ภานุ บุญพิพัฒนาพงศ์ : สื่อยุคใหม่ (10) ขอต้อนรับสู่นิรภูมิ ศิลปะที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของมนุษย์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
ผลงานของนรเศรษฐ์ ภายนอก

เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปชมนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยอันหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้งานอื่นที่เคยเขียนถึงไป

แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีจังหวะได้เขียนถึง

คราวนี้สบโอกาสเลยขอเขียนถึงเสียเลย

ไหนไหนก็ไหนไหนแล้ว เขียนช้ายังดีกว่าไม่เขียนเลยแหละนะ

นิทรรศการที่ว่านั้นมีชื่อว่า นิรภูมิ (Notopia) ซึ่งเป็นการแสดงผลงานคู่ระหว่าง เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล กับ นรเศรษฐ์ ไวศยกุล

สองศิลปินร่วมสมัยชาวไทยที่เคยแสดงงานในระดับนานาชาติมาแล้ว

โดยเรืองศักดิ์นั้นเป็นศิลปินที่ทำงานศิลปะที่คาบเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์

โดยเฉพาะสาขาชีววิทยาและสิ่งแวดล้อม

เขาเป็นที่รู้จักจากผลงานที่ใช้ขี้เถ้าจากสิ่งมีชีวิตต่างๆ มาหล่อเป็นรูปทรงอวัยวะของมนุษย์อย่างหัวใจ

ส่วนนรเศรษฐ์ เป็นศิลปินที่มีความโดดเด่นในการทำงานศิลปะที่ใช้สื่อสมัยใหม่อย่างมัลติมีเดียและระบบวิศวกรรมอันสลับซับซ้อนในการถ่ายทอดประสบการณ์ภายในของตัวเอง

เพื่อกระตุ้นเร้าและเล่นสนุกกับปฏิกิริยาของผู้ชมงาน

โดยครั้งนี้ทั้งสองร่วมกันทำงานโดยเริ่มต้นจากแนวคิดเกี่ยวกับ “ความสัมพันธ์” ซึ่งมีหลายหลากรูปแบบ

ทั้งความสัมพันธ์ของมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันอย่างเรื่องการใช้ชีวิตคู่ ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งรอบตัวอย่างสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวและส่วนรวม

ผลงานชุดนี้จัดแสดงขึ้นที่แกลเลอรี่เว่อร์เจ้าเก่าที่เคยเขียนถึงไปในหลายตอนที่แล้ว

ผลงานของนรเศรษฐ์
ผลงานของนรเศรษฐ์

ผลงานของนรเศรษฐ์เป็นประติมากรรมสื่อผสม/จัดวางในรูปแบบของห้องขนาดใหญ่

ภายนอกเป็นโครงสร้างไม้ตารางกรุกระจก ที่สะท้อนภาพของสภาพแวดล้อมภายนอกจนสร้างมิติอันน่าพิศวงให้กับตัวงาน

ภายในห้องมืดทึบที่จำลองมาจากห้องนอน มีเตียงวางอยู่กึ่งกลางห้อง บนเตียงมีผ้าคลุมรูปทรงที่ดูเหมือนร่างของมนุษย์คู่หนึ่งนอนกอดก่ายกันอยู่ ซึ่งเป็นการจำลองมาจากร่างกายของนรเศรษฐ์และคู่รักของเขา

ภายในห้องมีเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว ที่จะตอบสนองกับจำนวนของผู้เข้าชมที่เข้าไปในห้อง โดยจะฉายภาพของกลุ่มคำเรืองแสงที่เป็นสื่อแทนความรู้สึกต่อรูปแบบความสัมพันธ์ต่างๆ ออกมา

“งานที่ผมทำผมมักจะคิดถึงเรื่องส่วนตัวเป็นหลัก หมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับปัญหาของตัวเองที่มีกับคนอื่นรอบๆ ตัว หรือการที่เราเองก็สร้างปัญหาให้คนอื่น เรามีความสัมพันธ์ที่บิดเบี้ยวกับคนที่อยู่ใกล้ตัวเรา มันก็เลยทำให้เราแสดงออกแบบผิดเพี้ยนไป ด้วยการใช้ชีวิตที่ผ่านมา”

“เรารู้สึกว่าเราเป็นคนที่มีผลกระทบจากชีวิตคู่เยอะ เราก็เลยอยากจะทำงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรากับคนคนหนึ่งโดยเฉพาะ มันเป็นการท้าทายอย่างนึง มันเหมือนกับเรากำลังบอกคนอื่นว่า กูไม่เคยสนใจสิ่งรอบตัวอะไรหรอก กูแม่งมีปัญหากับแฟน กับคู่รัก มันเป็นภาวะภายในนั่นแหละ”

“งานของเราก่อนหน้านี้มันอาจเป็นการตีความทฤษฎีที่มันอาจจะส่งเสริมความคิดของเรา แต่ในงานชุดนี้เราอยากจะพูดเรื่องธรรมดาๆ ที่เราเจอ ณ ตอนนี้โดยไม่ได้ปรุงแต่งอะไรมาก เรารักผู้หญิง แต่เราทะเลาะกับเขาทุกวัน ปัญหามันคืออะไร มันเกิดอะไรขึ้น”

“เราก็พยายามจะแปลสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นเนื้อหาของงานศิลปะ ส่วนคนอื่นจะเอาไปคิดต่อว่ามันเป็นการสะท้อนถึงปัญหาสังคม ปัญหาทางจิตวิทยาอะไรต่างๆ อันนี้ผมปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนดู ตัวผมแค่อยากจะพูดกับคนรักว่าผมแม่งไม่ไหวแล้วนะ กับคุณเนี่ย แต่สุดท้ายถ้าผมอยากอยู่กับคุณ ผมต้องทำยังไง?”

“กระบวนการตรงนี้คือความสัมพันธ์ที่ผมอยากจะบอก มันเป็นงานศิลปะที่ไม่มีบทสรุป ผมกับแฟนทะเลาะกัน เลิกกันไป คืนดีกันในขณะที่ทำงานนี้ด้วย ตอนนี้ก็ยังอยู่ด้วยกันนะ ผมรู้สึกว่าเมื่อเรื่องส่วนตัวมันรวน มันก็ทำให้ชีวิตมันรวนไปด้วย”

“เราก็สงสัยว่าคนอื่นใช้ชีวิตยังไงถึงได้ราบรื่น หรืออันที่จริงแล้วมันราบรื่นจริงหรือเปล่า?”

นรเศรษฐ์กล่าวถึงผลงานของเขา

ดินเปื้อนกัมมันตภารังสีจากโรงไฟ้ฟ้านิวเคลียร์ฟุดุชิม่า
ดินเปื้อนกัมมันตภารังสีจากโรงไฟ้ฟ้านิวเคลียร์ฟุดุชิม่า

ในขณะที่ผลงานของนรเศรษฐ์เป็นการนำเสนอความสัมพันธ์ภายในที่ส่งผลลัพธ์ปรากฏออกมาสู่ภายนอก

ผลงานของเรืองศักดิ์กลับเป็นการพูดถึงความสัมพันธ์ของตัวเขาเองและคนรอบข้างกับสิ่งแวดล้อมภายนอกที่ส่งผลกระทบถึงภายใน

โดยผลงานของเขาเป็นชิ้นส่วนอันกระจัดกระจายของสิ่งละอันพันละน้อยจากสถานที่ต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนของอวัยวะสัตว์หายากที่ใช้เป็นยา

เหล่าโบรชัวร์สินค้าอุปโภคบริโภคจากทั่วโลก

อาหารเก่าเก็บที่เขาขอบริจาคจากเพื่อนมาแช่ไว้ในตู้เย็น

ดีวีดีหนังสารคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมบนหิ้ง

ขวดพลาสติกเปื้อนคราบน้ำมันดิบที่รั่วไหลลงทะเล

น้ำที่เก็บมาจากคราวน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554

หรือเศษกระจกจากห้างเซ็นทรัลเวิลด์ที่ถูกไฟไหม้ในวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี 2553

หรือแม้แต่ดินปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองฟูคุชิมา

ซึ่งมองเผินๆ อาจดูสะเปะสะปะไม่ต่างกับของสะสมของนักสะสมสติเฟื่อง

แต่หากมองลงไปให้ลึกเราก็จะเห็นถึงจุดร่วมและความหมายแฝงเร้นของมัน

โดยกุญแจสำคัญนั้นอยู่ที่ภาพผลงานจิตรกรรม The Garden of Earthly Delights (1503-1515) ของ เฮียโรนิมัส บอช (Hieronymus Bosch) ที่เขาทำจำลอง (ในแบบที่ยังวาดไม่เสร็จ) ขึ้นมาติดตั้งในงาน ซึ่งเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นและบทสรุปของงานชุดนี้เลยก็ว่าได้

กระจกแตกของเซ็นทรัลเวิลด์ เรืองศักดิ์
กระจกแตกของเซ็นทรัลเวิลด์ เรืองศักดิ์


“มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ของคนรอบตัวอย่างเพื่อนๆ มันคือสถานการณ์ที่ยากลำบาก ทุกข์ยาก ที่เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าบางส่วนมันเกิดขึ้นจากตัวเราเอง แต่อีกส่วนหนึ่งคือสิ่งที่เราไม่สามารถบังคับได้”

“อย่างตอนที่ผมไปอยู่ญี่ปุ่น เพื่อนผมที่อยู่ที่เมืองมินามิซูม่า ซึ่งอยู่ห่างจากโรงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูคุชิมาไดอิจิ 20 กิโลเมตร เขาไปตรวจร่างกายแล้วพบว่าตัวเองมีสารกัมมันตภาพรังสีอยู่ในเลือดสูงขนาดที่พร้อมจะตายได้เลย ซึ่งมันเกิดจากสิ่งที่เขาควบคุมไม่ได้ เพราะคนที่อยู่ที่นั่นก็ต้องกินอาหารที่นั่น”

“ลองคิดดูว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นยังควบคุมไม่ได้ แล้วประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างบ้านเราจะควบคุมมันได้ยังไง แน่นอน บ้านเราไม่มีอุบัติภัยอย่างแผ่นดินไหว สึนามิบ่อยเท่ากับเขา แต่อุบัติภัยของบ้านเราคือการคอร์รัปชั่น และความรู้ที่ไม่เพียงพอ เราไปหยิบยืมความรู้ของคนอื่นมา แล้วคาดหวังว่าในอนาคตมันจะมีความหวัง”

“เหมือนที่ออพเพนไฮเมอร์บอกกับโลกว่าอนาคตจะสดใสด้วยพลังนิวเคลียร์ แต่สุดท้ายมันก็ไม่ใช่คำตอบจริงๆ นั่นแหละ การที่เราจำลองภาพในอุดมคติของบอช นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของแนวคิดในผลงานแล้ว มันยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า (ในจินตนาการของศิลปิน) โลกมันมีหน้าตายังไงเมื่อสมัย 600 ปีที่แล้ว เราก็นำเสนอภาพของอาหาร ยารักษาโรค การอยู่อาศัย มันเหมือนกับงานชิ้นก่อนหน้าที่เป็นขี้เถ้า ซึ่งจริงๆ มันก็เป็นประเด็นเดียวกัน คือเรามองเรื่องการสูญเสีย สูญสลาย แล้วเราก็สร้างมันขึ้นมาใหม่ในรูปแบบของอนุสรณ์วัตถุ (Monument)”

“อันนี้ก็เหมือนกัน คือเราไม่ยอมปล่อยวาง เราไม่ยอมปล่อยให้มันหายไป เราเก็บน้ำจากตอนน้ำท่วมใหญ่ เก็บกระจกแตกจากตอนไฟไหม้เซ็นทรัลเวิลด์ เก็บดินจากฟูคุชิมาเอาไว้”

“ส่วนภาชนะที่เก็บสิ่งต่างๆ เหล่านี้นอกจากจะเป็นการเก็บรักษาให้มันอยู่ได้นานที่สุดแล้วก็ยังมีการใส่ความหมายแฝงอยู่ด้วย”

“อย่างน้ำที่เก็บมาตอนน้ำท่วม ก็ใส่หลอดแก้วมีขนาด 69 ซ.ม. ซึ่งเท่ากับเวลา 69 ปีของน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในปี 2403 เช่นเดียวกันกับหลอดที่ใส่ดินปนเปื้อนจากฟูคุชิมา ซึ่งมีความยาวอยู่ที่ 121.5 ซ.ม. ซึ่งเท่ากับ 40 ชะกุ เป็นหน่วยวัดความยาวของญี่ปุ่น และเท่ากับระยะเวลา 40 ปีตั้งแต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูคุชิมาเริ่มเปิดจนปิดตัวลงไป”

เรืองศักดิ์กล่าวถึงผลงานของเขา

ภาพจำลองจิตรกรรม The Garden of Earthly Delights เรืองศักดิ์
ภาพจำลองจิตรกรรม The Garden of Earthly Delights เรืองศักดิ์

ศิลปินทั้งสองเปรียบเปรยว่า ถ้าเปรียบนิทรรศการนี้เป็นร่างกาย งานของนรเศรษฐ์ก็คงเป็นเหมือนสมองที่แสดงออกถึงสัญชาตญาณความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ออกมา ในขณะที่งานของเรืองศักดิ์เป็นเหมือนกับผิวหนังที่คอยตรวจจับเชื้อโรค สารพิษ หรือแม้แต่ข่าวสารต่างๆ เข้าไปในร่างกายนั่นเอง

อนึ่ง ชื่อ นิรภูมิ (Notopia) นั้น มีความเชื่อมโยงกับเรื่องราวยูโทเปีย (Utopia) หรือดินแดนในอุดมคติ

“แต่มันไม่ได้เป็นโลกอุดมคติแบบยูโทเปียซึ่งเราคาดหวังจะให้โลกเราเป็น เรามองว่าในโลกที่เราอยู่มันเป็นอย่างที่เราคาดหวังให้มันเป็นแบบนี้หรือเปล่า เราทุกคนอยากให้โลกนี้มันดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่สุดท้ายแล้วมันกลับกลายเป็นเละเทะขนาดนี้ แล้วเราจะแก้มันยังไง ถ้าแก้แล้วมันจะยิ่งเละไปกว่านี้ไหม?”

ศิลปินทั้งคู่กล่าวทิ้งท้ายด้วยคำถามที่ดูเหมือนจะไร้คำตอบ

ซึ่งคนดูอย่างเราคงต้องเป็นคนหาคำตอบกันเอาเองนั้นแหละนะ

น่าเสียดายที่กว่านิตยสารจะวางแผง นิทรรศการก็คงจะจบลงไปแล้ว ก็ได้แต่เล่าสู่กันฟังพอเพลินๆ เล็กๆ น้อยๆ พอเป็นกระษัยไปก็แล้วกัน

คราวหน้าสัญญาว่าจะเขียนให้เร็วกว่านี้นะขอรับ ท่านผู้อ่าน!