จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (7)

ทุกซอกมุมของโลกนี้ย่อมต้องเปลี่ยนแปลง เราจึงได้เห็นผู้นำสลับสับเปลี่ยนหน้ากันเข้าสู่อำนาจ จากการ “เลือกตั้ง” ของประชาชนโดยเฉพาะกับประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย

ปลายปีที่ผ่านมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาได้เศรษฐีนักธุรกิจ “โดนัลด์ ทรัมป์” เป็นประธานาธิบดี ทำท่าว่ามิตรประเทศทั้งหลายในโลกใบนี้จะได้รับผลกระทบจากนโยบายของสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจอันดับต้นๆ ของโลก

ดูเหมือนว่ากับประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้เป็นเรื่องลำบากยากเย็นอะไรเลยกับการ “คืนอำนาจ” ให้กับประชาชนเจ้าของประเทศเพื่อ “เลือกตั้ง” ใหม่เมื่อมีปัญหาในการบริหารประเทศ หรือเกิดความขัดแย้งจนทำท่าว่าประเทศจะเดินไปสู่หนทางตีบตัน

ประเทศในทวีปยุโรปทั้งอังกฤษ เยอรมนี กำลังจะมีการเลือกตั้งผู้นำกันใหม่ในอีกไม่นานวัน ในขณะที่ประเทศฝรั่งเศสเพิ่งได้ “นายเอ็มมานูเอล มาครง” เป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ที่มีอายุเพียงแค่เฉียดใกล้ 40 ปี เรียกว่าเป็นประธานาธิบดีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติของเขา

มายังเอเชีย “เกาหลีใต้” เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดปัญหาไม่ชอบมาพากลกับอดีตประธานาธิบดีหญิงคนเก่า มีการดำเนินคดีกระทั่งติดคุกติดตะราง ต้อง “เลือกตั้ง” ขึ้นใหม่

ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายดายมาก ได้ “นายมูน แจ อิน” เป็นประธานาธิบดีคนใหม่

 

ที่นี่บ้านเราดูอาการแล้วมันช่าง “ยากเย็นแสนเข็ญ” กับที่จะให้ประชาชนตัดสินใจปกครองตัวเอง ด้วยการ “เลือกตั้ง” ทั้งๆ ที่เราเรียกว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่กลับเป็นประชาธิปไตยที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน?

ไม่ว่าจะเป็นใคร คณะไหนถอดแบบกันมาจากอดีตกระทั่งปัจจุบันเมื่อ “ยึดอำนาจ” จากประชาชนไปเรียบร้อยแล้ว ก็สัญญาว่าจะรีบ “คืนอำนาจ คืนความสุข” ให้

แต่จนแล้วจนรอดก็เกิดโรคเลื่อนออกไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่การ “ยึดอำนาจ” กำลังจะครบ 3 ปีอีกวันสองวันนี้ แต่ก็บอกว่ายังจัดระเบียบอะไรต่อมิอะไรยังไม่เรียบร้อย แต่ในขณะเดียวกันก็มีเหตุการณ์สำคัญๆ ซึ่งพอเข้าใจได้ มาทำให้เงื่อนเวลาต้องยืดยาวออกไป

ที่จริงถ้าหากประเทศมันเดินหน้าจนประชาชนหน้าตาสดใส ทำมาหาเลี้ยงชีพกันได้อย่างปกติสุข “เศรษฐกิจ” อยู่ในสภาพรุ่งเรืองลื่นไหลไปด้วยกัน มิใช่แค่ยืนอยู่ได้แบบสุขสบายเฉพาะ “นายทุนใหญ่-ชนชั้นปกครอง-คนชั้นกลาง” กระเดียดไปทาง “ชั้นสูง” เท่านั้น?

พวกท่านจะอยู่จัดระเบียบกันให้สังคมเกิดความเป็นธรรมมี “มาตรฐานเดียว” หรือจัดวางรากกระทั่งพอมองเห็นหน้าตา “รัฐบาลใหม่” ว่าจะออกมาอย่างที่พวกท่านต้องการได้แค่ไหน? ก็ว่ากันตามสบาย

 

อาจารย์คึกฤทธิ์ นอกจากจะมีอดีตเป็นคนใหญ่ๆ โตๆ ระดับ “บุคคลสำคัญของโลก” อดีตนายกรัฐมนตรี ศิลปินแห่งชาติ แล้วสิ่งหนึ่งซึ่งอยู่ในสายเลือด ในจิตวิญญาณคือความเป็น “ศิลปิน” ในทุกด้านทุกรูปแบบ

