โลกระอุ หลังมุมมองที่แตกต่าง คำว่าเสรีภาพ ตามทัศนะผู้นำฝรั่งเศสกับโลกมุสลิม

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

กรณีการสังหารชาวฝรั่งเศส 3 คน และการฆ่าปาดคอครูชาวฝรั่งเศสโดยฝีมือชาวมุสลิมแม้จะอ้างทำในนามพระเจ้าและศาสนาได้รับการประณามจากโลกมุสลิมไม่ว่าผู้นำด้านการเมืองหรือศาสนา เช่นแถลงการณ์สหพันธ์อุลามาอ์ (ปราชญ์) อิสลามนานาชาติ [International Union for Muslims Scholars-IUMS]

เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งต้องห้าม และอยู่นอกหลักการ ค่านิยมและบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม แต่ก็เป็นความท้าทายโลกมุสลิมเช่นกันว่า จะสร้างประชาชาติมุสลิมที่เข้าใจหลักการอิสลามนำมาปฏิบัติและป้องกันมุสลิมบางท่านบางกลุ่มกระทำผิดก่ออาชญากรรมโลกโดยอ้างหลักการศาสนาได้อย่างไร?

อย่างไรก็แล้วแต่ การสัมภาษณ์ของผู้นำฝรั่งเศสที่เหมารวมเหยียดหยามอิสลามและหนุนการดูหมิ่นศาสนทูตมุฮัมมัดภายใต้หลักการเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โลกมุสลิมก็มิสามารถรับได้เช่นกัน

อันส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสองโลกตะวันตกและอิสลามในที่สุด

เหตุที่ความขัดแย้งนี้มีที่มาคือการนำภาพการ์ตูนล้อเลียนศาสนทูตมุฮัมมัดมาวิจารณ์กันในห้องเรียน โดยเรียกมันว่าเสรีภาพตามทัศนะฝรั่งเศสในการแสดงความคิดเห็น

คำถามในโลกมุสลิมก็คือ เสรีภาพนี้ควรมีขีดจำกัดหรือไม่?

ใครๆ สามารถนำภาพวาดล้อเลียนเปลือยกายของใครก็ได้บนโลกมาพูดคุยในห้องเรียนหรือเปล่า?

ถ้าอย่างนั้น เส้นแบ่งระหว่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับการเคารพในสิทธิความเป็นมนุษย์ของคนอื่นอยู่ตรงไหน?

สมมุติว่ามีครูคนหนึ่งเอาภาพการ์ตูนล้อเลียนพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง หรือคนที่เราเคารพที่สุด มาให้นักเรียนพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์กันในห้องเรียน เราจะรู้สึกอย่างไรต่อเสรีภาพที่เหยียดหยามผู้ที่เรารัก

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนที่ฝรั่งเศสถูกขยายความคนกลุ่มหนึ่งขึ้นบิลบอร์ดพร้อมผู้นำฝรั่งเศสออกมาปกป้อง

การประณาม การประท้วง การบอยคอตสินค้าฝรั่งเศส ถูกยกเป็นวาระระดับประเทศของหลายชาติมุสลิม

สําหรับสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรีของไทยมองว่า

“การกระทำของรัฐบาลฝรั่งเศสในปัจจุบัน นับได้ว่ากำลังสร้างชนวนเหตุของความแตกแยกขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสไม่มีความเป็นธรรมในการให้สิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชน และแบ่งแยกไม่ได้ว่า อย่างไรที่เรียกว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และอย่างไรที่เรียกว่าเป็นการให้เกียรติต่อความต่างในสังคม เพราะแยกไม่ออกจึงอนุญาตให้คนกลุ่มหนึ่งกระทำการละเมิดต่อศรัทธาของคนอีกกลุ่มได้ ภายใต้ข้ออ้างว่าเป็นเสรีภาพ ทั้งๆ ที่การใช้เสรีภาพที่ถูกต้องไม่ควรละเมิดต่อสิทธิของผู้อื่น ทั้งในแง่สิทธิทางร่างกาย ทรัพย์สิน และสิทธิในด้านความเชื่อถือศรัทธา”

