ธงทอง จันทรางศุ | “หลง” ในทุ่งลาเวนเดอร์

ธงทอง จันทรางศุ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว…

การรับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะของผมในวัยเด็กมีข้อจำกัดด้วยวิธีการมากครับ

ยุคสมัยที่ผมเป็นนักเรียนชั้นประถมนั้นโทรทัศน์มีเพียงแค่สองช่อง คือ ช่องสี่บางขุนพรหม กับช่องเจ็ดสนามเป้า

ทั้งสองช่องไม่ได้ออกอากาศ 24 ชั่วโมงเสียด้วย มีการเปิดและปิดเป็นเวลา

ขณะที่วิทยุมีหลายสถานีมากกว่า เวลาปิดภาคเรียนฤดูร้อนอยู่กับบ้าน สถานีโทรทัศน์จัดให้มีการออกอากาศช่วงเวลาพิเศษสำหรับเด็กนักเรียนได้ดูรายการประเภทหนังการ์ตูนเพิ่มขึ้นในตอนกลางวันนิดหน่อย

แต่ถึงกระนั้นผมก็ต้องอาศัยการฟังวิทยุเป็นความบันเทิงเสริมในช่วงเวลาที่ไม่มีรายการทีวี

ยังจำได้ว่าละครวิทยุเรื่อง “เงา” สนุกมาก ติดกันงอมแงมเลยทีเดียวครับ

นอกจากนั้น ก็มีหนังสือพิมพ์กับนิตยสารต่างๆ อีกหลายฉบับ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังตีคู่กันมาช้านานคือไทยรัฐกับเดลินิวส์

แต่ถ้าเป็นคนที่ชอบอ่านบทความอย่างผมก็ต้องเลือกอ่านสยามรัฐ เพราะมีนักเขียนคนดังอยู่หลายราย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณชายคึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งท่านเขียนหนังสือมาตั้งแต่ก่อนผมเกิดช้านานแล้ว

ยุคนั้นโทรศัพท์มือถือยังไม่มีครับ มีแต่โทรศัพท์บ้านซึ่งราคาแพงขาดใจ

ใครอยากติดตั้งโทรศัพท์ต้องไปซื้อพันธบัตรกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยด้วยเงินจำนวนหลายหมื่นบาท

ด้วยเหตุนี้กว่าบ้านผมจะมีโทรศัพท์ได้จึงใช้เวลาพอสมควร ดูเหมือนผมอยู่ชั้นมัธยมแล้วด้วยซ้ำไป

วันแรกที่โทรศัพท์ไปบอกเพื่อนว่าบ้านเรามีโทรศัพท์แล้ว หัวอกมันพองโตด้วยความภาคภูมิใจชอบกล

ว่าโดยรวมแล้วการสื่อสารหรือรับข้อมูลเข้ามาสู่สมองของผมจึงเป็นการสื่อสารข้างเดียวเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีเวทีที่ผมจะแสดงความคิดเห็นหรือแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับผู้คนไม่ว่าจะเป็นในวงกว้างหรือวงแคบได้โดยสะดวกเหมือนอย่างยุคสมัยนี้

ไม่ต้องดูอื่นไกล โทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ของเราไปแล้ว แถมโทรศัพท์ยังไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่เครื่องมือในการพูดจาพูดคุยกันเท่านั้น หากแต่โทรศัพท์ได้นำโลกทั้งใบเข้ามาอยู่ต่อหน้าเรา และนำเราไปปรากฏร่างอยู่ในโลกภายนอกด้วย

ช่องทางในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารกับคนอื่นมีความหลากหลายมากขึ้น เรียกง่ายๆ ว่าระบบออนไลน์ก็แล้วกันนะครับ

ในระบบที่ว่านี้มีช่องทางที่ผมคุ้นเคยและได้ใช้สอยเป็นประจำอยู่สองสามแพลตฟอร์ม ได้แก่ เฟซบุ๊ก ไลน์ และทวิตเตอร์ วันนี้เราลองมาตรวจสอบกันดูไหมครับว่า เฉพาะเฟซบุ๊กที่ผมคบค้าสมาคมอยู่ด้วย ในมุมมองของผมคืออะไรและเป็นอย่างไรบ้าง

