วิเคราะห์ : มีอะไรในวอร์รูมรับมือฝุ่น PM2.5

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ปฏิบัติการปราบฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เวียนกลับมาอีกรอบ คราวนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งวอร์รูม เน้นพยากรณ์ฝุ่นล่วงหน้า 3 วัน แจ้งเตือนประชาชนผ่านระบบ sms และแอพพลิเคชั่น “Burn Check”

คุณอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้รายละเอียดจากการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง พ.ศ.2563 และแผนเฉพาะกิจแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง

การแก้ปัญหาเชิงรุกมี 3 แนวทางหลัก คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทางแหล่งกำเนิด และใช้เทคโนโลยีการศึกษาวิจัยของคณะอนุกรรมการด้านวิชาการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ

นอกจากนี้ ยังมีแผนเฉพาะกิจ 12 มาตรการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง การบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า การสร้างเครือข่ายอาสาสมัครฯ การใช้เทคโนโลยีสนับสนุนเรื่องการพยากรณ์ฝุ่นละออง การประเมินปริมาณฝุ่นละอองเชิงพื้นที่

 

คุณอรรถพลบอกอีกว่า จะเปิดตัวการใช้แอพพลิเคชั่น “Burn Check” เพื่อลงทะเบียนชิงเผา และบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เกษตรกรรม ด้วยการให้เกษตรกรลงทะเบียนกระจายการเผาไม่ให้กระจุกตัวจนเกิดมลพิษหมอกควันขึ้นกระทบสุขภาพประชาชน เพราะไม่อยากให้เกษตรกรเผาพร้อมๆ กันทั้งในเขตป่าและนอกเขตป่า

“เมื่อไม่สามารถปฏิเสธการเผาได้จำเป็นต้องบริหารจัดการการเผาอย่างเป็นระบบ ในเดือนพฤศจิกายนนี้จะขอให้กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ เข้าช่วยกำจัดเชื้อเพลิงในเขตป่าร่วมกับชุมชนเสี่ยงทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ” คุณอรรถพลอธิบายเหตุผล

ส่วนการประชาสัมพันธ์ข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาด้านมลพิษจะมีสำนักนายกรัฐมนตรีช่วยผลักดันสร้างการรับรู้ไปยังหน่วยงานต่างๆ และประชาชนให้เข้าใจถึงผลกระทบจากฝุ่นละออง ขณะที่กรมประชาสัมพันธ์จะช่วยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาผ่านสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ และสื่อออนไลน์ต่างๆ ด้วย

โดยเฉพาะการแจ้งเตือน SMS ให้กับประชาชนทันทีที่ระดับฝุ่นเกินมาตรฐาน

 

ย้อนกลับไปดูมาตรการ 12 ข้อในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่คณะรัฐมนตรีชุดที่แล้วนำมาใช้

1. ขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ จากวงแหวนรัชดาภิเษก เป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก

2. ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ในวันคี่ ตรวจวัดควันดำรถโดยสาร (ไม่ประจำทาง) ทุกคัน โดยเพิ่มชุดตรวจเป็น 50 ชุด ครบทั้ง 50 เขตของกรุงเทพฯ

3. ตรวจสอบ ตรวจจับรถควันดำสำหรับรถโดยสารและรถบรรทุก เพื่อออกคำสั่งห้ามใช้รถ

4. ตรวจสอบโรงงานที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้สั่งปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือสั่งหยุดการประกอบกิจการ

5. กำกับให้กิจกรรมการก่อสร้างรถไฟฟ้าและก่อสร้างอื่นๆ เป็นไปตามข้อกำหนด ไม่ทำให้เกิดฝุ่นและปัญหาการจราจรบริเวณรอบพื้นที่ก่อสร้าง

6. ไม่ให้เผาในที่โล่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่กระทำการเผา

7. จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาศัยอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ควบคุมการเผาในที่โล่งในช่วงสถานการณ์วิกฤตฝุ่นละออง และเข้มงวดการควบคุมยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง

8. ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 ppm เป็นน้ำมันที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองน้อย

9. ขอความร่วมมือลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงาน และรถยนต์ของส่วนราชการต้องผ่านมาตรฐานควันดำทุกคัน

10. สนับสนุนการจัดโครงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี เพื่อช่วยลดฝุ่นละออง