ดังอย่างที่ทราบว่าท่านเป็นผู้ที่ทุ่มเททรัพย์สินส่วนตัวเพื่อก่อตั้ง “โขนธรรมศาสตร์” ฝึกฝนจนสามารถไปเปิดการแสดงในงานสำคัญๆ ของบ้านเรา และได้รับเกียรติเชิญไปแสดงยังต่างประเทศ เช่น ในเทศกาล หรือสัปดาห์แห่งมหกรรมศิลปะต่างๆ อย่างที่ฮ่องกง ฯลฯ

มีโอกาสร่วมเดินทางติดตามไปกับคณะ “โขนธรรมศาสตร์” หลายครั้งหลายแห่ง ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ และต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน ในการแสดงสำหรับงานสำคัญๆ ระดับชาติ ก็เคยได้ใช้วิชาความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาช่วยคณะโขนธรรมศาสตร์ สร้างฉาก

ซึ่งนับว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ๆ แต่ลงมือคนเดียวไม่ไหวจึงต้องไปขอแรงจากรุ่นน้องๆ ในคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มาช่วยกันเสมอๆ

นักแสดงโขนทั้งหลาย ทั้งรุ่นเพื่อน รุ่นน้อง รุ่นพี่ๆ ซึ่งเป็น “ครูโขน” ได้กลายเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ก็มี

เสียชีวิตไปบ้าง เป็นข้าราชการเกษียณ เป็นผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี ฯลฯ ก็มี

ขณะที่ยังเป็นนักแสดงร่วมเดินทางไปแสดงยังสถานที่ต่างๆ ระหว่างที่ขึ้นเวทีทำการแสดง อาจารย์คึกฤทธิ์ ซึ่งเป็นนายโรงโขนก็จะนั่งชมอยู่หน้าเวทีไม่ไกลจากวงปี่พาทย์ กับผู้ติดตามที่ร่วมเดินทางไปด้วยเกือบจะทุกครั้งจนซึมซับรับรู้

และสามารถรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์จากท่านได้ ดูโขนเข้าใจขึ้นเรียกว่าดูโขนเป็นทีเดียว

 

หลังจากที่อาจารย์คึกฤทธิ์อดทนต่อสู้มาถึง 8 เดือนเศษบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ก่อนจะตัดสินใจ “ยุบสภา” เมื่อปี พ.ศ.2519 เพื่อปกป้องประชาธิปไตยเอาไว้จากกลุ่มผู้กระหายอำนาจทั้งหลายทั้งปวงที่ต้องการจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้อำนาจมา ไม่ว่าจะเป็นคนในเครื่องแบบ หรือนักการเมือง

เมื่อท่านไปลงสมัครรับเลือกตั้งในเขต 1 ดุสิต กรุงเทพฯ และกลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี “สอบตก” ด้วยกลเกมการเมืองโดยใครจากที่ไหนก็ช่างมันเถอะ ในที่สุดบ้านเมืองก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ผู้พี่ของท่านซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค “ประชาธิปัตย์” ได้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 14 แต่อยู่ได้ไม่เท่าไร

เกิดเหตุการณ์มหาโหดเข่นฆ่านิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริเวณท้องสนามหลวง

ในที่สุดรัฐบาลผสมของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ถูก “ปฏิวัติ” โดยมีรัฐมนตรีซึ่งเป็นทหารในรัฐบาลของท่านนั่นแหละเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติเสียเอง

เป็นอันปิดฉากประชาธิปไตยซึ่งอาจารย์คึกฤทธิ์พยายามปกป้องรักษาไว้ลงไปอีกช่วงหนึ่ง ค่อนข้างยาวนาน

 

อาจารย์กลับมามีเวลาเขียนหนังสือ ทำอะไรที่ท่านอยากจะทำ และได้ใกล้ชิดกับลูกศิษย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเดินทางติดตามไปในการนำโขนธรรมศาสตร์ไปแสดงยังสถานที่ต่างๆ เดินทางไปพักผ่อนต่างจังหวัด ต่างประเทศ และแม้กระทั่งไปหาเสียงในต่างจังหวัดให้กับสมาชิกพรรคกิจสังคม

เมื่ออยู่ด้วยกันตามลำพังแบบสบายๆ ท่านมักจะเล่าเรื่องต่างๆ ที่ผ่านมาโดยเฉพาะระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งบางเรื่องก็เป็นความลับอยู่นาน

