การศึกษาติ / ทปอ.ไม่ง้อ ‘โอเน็ต’ คัดนิสิต-น.ศ. ‘ยกเลิก’ ทีแคส รอบแอดมิสชั่นส์ ปี ’66

การศึกษาติ

 

ทปอ.ไม่ง้อ ‘โอเน็ต’ คัดนิสิต-น.ศ.

‘ยกเลิก’ ทีแคส รอบแอดมิสชั่นส์ ปี ’66

 

ได้ข้อสรุปเรียบร้อยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ไปแล้ว สำหรับคะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ที่ยังคงใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ประจำปีการศึกษา 2564

ภายหลังผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกมาเปรยเสียงดังหลายครั้งว่าเตรียมหารือร่วมกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เพื่อวางแนวทางการจัดการทดสอบโอเน็ต ตามนโยบายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ซึ่งอนาคตอาจใช้วิธีสุ่มสอบนักเรียนชั้น ป.6, ม.3 และ ม.6 ไม่ได้สอบทุกคนเหมือนที่ผ่านมา

ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนชั้น ม.6 บางคนไม่มีคะแนนโอเน็ตเป็นองค์ประกอบในการเข้าต่อมหาวิทยาลัยด้วยระบบทีแคส

ล่าสุด นายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ออกมาย้ำว่า ทปอ.ยืนยันจะใช้คะแนนโอเน็ตเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบทีแคส รอบที่ 4 แอดมิสชั่นส์ โดยจะใช้โอเน็ต ร้อยละ 30

เพราะหากยกเลิก หรือปรับองค์ประกอบในการคัดเลือก ทปอ.จะต้องแจ้งนักเรียนล่วงหน้า 3 ปี เพื่อให้นักเรียนเตรียมความพร้อม

แต่ในปีการศึกษา 2566 ทปอ.จะ “ยกเลิก” ทีแคส รอบที่ 4 เหลือเพียง 4 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 คัดเลือกด้วยแฟ้มสะสมงาน รอบที่ 2 โควต้า รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน และรอบที่ 5 รับตรงอิสระ ซึ่งไม่ได้ใช้คะแนนโอเน็ตเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก

ซึ่งมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุม ทปอ.ยังหารือกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อยู่ระหว่างปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานมาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ เพิ่มทักษะการมีงานทำ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย และตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ

ดังนั้น การเข้าคัดเลือกนักศึกษาด้วยระบบทีแคส จะต้องปรับเพิ่มข้อสอบ TGAT หรือ Thai General Aptitude Test ซึ่งเป็นข้อสอบที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ไม่เน้นความรู้ทางวิชาการเชิงลึก แต่เน้นทักษะ การคิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ และอย่างมีเหตุผล!!

 

แม้ ทปอ.จะมีข้อสรุปว่าการสอบทีแคส ประจำปีการศึกษา 2563 จะใช้โอเน็ตเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกรอบที่ 4 แอดมิสชั่นส์ แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ยังไว้ใจไม่ได้ ทปอ.จึงได้หารือถึงมาตรการบริหารความเสี่ยงกรณีเกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 ว่าจะดำเนินการคัดเลือกเข้าเรียนในระบบทีแคสอย่างไร

โดยเตรียมหารือกับ สทศ.เนื่องจากการบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวพันกับการสอบ ทั้งการสอบโอเน็ต การทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT การทดสอบความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ หรือ PAT การสอบวิชาสามัญ

ซึ่งมีข้อเสนอแนะหลายแนวทาง เช่น กรณี สพฐ.ไม่สามารถส่งคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมปลาย หรือ GPAX ครบทั้ง 6 ภาคเรียน ให้ปรับใช้คะแนน GPAX แค่ 5 ภาคเรียน

หากไม่สามารถสอบโอเน็ต ให้ตัดคะแนนโอเน็ตร้อยละ 30 ออก เหลือคะแนนที่ใช้ในการคัดเลือกเพียงร้อยละ 70

หรือถ้าไม่สามารถจัดสอบ GAT, PAT และวิชาสามัญได้ ให้ข้ามการรับนิสิต-นักศึกษาในรอบที่ใช้คะแนนดังกล่าวเป็นองค์ประกอบ ไปรับสมัครในรอบที่ 5 รับตรงอิสระแทน โดยให้มหาวิทยาลัยกำหนดองค์ประกอบในการคัดเลือกเอง และส่งรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่ระบบเคลียริ่งเฮาส์ของ ทปอ.โดยจะให้มหาวิทยาลัยรับนิสิต-นักศึกษาเข้าเรียนในรอบนี้ได้ 2 ครั้ง

แต่ถ้ายังจำเป็นต้องจัดสอบ ให้ใช้วิธีบริหารความเสี่ยง โดยการเพิ่มสนามสอบให้มากขึ้น หรือให้สอบในสถานที่โล่ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

โดยกระบวนการทั้งหมดทั้งมวลนี้ จะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2564

เว้นแต่อาจมีสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ และรัฐบาลจำเป็นต้องออกประกาศอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้เกิดการยืดหยุ่นอีก ทปอ.ก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนอีก!!

 

ทั้งนี้ ที่มาที่ไปที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องหันหน้ามาพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างเร่งด่วน เพื่อวางมาตรการและแนวทางแก้ปัญหาหาก ศธ. “ไม่บังคับ” ให้นักเรียนทุกคนต้องสอบโอเน็ตเหมือนที่ผ่านมา แต่จะใช้วิธี “สุ่มสอบ” ซึ่งส่งผลกระทบกับนักเรียนชั้น ม.6 บางส่วน ที่จะไม่มีคะแนนโอเน็ตใช้ยื่นเพื่อสมัครเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในระบบทีแคส

เนื่องจากนายณัฏฐพลได้เปรยภายหลังพูดคุยกับนักเรียนหลังจากเปิดเทอมได้ไม่นาน โดยนักเรียนได้สะท้อนปัญหาจากการจัดการเรียนการสอนผ่านรูปแบบต่างๆ หลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ว่าทำให้ได้รับความรู้ไม่เพียงพอและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ เนื่องจากต้นทุนด้านอุปกรณ์ที่ใช้เรียนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น หากให้นักเรียนนำความรู้ที่ได้จากการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายรูปแบบมาใช้ในการทดสอบต่างๆ ทั้งโอเน็ต การสอบ 9 วิชาสามัญ GAT และ PAT ไปใช้เป็นองค์ประกอบในการยื่นผ่านระบบทีแคส ก็อาจเกิดความ “เหลื่อมล้ำ”

แม้ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ในที่สุด ก็อาจจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีมากนัก

จึงเสนอให้ “เลื่อน” หรือ “ยกเลิก” การสอบ โดยเฉพาะการสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้น ม.6

โดยผลการสำรวจของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ผ่านเว็บไซต์ nataphol.com ที่สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “เห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกการสอบโอเน็ต” ซึ่งมีผู้ร่วมโหวตกว่าหมื่นราย เห็นด้วยกับการยกเลิกการสอบโอเน็ตถึง 80% ไม่เห็นด้วยเพียง 9% และเห็นด้วยที่จะยกเลิกบางระดับชั้น 11%

ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.

จึงเป็นที่มาว่าการสอบ “โอเน็ต” ยัง “จำเป็น” อยู่หรือไม่??

 

ล่าสุดนายณัฏฐพลได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีเสียง “ทักท้วง” ถึงความจำเป็นที่ยังต้องใช้คะแนนโอเน็ตชั้น ม.6 เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการคัดเลือกในระบบทีแคส เพื่อวัดความสามารถในการเข้ามหาวิทยาลัย

ทำให้เสียงของเสมา 1 อ่อนลง พร้อมทั้ง “ยอมรับ” ว่าเป็นเรื่องยาก หากจะยกเลิกการสอบโอเน็ตชั้น ม.6

เพราะต้องขึ้นอยู่กับ “มหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นผู้คัดเลือก ฉะนั้น ถ้าใครมีความจำเป็นก็สอบโอเน็ตได้ และหากใครไม่มีความจำเป็นก็ไม่ต้องสอบ

ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่ใช่ข้อสรุป เพราะต้องรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน

ที่สำคัญ หากจะยกเลิก หรือปรับเปลี่ยนการสอบโอเน็ต นอกจากจะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ…

  แต่ที่แน่ๆ ทปอ.ชิงประกาศยกเลิกทีแคส รอบที่ 4 แอดมิสชั่นส์ ในปีการศึกษา 2566 ไปเรียบร้อยแล้ว!!