ในประเทศ : วิพากษ์ 3 ปี “โลกจริง”? ปรองดอง คสช. “ละครอิงกระแส” สร้างความสงบราบเรียบ

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ “คสช.” ที่มีหัวหน้าคณะที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนเดียวกับที่เป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่ได้ควบคุมการบริหารประเทศเข้าสู่ปีที่ 3

และเป็นปีที่ 3 ที่ประเทศต้องตกอยู่ภายใต้ “สถานการณ์พิเศษ” และยังคงต้องอยู่ต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุด “โรดแม็ป” แม้ว่าขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ยืนยันว่าจะจบลงเมื่อไหร่ แต่คาดหมายกันว่า ถ้าไม่เกิดเหตุสะดุดก็อีกราว 16-19 เดือนนับจากนี้

อย่างที่ทราบกันว่า “โจทย์” อันเป็นข้ออ้างสำคัญที่สุดของการเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา

นั่นก็คือ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์

แต่ที่ผ่านมา งานการสร้างความสามัคคีปรองดองมักถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นงานที่มีแต่เปลือก บรรยากาศและรากฐานของการสร้างความปรองดองไม่เคยมีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง

“การปรองดองโดยการต้อนคนแต่ละกลุ่มเข้าให้ความเห็น จึงเป็นความพยายามจูงให้ฝ่ายต่างๆ เข้าคอก หรือจัดระเบียบให้เดินไปในแนวทางที่กองทัพปรารถนาว่าจะต้องถือเป็นการกระชับอำนาจเพิ่มเติมตามเพื่อสถาปนาอำนาจของรัฐทหารให้สืบทอดต่อไปได้”

คนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว ณ วันนี้ วันที่ คสช. เข้าบริหารประเทศครบ 3 ปี ก็ยังยืนความเห็นเดิม

เพราะในฐานะนักสังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของ “สุณัย ผาสุข” ที่ปรึกษาฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ประจำประเทศไทย ก็ยังมองเห็นว่า งานการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของ คสช. เป็นเพียง “การเล่นละคร” ฉากหนึ่งเท่านั้น

และยังเป็นละครที่เล่นอิงอยู่กับกระแสด้วย โดยที่หลักการพื้นฐานในการสร้างความปรองดองยังไม่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างเป็นจริงเป็นจัง ขณะที่เนื้อหาสาระในการบริหารอำนาจกับขั้วการเมืองของ คสช. ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาก็ยังเป็นวิธีคิดและวิธีการของระบบอำนาจนิยมไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ ความหมายของการสร้างความปรองดองอย่างแท้จริง ในมุมมองของที่ปรึกษาฮิวแมน ไรท์ วอทช์ นั้น จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับสภาพความเป็นจริงว่า ทุกๆ สังคมย่อมมีความแตกต่างหลากหลาย คนแต่ละกลุ่มสามารถมีความเชื่อแตกต่างกัน

โดยสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และเคารพซึ่งกันและกันได้

แต่สิ่งที่ปรากฏขึ้นหลัง 22 พฤษภาคม 2557 ในสายตาของคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน อย่าง “สุณัย” กลับเห็นเป็นอื่นเกือบทั้งหมด เพราะ คสช. ยังไม่เคยทำให้แต่ละฝ่ายที่มีความคิดแตกต่างกัน เคารพซึ่งกันและกัน และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติเลย

เห็นได้จากความพยายามของ คสช. ที่จะสถาปนาอำนาจที่โน้มเอียงไปยังขั้วการเมืองหนึ่ง โดยปิดปากอีกขั้วการเมืองหนึ่ง

โดยเฉพาะเสียงทางการเมืองที่เป็นขั้วตรงข้ามให้ไม่เหลือพื้นที่ในการแสดงความคิดความเห็นอยู่เลย เมื่อเทียบกับขั้วการเมืองฟาก “อนุรักษนิยม” ที่ คสช. ยังเปิดพื้นที่ให้บ้าง

