มุกดา สุวรรณชาติ : ถูกปลด…ยุบสภา…ลาออก ใครได้ใครเสีย?

มุกดา สุวรรณชาติ

สถานการณ์การเมืองหลัง 14 ตุลาคม 2563 ที่มีการชุมนุมเดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาล จากนั้นสถานการณ์การเมืองก็พลิกกลับไปกลับมาทุกสัปดาห์

ฝ่ายเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุม และฝ่ายรัฐบาลต่างก็เดินเกม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแต่ละฝ่าย

มาถึงสัปดาห์นี้มีเกมการเมืองใหม่ที่เรียกว่าเกมสมานฉันท์ แต่เกมนี้เพียงแค่เริ่มต้นก็ดูว่าจะไปไม่รอด เพราะทันทีที่ประธานชวน หลีกภัย เชิญอดีตนายกรัฐมนตรีหลายท่านเข้ามาร่วมก็มีเสียงคัดค้านจากพรรคพลังประชารัฐ โดย ส.ส.ที่เป็นสายตรงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะฝ่ายเขาประเมินว่า การเชิญอดีตนายกฯ เบอร์ใหญ่ๆ มา ก็เพื่อบีบให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก

และนี่เป็นการเดินแต้มของพรรคประชาธิปัตย์เพื่อจะได้คะแนนเสียงว่า…เป็นผู้ปลดล็อกทางการเมืองได้

ขณะเดียวกันฝ่ายค้านก็ไม่ตอบรับ

ที่สำคัญฝ่ายนักเรียน-นักศึกษาที่ชุมนุมประท้วง ก็มองว่าเป็นการถ่วงเวลาเท่านั้น

ตอนนี้จึงมีคนมองข้ามไปถึงสถานการณ์วันตัดสินคดีที่มีผู้ฟ้องร้อง พล.อ.ประยุทธ์ว่าใช้บ้านพักหลวง หลังเกษียณอายุราชการ ซึ่งถือเป็นความผิด ที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ได้

ซึ่งคดีนี้เมื่อก่อนก็ไม่มีใครสนใจเพราะคิดว่าเป็นเรื่องตลก แต่พอสถานการณ์ถูกบีบคั้นมาถึงวันนี้ หลายคนก็ลองมองย้อนกลับไปแล้วสรุปได้ว่าอดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวช โดนปลดเพราะคดีสอนทำกับข้าวออกโทรทัศน์ อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดนปลดเพราะคดีโยกย้ายข้าราชการ

ทำไมคดีนี้จะทำไม่ได้ถ้ามีแรงหนุนดีๆ

จึงมีผู้ประเมินว่าอาจมีการใช้ตุลาการภิวัฒน์เพื่อปรับสถานการณ์การเมืองอีกครั้ง

แต่ก็มีผู้วิเคราะห์หลายท่านมองว่าเป็นไปได้ แต่ยาก และแต่ละฝ่ายก็มีทางแก้ และมีทางเดินเกมของตัวเอง

ทีมงานวิเคราะห์ ประเมินโดยดูจากการต่อสู้ทางการเมืองประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมาดังต่อไปนี้

 

การปะทะของกลุ่มอำนาจเก่า
กับเยาวชนหัวก้าวหน้า
ยกระดับสูงขึ้น แต่ไม่แรง

กลุ่มอำนาจเก่าใช้เกมเร่งกวาดจับหัวขบวน ออกข่าวรัฐประหารมาขู่ แต่ฝ่ายเยาวชนกลับชุมนุมโต้ตอบแบบไม่กลัวประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ร้ายแรง ยิ่งจับแกนนำยิ่งโต้ตอบได้แรงขึ้น ม็อบมีคนมากขึ้น หลังการฉีดน้ำผสมเคมีสลายม็อบ ก็มีการเปลี่ยนเป็นม็อบระยะสั้นหลายจุดและมีคนมากในทุกพื้นที่

