หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘สวรรค์’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกขุนแผนและกวาง - กวางก็เช่นเดียวกับสัตว์กินพืชตัวอื่น คือ มีดวงตาอยู่ในตำแหน่งค่อนมาทางหู สามารถเหลือบตาดูรอบๆ ได้โดยไม่ต้องเงยหน้า และมันยังมีนกขุนแผนมาคอยช่วยจิกกินแมลงที่เกาะตามตัว อยู่ร่วมกันแบบพึ่งพากันด้วย

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘สวรรค์’

เมื่อมีคำถามว่า “ในการทำงานต้องใช้เวลาในป่านานๆ ไหม หรือเคยอยู่ในป่านานเท่าไหร่”?
กับคำถามทำนองนี้ ว่าตามจริง ผมจำไม่ได้แน่ชัดนักหรอกว่า ใช้เวลาในป่านานนั้น กี่วัน บางครั้งกว่าเดือน แต่ส่วนใหญ่ราว 20 วัน
ที่จำได้ดี มักเป็นสถานที่ซึ่งใช้เป็นแคมป์อยู่นานๆ มากกว่า
และแคมป์ “สบกระดิ่ง” คือที่แรกที่นึกถึง นึกถึงเสมอ…แม้ว่าจะผ่านมาหลายปีแล้ว

สบกระดิ่ง เป็นบริเวณที่ลำห้วยกระดิ่งมาพบกับลำห้วยขาแข้ง ห้อมล้อมด้วยป่าดิบเขา ในฤดูแล้ง ลำห้วยทั้งสองสายจะมีระดับน้ำแค่ท่วมหัวเข่า แนวหินระเกะระกะ น้ำใส กระทั่งมองเห็นก้อนกรวดและผืนทรายใต้น้ำชัดเจน
แต่สภาพห้วยไม่เป็นอย่างนี้หรอก เมื่อฤดูฝนมาถึง ระดับน้ำจะไหลแรง ขุ่นแดง และสูงท่วมกอตะไคร้ ซึ่งสูงกว่าสองเมตร ที่นี่มีเส้นทางลำลองสำหรับรถยนต์ขับเคลื่นสี่ล้อพอมาได้
ที่ตั้งแคมป์ มีที่ราบอยู่ราว 30 ตารางเมตร อยู่ไม่ไกลจากสบห้วย ก่อนขึ้นเนินชันเนินนี้ ผมใช้เป็นที่เดินออกกำลัง ในวันที่กลับแคมป์ไม่มืดนัก เดินขึ้น-ลง 4-5 รอบก็ได้เหงื่อ
ที่นี่เป็นแคมป์ที่ทีมนักวิจัยเสือใช้ร่วมกับทีมวางกล้องดักถ่ายสำรวจประชากรเสือโคร่ง
ที่นี่แม้ว่าการเดินทางเข้าถึงค่อนข้างระหกระเหิน แต่นับว่าอยู่ในทำเลที่ดี
อยู่ใจกลางผืนป่า ในบ้านของสัตว์ป่า แต่ผมรู้สึกได้ถึงความใกล้ชิดมากขึ้นกับที่จากมา…

ผมอยู่ร่วมกับทีมวิจัยซึ่งใช้ที่นี่เป็นฐานในการศึกษาเรื่องเสือโคร่ง จากข้อมูลที่ได้จากกล้องดักถ่ายในปีที่ผ่านมา พบว่าในบริเวณนี้มีเสือโคร่งตัวเมีย 3 ตัว
ทุกครั้งที่พักแรมอยู่ที่แคมป์สบกระดิ่ง ถ้าใครถามว่า ต้องอยู่ที่นี่นานไหม
อย่างน้อยคงไม่ต่ำกว่าหนึ่งเดือน เพราะปกติเสือโคร่งจะเดินตรวจสอบอาณาเขตของมันตลอด ภายใน 15-20 วัน มันจะย้อนมาที่เดิม
เอาเข้าจริงไม่มีใครตอบได้หรอก เพราะผู้ที่จะให้คำตอบได้ มีเพียงเสือที่เรากำลังเฝ้ารอ…

ครั้งหนึ่งในเดือนมีนาคม ในสัปดาห์ที่สอง เราพบกับสายฝนตกกระหน่ำ ราวกับต้อนรับเราอย่างเป็นทางการ ฟ้าแลบแปลบปลาบส่งเสียงคำรามครืน สายลมพัดแรง ยอดไม้เอนลู่
ฝนตกหนักอยู่สักสองชั่วโมง วันรุ่งขึ้นทำให้เราพบเส้นทางเป็นร่องลึก ต้นไม้ใหญ่หลายต้นโค่นหักล้มทับเส้นทาง หลายต้นมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะเลื่อย ต้องทำทางเบี่ยง
ในระยะทางแค่ 5 กิโลเมตร ใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมง
ครั้งนั้นเป็นการออกไปซื้อเสบียงอันใช้เวลาแสนนาน

อีกปีหนึ่ง ในเดือนกุมภาพันธ์
ช่วงเวลาดึกๆ และเช้ามืด ที่แคมป์ เราพบกับอุณหภูมิราว 10-12 องศาเซลเซียส กลางวันสภาพอากาศไม่ร้อนอบอ้าว
สิ่งที่เราต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นคือเหลือบ ตัวเหลือบรูปร่างคล้ายแมลงวันแต่ขนาดใหญ่กว่า มันดูดเลือดแบบยุง แต่เจ็บกว่าหลายเท่า
ควันจากกองไฟช่วยได้บ้าง
ห่างจากแคมป์ไป 5 กิโลเมตร มีโป่งขนาดใหญ่ ใกล้กับที่สัตว์มาชุมนุมมาก เหลือบก็มากเช่นกัน
ค่ำๆ กลับถึงแคมป์ ความเมื่อยล้า รวมทั้งอาการเจ็บจากแผลกัดของเหลือบ คล้ายจะทุเลา

ในคืนข้างแรม ท้องฟ้ามืดสนิท ดาวจำนวนหนึ่งโผล่พ้นแนวเมฆดำ ฟ้าแลบอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
ข้างๆ แคมป์ เม่นเดินไป-มา เสียงแกรกกราก บางครั้งมันเขย่าหาง เสียงดังฟู่ๆ กบทูตส่งเสียงเป็นจังหวะ เสียงน้ำไหลกระทบแก่งหิน เก้งส่งเสียง สำเนียงคล้ายเสียงหมาเห่า กวางร้องดัง “เปิ้บๆ” กระชั้นๆ ทั้งเก้งและกวางคงส่งเสียงเพราะได้กลิ่นควันไฟ
ผมอยู่ในแคมป์ เฝ้ารอสัตว์ป่า ทำงานกับสัตว์ป่า ผมตอบใครๆ ไม่ได้ว่า จะต้องใช้เวลาในป่านานเท่าใด
เพราะเงื่อนไขต่างๆ นั้น สัตว์ป่าเป็นผู้กำหนด
ที่จริงแล้ว ชีวิตในแคมป์ไม่ใช่ความยากลำบากอะไร มันคือส่วนหนึ่งอันมากับงานที่ผมทำ
นานมาแล้ว ผมใช้ชีวิตที่เรียกให้เห็นภาพว่า “นอนกลางดิน กินกลางทราย”
อยู่ในที่ทุรกันดารห่างไกล แต่รู้สึกได้ถึงความใกล้ชิดกับที่จากมา
ทุกครั้งที่กลับถึงบ้าน ผมจึงรู้ว่า ที่นั่นคือสวรรค์
“สวรรค์” ที่ผมดั้นด้นไปหา ในที่ไกลแสนไกล…