จิตต์สุภา ฉิน : สิทธิพิเศษทางโซเชียลมีเดีย ของบรรดาผู้นำ

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ช่วงนับคะแนนก่อนการประกาศผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่คะแนนของโดนัลด์ ทรัมป์ และโจ ไบเดน ผลัดกันนำผลัดกันตามอย่างดุเดือด

เราได้เห็นปรากฏการณ์บนโลกทวิตเตอร์ในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

นั่นคือการที่ทวีตกว่าครึ่งหนึ่งของทวีตทั้งหมดที่โดนัลด์ ทรัมป์ เขียนขึ้นภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง ถูกทวิตเตอร์แปะป้ายเตือนความน่าเชื่อถือของข้อมูลเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้คนอ่านหลงเชื่อง่ายๆ

อย่างการทวีตว่า “พวกเรานำไปเยอะมาก แต่พวกนั้นพยายามขโมยการเลือกตั้ง เราจะไม่ยอมปล่อยให้พวกเขาทำแบบนั้น การลงคะแนนไม่สามารถทำได้หลังจากโพลปิดแล้ว”

“ผมจะแถลงข่าวคืนนี้ ชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่!”

ไปจนถึง “ฉันชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ แบบทิ้งห่างด้วย!” ที่ทรัมป์ทวีตตั้งแต่ยังนับคะแนนไม่เสร็จและยังไม่มีการประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ทวิตเตอร์ก็แปะฉลากคำเตือนเอาไว้ใต้ทวีตของทรัมป์เพื่อให้ผู้อ่านได้ใช้วิจารณญาณในการอ่าน

คำเตือนใต้ทวีตของทรัมป์ที่เอ่ยอ้างถึงชัยชนะตั้งแต่ก่อนนับคะแนนเสร็จระบุว่า “ยังไม่มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ”

หรือทวีตที่ทรัมป์กล่าวอ้างว่าเกิดการโกงการเลือกตั้งขึ้น ทวิตเตอร์ก็เขียนคำเตือนเอาไว้ว่า “คำกล่าวอ้างนี้มีหลักฐานโต้แย้ง”

 

ทวิตเตอร์ออกนโยบายนี้มาหลักๆ แล้วก็เพื่อรับมือโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะ ไม่ใช่แค่ช่วงวันเลือกตั้ง แต่ทรัมป์เริ่มทวีตกล่าวหากระบวนการทุจริตเลือกตั้งมาตั้งแต่เมื่อหลายเดือนก่อนแล้ว

คำกล่าวหาส่วนใหญ่เป็นคำกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐานประกอบคำพูดใดๆ

พฤติกรรมนี้มาเห็นได้อย่างเด่นชัดก็ในช่วงเลือกตั้งที่ทวิตเตอร์มือเป็นระวิงติดฉลากเตือนทวีตดุเดือดเลือดพล่านของทรัมป์แทบจะไม่ทัน

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ถ้าหากบริษัทเจ้าของโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์มองว่าสิ่งที่ทรัมป์โพสต์ก่อให้เกิดโทษต่อสังคมได้ แล้วทำไมจึงไม่บังคับใช้กฎในการลบโพสต์ทิ้งไปหรือระงับแอ็กเคาต์เหมือนที่ผู้ใช้งานทั่วๆ ไปมีโอกาสต้องเจอถ้าหากโพสต์ผิดกฎระเบียบของแพลตฟอร์ม?

คนของทวิตเตอร์ให้คำตอบว่า เนื่องจากทรัมป์เป็นผู้นำประเทศ ดังนั้น ประชาชนจึงควรมีสิทธิได้รู้เห็นว่าผู้นำของตัวเองมีความคิดเห็นต่อเรื่องต่างๆ อย่างไรบ้าง

ทวิตเตอร์จึงไม่ปิดกั้นโพสต์ใดก็ตามที่ทรัมป์เขียน ไม่ว่าเนื้อหานั้นจะยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังหรือชักจูงให้เข้าใจผิดแค่ไหนก็ตาม

 

ไม่ใช่แค่ทรัมป์เท่านั้น แต่ทวิตเตอร์ให้สิทธิพิเศษนี้กับผู้นำ ผู้ลงสมัครเลือกตั้ง และผู้มีตำแหน่งทางการเมืองทั่วโลก เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความคิดเห็นของคนเหล่านี้และใช้มาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจได้นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม สิทธิพิเศษที่ทรัมป์ได้รับในครั้งนี้ก็จะอยู่กับเขาถึงวันสุดท้ายของการครองตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเท่านั้น