เป็นการเปลี่ยนทางยุทธวิธีที่น่ากลัว เพราะถ้าเป็นแบบนี้การปราบปรามจะยากขึ้นไปอีก จึงเปลี่ยนมาออกหมายจับคนที่ปราศรัยตามหลัง โดยคิดว่าคือแกนนำ แต่ก็ถูกโต้ตอบด้วยการชุมนุมซ้ำแล้วซ้ำอีก และแรงขึ้น หลังการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีซึ่งเร่งความขัดแย้งเกินหน้ารัฐบาลไปแล้ว ทำให้ความสนใจของทั่วโลกยิ่งพุ่งเข้ามาสู่การเมืองการชุมนุมประท้วงในประเทศไทย

การจับกุมผู้ปราศรัย หรือแกนนำ กลายเป็นใบรับรองนักสู้เพื่อประชาธิปไตย ใครไม่มีหมายจับ ถือว่ายังไม่ผ่านการทดสอบความกล้า ใครยังไม่ถูกคุมขังถือว่ายังไม่ผ่านด่านความกลัว

คดีการเมืองเป็นเกียรติยศของประวัติการต่อสู้ แต่ถ้าสถานการณ์พลิกกลับ ใครที่อยู่ข้างเผด็จการก็ต้องตั้งรับข้อกล่าวหาให้ดี

 

กลุ่มอำนาจเก่าอาจใช้เกมอ่อนเพื่อดึงเวลา

ล่าสุดขณะนี้ฝ่ายรัฐบาลเปลี่ยนกลับมาเป็นปล่อยให้ประกัน ไม่กลัวว่าคนที่ปล่อยออกมาจะไปจัดชุมนุมเพิ่มขึ้นอีก การชุมนุมยื่นจดหมายเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ถือเป็นเกมที่เบา แต่เปลี่ยนประยุทธ์เป็นเป้ารอง ประยุทธ์ก็เลยลอยหลบไป

ดูสถานการณ์ขณะนี้แล้วอ่านเกมได้ว่า กลุ่มอำนาจเก่าได้มองเห็นว่าทางออกที่ดีที่สุดน่าจะเป็นยอมให้มีการปฏิรูป

ถ้าเป็นยุค 10 ปีที่แล้วหรือนานกว่านั้น สถานการณ์แบบนี้ต้องมีการรัฐประหารแน่นอน และจะต้องมีการปราบปรามฝ่ายที่ต่อต้านอย่างหนัก

แต่ครั้งนี้จะทำแบบนั้นไม่ง่ายเพราะจะมีแรงบีบจากต่างประเทศ มีโรคระบาด covid-19 ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ตกต่ำและประชาชนกำลังจะยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ ความไม่พอใจของประชาชนต่อการบริหาร การปกครองสูงขึ้นทุกวัน ถ้าทำการรัฐประหารขึ้นมาจะถูกต่อต้านอย่างหนัก ถ้าทำการปราบปรามประชาชนขึ้นมา การรัฐประหารซ้อนอาจเกิดได้ หรือกลายเป็นการปฏิวัติของประชาชน

ดังนั้น คนชั้นนำหลายฝ่ายจึงมองเห็นแล้วว่าการยอมให้ปฏิรูปบ้าง เป็นทางถอยที่ดีที่สุด

และสำหรับบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปก็ต้องคิดว่าทำอย่างไรจะให้เปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด แต่ต้องสัมพันธ์กับข้อเรียกร้อง 3 ข้อของกลุ่มผู้ชุมนุม

 

ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ
จะทำอะไรได้จริง เมื่อไร

1.ข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งนั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารทั้งชุด อันนี้ไม่ใช่เป้าหมายที่เป็นการปฏิรูประบบบริหาร แต่มีเป้าหมายเพื่อลดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ที่มีอำนาจและบารมีอย่างมาก ทำให้เกิดการกดดัน บีบบังคับ การจับกุมคุมขังที่มีต่อการเคลื่อนไหวของเยาวชน

