่งขัดแย้งกับค่านิยมและภาพลักษณ์ของแม่บ้านอเมริกันในสื่อต่างๆ ที่มักจะยิ้มแย้มมีความสุขกับการทำงานบ้านงานครัวเสมอ

ผลงานวิดีโอชิ้นนี้ของรอสเลอร์ชวนตั้งคำถามว่า ผู้หญิงก็อาจจะไม่พอใจกับบทบาทที่ได้รับมอบหมายในฐานะแม่บ้านเสมอไป

และแสดงออกถึงความบีบคั้นกดดันที่ซ่อนอยู่ภายใต้เปลือกนอกของแม่บ้านแสนสุข เมื่อนั้นอุปกรณ์ครัวเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรกับเครื่องมือที่กำลังกดขี่ผู้หญิงอยู่

House Beautiful: Bringing the War Home, New Series (2004-2008), ภาพจากhttps://bit.ly/2TQstuy

รอสเลอร์ใช้ร่างกายของเธอและอุปกรณ์ครัวเหล่านี้เป็นเสมือนการส่งสัญญาณท้าทายค่านิยมและความคาดหวังของสังคมที่มองเพศหญิงเป็นเพียงแรงงานผู้ผลิตอาหาร ผ่านผลงานศิลปะที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขันอันมืดหม่นและตลกร้ายชิ้นนี้

เธอกล่าวว่า เธอต้องการสวมบทบาทผู้ต่อต้านการเป็นตัวแทนของแม่บ้านในอุดมคติของสังคมอเมริกันในแบบจูเลีย ไชลด์ และต้องการแทนที่ความหมายของอุปกรณ์ในครัวเรือนที่กดทับผู้หญิงอยู่ด้วยถ้อยคำและภาษาร่างกายที่แสดงถึงความโกรธและความไม่พอใจออกมา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีโอกาสได้พูดด้วยสุ้มเสียงของตัวเอง

(ดูวิดีโอได้ที่นี่ https://bit.ly/34SKD4Z)

หรือ The East is Red, The West is Bending (ตะวันออกแดง, ตะวันตกดัด) (1977) ผลงานวิดีโออาร์ตที่ล้อเลียนรายการทำอาหารทางโทรทัศน์เหมือนกัน

The East is Red, The West is Bending (1977), ภาพจากhttps://mo.ma/3jTOKCc

แต่ในครั้งนี้รอสเลอร์แสดงการพบกันระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก ด้วยการอ่านคู่มือแนะนำการใช้กระทะไฟฟ้ายี่ห้อ West Bend อย่างไร้อารมณ์

เธอแสดงความเห็นในเชิงเสียดสีเกี่ยวกับความลึกลับจากวัฒนธรรมตะวันออกที่ถูก “พัฒนา” และ “ดัดแปลง” โดยเทคโนโลยีตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าแทนเตาถ่าน หรือผิวกระทะแบบ non stick ไปจนถึงการเคลือบกระทะด้วยสีแดง ที่เชื่อมโยงถึงประเทศจีนกับภาพจำอันน่าหวาดกลัวของลัทธิเหมาและพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ในวิดีโอเธอยังชูหนังสือปกแดงของเหมาเจ๋อตง แล้วถามผู้ชมว่า “จำหมอนี่ได้ไหม?”)

ผลงานชิ้นนี้ของรอสเลอร์เสียดเย้ยการสร้างอาณานิคมและการครอบงำวัฒนธรรมตะวันออกและวัฒนธรรมอื่นๆ ของชาวตะวันตก ที่อยากลิ้มลองความแปลกแตกต่างจากวัฒนธรรมอื่นๆ แต่ก็ไม่วายที่จะสอดใส่ความสะดวกสบายและคุ้นชินของตัวเองเข้าไปอยู่ดี

และผลงานของรอสเลอร์ชุดนี้นี่เองที่ส่งอิทธิพลทางความคิดให้กับศิลปินไทยอย่างฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ในผลงาน “ผัดไทย” หรือ Untitled (Free) (1992/1995/2007/2011) อันเลื่องชื่อของเขา

โดยฤกษ์ฤทธิ์เลือกใช้กระทะไฟฟ้ายี่ห้อ West Bend ซึ่งเป็นยี่ห้อเดียวกับที่เคยถูกใช้ในงาน The East is Red, The West is Bending มาทำผัดไทยให้ผู้ชมกินในหอศิลป์ เพื่อเป็นการแสดงคารวะและอ้างอิงไปถึงงานของรอสเลอร์นั่นเอง

(ดูวิดีโอได้ที่นี่ https://bit.ly/34TT6oN)

นอกจากบทบาทศิลปิน รอสเลอร์ยังเป็นที่รู้จักจากงานเขียนและทฤษฎีทางศิลปะ/วัฒนธรรมมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานเขียนเกี่ยวกับบทบาทของภาพถ่ายในงานศิลปะ รวมถึงความสนใจเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ ความเรียงเกี่ยวกับการถ่ายภาพเชิงสารคดีของเธอถูกตีพิมพ์ซ้ำจำนวนมากและได้รับการแปลอย่างกว้างขวางในหลายภาษา

เธอยังมีอีกบทบาทในฐานะนักเคลื่อนไหวด้วยการทำงานศิลปะ ทั้งในด้านสังคมและการเมือง ตั้งแต่เรื่องของสิทธิมนุษยชน, การต่อต้านสงคราม, สิทธิสตรี และปัญหาของคนเร่ร่อน ผลงานของเธอบางชุดได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ว่ามีส่วนช่วยการบรรเทาปัญหาของคนเร่ร่อนในสหรัฐอเมริกาไม่มากก็น้อย

เธอกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างการทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมในฐานะศิลปิน กับการเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองว่า

“การเป็นนักเคลื่อนไหวคุณอาจต้องทำงานอย่างเข้มข้นกับชุมชน ประเด็นและผลลัพธ์ที่เฉพาะเจาะจง… แต่ฉันเป็นศิลปิน ฉันทำงานศิลปะ และยังทำงานสอนเต็มเวลา การเคลื่อนไหวเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา จริงอยู่ ที่ฉันทำงานร่วมกับนักเคลื่อนไหวในโครงการต่างๆ แต่ความเป็นจริงก็คือ ไม่มีนักเคลื่อนไหวคนไหนคาดหวังว่าจะแก้ไขปัญหาสังคมการเมืองด้วยการจัดนิทรรศการศิลปะสักนิทรรศการ หรือการรณรงค์ทางการเมืองแค่ครั้งสองครั้ง และแน่นอนว่าปัญหาเหล่านั้นไม่สามารถแก้ได้ภายในเวลาหกเดือนแน่ๆ”

ปัจจุบัน มาร์ธา รอสเลอร์ อาศัยและทำงานอยู่ในบรุกลิน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ข้อมูล http://www.martharosler.net/, https://bit.ly/3jV6Q6P, https://bit.ly/34Vumw8, https://bit.ly/34TT6oN