เฟซบุ๊กนี่เป็นเพื่อนเก่าที่สุดของผมเลยครับ ผมใช้เฟซบุ๊กด้วยความมุ่งหมายสองอย่าง อย่างแรก คือรับข้อมูลข่าวสารในเรื่องที่ผมสนใจ

อย่างที่สอง คือสื่อสารเรื่องที่ผมอยากบอกเล่ากับสาธารณะให้คนอื่นได้รับรู้

ในส่วนของข้อแรกนั้น ผมเลือกเป็นเพื่อนกับผู้คนที่ผมรู้จักตัวตนแบบตัวจริงเสียงจริงในราว 1,000 คนเศษ แล้วก็ไปติดตามเพจต่างๆ ที่อยู่ในแนวทางที่น่าสนใจ (ของผม) อีกจำนวนหนึ่ง เช่น จุฬามาร์เก็ตเพลส กลุ่มขายหนังสือเก่า รวมถึงสำนักข่าวออนไลน์ทั้งหลายด้วย

ส่วนท่านที่ขอเป็นเพื่อนกับผมมาในเฟซบุ๊ก แต่ผมไม่ได้ตอบรับไป ขออย่าได้โกรธเคืองหรือน้อยใจเลยนะครับ ถ้าคิดถึงกันจริงๆ หรือมีธุระจะพูดคุยสอบถามอะไรก็สามารถส่งข้อความมาหาผมได้เสมอ

เพราะฉะนั้น จากเฟซบุ๊กของผู้ที่ผมเป็นเพื่อนหรือผู้ที่ผมติดตามเหล่านี้ ผมก็ได้รับข้อมูลข่าวสาร ทุกข์สุขความเป็นไปในชีวิตของเขาผู้ที่เป็นเพื่อนของผมจริงๆ บวกกับข้อมูลข่าวสารในเรื่องที่ผมสนใจอยู่เป็นประจำ

ย้ำว่า “ในเรื่องที่ผมสนใจ”

ขีดเส้นใต้เส้นทึบไว้ตรงนี้เลย

ขณะเดียวกันได้มีผู้ที่ติดตามเฟซบุ๊กของผมอยู่ในราว 22,000 คน ทุกวันหรือแทบทุกวันผมจะบอกเล่าความเป็นไปในชีวิตของผม สิ่งที่ได้พบเห็น อาหารการกินและของอร่อยบางมื้อ

ตลอดจนถึงอารมณ์ความรู้สึกหรือเรื่องราวที่ผมได้พบเห็นและอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านทั้งหลาย

โดยเขียนข้อความยาวบ้างสั้นบ้างลงไว้ในเฟซบุ๊ก บ่อยครั้งที่มีภาพประกอบที่เป็นฝีมือถ่ายภาพของผมเองกำกับอยู่กับเรื่องราวเหล่านั้นด้วย

อันที่จริงก็ไม่แตกต่างกันกับการเขียนไดอารี่หรือบันทึกประจำวันแบบโบราณลงในสมุดเป็นเล่มๆ เลยนะครับ

เพียงแต่ว่า ถ้าเขียนลงในพื้นที่สาธารณะแบบนี้ ทั้งเพื่อนและผู้ติดตามก็จะพลอยได้อ่านไปด้วยในทันที

บางช่วงเวลาผมใช้พื้นที่แห่งนี้สำหรับการเขียนหนังสือเป็นบทเป็นตอนแล้วนำมาลงไว้ในเฟซบุ๊ก ผู้อ่านหลายท่านได้ช่วยแก้ไขเรื่องราวที่อาจจะผิดเพี้ยนไปบ้างด้วยความทรงจำของผู้สูงวัยอย่างผมให้ถูกต้อง หรือบางทีก็ช่วยเติมข้อมูลที่เป็นประโยชน์เข้ามาให้ครบถ้วนบริบูรณ์