บางครั้งก็เล่าขานไปด้วยความสนุกสนานและประชดประชันเสียดสีอีกทั้งแฝงอารมณ์ขันไปด้วย

ช่วงระยะเวลานั้นดูเหมือนเรื่องของรอบบ้านเราทั้ง เวียดนาม กัมพูชา ลาว กำลังเปลี่ยนแปลง เกิดสงครามมีการสู้รบ แต่สุดท้ายหัวเรือใหญ่มหาอำนาจอย่าง “สหรัฐอเมริกา” ซึ่งต่อต้าน “ลัทธิคอมมิวนิสต์” ก็เอาไม่อยู่ ต้องโยกย้ายถอยกลับไปด้วยความสูญเสีย

แต่ก็ยังอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าจะเกิดทฤษฎีโดมิโนลามปามล้มกันไปทั้งหมด รวมถึงประเทศไทย ซึ่งเป็นมิตรประเทศอันยาวนาน จะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย

เคยพูดเล่นกันเสมอๆ ว่าเวียดนามจะบุกไทยหรือไม่ เพราะเวลานั้นเขามีกองทัพแข็งแกร่งมาก สหรัฐอเมริกาก็เอาไม่อยู่ต้องปล่อยให้ไซ่ง่อนแตก และกลับไปรวมกันเป็นเวียดนามประเทศเดียว ไม่มี “เหนือ-ใต้” อีกต่อไป

มีบางคนพูดติดตลกแบบเสียดสีว่า “ญวนไม่บุกเข้ามาถึงกรุงเทพฯ หรอก เพราะฝ่าการจราจรไม่ไหว รถติดมาก”?

 


พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเติบโตขึ้น โดยมีสมาชิกเป็นนิสิตนักศึกษาหนีจากเมืองเข้าสู่ป่าเพื่อร่วมต่อสู้กับรัฐมากมาย ขณะเดียวกัน เพื่อนบ้านซึ่งมีกองกำลังแข็งแกร่งก็ให้การสนับสนุนพร้อมที่จะบุกเข้ามาบ้านเราได้เสมอ

อาจารย์คึกฤทธิ์เล่าว่า ขณะที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีได้เคยสอบถามสภาความมั่นคงแห่งชาติ แม่ทัพนายกองของกองทัพไทยว่า ถ้าหากประเทศเพื่อนบ้านบุกเข้ามาเราจะสามารถรักษาบ้านเมืองไว้ได้สักกี่วัน?

คำตอบที่ท่านได้รับเป็นที่น่าตกใจอย่างมากว่า– “สัก 3 วันน่าจะพอได้”? ครับ ท่านก็เลยบอกกับ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (อดีตนายกรัฐมนตรี-เสียชีวิต) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ในรัฐบาลผสมของท่าน และท่านอานันท์ ปันยารชุน ถ้าจำไม่ผิดขณะนั้นเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้เตรียมตัวเก็บกระเป๋าเดินทางไปเมืองจีนกันดีกว่า

เป็นการไปเปิดสัมพันธ์ “ไทย-จีน” ที่ได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2518 (42 ปี) แม้จะเป็นการสร้างความไม่พอใจให้กับหลายภาคส่วนในบ้านเราเอง รวมทั้งฝ่ายความมั่นคง และประเทศมหาอำนาจที่ตรงข้ามกับจีน

ไม่มีใครคาดคิดว่า อาจารย์คึกฤทธิ์จะได้พบเพื่อสัมผัสมือกับยอดคนอย่างท่าน “ประธานเหมา เจ๋อ ตุง” โดยท่าน “เติ้ง เสี่ยว ผิง” รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แนะนำ และท่าน “โจว เอิน ไหล” นายกรัฐมนตรี จะสามารถลงนามในสนธิสัญญาการ “เปิดสัมพันธไมตรีระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน” ได้ เพราะขณะนั้น “ผู้ยิ่งใหญ่ 2 ท่านกำลังป่วยหนัก”

ผู้ที่เดินทางไปทำงาน “สร้างประวัติศาสตร์” ยิ่งใหญ่ให้กับประเทศชาติ เมื่อกลับมายังเมืองไทยต้องกลายเป็นผู้นิยม “ลัทธิคอมมิวนิสต์” ไปกันทุกคน?

สุดท้ายได้รับผลทางการเมืองกันไม่น้อย อาจารย์คึกฤทธิ์เองก็ไม่มีโอกาสเป็น “นายกรัฐมนตรี” อีก