11. สร้างการรับรู้และเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง

ไม่แน่ใจว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้จะงัด 12 มาตรการเก่าเมื่อปีที่แล้วมาใช้อีกหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือสถานการณ์ขณะนี้ได้เปลี่ยนไปมากแล้ว เป็นผลมาจากโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ โรงงานอุตสาหกรรมปิดตัวไปไม่น้อย การทำกิจกรรมทางสังคมลดลงไปเยอะ

 

ลองเข้าไปคลิกดูรายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทยในเว็บของกรมควบคุมมลพิษ เมื่อเช้ามืดเวลา 05.00 น.ของวันที่ 9 พฤศจิกายน พบว่าแทบทุกพื้นที่ของประเทศไทยมีคุณภาพอากาศปานกลางถึงดีมาก ยกเว้นแค่พื้นที่ริมถนนพหลโยธิน แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักรกับริมถนนเพชรเกษม 8 เขตหนองแขม กรุงเทพมหานครเท่านั้นที่มีฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เกินค่ามาตรฐาน

รายงานชิ้นนี้บอกให้รู้ว่า บริเวณใดกิจกรรมทางสังคมหยุดนิ่ง บริเวณนั้นๆ จะมีอากาศสะอาด ไร้ฝุ่นควันละออง

แต่หากบนถนนมีรถวิ่งแออัด โรงงานเดินเครื่องจักรปล่อยควันโขมง คนงานง่วนอยู่กับการขนปูน กองดิน กองทรายในเขตก่อสร้าง ชาวนาจุดไฟเผากองฟาง

หรือบรรดาชาวเขาเผาป่าทำไร่เลื่อยลอยบนภูเขาสูง บริเวณนั้นๆ คุณภาพอากาศเลวร้ายลงทันที

 

ความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพอากาศกับการดำเนินกิจกรรมทางสังคมมีนัยยะสำคัญยิ่ง

การควบคุมคุณภาพอากาศให้สะอาด พร้อมๆ กับการมีกิจกรรมทางสังคมจึงเป็นโจทย์ใหญ่ของทั้งโลก

รัฐบาลที่มีความมุ่งมั่นให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีต้องมีนโยบายชัดเจนและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น เมื่อมีนโยบายควบคุมการปล่อยก๊าซพิษของโรงงานอุตสาหกรรม รัฐบาลไม่ได้ใช้กฎหมายลงโทษเพียงอย่างเดียวหากต้องมีมาตรการช่วยเหลือสนับสนุนโรงงานให้พัฒนาเครื่องจักรกลลดปริมาณการปล่อยก๊าซพิษ เมื่อได้รับการสนับสนุนแล้วยังฝ่าฝืนกฎหมายอีกต้องมีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น

หรือนโยบายการควบคุมปริมาณควันดำจากท่อไอเสียของรถยนต์ ไม่ใช่เพียงแค่จับตรวจควันดำเท่านั้น จะต้องมีนโยบายชักชวนประชาชนให้ใช้พาหนะทางเลือกอื่น เช่น ใช้บริการขนส่งมวลชนแทนการขับรถส่วนตัว หรือสนับสนุนการซื้อรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าแทนรถเก่า

เช่นเดียวกัน การวางนโยบายลดปริมาณรถยนต์และการปล่อยควันพิษในพื้นที่จราจรแออัดคับคั่ง ด้วยการจัดเก็บภาษีรถยนต์เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่ต้องทำ

การกำหนดมาตรฐานรถยนต์ขนส่งดิน หินหรือปูนซีเมนต์พื่อควบคุมฝุ่นควันระหว่างก่อสร้างถนน อาคารบ้านเรือน จะต้องมีความชัดเจนครอบคลุมทั่วประเทศ

นอกจากนี้ จะต้องจัดวางผังเมืองแบ่งเขตที่อยู่อาศัย เขตธุรกิจ อุตสาหกรรมให้กลมกลืนกับธรรมชาติปลูกป่า สวนสาธารณะล้อมรอบ

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มีความกล้าหาญออกนโยบายชัดเจนและบังคับใช้กฎหมายให้ได้อย่างนี้ ปฏิบัติการวอร์รูม “ฝุ่นพีเอ็ม 2.5” แทบไม่ต้องมีเลยก็ยังได้