เศรษฐกิจ/อนาคตบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ในมืออธิบดีคนใหม่ ล้ม-เลิกหรือแค่ถอยเพื่อตั้งหลัก

เศรษฐกิจ

อนาคตบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ในมืออธิบดีคนใหม่ ล้ม-เลิกหรือแค่ถอยเพื่อตั้งหลัก

 

เสียงคัดค้านของประชาชนเขตพญาไท ในโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ซอยพหลโยธิน 11 กทม. กลายเป็นชนวนเหตุสำคัญในการย้าย นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ ไปเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง สลับเก้าอี้กับ นายพชร อนันตศิลป์ จากรองปลัดกระทรวงการคลัง มาเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์

คำสั่งย้ายครั้งนี้ไม่ปกติ เพราะเป็นการย้ายนอกฤดูกาล!!!

เพราะโดยปกติการโยกย้ายข้าราชการมี 2 ช่วง คือเดือนสิงหาคม-กันยายน เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุราชการ และในช่วงเดือนเมษายนเป็นการย้ายย่อยครึ่งปีงบประมาณ สำหรับการทำงานไม่ผ่านเกณฑ์จะมีการปรับเปลี่ยนช่วงนี้

หลังคำสั่งโยกย้ายนายจักรกฤศฏิ์ ทำให้หลายฝ่ายต่างจับจ้องว่าอนาคตของโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ จะเป็นอย่างไร

เพราะตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีของการเริ่มเดินโครงการ มีการสะดุด เกิดปัญหา เกิดข้อปัญหาโต้แย้งจากประชาชนในพื้นที่มากมาย

เริ่มแรกโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ มีทั้งหมด 6 แปลง คือ

1. อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 30 ไร่

2. อำเภอช้างคลาน จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่กว่า 9 ไร่

3. อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี กว่า 29 ไร่

4. อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 30 ไร่

โดยใน 4 พื้นที่ดังกล่าวทำเป็นบ้านทาวน์เฮ้าส์ หรือที่พักอาศัย ราคาไม่ถึง 1 ล้านบาท เปิดโอกาสให้ประชาชนและข้าราชการมาเช่าอยู่ในระยะเวลา 30 ปี

อีก 2 แปลงอยู่ใน กทม. คือ 1.ซอยพหลโยธิน 11 และ 2.บริเวณตรงข้ามวัดไผ่ตัน สะพานควาย เขตจตุจักร เป้าหมายทำเป็นคอนโดมิเนียมราคาถูก ให้ข้าราชการรายได้ไม่ถึงเดือนละ 2 หมื่นบาท เช่าอยู่อาศัยในราคาเดือนละ 4 พันบาท

นายพชร อนันตศิลป์

มีการยกเลิกไปแล้ว 2 โครงการ คือ ที่อำเภอแม่จัน เชียงราย เพราะไม่มีผู้ประมูล และจากเสียงการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่เชียงใหม่ ทำให้ต้องล้มโครงการ อำเภอช้างคลาน จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งๆ ที่มีการประมูลไปแล้ว บริษัทที่ชนะประมูลไม่ได้ติดใจฟ้องร้อง โดยมีแนวคิดนำที่ดินดังกล่าวมาเป็นสวนสาธารณะกลางใจเมืองเชียงใหม่

ส่วนโครงการในซอยพหลโยธิน 11 ต้องขึ้นอยู่กับอนาคตอธิบดีกรมธนารักษ์คนใหม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร!!

ทําให้ขณะนี้เหลือโครงการที่ต้องเดินต่อตามแผนงานเหลือเพียง 3 โครงการ คือ ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี 2 แปลง และบริเวณตรงข้ามวัดไผ่ตัน สะพานควาย เขตจตุจักร กทม. อีก 1 แปลง

คงต้องติดตามว่าโครงการซอยพหลโยธิน 11 เดินหน้าอย่างไร จะปรับแก้การดำเนินโครงการใหม่ ล้มโครงการไปเลยหรือไม่ เพราะประชาชนในพื้นที่และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มองว่าผู้ชนะการประมูลคือบริษัท ปักกิ่ง เออร์บัน-คอนสตรัคชั่น ยาไถ่ (ไทย) คอนสตรัคชั่น กรุ๊ป จำกัด โอนสิทธิ์ไปให้บริษัท จูโน่ พาร์ค จำกัด นั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง!

รวมถึงถนนในซอยพหลโยธิน 11 ไม่กว้างพอที่จะก่อสร้างเป็นคอนโดมิเนียม 8 ชั้น และด้วยจำนวนห้องชุดมากถึง 350 ยูนิต ประกอบกับราคาค่าเช่าที่ถูกมาก อาจทำให้สภาพแวดล้อมในบริเวณดังกล่าวมีปัญหา ประชาชนในพื้นที่ระบุว่าซอยดังกล่าวมีปัญหาจราจรอยู่แล้ว และถ้าปล่อยให้คอนโดมิเนียมรัฐเกิดขึ้นมาได้ จะมีคอนโดมิเนียมเอกชนอีกว่า 8 แห่งเกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าว ยิ่งสร้างปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่

แม้นายนายพชรให้สัมภาษณ์ว่า พร้อมเดินหน้าโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐตามนโยบายภาครัฐ และขอเวลาพิจารณารายละเอียดทีโออาร์โครงการในซอยพหลโยธิน 11 ก่อนตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร

แต่การโยกย้ายโครงการนี้น่าจะเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างว่าการดำเนินการของนายจักรกฤศฏิ์ที่ทำไว้นั้นอาจต้องเปลี่ยนแปลง

