วิเคราะห์ | สมาคมผู้กำกับฯ “แตก” จากความร้าวฉานที่ไม่เคยคาดคิด

เกือบ 20 ปีที่อยู่ในวงการภาพยนตร์มา อ๊อด-บัณฑิต ทองดี บอกว่า นี่เป็นสถานการณ์ที่เขาไม่เคยเห็น

เป็นครั้งแรกที่คนในแวดวงเกิดความร้าวฉานหนัก จนส่งผลให้สมาคมผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ไทย องค์กรซึ่งเกิดขึ้นจากความสมัครสมานสามัคคี “แตก”

โดยสาเหตุหลักๆ มาจากความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง

บัณฑิต ทองดี ซึ่งเคยเป็นนายกของสมาคมนี้มา 2 สมัย และปัจจุบันก็ยังรั้งตำแหน่งเลขาธิการสมาคม เล่าว่า จุดเริ่มต้นในการเห็นต่างของกรรมการสมาคมมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เขาคงระบุชัดไม่ได้ แต่ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้กรรมการ 3 คน คือมะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล, นุชี่ อนุชา บุญยะวรรณธนะ และมิณราญาพร สำนองคำ ลาออก “แล้วมีคนจ้องจะออกอีก” นั้น เกิดขึ้นหลังจากกอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจากกรณีถือหุ้นสื่อ

“กรรมการส่วนหนึ่งอยากให้ออกมาปกป้องกอล์ฟ แต่บางส่วนก็ว่าศาลพิพากษาไปแล้ว สมาคมไม่สามารถเอาองค์กรไปรับหน้า ไปขัดคำสั่งศาลได้ ก็เกิดการโต้เถียงกันขึ้น”

“กลุ่มหนึ่งบอกว่า เราไม่ได้ขัดคำสั่งศาล แค่แสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์ไม่ใช่สื่อ เพราะถ้าเป็นสื่อ จะเซ็นเซอร์ไม่ได้ เหมือนหนังสือพิมพ์ที่เป็นสื่อ ก็ไม่ได้มีการเซ็นเซอร์ ทางกองบรรณาธิการดูแลกันเอง ฉะนั้น การที่กอล์ฟเป็นเจ้าของบริษัทภาพยนตร์ มันไม่ใช่บริษัทสื่อ แต่บางคนบอกว่าต้องไปดูว่าจดทะเบียนแบบไหน ทำหนังอย่างเดียว หรือทำละคร ทำข่าวด้วย”

แลกเปลี่ยนความเห็น ขัดแย้ง และโต้เถียงในไลน์กลุ่มของคณะกรรมการที่มีอยู่ทั้งหมด 17 คนอยู่นาน หากก็ไม่ได้ข้อสรุป สุดท้ายแล้ว ปื๊ด-ธนิตย์ จิตนุกูล จึงตัดสินใจในฐานะนายกสมาคม ว่า อย่าเอาความคิดทางการเมืองมาไว้ในองค์กร

“แต่บางส่วนก็บอกอีกว่านี่ไม่ใช่การเมือง นี่เป็นเสรีภาพของสมาชิกสมาคม ทำไมเราเงียบเฉย ไม่แสดงออกในการปกป้อง”

ส่งผลให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับ “การนิ่งเฉย” ตัดสินใจลาออก ส่วนคนที่ยังอยู่ก็ได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป

“อย่างพี่ปื๊ดเองก็ถอดใจ”

“พี่ปื๊ดหมดวาระเป็นนายกพอดีในช่วงสิ้นเดือนกันยายน ตอนนี้คือช่วงรักษาการ หลายคนกำลังบิวต์ให้ลงสมัครต่อ แต่ดูเหมือนว่าพอเกิดปัญหาอย่างนี้พี่ปื๊ดจะไม่เอาแล้ว เพราะรู้สึกว่ามันต้องแบกความผูกพัน ความสัมพันธ์ ความประนีประนอมตรงนี้ไว้เยอะเกินไป”

ตัวของเขาเองก็ถอดใจเช่นกัน

“ผมทำงานสมาคมมา 8 ปี ผมช่วยตลอด อันไหนใครทำไม่ไหว ผมทำแทน อันไหนช่วยประคับประคองได้ ผมทำไง แต่เลือกตั้งครั้งใหม่ ไม่ว่าใครจะได้เป็น ก็คงไม่ทำแล้ว เพราะมันเหนื่อย แล้วยิ่งสถานการณ์การเมืองรุนแรงมาก สังคมทุกวันนี้มีแนวคิด 2 ฝัก 2 ฝ่าย สมาคมก็เหมือนกัน เราก็ประคองไม่ไหว ที่จะไม่ให้เขาขัดแย้งกัน”

“ตัวผมเองอยู่ตรงนี้มานาน ไม่เคยคิดนะครับว่าเรามาถึงจุดแบบนี้ได้ยังไง สมาคมมีความคิดแตกหักอย่างจริงจัง”

“ไม่เคยใช้คำนี้มาก่อน แต่นี่เหมือนจะแตกหักจริง เมื่อก่อนก็เคยมีคนออกไป แต่นั่นเป็นเรื่องนโยบายธรรมดา อันนี้เป็นเรื่องการเมือง มีคนออกเยอะ แล้วมีที่จ้องจะออกอีก”

เป็นคนอีกฝั่งความเห็นที่บอกว่าเบื่อกับสถานการณ์

“คำว่าแตกมันสะท้อนว่าความสมัครสมานสามัคคีเราไม่ดีแล้ว น้องๆ ที่เคยช่วยงานก็มองว่าสมาคมมีไว้ทำไม มีไว้ก็ไม่เห็นมีประโยชน์เลย เริ่มมีความคิดนี้”

ทั้งนี้ โดยส่วนตัว เขามีสิ่งหนึ่งที่อยู่ในใจและอยากบอกไปถึงเพื่อนพ้องน้องพี่ผู้กำกับภาพยนตร์ทุกคน

“อยากบอกว่าอุดมการณ์ต่างๆ ต่างกันก็จริง แต่มิตรภาพควรจะยังอยู่ องค์กรก็ควรจะยังอยู่บนมิตรภาพที่งดงามอย่างที่เคยเป็น”

“ตอนนี้เราอาจจะมองต่างมุมกัน แต่มันไม่ใช่อะไรที่จะทำลายมิตรภาพเราได้”

“อยากให้เป็นอย่างนั้น”

บางเรื่องก็ขึ้นกับนโยบายนายก

“เรื่องบางเรื่อง กรรมการเราจะคุยด้วยเหตุผล แล้วก็ค่อยตัดสินใจ”

“ถ้าเป็นเรื่องอย่างสมาคมจะส่งใครไปเมืองคานส์ดี อันนี้ใช้การโหวตคะแนนเสียงได้ แต่เรื่องภาพลักษณ์อย่างนี้มันยาก ทำไม่ได้”

ดังนั้น จึงมอบสิทธิให้นายกสมาคมพิจารณา

“ณ ตอนนี้ คือนายกประกาศชัดเจนว่าไม่เทกแอ๊กชั่น ก็ตามนโยบายนายกครับ เพราะว่าเขาก็รักษาภาพลักษณ์สมาคมที่จะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ถ้านายกคนใหม่จะเทกแอ๊กชั่นก็แล้วแต่เขา แต่เขาก็ต้องปรึกษากรรมการก่อน ถ้ากรรมการไม่เห็นด้วย นายกคนใหม่ก็คงลำบาก เพราะกรรมการที่ไม่เห็นด้วยก็คงจะลาออก มันก็ปัญหาเดิม”

“นอกจากว่ากรรมการชุดใหม่จะมีทิศทางความคิดไปในทางเดียวกันก็ไม่น่าจะมีปัญหา”