พอนำเรื่องนั้นไปพิมพ์รวมเล่มทุกอย่างก็ดูดีขึ้นกว่าตอนเขียนสดตั้งเป็นกอง

ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งที่ผมได้รับแบบเต็มเนื้อเต็มตัวคือผมได้ใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นเครื่องช่วยความจำ ทบทวนอารมณ์ความรู้สึกที่ได้ผ่านมาในแต่ละวัน แต่ละเหตุการณ์ จะเรียกว่าเป็นจดหมายเหตุส่วนตัวก็เห็นจะได้

ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กลไกการย้อนอดีตของเฟซบุ๊กได้พาผมกลับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 เริ่มตั้งแต่น้ำเพิ่งท่วมน้อยๆ การชักชวนเพื่อนฝูงนำข้าวของไปถวายพระที่โดนน้ำท่วมจนเหมือนติดเกาะอยู่ที่วัดวรนายกรังสรรค์ อำเภอบางปะหัน ตลอดจนเหตุการณ์ที่น้ำพัดพาผมไปทำหน้าที่เป็นโฆษกน้ำท่วม และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย

นอกจากนั้น ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เมื่อคอลัมน์ “หลังลับแลมีอรุณรุ่ง” ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ลงพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์เป็นประจำทุกวันศุกร์แล้ว พอถึงวันพุธถัดไป ผมก็นำบทความเรื่องเดียวกันนี้ที่อยู่ในมติชนออนไลน์มาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้งหนึ่งในเฟซบุ๊กของผม

เป็นการขยายแวดวงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้กว้างขวางออกไปอีกช่องทางหนึ่ง

คงได้เห็นกันแล้วนะครับว่า สื่อสมัยใหม่อย่างเช่นเฟซบุ๊กนี้ ทำให้การรับรู้ข่าวสารของผมกว้างขวาง รวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกันกับที่ผมสามารถสื่อสารเรื่องราวบางอย่าง โดยตรงกับสาธารณะตามความปรารถนาของผมด้วย

เรื่องราวที่ผมโพสต์ลงในพื้นที่อย่างนี้ มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีทั้งความเห็นของผู้ที่เป็นเพื่อน ตลอดถึงผู้ที่เป็นผู้ติดตามหรือจะเป็นใครก็ได้ เรียกว่าเป็นการสื่อสารสองทางตามหลักวิชาทางนิเทศศาสตร์โดยตรงเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี สองวันที่ผ่านมาผมพูดคุยเรื่องที่เขียนมาทั้งหมดนี้กับเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง เรามีความเห็นต้องตรงกันว่า การเลือกเป็นเพื่อนกับใครก็ตามในระบบเฟซบุ๊ก รวมตลอดถึงการที่เราเลือกติดตามใครหรือเพจใด นั่นหมายความว่าเราเลือกแล้วที่จะรับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งดังกล่าว

แปลความในทางกลับกัน เราเลือกที่จะไม่รับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งอื่น

ข้อควรระวังอย่างสำคัญคือ โดยวิธีการเช่นนั้นบางทีจะทำให้เราหลงเข้าใจไปว่าโลกทั้งใบคิดอย่างนั้น ไม่มีความเห็นในแนวทางอื่นอีกแล้ว

ก็อ่านเฟซบุ๊กทีไร ทุกคนก็คิดเหมือนเรานี่นา

เมื่อคิดซ้ำๆ อ่านซ้ำๆ ก็ยิ่งเชื่อมั่นว่าความจริงต้องเป็นอย่างที่เราอ่านนี่แหละ

อุปมาอุปไมยง่ายๆ ก็เปรียบเสมือนการคบค้ากับเพื่อนที่อยู่ในแวดวงหรือคอเดียวกัน ทุกคนสนใจอะไรอย่างเดียวกัน รักสิ่งเดียวกัน โกรธเรื่องอย่างเดียวกัน ไม่มีใครขัดคอใครเลย เป็นอย่างนี้นานวันเข้าทุกคนในกลุ่มก็มีความสุขดีนะครับ

หลอกตัวเองได้สนิทและแนบเนียนมากเลยทีเดียว

สบายใจมั่กๆ

เหมือนเดินอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์นั้นแล