และยังหวังว่าเมื่อนายกฯ คนนี้ลาออกไปจะทำให้อิทธิพลที่มีต่อ ส.ว. 250 คนลดลงไปด้วย อิทธิพลที่เคยมีต่อกองทัพเป็นผู้นำทางทหารในอดีตก็จะลดลงไปด้วย โดยเฉพาะอิทธิพลที่มีต่อข้าราชการและตำรวจ

แต่นายกฯ มีทางเลือกคือ ยุบสภา หรือลาออก ประยุทธ์จะต้านแรงบีบทั้งบนและล่างได้หรือไม่

2. ข้อเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ข้อนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อ ส.ว.ยอมร่วมมือในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งต้องมีอย่างน้อย 84 คน จึงจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

ข้อเรียกร้องนี้จึงไปสัมพันธ์กับข้อ 1 เพราะนายกฯ ประยุทธ์เป็นผู้แต่งตั้ง ส.ว.อย่างน้อย 200 คน เชื่อกันว่าถ้านายกฯ ไม่ส่งสัญญาณ ส.ว.ก็จะไม่ยอมแก้ สภาพปัจจุบันคือสัญญาณถ่วงเวลา ยังเป็นอย่างนี้

แต่อีก 20 วัน ถ้าแรงบีบมาจากหลายทางอาจเปลี่ยนได้

3. ข้อเรียกร้องที่ให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ข้อนี้ที่จริงรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ไม่ได้ห้ามแก้ไขหมวด 2 ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่กำหนดไว้ว่าจะต้องมีการลงประชามติในเรื่องนี้

ความขัดแย้งจากการเคลื่อนไหวของเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ประชาชน เป็นการเคลื่อนไหวในนามของคณะราษฎร แม้ยังเรียงลำดับความสำคัญข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 แต่ดูจากการปราศรัยล่าสุดจะเห็นว่าให้ความสำคัญกับข้อ 3 มากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงหลัง แต่ข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่อาจแก้ปัญหาที่การชุมนุมได้ง่ายๆ จะต้องนำความเห็นของฝ่ายต่างๆ เข้าไปเถียงกันในสภา ซึ่งจะต้องใช้เวลาไม่น้อย

ในทางปฏิบัติต้องบรรลุเป้าหมายข้อ 1 และข้อ 2 ก่อน ส่วนข้อ 3 ก็จะเป็นหัวข้อสำคัญของการปฏิรูป ที่ต้องร่างไว้ในรัฐธรรมนูญ

แต่แรงบีบจากข้อ 3 จะทำให้ข้อ 1 และ 2 สำเร็จได้

 

ถ้าประยุทธ์ลาออก
หรือถูกปลดออก
ใครได้ ใครเสีย

ถ้าสังเกตจากเสียงสะท้อนของกลุ่มทุนทั้งใหญ่และเล็ก แม้ไม่กล้าออกมาบีบรัฐบาลโดยตรง แต่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหาร ดังนั้น แนวทางที่ประธานรัฐสภาเสนอให้อดีตนายกรัฐมนตรีมาเป็นผู้เชื่อมความสมานฉันท์ มองได้ว่ามีแรงบีบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อยๆ

1. การเปลี่ยนแปลงแบบให้นายกรัฐมนตรีลาออก การเปลี่ยนแปลงที่น้อยที่สุดมีคนเสียหาย เสียประโยชน์น้อยที่สุด ถ้าไม่ยอมอาจใช้วิธีปลดออกแบบสมัคร

การเลือกนายกฯ ใหม่ในระบบสภาผู้แทนราษฎรขณะนี้ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงเกินกว่าฝ่ายค้านอยู่แล้ว และมีลิงและงูเห่าเข้ามาสนับสนุน แต่ต้องมีผู้ประสานงานกับ ส.ว.