ทั้งนี้ หากย้อนเหตุการณ์กลับไปในช่วงกลางดึกวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 หรือ 2 วันก่อนยึดอำนาจ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ “กอ.รส” ขึ้นก่อนที่จะประกาศกฎอัยการศึก

ในวันนั้น ถือเป็นการสะท้อนวิธีคิดแบบทหารของผู้นำ คสช. ได้อย่างเด่นชัด ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิธีคิดตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิงด้วย

โดยเฉพาะการมองว่า เสียงหรือความเห็นต่างคือความไม่สงบ เป็นความขัดแย้งนั่นเอง

เห็นได้จากความพยายามในการไล่ปิดวิทยุชุมชนจำนวนมาก

และเมื่อสามารถยึดอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว ยังมีการจัดสร้างโครงการที่ประดิษฐ์ถ้อยคำว่า “ปรับทัศนคติ” ขึ้นมาดำเนินการกับคนเห็นต่าง บังคับใจคนจำนวนมากให้ยอมรับ คสช. ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ โดยปราศจากเงื่อนไขของการตั้งคำถาม ปราศจากการโต้แย้งวิพากษ์วิจารณ์

อีกทั้งยังใช้อำนาจโดยออกคำสั่ง คสช. ที่ยึดโยงอยู่กับมาตรา 44 จำนวนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกคำสั่งห้ามวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล การจำกัดกิจกรรมของสื่อมวลชนด้วยการวางกฎว่า สามารถเสนอเรื่องอะไรได้บ้าง ห้ามเขียนบทความแบบไหน

อย่างล่าสุด เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก็มีการใช้อำนาจกดดันกระทั่งสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งต้องเปลี่ยนรูปแบบในการนำเสนอไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นสถานีข่าวปลอดการเมืองไป

 


“สภาพดังกล่าวได้ดำเนินมาต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปีแล้ว การอ้างเหตุที่ว่า เพราะมีการประท้วง และเกิดเหตุรุนแรง จึงต้องยึดอำนาจเพื่อสร้างความปรองดอง ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นถือเป็นเครื่องสะท้อนได้ดีว่า ข้ออ้างที่จะเข้ามาสร้างความปรองดองมันเท่ากับความพยายามในการปิดปากไม่ให้เสียงทางการเมืองสามารถเปล่งออกมาได้” นายสุณัยระบุ

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จึงถือเป็นการสร้างความสงบราบเรียบแค่ในฉากหน้า ส่วนเชื้อไฟของความขัดแย้งในสังคมไทยกลับถูกซุกไว้ใต้พรม โดยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขแม้แต่น้อย

ด้วยเหตุดังกล่าว “สุณัย” จึงไม่รู้สึกแปลกใจที่จะรู้สึกว่า คสช. จะทำงานปรองดองได้เพียงแค่การจัดประชุมรับฟังความเห็นเป็นครั้งเป็นคราว โดยนำสโลแกนเรื่องความปรองดองมาใช้เพื่อต้อนฝ่ายต่างๆ ให้มานำเสนอความคิดเห็นเท่านั้น

อย่างล่าสุด ก็มาในนามของ “ป.ย.ป.” ที่นำคำว่าปรองดองมาใช้เป็นยี่ห้อ แต่สาระเป็นเพียงแค่การเล่นละครอิงกระแส

เป็นการอิงอยู่กับกระแสที่ “สุณัย” เปรียบเสมือนเป็นไฟไหม้ฟาง

เพราะทันทีที่ถูกสังคมทักท้วงในคำสัญญาที่เคยบอกว่า จะมาเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองก็จะตื่นเต้นขึ้นทีหนึ่ง และเมื่อเวลาผ่านไปก็เงียบหายไปเหมือนกับหลายๆ เวทีก่อนหน้านี้ที่แม้ความเห็นต่างๆ จะถูกนำมาประมวล

แต่ที่สุดก็ไม่เคยถูกนำไปขับเคลื่อนพาสังคมไปสู่ความปรองดองอย่างแท้จริงได้เลยแม้แต่น้อย