ทันทีที่ทรัมป์ก้าวขาออกจากทำเนียบขาว ทวิตเตอร์ก็จะมองว่าเขากลายเป็นผู้ใช้งานทั่วไป และไม่สมควรได้รับสิทธิคุ้มครองพิเศษนี้อีกแล้ว

หากเขายังเดินหน้าทวีตสิ่งที่ขัดต่อกฎระเบียบของแพลตฟอร์มอีก โพสต์และแอ็กเคาต์ของเขาก็อาจจะถูกลบหรือระงับการใช้งานได้

ถึงแม้ทวิตเตอร์จะให้สิทธิพิเศษกับผู้นำประเทศ แต่ถ้าใครใช้ช่องทางในมือที่มีอยู่มาทวีตสนับสนุนการก่อการร้าย ขู่คุกคามใช้ความรุนแรง หรือโพสต์ประจาน เผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของคนอื่น ทวิตเตอร์ก็พร้อมลบโดยที่ไม่ต้องให้ความคุ้มครองก็ได้

 

อันที่จริงถ้าลองมาเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียดูบ้าง จะพบว่าเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินใจกันได้ง่ายๆ สักเท่าไหร่

ด้านหนึ่งก็บอกว่า เราต้องคงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล ประชาชนจะต้องมีสิทธิเลือกที่จะเข้าถึงการแสดงความคิดเห็นของผู้นำตัวเองได้

แต่อีกด้านหนึ่งก็โต้แย้งว่า การกระทำอย่างที่ทรัมป์ทำในครั้งนี้ ถือเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของกระบวนการเลือกตั้ง และเป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตย

คนกลุ่มนี้มองว่าทวิตเตอร์ควรจะลบแอ็กเคาต์ของเขาทิ้งไปตั้งนานแล้วด้วยซ้ำ

ทวิตเตอร์ตัดสินใจปล่อยให้ทรัมป์ทวีตอะไรตามใจชอบต่อไปแต่รับผิดชอบต่อสังคมด้วยการแปะคำเตือนเอาไว้

ในขณะที่เฟซบุ๊กเลือกใช้วิธีที่แตกต่างกันออกไป บางโพสต์ของทรัมป์ เฟซบุ๊กก็จะแปะคำเตือนเอาไว้ แต่บางโพสต์เฟซบุ๊กก็เลือกใช้วิธีจำกัดการเข้าถึงของผู้อ่าน ไม่ให้ผู้ติดตามเห็นได้มากเท่ากับโพสต์อื่นๆ ที่ไม่ขัดต่อกฎระเบียบ

แต่ยังไม่มีโซเชียลมีเดียไหนที่ปิดกั้นการเข้าถึงไปอย่างสมบูรณ์แบบเลย

 

เมื่อก้าวขาพ้นตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐไปแล้ว อีกสิทธิพิเศษที่ทรัมป์จะสูญเสียก็คือทวิตเตอร์จะปลดเขาออกจากฐานะ “ผู้น่าติดตาม” ทันที เมื่อทรัมป์กลายสถานะเป็นคนธรรมดาบนทวิตเตอร์ เขาสามารถเลือกได้ว่าจะยอมปรับตัวด้วยการทวีตอะไรที่สุ่มเสี่ยงน้อยลง พูดจาให้มีหลักมีฐาน มีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น หรือจะยอมเลิกเล่นทวิตเตอร์แล้วหันไปหาแพลตฟอร์มอื่นที่ไม่มีกฎข้อบังคับที่เข้มงวดแบบนี้

ส่วนตัวฉันก็เห็นด้วยที่ทวิตเตอร์เลือกใช้วิธีปล่อยให้ทรัมป์พูดแล้วแปะป้ายเตือนเอาว่าสิ่งที่เขาพูดอาจจะไม่มีความจริงอยู่ในนั้นนะ

ฉันว่าทุกวันนี้การที่เราได้อ่านความคิดเห็นงี่เง่าของคนในตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ อย่างไม่มีอะไรมาปิดบังก็เป็นเรื่องดีที่ทำให้เราได้รู้ว่าใครคิดยังไง ใครเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ใครเห็นแก่ตัว ไม่เห็นหัวประชาชน หรือใครหน้ามึนเอาดีเข้าตัวเรื่องชั่วผลักให้คนอื่น

ถึงรู้วันนี้จะยังทำอะไรไม่ได้มาก แต่ฉันเชื่อว่าสักวันที่ลมเปลี่ยนทิศ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะกลายเป็นข้อมูลชั้นดีให้กับเราทุกคน