ทดลองด่าน “เป่าเมา” ล้างทุจริต “หยิบสด” โปร่งใส-ไฮเทค-สากล

“เซ็ตซีโร่ จุดตรวจ จุดสกัด ด่านเป่าเมา ยกเลิกไปก่อน ไม่ใช่ยกเลิกไปตลอด ในเมื่อยังมีการร้องเรียน ยังมีการถูกกล่าวหา ผิด ไม่ผิดเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ายังมีอยู่แสดงว่าเป็นจุดอ่อน ต้องไปจัดการให้เรียบร้อย แล้วค่อยมาทำกันใหม่”

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ประกาศเซ็ตซีโร่การตั้งด่านระหว่างมอบนโยบายให้กับข้าราชการตำรวจระดับผู้บังคับการ (ผบก.) ขึ้นไป รวม 496 นาย เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา

วันนั้น พล.ต.อ.สุวัฒน์บอกด้วยว่า ทำอย่างไรให้ประชาชนรู้ว่าสิทธิของเขาคืออะไรบ้าง เวลาเจอด่านตรวจ

ยกตัวอย่างเช่น คิดว่าไม่ควรยอมให้ตำรวจสายตรวจ 2 คนจับคนตรวจปัสสาวะกลางถนน มันไม่ควรเป็นแบบนั้น ถ้าเห็นว่าควรถูกตรวจ ก็ต้องพาไปโรงพัก ด่านใดที่เป็นด่านถูกต้องถาวรจริงๆ ประชาชนควรต้องรู้ว่าขั้นตอนการเข้าสู่กระบวนการถูกตรวจสอบเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเขาต้องถูกตรวจปัสสาวะ หรือเป่าเมา ต้องอ่านเอกสารอะไร เซ็นอะไร อะไรที่จะทำให้เขามั่นใจว่าไม่ถูกโกง

ปรากฏว่าการให้นโยบายครั้งนั้นสร้างความคลุมเครืออยู่พักใหญ่ มีทั้งผู้หนุนและผู้ค้าน

โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกด่าน เกรงว่าจะเกิดปัญหาเด็กแว้นป่วนเมือง รวมไปถึงบรรดาสิงห์ขี้เมาจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

ผ่านไปกว่า 1 เดือน ผบ.ตร.พร้อมทีมงานได้ตกตะกอนทางความคิด จนได้แนวทางการปฏิบัติการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์

ชูจุดเด่น ต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ใช้เทคโนโลยี และเป็นมาตรฐานสากล

4พฤศจิกายนที่ผ่านมา พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. พร้อมด้วยเลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันทดลองตั้งจุดตรวจที่บริเวณหน้า สน.ทองหล่อ ซึ่งถือเป็นพื้นที่นำร่องของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.)

กำหนดหลักการและแนวทางในการตั้งจุดตรวจ 7 ข้อ

1. ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ระดับ ผบก.ขึ้นไป

2. ต้องมีแผนการปฏิบัติที่ชัดเจน

3. ต้องมีป้ายแสดงถึงมาตรฐานการตรวจวัดแอลกอฮอล์ตั้งไว้บริเวณใกล้โต๊ะตรวจวัดฯ ในลักษณะที่มองเห็นได้ชัดเจน

4. การกำหนดสถานที่ตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ ต้องกำหนดมาจากข้อมูลผู้กระทำความผิดเมาแล้วขับในเขตพื้นที่, สถิติการเกิดอุบัติเหตุ สาเหตุมาจากเมาแล้วขับ, สภาพพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำความผิดเมาแล้วขับ การมีสถานบริการ สถานที่จำหน่ายสุรา โดยรอบบริเวณจุดตรวจ

5. จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ต้องมีแผงกั้นที่มีเครื่องหมายการจราจรว่า “หยุดตรวจ” โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่จุดตรวจ และในเวลากลางคืนจะต้องมีแสงไฟส่องสว่างให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร และก่อนถึงจุดตรวจให้มีแผ่นป้ายแสดงยศ ชื่อ นามสกุล และตำแหน่งของหัวหน้าด่านตรวจ หรือจุดตรวจดังกล่าว

6. การสื่อสารกับประชาชนในการบังคับใช้กฎหมาย ต้องมีการอธิบายข้อกฎหมายให้ผู้กระทำผิดเข้าใจข้อกล่าวหา โดยใช้กิริยาวาจาที่สุภาพ

7. การตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ให้ปฏิบัติตามมาตรการการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจและจุดสกัด ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เคยสั่งการไว้อย่างเคร่งครัด

รวมทั้งสาธิตการตั้งจุดตรวจ และซักซ้อมแผนเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในด่านตรวจ

โดยเริ่มตั้งแต่การตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ที่ขับรถผ่านด่านตรวจ ไปจนถึงพบบุคคลขัดขืนการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ การพบอาวุธและสิ่งผิดกฎหมายในรถยนต์ การพบรถต้องสงสัยขนยาเสพติดเข้ามาในพื้นที่จะมีการปิดกั้นกันหลบหนีและเรียกตรวจ ซึ่งตำรวจที่ปฏิบัติงานจะปฏิบัติตามแผนการที่เตรียมไว้

มีรูปแบบการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ของสถานีตำรวจจะแบ่งเป็น 3 ขนาดคือ สถานีตำรวจขนาดใหญ่ ใช้กำลัง 12 นาย สถานีตำรวจขนาดกลาง ใช้กำลัง 9 นาย สถานีตำรวจขนาดเล็ก ใช้กำลัง 7 นาย โดยขนาดของด่านตรวจขึ้นอยู่กับพื้นที่และสถานีตำรวจที่รับผิดชอบจะนำไปปรับใช้

พล.ต.อ.มนูกล่าวว่า ด่านตรวจทุกขนาด จะต้องมีกล้องวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์เพื่อความโปร่งใสตลอดเวลา การตั้งกล้องวงจรปิดนั้นตำรวจสามารถตรวจสอบประชาชนได้ และประชาชนก็สามารถตรวจสอบการทำงานของตำรวจได้เช่นกัน อีกทั้งประชาชนก็มีสิทธิที่จะใช้มือถือบันทึกภาพการตรวจค้นได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การบันทึกภาพสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ 3 วัน เพื่อความโปร่งใสในการทำหน้าที่

และหากประชาชนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถโทร.ร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1559

ด้าน พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์กล่าวว่า หลังจากได้ทดลองตั้งจุดตรวจ ส่วนตัวมองว่าเป็นที่น่าพอใจ เพราะมีมาตรฐาน มีกล้องวิดีโอบันทึกในด่าน และเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถถ่ายภาพเจ้าหน้าที่ได้ โดยขณะนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ ผบ.ตร. ยังไม่ได้อนุมัติแนวทางในการตั้งด่าน อยู่ระหว่างสั่งการให้ทำคลิปขั้นตอนการปฏิบัติเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบชัดเจนเพื่อรับฟังเสียงสะท้อน และประเมินผลให้ประชาชนเห็นความโปร่งใส ตรวจสอบได้

“นอกจากนี้ ยังเปิดรับฟังความเห็นจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและความเห็นจากภาคีเครือข่ายด้านการลดอุบัติเหตุ อาทิ มูลนิธิเมาไม่ขับ ซึ่งภาคีเครือข่ายเห็นด้วยกับแนวทางการปฏิบัติตามที่ได้ทดลองตั้งด่านและเร่งรัดให้ตำรวจออกมาตรการตั้งด่านโดยเร็ว เพราะเมื่อคนรู้ว่าไม่มีการตั้งด่าน ก็เริ่มไม่ดูแลตัวเอง ซึ่งตอนนี้การตั้งด่านเมาต่างๆ มีผลต่อการควบคุมไม่ให้คนเมาแล้วขับ หากเราไม่ตั้งเลยก็ต้องโดนฝ่ายลดอุบัติเหตุโดยตรงโจมตีได้ เพราะคนที่ไม่ได้ดื่มก็อยากให้กวดขันจับกุม” รอง ผบ.ตร.กล่าว

อย่างไรก็ตาม แนวทางตั้งด่านที่เป็นมาตรฐานจะพยายามให้เสร็จก่อนปีใหม่ 2564 เพราะเป็นเทศกาลเฉลิมฉลอง จะช่วยให้ยอดอุบัติเหตุลดลง

แม้หลักการตั้งด่านที่ทดลองจะยังไม่สะเด็ดน้ำ แต่คาดว่ารูปแบบคงไม่เปลี่ยนไปจากนี้มากนัก

เป็นอีกบทพิสูจน์ ผบ.ตร.ป้ายแดง จะแก้ปัญหาทุจริตหยิบสดในด่านตำรวจได้มากน้อยแค่ไหน