มนัส สัตยารักษ์ | ตำรวจต้องใช้ยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ยุทธวิธี

กรณีศึก “อายัดซ้ำ” เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 เวลา 21.30 น. ที่เกิดเหตุชุลมุนขึ้นบริเวณหน้า สน.ประชาชื่น เนื่องจาก “มวลชน” เข้าล้อมรถผู้ต้องขัง ขัดขวางตำรวจส่ง 3 แกนนำที่ถูก “อายัดซ้ำ” จากตำรวจนนทบุรี อุบลราชธานี และอยุธยา หลังจากเพิ่งถูกปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครไปยัง สน.ประชาชื่น เพื่อไปดำเนินคดีตามหมายจับก่อนหน้านี้

3 แกนนำประกอบด้วย พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” และภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์” แกนนำ “เยาวชนปลดแอก”

สื่อโซเชียลบางรายบรรยายเหตุการณ์ด้วยอารมณ์ขันว่า เมื่อมวลชนทุบตีกระจกรถผู้ต้องขังของตำรวจและแกนนำผลัดกันกล่าวปราศรัยนั้น ตำรวจเข้าไปหลบภัยอยู่ภายในโรงพัก แต่ผมไม่มีอารมณ์ขันตามไปด้วย กลับมองว่าตำรวจเสียภาพลักษณ์ไปอย่างน่าเห็นใจ

ถัดมาทั้ง 2 ฝ่าย คือทั้งฝ่ายตำรวจและทั้งฝ่ายผู้ต้องหาต่างให้สัมภาษณ์กล่าวหาซึ่งกันและกัน ต่างมาดหมายว่าจะฟ้องเอาผิดฝ่ายตรงกันข้ามในหลายข้อหาทั้งทางแพ่งและทางอาญา

ไม่มีใครเอ่ยถึง “สมานฉันท์” ที่บรรดาผู้มีเกียรติหลายท่านเพิ่งถกกันในวาระประชุมวิสามัญของรัฐสภา เมื่อ 3 วันก่อนหน้าแต่อย่างใด

วันที่ 2 พฤศจิกายน พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. ให้สัมภาษณ์ว่า ยุทธวิธีการเคลื่อนย้ายผู้ต้องหาหรือการอายัดตัว ยอมรับว่าต้องมีการศึกษาปัญหา เพื่อปรับเปลี่ยน “ยุทธวิธี” ใหม่

แต่ผมเห็นว่า แค่ปรับเปลี่ยน “ยุทธวิธี” ไม่ช่วยให้ภาพลักษณ์ของตำรวจกระเตื้องขึ้นแต่อย่างใด

ที่ตำรวจต้องทำคือต้องถึงขั้นปรับเปลี่ยน “ยุทธศาสตร์” แล้วละ

ผมมั่นใจว่าเยาวชนปลดแอกเขาไม่ถอยง่ายๆ หรอกครับ

อาจารย์อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีต รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า ครั้งที่ยังสอนและบรรยายให้ความรู้แก่นายตำรวจนักเรียนในหลักสูตรต่างๆ จำได้ว่าได้สอนถึงส่วนลึกของ ป.วิ.อาญา ด้วย

มีระเบียบตำรวจเกี่ยวกับคดีประกอบคำสั่งต่างๆ ที่ออกตามความใน ป.วิ.อาญา ได้ให้อำนาจเรื่องการสอบสวน ว่าด้วยเรื่องคดีที่มีการกระทำความผิดตามข้อกฎหมายเดียวกันและผู้ต้องหากลุ่มเดียวกัน ผบ.ตร.ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนทั่วราชอาณาจักร สามารถออกคำสั่งรวมคดีให้พนักงานสอบสวนในสังกัด กองบัญชาการสอบสวนกลาง (บช.ก.) เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

พล.ต.อ.อชิรวิทย์เล่าว่า เมื่อครั้งที่มีการประท้วงของ “ม็อบพันธมิตรฯ” เมื่อหลายปีมาแล้ว พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ซึ่งขณะนั้นเป็นรอง ผบ.ตร. ได้รับมอบ “เผือกร้อน” เป็นหัวหน้าคณะทำงานสอบสวนคดีม็อบพันธมิตรฯ

พล.ต.อ.สมยศอาศัยคำสั่ง “รวมคดี” ของ ผบ.ตร. สามารถสรุปสำนวนเป็นเอกสารหลายหีบส่งฟ้องได้ โดยไม่มีเหตุชุลมุนวุ่นวายทั้งฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาและฝ่ายตำรวจ

ส่วนตัวผมเห็นว่า “ระเบียบเกี่ยวกับคดีประกอบคำสั่งต่างๆ ที่ออกตามความใน ป.วิ.อาญา” บทนี้ คือ “ยุทธศาสตร์” สำคัญของตำรวจ

นอกจากกฎหมายอาญาและ ป.วิ.อาญา แล้ว “ระเบียบเกี่ยวกับคดี” เป็นบทเรียนที่ตำรวจพึงศึกษาให้ลึกซึ้งถึงแก่น แต่เดิมขณะที่ยังเป็นนักเรียนหรือเป็นตำรวจชั้นผู้น้อย เรามักจะคิดว่าผู้ที่ออกกฎระเบียบฯ หยุมหยิม ล้วนเป็นนักคิดอัจฉริยะที่รู้จักวิธีป้องกันและเอาตัวรอด ด้วยการตั้งสมมุติฐานว่าตำรวจเป็นพวกหัวหมอและพร้อมที่จะทุจริต

อาจจะมีข้อโต้แย้งได้ด้วยการยกคดี “บอส กระทิงแดง” เป็นตัวอย่าง ทำนองว่า ในเมื่อมีระเบียบรอบคอบรัดกุมขนาดนั้นแล้ว เหตุใดผู้ต้องหาในคดีสำคัญอย่าง “บอส” ถึงรอดพ้นเงื้อมมือของกฎหมายไปได้เล่า?

ขอเรียนซ้ำอีกครั้งว่า เป็นเพราะมี “อำนาจพิเศษ” จากที่ คสช.แต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (หรือ สนช.) และตั้ง “คณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและตำรวจ” ด้วยวิถีทางของรัฐประหารในจังหวะนั้นพอดี

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้วตำรวจที่มีส่วนอาศัย “อำนาจพิเศษ” ทุจริตการสอบสวนก็ถูกลงทัณฑ์ไปตามโทษานุโทษ

ย้อนกลับไปกรณี “อายัดซ้ำ” จะเห็นได้ว่าเหตุชุลมุนเกิดจากศาลยกคำร้องขอฝากขัง ยกคำร้องขอควบคุมตัวผู้ต้องหาของตำรวจ รวมทั้งสั่งเพิกถอนหมายจับในบางรายด้วย ราวกับว่าศาลรู้ถึงกลอุบายใน “ยุทธศาสตร์” ของรัฐบาล ที่ต้องการสร้างความเดือดร้อนปั่นป่วนวุ่นวายแก่ผู้ต้องหานักประท้วง ศาลท่านสั่งไปตามมโนสำนึกที่ว่า “ความยุติธรรมต้องมาก่อนกฎหมาย”

ตำรวจก็ตระหนักดีถึงกโลบายของรัฐบาล แต่ตำรวจไม่อาจใช้ยุทธศาสตร์อย่างที่อดีต ผบ.ตร.ใช้กับคดี “ม็อบพันธมิตรฯ” ดังที่เล่าข้างต้น

พล.ต.อ.อชิรวิทย์กล่าวว่า ระหว่างการประท้วงของม็อบ กปปส. ที่เด็กและเยาวชนยุคนี้เติบโตมาได้เห็นตำตาว่า มีการสืบสวนสอบสวนและติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดมาฟ้องร้องดำเนินคดีได้สักกี่คดี?

ในขณะที่การดำเนินคดีกับกลุ่มเด็กและเยาวชนในวันนี้ได้ทำอย่างต่อเนื่อง ทุกพื้นที่ที่มีการชุมนุม สอดรับกันเป็นลูกระนาด

โรงพักนี้ได้รับการประกันตัว อีกโรงพักหนึ่งมาขออายัดตัวเพื่อนำไปดำเนินคดี ไม่เว้นแม้กระทั่งตอนถูกปล่อยตัวจากเรือนจำก็ใช้กำลังเข้าจับกุม ปรากฏหลักฐานทั้งภาพและเสียง

เด็กและเยาวชนรู้ดีว่าตำรวจเลือกปฏิบัติ!

น่าเห็นใจตำรวจที่ต้องทำตามกโลบายอย่างเคร่งครัดทุกกรณี ไม่เช่นนั้นจะกระทบกระเทือนถึงตำแหน่งหน้าที่การงานและครอบครัว

เป็นที่น่าสังเกตว่านายกรัฐมนตรีวางเฉยอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับภาพลักษณ์ที่เสียหายของตำรวจเมื่อเกิดการประท้วง รวมทั้งไม่แคร์ที่ตำรวจจะถูกประณาม นายกรัฐมนตรียังคงเดินหน้าด้วยท่วงทำนองของคนที่ “ไม่ลาออก ไม่ได้ทำผิดอะไร”

ยังคงเดินทางไปประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดภูเก็ต ตามกำหนดการล่วงหน้า วางเฉยกับข้อความจากการฉายเลเซอร์… “ครม.สัญจร ผักชีโรยหน้า คนภูเก็ตปลดแอก”

ที่สำคัญคือ ไม่แยแส “สมานฉันท์” ที่ช่วยกันพิจารณาในการประชุมสมัยวิสามัญของรัฐสภา ปล่อยให้คนรอบตัววิพากษ์วิจารณ์ข้อคิดเห็นอันทรงคุณค่าของอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ไปในทางร้ายและดูหมิ่น

ไม่สนใจ “คณะกรรมการสมานฉันท์” จากแพลตฟอร์มของสถาบันพระปกเกล้า และการประสานงานของประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย แต่อย่างใด

แถมยังปล่อยให้ลูกพรรค พปชร.ผู้ยิ่งใหญ่ออกอาละวาดในลักษณะรื้อบ่อนอีกต่างหาก