ต่างประเทศ : จาก “ทรัมป์” สู่ “ไบเดน” แรงกระเพื่อมจากโลกสู่ไทย

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้รับการยืนยันผู้ชนะแล้ว นั่นก็คือ โจ ไบเดน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต ที่ได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งทะลุเส้นชัยที่ 270 คะแนนไปไกล

และทิ้งห่างคู่แข่งอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกันไปแบบไม่เห็นฝุ่น

ไม่ว่าผู้มีสิทธิลงคะแนนชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะเลือกไบเดนด้วยเหตุผลอะไร บ้างอาจเพียงแค่เบื่อกับความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของทรัมป์

บ้างอาจเป็นห่วงสถานการณ์ประชาธิปไตยของประเทศ

ขณะที่บางส่วนอาจมองไปถึงอนาคตของประเทศที่ยังมีความหวัง

สิ่งที่จะเปลี่ยนไปแน่นอนก็คือนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการต่อต้านการรับผู้อพยพ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการปฏิเสธการมีอยู่ของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไบเดนจะสร้างภาพลักษณ์ของสหรัฐอเมริกาในเวทีโลกขึ้นใหม่ ทั้งด้านการทูต การค้าการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคู่แข่งสำคัญอย่างจีน

อย่างไรก็ตาม สิ่งแรกที่ไบเดนจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงให้กับสหรัฐอเมริกา ก็คือการจัดการกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เวลานี้สหรัฐอเมริกากำลังได้รับผลกระทบที่หนักหนาสาหัสที่สุดในโลก ด้วยยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อทะลุ 10 ล้านคน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตทะลุ 240,000 คนไปแล้ว

แต่คำถามก็คือ การเข้ามาของไบเดนจะทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและจะมีผลกระทบอะไรมาถึงประเทศไทยบ้าง?

 

นับตั้งแต่เริ่มต้นการหาเสียง ไบเดนวางตัวเองไว้ว่าเป็นทางเลือกที่สนับสนุนหลักการทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่โดนัลด์ ทรัมป์ มองว่าเป็น “เรื่องโกหก” แต่ในยุคประธานาธิบดีไบเดนจะถูกมองเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ

ใน 4 ปีข้างหน้า ไบเดนจะผลักดันอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดอย่างจริงจัง ลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล

จะมีการกำหนดข้อบังคับเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจะนำสหรัฐกลับมาเป็นผู้นำที่มีความน่าเชื่อถือและมีอิทธิพลในนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศระดับโลก

เช่น การนำสหรัฐกลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีส ข้อตกลงกับประชาคมโลกในการลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก

นโยบายต่างๆ นั้นจะอยู่ในแผนการลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้ามูลค่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐด้วย

การวางระเบียบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในยุคของไบเดน แม้จะทำให้เกิดต้นทุนในการผลิตในภาคพลังงานเพิ่มขึ้น นำไปสู่ราคาพลังงานที่แพงขึ้น แต่ในระยะยาวจะนำไปสู่การพัฒนาพลังงานสะอาด รวมไปถึงการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต่อไปในอนาคต

สำหรับในแง่การค้าการลงทุนในระดับโลก ภายใต้การบริหารงานของไบเดน บรรยากาศตึงเครียดที่กลายเป็น “สงครามการค้า” ในยุคประธานาธิบดีทรัมป์จะผ่อนคลายลง

อย่างไรก็ตาม นโยบายการค้าระหว่างประเทศระหว่างไบเดนและทรัมป์ก็ไม่ได้แตกต่างกันสุดขั้ว จีนยังคงเป็นศัตรูอันดับหนึ่งของสหรัฐต่อไป

 

แนวนโยบายของไบเดนมีแนวคิดในการใช้กรอบความร่วมมือแบบ “พหุภาคี” โดยสหรัฐจะหันไปใช้กรอบความร่วมมือต่างๆ กดดันทางการค้ากับจีน โดยเฉพาะการกลับมาใช้ข้อตกลงยุทธศาสตร์ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก (TPP) กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้เริ่มต้นเอาไว้อีกครั้ง

การกลับเข้าสู่ TPP อีกครั้งของสหรัฐจะทำให้ไทยต้องหันกลับมามองการเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือนี้อย่างจริงจัง

ทรัมป์เคยประกาศนำสหรัฐถอนตัวจาก TPP ไปจนก่อเกิดเป็นความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่กลายเป็นที่ถกเถียงถึงข้อดีข้อเสียไปก่อนหน้านี้ และดูเหมือนจะได้ข้อสรุปว่าไม่คุ้มค่าเพราะมีเพียงเม็กซิโกและแคนาดาเท่านั้นที่ไทยไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย หลังจากนั้นประเด็น CPTPP ก็จางหายไป พร้อมกับวิกฤตทางการเมืองในประเทศ

การที่ไบเดนนำสหรัฐกลับสู่ TPP นั้นทำให้ไทยต้องคิดหนัก เพราะหากไทยตกขบวน ไม่เพียงแต่สินค้าไทยจะสูญเสียโอกาสจากตลาดเสรีในประเทศสมาชิก

แต่อาจทำให้ไทยเสี่ยงที่จะสูญเสียการลงทุนจากต่างชาติที่อาจพากันย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่เข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือ TPP อยู่แล้ว และยังมีเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปอยู่แล้วอย่าง “เวียดนาม” เป็นต้น

การนำไทยเข้าไปอยู่ในกรอบความร่วมมือ TPP จะทำให้ไทยได้ประโยชน์มหาศาลเนื่องจากไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา คิดเป็นมูลค่าถึงปีละ 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนถึง 12.7 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด โดยสหรัฐเป็นตลาดเดียวที่มีการขยายตัวมากถึง 11.8 เปอร์เซ็นต์

สวนทางกับภาพรวมการส่งออกไทยที่อยู่ในขั้นติดลบ

 

ผลประโยชน์จากการเข้าร่วม TPP นั้นมากมายมหาศาลมากกว่าการได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร GSP ที่สินค้าไทยเพิ่งจะโดนตัดสิทธิเพิ่มเติมไปอีกราว 200 รายการ หรือราว 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐก่อนหน้านี้

เนื่องจากว่าสิทธิ GSP เป็นสิทธิพิเศษทางภาษีที่สหรัฐอเมริกาให้กับประเทศกำลังพัฒนา และไทยที่มีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็มีแนวโน้มที่จะถูกเพิ่มเงื่อนไขต่างๆ เพื่อจำกัดสิทธิ GSP สินค้าไทยที่เหลือกว่า 2,400 รายการเพิ่มเติมได้อีกในอนาคต

ขณะที่หากเทียบสัดส่วนสินค้าไทยที่ได้สิทธิ GSP นั้นคิดเป็นมูลค่าราว 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 10 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐทั้งหมดเท่านั้นเอง

ดังนั้น การเข้าสู่ตำแหน่งของไบเดน ไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก เปลี่ยนบรรยากาศการค้าการลงทุนระดับนานาชาติเท่านั้น

แต่ยังส่งผลมาถึงไทยที่อาจเป็นการชี้ชะตาอนาคตเศรษฐกิจของประเทศเลยก็เป็นได้