อย่างไรก็แล้วแต่ การแก้ปัญหานี้ต้องแก้จากสองฝ่ายคือฝรั่งเศสและประชาคมมุสลิมเองด้วย ดังที่สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสำนักจุฬาราชมนตรี

ก. เรียกร้องต่อรัฐบาลฝรั่งเศสให้ปฏิบัติการดังต่อไปนี้

1. เคารพต่อความเชื่อถือศรัทธาทางศาสนาของประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ปล่อยให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งละเมิดสิทธิแห่งความศรัทธานั้นด้วยการสร้างภาพขึ้นล้อเลียน ใส่ร้ายป้ายสี โดยปราศจากมูลความจริง

2. ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกสังหาร ด้วยการจับกุมลงโทษผู้กระทำผิดตามกระบวนการยุติธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะเป็นศาสนิกใด

3. ประธานาธิบดีฝรั่งเศสควรศึกษาประวัติศาสตร์ชาติฝรั่งเศสและประวัติศาสตร์อิสลามให้มากขึ้น เพื่อเปรียบเทียบกันและนำไปสู่บทสรุปได้ว่า ฝรั่งเศสเองคือชาติที่ทำการรุกรานโลกมุสลิมตลอดมา มีการเข่นฆ่าผู้คนนับล้านคน สูบกินทรัพยากรธรรมชาติ ทำลายอารยธรรมอิสลาม และสร้างความเลวร้ายต่างๆ นานาขึ้นในโลกมุสลิม จนก่อให้เกิดการอพยพละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดไปอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสเองและประเทศอื่นๆ ในยุโรปในฐานะพลเมืองชั้น 2 ซึ่งความเหลื่อมล้ำนี้ได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดแนวคิดตกขอบรุนแรงด้วย

4. หยุดการสนับสนุนการสร้างภาพการ์ตูนล้อเลียนศาสนทูตอิสลาม และสร้างความเข้าใจแก่คนทั่วไปว่าเสรีภาพในการแสดงออกไม่ได้หมายถึงการดูหมิ่นศาสนาได้อย่างเสรี

5. หยุดการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ในประเทศมุสลิม เช่น ลิเบีย อาร์เซอร์ไบจาน และอื่นๆ เนื่องจากสงครามการเมืองเหล่านั้นเป็นเหตุให้เกิดการอพยพโยกย้ายไปใช้ชีวิตในบ้านเมืองอื่นในภาวะถูกกดดัน จนอาจกลายเป็นคนที่มีความคิดอ่านตกขอบสุดขั้วได้

ข. ในส่วนของประชาชาติอิสลาม ขอให้ปฏิบัติดังนี้

1. ศึกษาหาความรู้ ให้เข้าใจอิสลามอย่างลึกซึ้งถ่องแท้ และใช้ความรู้ที่มีประพฤติปฏิบัติตนเป็นมุสลิมที่ดีตามหลักศาสนา

2. หากเผชิญกับกระแสอิสลาโมโฟเบียและการใส่ร้ายอิสลามอย่างอคติจากคนบางกลุ่ม ให้ใช้ความอดทนอดกลั้นโดยไม่ปฏิบัติการตอบโต้ด้วยความรุนแรง แต่ใช้วิทยปัญญาและสันติวิธีเป็นหลัก

3. สร้างสัมพันธ์อันดีกับพี่น้องต่างศาสนิกที่อยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน บนพื้นฐานของหลักการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง

4. คว่ำบาตรสินค้าต่างๆ ที่มาจากประเทศฝรั่งเศส จนกว่าประเทศดังกล่าวจะยุติการสนับสนุนภาพล้อเลียนศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ

5. รักษาความเป็นพี่น้องในหมู่มุสลิมให้มีความแนบแน่นยั่งยืน โดยมุ่งแก้ปัญหาอิสลาโมโฟเบียกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

มากกว่าการนำประเด็นปลีกย่อยมาขัดแย้งกันเอง