เศรษฐกิจ / เปิดฉากศึกชิงรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่ออลหม่าน หลังรัฐ-เอกชน ฟ้องสู้กันยิบตา

เศรษฐกิจ

 

เปิดฉากศึกชิงรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ส่ออลหม่าน

หลังรัฐ-เอกชน ฟ้องสู้กันยิบตา

 

เป็นอีกหนึ่งเรื่องร้อนที่ได้รับความสนใจจากประชาชน รวมถึงนักลงทุนเป็นอย่างมาก

สำหรับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ดูเหมือนว่าหนังใหญ่เรื่องนี้จะเกิดการกระตุกเล็กน้อย แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นค้างหรือต้องหยุดฉายไป

แต่ก็ต้องมาลุ้นต่อว่าหลังจากนี้ทิศทางการดำเนินเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

ย้อนกลับไปถึงประเด็นทำให้การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี มีอันสะดุดลงบ้าง อันเนื่องมาจากเกิดคดีฟ้องร้อง

โดยตัวจุดชนวนเริ่มจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

กรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชน และวิธีการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคและข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ซึ่งเรื่องดังกล่าวศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้ว

 

จากการฟ้องร้องดังกล่าวนำมาสู่ การที่ รฟม.เองก็ได้ยื่นเรื่องขออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลปกครองกลาง กรณีมีคำสั่งให้ รฟม.ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชน แต่คณะกรรมการ ม.36 ได้มีมติให้ รฟม.ดำเนินกระบวนการคัดเลือกเอกชนตามกำหนดเดิม เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครองกลางด้วย

โดยเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้กำหนดเปิดรับข้อเสนอโครงการ ส่วนเกณฑ์การประเมินเอกชนที่จะยึดตามเกณฑ์พิจารณาด้านราคา 100 คะแนน หรือเป็นเกณฑ์ด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนนนั้น คงต้องรอการพิจารณาจากศาลปกครองสูงสุดด้วย ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการคัดเลือกเอกชน เพราะ รฟม.มีกำหนดเปิดซองข้อเสนอที่ 1 ด้านคุณสมบัติ ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ส่วนข้อเสนอด้านเทคนิค และด้านราคานั้นจะดำเนินการหลังจากพิจารณาซอง 1 ไปอีกประมาณ 1-2 เดือน

อย่างไรก็ดี การเปิดรับข้อเสนอโครงการดังกล่าว มีผู้เข้ามายื่นข้อเสนอเพียง 2 ราย จากผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมประมูลทั้งสิ้น 10 ราย คือ

  1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ผู้ให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล และเป็นผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ช่วงบางใหญ่-เตาปูน (สถานีคลองบางไผ่-สถานีเตาปูน)
  2. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นระบบรถไฟฟ้ายกระดับแห่งแรกของประเทศไทย ที่ครั้งนี้มาในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ โดยมีบีทีเอสซีเป็นลีดเดอร์กลุ่ม บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC

ด้านเอกชนที่ซื้อซองประกวดราคาและมีสิทธิ์ในการยื่นข้อเสนอในครั้งนี้ จำนวน 10 ราย ได้แก่

  1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  2. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  3. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
  4. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
  5. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
  6. บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
  7. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)

8.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

  1. ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด

และ 10. บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด

 

ด้านสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เผยว่า สำหรับบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่เคยเป็นพันธมิตรในกลุ่มบีอาร์เอส ในโครงการก่อนหน้านี้ ไม่ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในการยื่นซองข้อเสนอในครั้งนี้ เนื่องจากยังติดกระบวนการภายใน แต่ยังได้รับคำยืนยันว่ามีความประสงค์ที่จะร่วมเป็นพันธมิตรแต่จะเป็นลักษณะไหนต้องให้ รฟม.พิจารณาอีกครั้ง

สำหรับการยื่นข้อเสนอในโครงการมีข้อกำหนดในเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ (อาร์เอฟพี) ผู้ที่เป็นลีดเดอร์ในการยื่นข้อเสนอ มีข้อกำหนดจะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์จัดหา บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้าภายในระยะเวลา 25 ปี นับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ และมีระยะเวลาดำเนินงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี นับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ อย่างน้อย 1 โครงการที่เป็นโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในประเทศไทย

มองว่าทั้ง 2 รายที่เข้ายื่นซองประมูลในครั้งนี้สามารถเป็นลีดเดอร์ในการประมูลโครงการในครั้งนี้ได้ นอกจากนี้ เอกชนผู้ชนะการประมูลจะต้องดำเนินงานโยธาช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ และได้รับสิทธิบริหารจัดการเดินรถทั้งเส้นทางมีนบุรี-บางขุนนนท์ เป็นระยะเวลา 30 ปีอีกด้วย

สำหรับรายละเอียดโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน (พีพีพี) มีแนวเส้นทางเชื่อมกรุงเทพฯ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร

แบ่งเป็นส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี

และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี เป็นสถานีใต้ดินตลอดสาย

มูลค่าโครงการรวม 1.2 แสนล้านบาท

 

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ปัจจุบันมีความก้าวหน้าก่อสร้างงานโยธาในภาพรวม คิดเป็น 69.82% โดยมีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2567

ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีกำหนดเปิดให้บริการเดือนกันยายน 2569

ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีส้มถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญในการเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก

จึงไม่แปลกที่หลายฝ่ายรวมถึงภาคประชาชนจะจับตามองการประมูลโครงการในครั้งนี้

เมื่อการฟ้องร้องยังไม่จบ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ก็ยังต้องลุ้นตัวโก่งกันต่อไปว่า บทสรุปจะเป็นอย่างไร ใครจะเป็นผู้คว้าชัยในครั้งนี้ จะใช่คนที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้หรือไม่

   …ตามดูกันต่อ