ถ้ายังนับโครงการซอยพหลโยธิน 11 เพราะตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะเลิกโครงการหรือไม่ บ้านธนารักษ์ประชารัฐยังเหลืออีก 4 โครงการ มีจำนวนที่พักรวม 1,442 ยูนิต

ก่อนหน้าเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2559 กรมธนารักษ์เปิดจองสิทธิ์ พบว่ามียอดจองถึง 2,322 ราย สูงกว่าจำนวนที่พักเกือบเท่าตัว แต่พบว่าผู้มาลงทะเบียนจองสิทธิ์ยื่นขอใช้สิทธิ์การ 406 รายเท่านั้น คิดเป็น 17.5% ของจำนวนที่ยื่นของสิทธิ์ ในจำนวนนี้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเพียง 388 ราย

ส่วนใหญ่ไม่ผ่านเพราะติดเงื่อนไขเคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อน หรือบางคนเป็นข้าราชการมีบ้านในต่างจังหวัด ถูกตัดสิทธิ์เช่าโครงการใน กทม.

ดังนั้น เมื่อเดือนเมษายน 2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติปรับลดเงื่อนไข บ้านประชารัฐและบ้านธนารักษ์ประชารัฐ เพื่อให้เอื้อต่อผู้รายได้น้อยมากขึ้น เพราะการดำเนินงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีปัญหายุบยับตามมาเพียบ มีผู้สนใจในโครงการมาก แต่ทำให้ขาดคุณสมบัติหรือไม่เข้าเงื่อนไขมีมาก

ครม. มีมติให้เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการ จากเดิมห้ามไม่ให้ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยเข้าโครงการ เปลี่ยนเป็นผู้ที่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อน แต่ตอนนี้ได้ขายที่อยู่อาศัยไปแล้ว สามารถเข้าร่วมโครงการได้

ดังนั้น โครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ สำหรับกรณีข้าราชการต้องการเช่าที่อยู่อาศัย ตัดเงื่อนไขระบุว่าต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อนออกไป เหลือเพียงเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาทในวันที่ยื่นจองสิทธิ์

ส่วนในโครงการเช่าระยะยาว 30 ปี ให้เหลือเพียงต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชนที่ปัจจุบันไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย การปรับเงื่อนไขครั้งนี้น่าจะทำให้โครงการเดินหน้าสะดวกขึ้น

อย่างไรก็ตาม อนาคตของโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐซอยพหลโยธิน 11 ถ้ายังได้เดินหน้าต่อถือเป็นการแลกเก้าอี้อธิบดีกรมธนารักษ์อย่างคุ้มค่า

โครงการนี้วัตถุประสงค์เพื่อคนจน แต่เสียงคัดค้านอย่างหนักส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มคนมีอันจะกิน เพราะโครงการดันไปอยู่ในย่านกลางใจเมือง ราคาที่ดินแถบนั้นซื้อขายกันตารางวาละหลายแสนบาท บ้านที่อยู่อาศัยในย่านดังกล่าวมีราคาหลักสิบ หลักร้อยล้านบาท

ค่าเช่าเดือนละ 4,000 บาท ในบริเวณดังกล่าวถือว่าถูกมาก ถ้าเทียบกับคอนโดมิเนียมระดับเดียวกับโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ค่าเช่าน่าจะสูงกว่าเดือนละ 1 หมื่นบาท!

ถ้าโครงการนี้ยกเลิก โครงการที่เหลืออีก 3 โครงการอาจจะมีปัญหาตามมา รวมถึงการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 อาจจะเกิดยาก

เพราะก่อนหน้านี้กรมธนารักษ์ตั้งความหวังว่าจะเห็นโครงการนี้บ้านธนารักษ์ประชารัฐแล้วเสร็จอยู่อาศัยได้ในช่วงปี 2561 ขณะนี้ผ่านไป 1 ปี ยังล้มลุกคลุกคลาน

หากย้อนกลับไปดูจุดกำเนิดจะพบว่า โครงการบ้านประชารัฐ มาจากนโยบาย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้ระดมสมองร่วมกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เมื่อช่วงปี 2559 เพราะอยากให้เอกชนมาช่วยสร้างบ้านให้คนจน

หลังจากที่ก่อนนี้เมื่อปี 2558 รัฐบาลออกมาตรการช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง รวมถึงมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จนทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวกลับมาแข็งแรง

ดังนั้น นายสมคิดมองว่าภาคอสังหาฯ ควรตอบแทนสังคมบ้าง

จึงมีข้อสรุปร่วมกันจัดทำบ้านประชารัฐ เอกชนทำเอง และบ้านธนารักษ์ ประชารัฐ ซึ่งกรมธนารักษ์หาที่ราชพัสดุมาให้เอกชนเช่าทำโครงการในราคาถูกมาก

และคนในกระทรวงการคลังทราบดีว่า นายพชรมีความสัมพันธ์อันดีกับนายสมคิด ดังนั้น การให้นายพชรมานั่งเก้าอี้อธิบดีกรมธนารักษ์ แทนนายจักรกฤศฏิ์ น่าจะบ่งบอกอนาคตบ้านธนารักษ์ประชารัฐได้ในระดับหนึ่ง

ผลสรุปเกี่ยวกับโครงการซอยพหลโยธิน 11 น่าจะเป็นเดิมพันอนาคตของโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ รวมถึงอนาคตทีมเศรษฐกิจเลยทีเดียว

ถ้าเกิดช่องโหว่ ทีมเศรษฐกิจอาจไม่พ้นถูกกระแสตีกลับทันที