การเลือกนายกรัฐมนตรี ปลอดภัยกว่า มีหลักประกันดีกว่ายุบสภาเลือกตั้งใหม่มาก เพราะความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาลปัจจุบันยังสูงมาก ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ ฝ่ายรัฐบาลไม่รู้จะได้กี่เสียงแม้จะมีปัจจัยหนุนหลายด้าน

การเลือกตั้งใหม่ทั้งเสี่ยง ทั้งเหนื่อย สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล

ถ้าดูตามเกมนี้คนที่เป็นนายกฯ คนต่อไปคือหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย คุณอนุทิน ชาญวีรกูล เพราะมีชื่อเป็นผู้ถูกเสนอให้เป็นนายกฯ ส่วน 3 คนจากพรรคเพื่อไทย ไม่มีทางได้เสียงสนับสนุนถึง 375 เสียง

ในกรณีนี้พรรคพลังประชารัฐไม่มีตัวสำรองเป็นนายกฯ แต่ก็ไม่ได้แตกไปไหนยกเว้นใครอยากจะแยกตัวออกไป พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ยังเป็นหัวหน้าพรรค แต่ถ้ายุบสภาเลือกตั้งใหม่เชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐแตกแน่ และจะมีคนแยกย้ายไปอยู่พรรคต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าร่วมรัฐบาลผสมหลังการเลือกตั้ง

ส่วนกรณีตั้งนายกฯ คนนอก ขณะนี้ยังมองไม่เห็นตัว และถ้ายังไม่แก้มาตรา 272 ก็จะต้องหาเสียงสนับสนุนถึง 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งรัฐสภา คือเกือบ 500 คน ถ้าพรรคฝ่ายค้านไม่เอา และมีพรรครัฐบาล เช่น ภูมิใจไทย หรือ ปชป.ไม่เอาอีกพรรคเดียวก็ทำไม่ได้

ทีมวิเคราะห์ก็เชื่อว่า สายสัมพันธ์ของอนุทินที่มีอยู่กับฝ่ายต่างๆ ทั้งซ้าย-ขวา ล่าง-บน ถือว่ากว้างขวางพอสมควร สามารถมีข้อเสนอที่ทำให้ทุกฝ่ายรับได้

 

2. ฝ่ายนักเรียน-นักศึกษาและประชาชนจะได้อะไร

ที่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกก็จะได้รับตอบสนองตามข้อเรียกร้อง แต่พวกเขาไม่มีเสียงโหวตเลือกนายกฯ เพราะแม้จะใช้เสียงฝ่ายค้านก็จะแพ้อยู่ดี

สิ่งที่พวกเขาจะทำได้คือเร่งให้แก้รัฐธรรมนูญ เปิดทางให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง

ใครก็ตามที่ขึ้นมาเป็นนายกฯ แทน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ควรจะรับเรื่องนี้ อาจมีความขัดแย้งในรายละเอียดจะต้องไปเถียงกันในสภา และถ้ามีการตกลงกันได้ก็ต้องมีการร่างระเบียบการเลือกตั้ง ส.ส.ร.มีการรับสมัครมีการเลือกตั้งจริงจากทั่วประเทศ มีการตั้งผู้ชำนาญการด้านกฎหมายเพื่อมาช่วยกันร่าง กว่าจะได้คนทั้งหมดมาประกอบเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญมีการร่างจริงจนได้รัฐธรรมนูญปีกว่าถึง 2 ปี

ดังนั้น รัฐบาลชั่วคราวต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ก็จะได้ทำงานต่อ จนเกือบครบสมัย 4 ปี

ฝ่ายก้าวหน้าจึงต้องคิดสร้างกำลัง และข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อระบอบประชาธิปไตย ในช่วงเวลานั้น ถ้าคนที่ขึ้นมาแทนที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นพลเรือน นักธุรกิจ แรงกดดันที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยจะลดลง

สามารถเสนอสิ่งที่ก้าวหน้าผ่านรัฐบาล ผ่านสภาผู้แทนฯ ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญได้

 

3. ฝ่าย ส.ว.จะเป็นตัวชี้ขาด
ว่าจะให้เกมเดินไปแบบปฏิรูปได้หรือไม่

เพราะถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องมี ส.ว.จำนวน 84 คนมาสนับสนุน ถึงแม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะลาออกไป ส.ว.ก็ไม่ได้สิ้นสภาพไปด้วย ไม่เหมือนคณะรัฐมนตรี

แต่ถ้ามองให้ลึกแล้ว ส.ว.ส่วนใหญ่จะกลายเป็น ส.ว.อิสระ มีอำนาจต่อรองยังเหลืออยู่อย่างมากมายและจะยังดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่สร้างเสร็จและกำหนดเรื่องเกี่ยวกับวุฒิสภาว่าเป็นอย่างไร ยาวนานอีก 2 ปีเช่นกัน

สิ่งที่จะขัดแย้งกันในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลจะยอมตัดออกไปได้หรือไม่ เพราะนั่นเป็นข้อเรียกร้องประชาธิปไตยแบบมาตรฐาน

แม้นายกรัฐมนตรีลาออกและยังไม่ได้แก้บทเฉพาะกาลมาตรานี้ แต่ถ้า ส.ว.สัญญาว่าจะเลือก สนับสนุนตามเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนฯ ถ้าฝ่ายรัฐบาลเดิมไม่แตกกัน ก็ยังคงชนะอยู่ดี

แต่ถ้ามีงานแบบนี้ เชื่อว่ามีการแจกกล้วยบวชชีทั่วทั้งรัฐสภาแน่

 

4. ฝ่ายค้านไม่ได้เสียอะไร
แต่ก็ไม่ได้อะไรมากนัก

แต่ถ้ามองการรุกกลับทางยุทธศาสตร์ ให้กับฝ่ายประชาธิปไตย ถือว่าได้พอสมควร มีการลดอำนาจ ส.ว.ไปแล้วและมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สามารถส่งคนหรือสนับสนุนผู้มีความสามารถเข้าไปเป็น ส.ส.ร. ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเตรียมการทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาให้ดี

รัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาลผสม ที่มิได้มีเสถียรภาพมั่นคง ส่วนผสมจะยืนอยู่ร่วมกันเนื่องจากผลประโยชน์จากการใช้เงินงบประมาณ

ถ้ามีความผิดพลาดเรื่องการบริหารหรือการทุจริตก็จะถูกกดดันโดยพลังของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน

โอกาสที่จะแตกกันและต้องยุบสภาก็มีสูง และถึงที่สุดแล้วเมื่อ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ก็จะมีแรงบีบให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่อยู่ดี เมื่อถึงเวลานั้นกระแสการเมืองจะได้เปรียบ

ถ้าเกมเดินไปตามนี้ กลุ่มคนที่อยู่ข้างสนามและเดิมพันอย่างหนักในเกมนี้ หวังว่านี่จะเป็นการคลี่คลายสถานการณ์เฉพาะหน้า จากนี้ก็จะสามารถคลี่คลายความกดดัน เพราะเชื่อว่าม็อบจะมิได้เข้มแข็งอย่างนี้ตลอดไป

ฝ่ายม็อบเองก็คิดว่าถ้าสถานการณ์ดีขึ้นก็สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ปฏิรูปโครงสร้างได้ก็จะพัฒนาประเทศและพลเมืองต่อได้ไม่ต้องมาชุมนุมกันบ่อยๆ

แต่ถ้าประยุทธ์ทำสิ่งที่ไม่คาดคิด คือชิงยุบสภาคงจะวุ่นแน่ แม้แต่คนในพลังประชารัฐก็จะเดือดร้อน ต้องขอเวลาวิเคราะห์ต่อไป