เปิดข้อเท็จจริง “แนวบังเกอร์ขวางม็อบ” กับ “แผนฟื้นฟู ขสมก.” คนละเรื่องเดียวกัน

การชุมนุมของกลุ่มราษฎรเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มตั้งต้น ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปยังจุดหมายคือบริเวณสำนักพระราชวัง เพื่อรวบรวมจดหมายของผู้ชุมนุมถวายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ตามเจตนารมณ์ข้อ 3 ที่เหมือนกลายเป็นธงหลักในการชุมนุม นั่นคือ “การปฏิรูปสถาบันให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ”

แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า สุดท้ายกลุ่มผู้ชุมนุมสามารถเดินทางไปได้แค่ศาลหลักเมือง ก่อนที่จะอ่านแถลงการณ์และยุติการชุมนุมไปในช่วง 21.00 น.

ซึ่งอุปสรรคที่ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถไปถึงเป้าหมายได้ก็คือการตรึงกำลังเป็นกำแพงมนุษย์ขวางทาง โดยเป็นกำลังจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ซึ่งมีการระดมกำลังตำรวจมากถึง 59 กองร้อย หรือ 9,145 นาย เพื่อมาควบคุมสถานการณ์โดยเฉพาะ พร้อมกำลังทหารในชุดสีเหลืองหรือที่เรียกเป็นศัพท์ในหมู่ผู้ชุมนุมว่า “มินเนี่ยน” เป็นแนวหลังของตำรวจ

โดยนอกจากกำลังมนุษย์แล้ว ยังมีตัวช่วยอย่างรถฉีดน้ำแรงดันสูง ลวดหนามหีบเพลง

และรถเมล์ร้อนครีม-แดงขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

ซึ่งมีรายงานว่า ทาง บช.น.ทำเรื่องขอมายัง ขสมก.สำหรับใช้ในการสกัดม็อบถึง 55 คันเลยทีเดียว

และทาง ขสมก.ก็อนุมัติให้นำรถเมล์ร้อนทั้ง 55 คันไปใช้ในภารกิจดังกล่าวด้วย

เรื่องนี้ทำเอานายบุญมา ป๋งมา ประธานสหภาพแรงงาน ขสมก. เอ่ยปากว่า ทางสหภาพไม่เห็นด้วย และได้ทำหนังสือถึงนายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผอ.ขสมก. และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมแล้ว เนื่องจาก ขสมก.เป็นรัฐวิสาหกิจ มีวัตถุประสงค์ในการรับขนคนโดยสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และอาจจะทำให้ประชาชนหลงเชื่อหรือเข้าใจผิดว่า ขสมก.เข้าร่วมกับฝ่ายการเมือง วางตัวไม่เป็นกลาง ทำให้เสียภาพลักษณ์ ผิดวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง

และที่ผ่านมาทำให้รถเมล์ ขสมก.ได้รับความเสียหาย และขาดรายได้

และเมื่อการชุมนุมรอบที่แล้วเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 มีรถเมล์ที่นำไปทำแนวบังเกอร์ได้รับความเสียหาย บางคันกระจกบังลมหน้าแตกเสียหาย และบางคันมีความเสียหายเล็กน้อย เช่น สีถลอก

นอกจากนี้ ในช่วงที่นำรถไปปิดการจราจรประมาณ 44 คันในครั้งดังกล่าว ขสมก.ยังต้องแบกรับภาระจากค่าเหมาซ่อมวันละกว่า 1,000 บาท ค่าจีพีเอสประมาณวันละ 70 บาท ค่าปรับจากการติดตั้งค่าโฆษณาบนรถเมล์ และค่าแรงพนักงานที่ต้องไปประจำดูแลรถเมล์

ซึ่งล่าสุดมีรถเมล์ได้รับความเสียหาย 3 คัน ความเสียหายเป็นเรื่องกระจกแตกหลายบาน โดยมีกระจกบังลมหน้าแตก 1 คัน ราคาประมาณ 10,000 บาท กระจกหลังแตก 1 คัน ราคาประมาณ 4,000 บาท กระจกข้างแตกทั้ง 3 คัน คันละหลายบาน ราคาบานละ 800 บาท ซึ่งยังต้องรอสรุปจำนวนกระจกข้างที่เสียหาย

แต่มูลค่าความเสียหายทางกายภาพโดยรวมไม่ต่ำกว่า 14,800 บาทต่อคัน

และความเสียหายดังกล่าว ยังไม่รวมค่าเสียหายจากการขาดรายได้กรณีไม่ได้นำรถไปให้บริการประชาชน

