ตรรกะย้อนแย้งยื่นเองร้องเอง ส.ว.เปิดเกมยื้อแก้รัฐธรรมนูญ ระวังเติมน้ำมันบนกองไฟ

ชุมนุมใหญ่ ชุมนุมย่อยกันมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนเพื่อแสดงพลังของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ภายใต้ชื่อ “ราษฎร” เพื่อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ

1. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ

และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

จนเป็นเหตุให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกแถลงการณ์ถอยคนละก้าว และส่งสัญญาณไปยังรัฐสภา ไฟเขียวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ…

กระทั่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านได้รับการยอมรับ เปิดทางให้มีการแก้ไขมาตรา 256 และตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งมาเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่แตะหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 ว่าด้วยบททั่วไป และหมวดพระมหากษัตริย์

ในขณะที่รัฐสภามีท่าทีที่ดีที่จะรอร่างของไอลอว์ เพื่อบรรจุวาระเข้าพิจารณาพร้อมกันในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ในการประชุมร่วมรัฐสภา

ซึ่งเหมือนจะเป็นการถอยคนละก้าวตามที่นายกฯ ได้บอกไว้ เพราะได้ปฏิบัติตาม 1 ในข้อเรียกร้องของ “ราษฎร”

แต่อยู่ๆ ส.ว.กลุ่มหนึ่งออกมาเดินเกมล่าชื่อ ยื่นญัตติตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดว่า ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับที่พรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอนั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยเฉพาะในญัตติที่เสนอให้แก้ไขมาตรา 256 ที่ยังมีความเห็นต่าง มีข้อสงสัยทางกฎหมายกันอยู่ว่า จะต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนที่รัฐสภาจะโหวตรับหลักการหรือไม่ เพราะซีก ส.ว.ยังยืนยันว่า เจตนาของมาตรานี้คือให้แก้ไขรายมาตรา แต่เนื้อหาในญัตติที่ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอนั้น ถือเป็นการแก้ไขให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.เพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่การแก้ไข

ดังนั้น เมื่อยังมีข้อสงสัย การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดคือทางที่ปลอดภัยที่สุด เป็นคำกล่าวของนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ 1 ในสมาชิก ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อ ที่กล่าวไว้เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ก่อน

ทันทีที่ ส.ว.ขยับ ส.ส.ฝั่งรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ กลับเด้งรับ และไปร่วมลงชื่อด้วยทันที ทำให้มี ส.ว. และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐร่วมลงชื่อ 72 คน

ประกอบไปด้วย ส.ว. 47 คน

1.นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ 2.นายออน กาจกระโทก 3.นางดวงพร รอดพยาธิ์ 4.นายไพฑูรย์ หลิมวัฒนา 5.นางจินตนา ชัยยวรรณาการ 6.นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม 7.นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน 8.พ.ต.อ.ยุทธกร วงเวียน 9.นายพิทักษ์ ไชยเจริญ 10.นางจิรดา สงฆ์ประชา 11.นายกิตติ วะสีนนท์ 12.นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ 13.นายสวัสดิ์ สมัครพงศ์ 14.ว่าที่ร้อยตรี เชิดศักดิ์ จำปาเทศ 15.นายธานี สุโชดายน 16.นายจเด็จ อินสว่าง 17.พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ 18.พล.อ.บุญธรรม โอริส 19.นายปัญญา งานเลิศ 20.นายศรีศักดิ์ วัฒนพรมงคล

21.นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร 22.น.ส.วิไลลักษณ์ อรินทมะพงษ์ 23.นายทวีวงษ์ จุลกมนตรี 24.นายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ 25.นายสำราญ ครรชิต 26.นายศักดิ์ไทย สุรกิจบวร 27.นายสมเดช นิลพันธุ์ 28.นายประดิษฐ์ เหลืองอร่าม 29.นายประมาณ สว่างญาติ 30.นายไพโรจน์ พ่วงทอง

31.นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ 32.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ 33.นายภาณุ อุทัยรัตน์ 34.นายสัญชัย จุลมนต์ 35.นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ 36.นายวิชัย ทิตตภักดี 37.นายอนุศักดิ์ คงมาลัย 38.นายนิพนธ์ นาคสมภพ 39.นายสมชาย เสียงหลาย 40.นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา

41.พล.อ.นิวัตร มีนะโยธิน 42.นายวิรัตน์ เกสสมบูรณ์ 43.นางกอบกุล อาภากร ณ อยุธยา 44.นายถาวร เทพวิมลเพชรกุล 45.นายสมชาย ชาญณรงค์กุล 46.นายจิรชัย มูลทองโร่ย

และ 47.นายชาญวิทย์ ผลชีวิน

ส่วน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 25 คน ประกอบด้วย 1.นายสมพงษ์ โสภณ ส.ส.ระยอง 2.นายธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี 3.นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส 4.นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย 5.นายยงยุทธ สุวรรณบุตร ส.ส.สมุทรปราการ 6.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 7.นายสาธิต อุ๋ยตระกูล ส.ส.เพชรบุรี 8.นายประสิทธิ์ มะหะหมัด ส.ส.กทม. 9.นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา 10.พ.ต.ท.นภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี

11.นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก ส.ส.สมุทรปราการ 12.นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ 13.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 14.นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง ส.ส.สุโขทัย 15.นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 16.นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช 17.นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา 18.นายประทวน สุทธิอำนวยเดช ส.ส.ลพบุรี 19.นายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี 20.นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี

21.นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช 22.นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 23.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก 24.น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.กทม. 25.นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์

และ 21 คน ใน 25 ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้ลงชื่อร่วมในการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในร่างของรัฐบาล

จนเป็นเหตุให้ถูกจับตาว่าการร่วมลงชื่อครั้งนี้เป็นการย้อนแย้ง

“ย้อนแย้ง” เพราะเป็นผู้เสนอให้แก้เอง แล้วกลับมาเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จนเป็นเหตุให้หลายฝ่ายมองว่านี่เป็นเกมยื้อหรือมีใบสั่งจากรัฐบาลหรือไม่

หากเป็นเช่นนั้นยิ่งย้อนแย้งไปกันใหญ่ เมื่อนายกฯ ให้ไฟเขียวเอง แต่จะกลับมาเบรกเอง หรือเป็นแค่บางกลุ่มบางฝ่ายต้องการที่จะกอดอำนาจเอาไว้ให้ได้นานที่สุด

จนล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งการ และมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไปจัดการเรื่อง ส.ส.ร่วมลงชื่อ เพราะอาจกระทบกับรัฐบาลได้

ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เจ้าของญัตติเพื่อให้รัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 3 ฉบับที่ให้มีการแก้ไขมาตรา 256 และตั้ง ส.ส.ร.เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยนายไพบูลย์บอกว่าเพิ่งเห็นปัญหา และต้องทำให้เกิดความชัดเจน โดยให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยตัดสิน แต่ไม่ได้มีเจตนาเตะถ่วงแต่อย่างใด

และที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับมติเสียงข้างมากในรัฐสภาว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

แม้จะดาหน้ากันออกมายืนยันว่าการยื่นตีความไม่มีใบสั่ง แต่เหตุไฉนพรรคพลังประชารัฐเตรียมการประสานวิปรัฐบาลชะลอการพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะยกเหตุผลว่าศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว ทั้งที่ยังไม่มีมติยื่นศาลด้วยซ้ำ

หากเป็นเช่นนั้นจริง รับประกันได้ว่างานนี้ยิ่งเป็นการราดน้ำมันลงบนกองไฟ กวักมือเรียกม็อบไปเยี่ยมที่ “สัปปายะสภาสถาน” เป็นแน่

เพราะลำพังการแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้เวลา 1-2 ปี กว่าจะแล้วเสร็จ แต่หากยื้อเวลาออกไปอีกยิ่งแสดงถึงความไม่จริงใจในการรับเงื่อนไขผู้ชุมนุม

เพราะหากมีการยุบสภาในระหว่างทางนี้ เลือกตั้งกลับมาใหม่อีกครั้ง นายกฯ ก็ยังเป็นลุงตู่หน้าเดิม เพราะ 250 ส.ว.ยังอยู่ที่เดิมและยังมีอำนาจอยู่ในมือตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิม…