ต่างประเทศ : จากวีรบุรุษปลดแอกโคโซโว สู่จำเลยอาชญากรสงคราม

ครั้งหนึ่ง ฮาชิม ธาชี ประธานาธิบดีโคโซโว ในวัย 52 ปี ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งอย่างกะทันหันเมื่อกลางสัปดาห์ก่อน เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษผู้ทำสงครามปลดแอกให้กับชาวแอลเบเนียในโคโซโว ดินแดนบนคาบสมุทรบอลข่าน ให้พ้นจากอำนาจรัฐที่กดขี่ของเซอร์เบีย

แต่มาวันนี้ ธาชีกลายเป็นจำเลยที่กำลังถูกดำเนินคดีโดยศาลพิเศษโคโซโว (เคเอสซี) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ซึ่งรวมถึงการฆาตกรรม ทรมาน การกักขังโดยผิดกฎหมาย และบังคับให้สูญหาย ต่อผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งถูกย้อนการกระทำความผิดไปในช่วงที่ธาชีดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพปลดปล่อยโคโซโว (เคแอลเอ) อันเป็นกองกำลังกบฏของชนชาติพันธุ์แอลเบเนีย ที่ทำสงครามสู้รบเพื่อแบ่งแยกดินแดนโคโซโวออกจากเซอร์เบียระหว่างปี 1998-1999

สงครามแบ่งแยกดินแดนครั้งนั้นส่งผลให้มีประชาชนล้มตายในโคโซโวไปมากกว่า 13,000 คน

ก่อนที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้จะยื่นมือเข้ามาแทรกแซงด้วยปฏิบัติการโจมตีทางอากาศถล่มใส่กองกำลังเซอร์เบีย

กระทั่งสงครามยุติลงด้วยการทำสนธิสัญญาคุมาโนโว โดยกองกำลังเซอร์เบียยินยอมถอนกำลังทหารออกไปจากจังหวัดโคโซโว

และองค์การสหประชาชาติได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาคอยกำกับดูแลดินแดนโคโซโวนับแต่นั้น

สงครามนองเลือดในโคโซโวครั้งนั้น เป็นหนึ่งในสงครามหลายครั้งที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรบอลข่าน ที่ถูกมองว่าเป็นผลผลิตของการล่มสลายของอดีตยูโกสลาเวียและลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ทำให้เกิดรัฐชาติใหม่ซึ่งยังเต็มไปด้วยความอ่อนแอ

 

แต่การทำสงครามต่อสู้แบบกองโจรครั้งนั้น ได้สร้างชื่อให้ธาชีผู้ได้รับฉายาว่า “อสรพิษ” ได้กลายเป็นวีรบุรุษของชาวแอลเบเนียขึ้นมา โดยหลังจากการสู้รบในโคโซโวยุติลง ธาชีได้วางอาวุธและหันมาใส่สูทผูกเน็กไทเดินเข้าสู่วงการเมือง ในฐานะแกนนำปีกการเมืองของกองทัพปลดปล่อยโคโซโวที่มีบทบาทโดดเด่น

ซึ่งครั้งหนึ่งนั้น โจ ไบเดน ที่ยังคงเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในสมัยรัฐบาลบารัค โอบามาในขณะนั้น ยังถึงกับเอ่ยปากเรียกขานธาชีว่าเป็น “จอร์จ วอชิงตัน แห่งโคโซโว” เสียด้วยซ้ำ

ธาชียิ่งได้ใจชาวแอลเบเนียมากยิ่งขึ้น หลังจากเขาชนะการเลือกตั้งในโคโซโวในปี 2007 ซึ่งมีขึ้นหลังการถึงแก่อสัญกรรมของประธานาธิบดีอิบราฮิม รูโกวา ของโคโซโว

โดยในอีก 3 เดือนต่อมา ธาชีได้ประกาศแยกโคโซโวให้เป็นรัฐเอกราชแต่เพียงฝ่ายเดียวในปี 2008 และนั่นทำให้เขาได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของโคโซโวที่กุมอำนาจบริหารมาหลายสมัย

กระทั่งธาชีได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีโคโซโวในปี 2016 แม้ว่าเขาจะถูกนักวิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชั่นก็ตาม

 

การตั้งศาลพิเศษโคโซโวเพื่อไต่สวนคดีก่ออาชญากรรมสงครามในช่วงเกิดสงครามปลดแอกโคโซโว เกิดขึ้นด้วยความสนับสนุนของสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อ 5 ปีก่อน หลังรายงานของคณะมนตรียุโรปชี้ว่านายธาชีและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีกหลายคนมีบทบาทสำคัญในการสังหารพลเรือนชาวเซิร์บ โรมาและชาวแอลเบเนียที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามเกือบ 100 คน โดยมีแรงจูงใจทางการเมือง ในช่วงเวลาที่นายธาชีเป็นผู้บัญชาการกองกำลังเคแอลเอ ต่อสู้กับกองทัพและกองกำลังตำรวจเซอร์เบีย

ในการปรากฏตัวเป็นครั้งแรกต่อศาลพิเศษโคโซโวที่กรุงเฮกเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ธาชีให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

โดยชี้ว่าข้อกล่าวหาที่ฟ้องร้องเขานั้นไร้ซึ่งหลักฐานโดยสิ้นเชิง

ธาชียังยืนยันในความบริสุทธิ์ของตนเอง

ขณะที่ตอกกลับกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศว่ากำลังเขียนประวัติศาสตร์ใหม่บนความขัดแย้ง!

 

ที่ผ่านมามีอดีตผู้นำหลายคนที่มีบทบาทสำคัญในสงครามความขัดแย้งบนคาบสมุทรบอลข่านในช่วงทศวรรษ 1990 ที่สุดท้ายชีวิตต้องมาจบลงที่ศาลพิจารณาคดีอาชญากรรมสงคราม เช่น รัตโก มลาดิช เจ้าของฉายาจอมโหดแห่งบอสเนีย ผู้นำทหารที่ถูกกล่าวหาเป็นอาชญากรสงครามชาวเซิร์บ ถูกจับกุมในปี 2011 หลังหลบหนีคดีไปนานถึง 16 ปี เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมสงครามในเหตุการณ์ที่รวมถึงการฆ่าหมู่ที่เซเบรนิกา

ในปี 2017 มลาดิชถูกตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างอุทธรณ์สู้คดีที่ศาลในกรุงเฮก

อีกรายคือ สโลโบดาน มิโลเซวิช อดีตประธานาธิบดีเซอร์เบีย ถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหารวม 66 กระทง ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ในเหตุการณ์ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และการฆาตกรรมหมู่ในอดีตยูโกสลาเวียที่อยู่ภายใต้การปกครองของมิโลเซวิชยาวนานถึง 13 ปี มิโลเซวิชเสียชีวิตลงขณะถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำในกรุงเฮก ขณะมีอายุได้ 64 ปี

ส่วนธาชีคงต้องต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองต่อไป ซึ่งเชื่อว่ากระบวนการคงดำเนินไปอีกยาว