คําถามหนึ่งที่ดังระงมหลังปรากฏการณ์ดังที่กล่าวมาคือ การที่เอารถเมล์ร้อนมาใช้แบบนี้ เหมือนว่ารัฐบาลไม่เห็นคุณค่าในการพัฒนาขนส่งสาธารณะหรือเปล่า

เพราะรถเมล์ร้อนถือเป็นรถโดยสารขวัญใจคนยาก ด้วยราคาที่ถูกที่สุดเพียง 8 บาทตลอดสาย

และบางสายทางมีบริการวิ่งกะดึก ซึ่งมีพนักงานและแรงงานกะกลางคืนใช้บริการอยู่ไม่น้อย ขณะที่รถเมล์ประเภทอื่นๆ ส่วนใหญ่จะวิ่งถึงแค่ 23.30 น.เท่านั้น

และต้องยอมรับว่า สภาพของรถเมล์ครีม-แดงที่วิ่งให้บริการในปัจจุบันล้วนเป็นรถเมล์เก่าที่จัดซื้อมาตั้งแต่ปี 2534 ผ่านกาลเวลาถึง 30 ปีแล้ว ที่ผ่านมามักจะซ่อมไปตามสภาพเสียส่วนใหญ่

โดยรถเมล์ครีม-แดงที่จัดซื้อในปีนั้นอยู่ที่ 2,040 คัน เหลือวิ่งจริงถึงปัจจุบัน 1,520 คัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าที่ผ่านมารัฐบาลไม่พยายามจัดซื้อรถเมล์ใหม่เลย

นับตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และแม้แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้วนแล้วมีแผนจัดซื้อรถเมล์ใหม่ทั้งสิ้น

โดยความสำเร็จในการจัดซื้อเกิดขึ้นครั้งแรกในยุค พล.อ.ประยุทธ์ โดยสามารถจัดซื้อรถเมล์แอร์สีฟ้า NGV จำนวน 489 คัน วงเงิน 4,261 ล้านบาทได้เป็นผลสำเร็จ

หลังติดหล่มเป็นคดีความในศาลปกครองอยู่ 2 ปี และแม้จะปรับลดจำนวนรถจาก 3,183 คันในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เหลือแค่ 489 คันก็ตาม

และเมื่อผลัดเปลี่ยนจากยุค คสช.มาสู่ยุคพลังประชารัฐ แผนจัดซื้อรถเมล์ก็ได้ถูกบรรจุรวมลงไปในแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.

ซึ่ง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคมคนปัจจุบันได้เปลี่ยนรูปแบบการจัดหารถเมล์จากเดิมใช้วิธี “ซื้อ” เปลี่ยนเป็น “เช่า” แทน

โดยรถที่จะเช่ามาให้บริการ กำหนดสเป๊กเป็นรถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 2,511 คัน

นอกจากนี้ จะจ้างเอกชนเข้ามาเดินรถให้บริการรถโดยสารไฟฟ้า (EV) หรือรถโดยสาร NGV จำนวน 1,500 คันมาวิ่งในเส้นทางรถเมล์ ที่ตามแผนฟื้นฟูจะมีการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ให้เหลือ 162 เส้นทางเท่านั้น

ซึ่ง “ศักดิ์สยาม” ยืนยันว่า การเช่ารถเมล์จะดำเนินการเปิดประมูลให้เอกชนจัดหารถใหม่ได้ทันที เพราะ ขสมก.ได้ทำร่างทีโออาร์ไว้แล้ว

พร้อมวาดฝันไว้ว่า น่าจะสามารถรับรถชุดแรก 400 คันได้ในเดือนมีนาคม 2564 นี้

แต่จะช้าหรือไม่ ต้องขึ้นกับว่า จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้เมื่อไหร่ เพราะที่ผ่านมาวาระเรื่องแผนฟื้นฟูมีการผลัดไปหลายครั้งแล้ว เนื่องจากยังรวบรวมความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลังไม่ครบถ้วน และมีการปรับแก้ถ้อยคำในแผนฟื้นฟูให้กระชับ ไม่กำกวม

งานนี้จึงเป็นการวัดใจทั้ง “บิ๊กตู่-บิ๊กโอ๋ ศักดิ์สยาม” ว่าจะสามารถฝ่าพายุเบื้องบนสร้างประวัติศาสตร์ครั้งที่ 2 ในการจัดหารถเมล์ใหม่ให้บริการประชาชนได้หรือไม่? งานนี้ต้องติดตาม