เทศมองไทย : ถอดบทเรียน “อำนาจนิยม” จาก “โดนัลด์ ทรัมป์”

โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งในเวลานี้ยังคงเป็น “ประธานาธิบดี” ของสหรัฐอเมริกาเต็มตัวอยู่จนกว่าจะถึงวันที่ประธานาธิบดีคนใหม่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2021

สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก ด้วยการแหวกธรรมเนียมปฏิบัติ ที่ถือเป็น “วัฒนธรรมการเมือง” ของสหรัฐอเมริกามาช้านาน

ด้วยการประกาศ “ไม่ยอมแพ้” การเลือกตั้ง ไม่ยอมเริ่มกระบวนการถ่ายโอนอำนาจ แต่ประกาศจะต่อสู้ดิ้นรนในทุกวิถีทางที่หลงเหลืออยู่ เพื่อให้สามารถอยู่ใน “อำนาจสูงสุด” ของประเทศต่อไปให้ได้

สหรัฐอเมริกาจะแพ้ไม่เป็นไร แต่ทรัมป์แพ้ไม่ได้!

ทรัมป์ยินยอมแลกทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความเชื่อถือ ความมั่นใจในความบริสุทธิ์ยุติธรรมของระบบการเลือกตั้ง ที่น้อยครั้งจะมีปัญหาของสหรัฐอเมริกา

ยินยอมแลกความมั่นคงของประเทศ เกียรติภูมิของชาติ กับเพียงแค่การได้อยู่ในอำนาจต่อไปอีก 4 ปี

ไม่ไยดีกับการก่อให้เกิดความแตกแยก ความเข้าใจผิด เรื่อยไปจนถึงอาจเกิดความรุนแรงทางการเมืองขึ้นเพราะความต้องการของตนเอง

 

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมือง เรื่อยไปจนถึงนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านบุคลิกภาพ ปักใจเชื่อว่าอาการดื้อแพ่งของโดนัลด์ ทรัมป์นั้นอยู่นอกเหนือคำอธิบายทางการเมืองทั่วไป

หลายคนชี้ว่า “คุณลักษณะอำนาจนิยม” ที่ส่งผลให้ทรัมป์ทะยานขึ้นสู่อำนาจสูงสุด และแสดงออกให้เห็นตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คือสิ่งที่ทำให้ “เป็นไปไม่ได้” ที่คนอย่างทรัมป์จะยอมรับความพ่ายแพ้อย่างสง่างามต่อคู่แข่งจากพรรคเดโมแครต

นักประวัติศาสตร์อย่างรูธ เบน-กีอัธ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก บอกกับเอเอฟพีว่า ทรัมป์พยายามที่จะสร้าง “โมเดล” ของ “ประธานาธิบดีอำนาจนิยม” ขึ้นในสหรัฐอเมริกา

เธอขยายความต่อไว้ว่า “แบบอย่างของความเป็นประธานาธิบดีอำนาจนิยม” ที่ว่านั้น “อยู่บนพื้นฐานที่เป็นความยโส, อำมหิต และบนความคิดที่ว่า ผู้นำอย่างตนควรได้รับการปกป้องจากศัตรูทั้งมวล” ไม่ว่าจะเป็นใครหน้าไหน

“ง่ายกว่ามากที่จะอ้างลอยๆ ว่าการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นกลโกง แต่ยากเหลือหลายถ้าหากจะให้ยอมรับว่า นโยบายที่ทรัมป์นำมาใช้ทำให้ผู้คนหันหลังให้ ถึงระดับที่มากจนกระทั่งทำให้ทรัมป์แพ้การเลือกตั้ง”

การกล่าวอ้างว่า มี “พลังที่เลวร้าย” สมคบกันต่อต้านตนในทุกวิถีทาง ทำให้อาการดื้อแพ่งของทรัมป์จะดำเนินต่อไปในทำนองนี้ ชะลอให้การยอมรับความพ่ายแพ้ต่อสาธารณชนได้ยืดเยื้อต่อไป

รูธ เบน-กีอัธ เตือนว่า ผู้นำที่มีบุคลิกและลักษณะอำนาจนิยมเช่นนี้ จะมี “จิตวิญญาณพยาบาท” อยู่เต็มเปี่ยม ทำให้ทุกฝ่ายควรจับตาดูว่า เขาจะทำอะไรอีกบ้างในเดือนสองเดือนข้างหน้า

 

จอห์น การ์ตเนอร์ นักจิตวิทยาที่มีสำนักงานอยู่ในบัลติมอร์ ชี้ว่า ทรัมป์มีบุคลิกลักษณะของ “คนหลงตัวเองที่มุ่งร้าย” ซึ่งในทางวิชาการด้านจิตวิทยาคือผู้ป่วยทางจิตชนิด “มาลิกแนนต์ นาซิซิสต์” ที่เอริก ฟรอมม์ นักวิเคราะห์ทางจิตบัญญัติไว้เป็นคนแรก สำหรับใช้เพื่ออธิบาย “ธาตุแท้แห่งความชั่วร้าย” ซึ่งประกอบด้วย อาการหลงตัวเอง, บุคลิกแปลกแยกต่อต้านสังคม, หวาดระแวง และซาดิสต์ คือมีความโหดร้ายอยู่ในตัว

การ์ตเนอร์บอกว่า สิ่งที่เขากังวลต่อสถานการณ์ของทรัมป์มากที่สุดในเวลานี้ก็คือ กลัวว่าทรัมป์จะหาทางดำเนินยุทธวิธีชนิดที่ทางจิตวิทยาเรียกว่า “เนโร ดีครี” (จักรพรรดิเนโร ยินดีเผาเมืองทั้งเมืองดีกว่าจะยอมให้ถูกข้าศึกยึด)

หรือไม่ก็ “สคอร์ชด์ เอิร์ธ” คือทำลายทุกอย่าง เมื่อตนไม่ได้ คนอื่นก็ต้องไม่ได้ครอบครอง

แมรี่ ทรัมป์ หลานสาวของประธานาธิบดี ที่ร่ำเรียนและประกอบวิชาชีพเป็นนักจิตวิทยาคลินิก อธิบายพฤติกรรมของทรัมป์ไปในทำนองเดียวกัน เธอชี้ว่า “คุณลุง” ที่เธอรู้จักมานานคนนี้ “ไม่เคยต้องตกอยู่ในสถานะ (ผู้แพ้) อย่างนี้มาก่อน แถมยังอยู่ในสถานะที่ไม่มีใครช่วยเหลืออะไรได้ ไม่มีใครที่จะใช้เงิน “ซื้อ” ให้กับเขาได้”

แมรี่เชื่อว่าทรัมป์เป็นผลผลิตของอาการจิตเภทแบบต่อต้านสังคม ของเฟรด ทรัมป์ ผู้เป็นบิดา ที่ทำให้บ้านที่ทรัมป์เกิดและเติบใหญ่ขึ้นมาตกอยู่ในสภาพที่เต็มไปด้วยการกดขี่และเจ็บปวด อันเป็นที่มาที่ทำให้ทรัมป์ต้องสร้างบุคลิกของ “ผู้ชนะ” ตลอดกาลขึ้นมาแสดงต่อสาธารณะ อวดอ้างว่าตนเองมีความปราดเปรื่อง เฉียบแหลมในทางธุรกิจ

แม้ว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วจะทำบริษัทเจ๊งมาแล้วมากมายก็ตามที

 

ไม่ว่าบุคลิกที่แท้ของทรัมป์จะเป็นไปอย่างที่นักจิตวิทยาเหล่านี้วิเคราะห์กันไว้หรือไม่ สิ่งที่ทรัมป์กำลังทำอยู่ แสดงข้อเท็จจริงให้เป็นประจักษ์ต่อทั้งโลกด้วยตัวเอง

น่าเสียดายที่ปมอำนาจนิยมของทรัมป์กำลังทำให้สหรัฐอเมริกาย่อยยับไปด้วย

นี่น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับนักการเมืองได้ทั่วทุกมุมโลก