ในประเทศ / ชัตดาวน์ รัฐประหาร

ในประเทศ

 

ชัตดาวน์

รัฐประหาร

 

เมื่อครั้งที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกใหม่ๆ

ได้กล่าวถึงโอกาสที่จะมีรัฐประหารว่า “เท่ากับศูนย์”

เมื่อผ่านมาอีกร่วมเดือน ต่อคำถามเดียวกัน

คำตอบจาก พล.อ.ณรงค์พันธ์ ลดความเป็นไปได้ ลงไปอีก

คือ “รัฐประหารติดลบ”

จาก “ศูนย์” ไปสู่การ “ติดลบ” น่าจะทำให้ผู้ต่อต้านการรัฐประหารสบายใจขึ้น

แต่เอาเข้าจริงแล้ว เป็นเช่นนั้นหรือไม่

ความไม่แน่นอน คือคำตอบ

ด้วยเพราะมีการเสนอและสนองอยู่โดยตลอด

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน นายกฤตย์ เยี่ยมเมธากร เลขาธิการเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ในวันที่ 9 พฤศจิกายน สมาชิกเครือข่ายฯ นัดรวมตัวกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่จะยื่นจดหมายเปิดผนึกให้นายกรัฐมนตรี ที่สำนักนายกรัฐมนตรี จากนั้นจะเดินมาหน้ากองทัพบก เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)

เป้าหมายก็คือ เรียกร้องให้มีการรัฐประหาร ชัตดาวน์ประเทศ เพื่อเป็นทางออกให้ประเทศไทย

กระแสหนุน “รัฐประหาร” โผล่ขึ้นมาอีกระลอก

 

แต่กระนั้น หลังจากที่นายกฤตย์ประกาศออกไป เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝั่งฟากที่คัดค้านการรัฐประหารก็ดังกระหึ่ม

โดยชี้ว่าเข้าข่ายปลุกปั่นให้เกิดการกบฏ

และตั้งข้อสังเกตว่า เครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (คปส.) มีเป้าหมายปูทางให้ทหารยึดอำนาจ

ทำให้ในฝ่ายพวกเดียวกัน เช่น ภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบันกระโดดหนี ด้วยการแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย

กระแสลบนี้เอง ทำให้นายกฤตย์กับพวกเปลี่ยนไป

โดยการไปยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลและผู้บัญชาการกองทัพบก ได้เปลี่ยนไปเป็นเพียงเพื่อให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ทุกนาย

เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามถึงกรณีที่นายกฤตย์ระบุก่อนหน้านั้นว่าเป็นจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ ผบ.ทบ.ทำรัฐประหารเพื่อชัตดาวน์ประเทศนั้น

นายกฤตย์หลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามดังกล่าว พร้อมย้ำว่ามาให้กำลังใจเท่านั้น

และออกตัวว่า สิ่งที่สื่อออกไปนั้นไม่ได้ใช้คำชัดเจน และรุนแรงถึงขนาดว่าขอนายกฯ รัฐประหาร และการชัตดาวน์มีหลายวิธีการ

“การจะให้รัฐประหาร ให้ออกกฎอัยการศึกเป็นความคิดเห็นของสมาชิกเชิงปัจเจกบุคคล เราจบ จะไม่พูดเรื่องนี้อีกแล้ว จะดำเนินตามนโยบายและพันธกิจของเรา ร่วมกันรณรงค์ปกป้องสถาบันเท่านั้น” นายกฤตย์ระบุ

 

แม้ธงเชียร์รัฐประหารจะถูกลดลง โดยฝ่าย คปส.เอง

แต่กระนั้น การกวักมือเรียกทหารน่าจะฝังลึกอยู่ในใจของคนเหล่านี้

คำถามนี้จึงพุ่งไปที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์อีกครั้ง

ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ยกการ์ดสูง และรัดกุม

โดยเมื่อเผชิญคำถามว่าการเมืองยังไม่มีทางออก (จนอาจจะนำไปสู่การยึดอำนาจ)

แต่ผู้บัญชาการทหารบกแย้งว่า “มี”

และการ “มีทางออก” นั้น บิ๊กบี้ย้ำว่า ให้จำไว้เสมอว่าการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง ทุกคนต้องมีสติและมองกระจกให้รอบด้านว่าควรจะทำอะไร

เมื่อถูกถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ดูแลอะไรบ้าง พล.อ.ณรงค์พันธ์เลี่ยงตอบไปว่าได้รับคำสั่งว่าให้ดูแลตามแนวชายแดน โดยเฉพาะการป้องกันเรื่องโควิด ตนก็รับคำสั่งมา ตามภารกิจหน้าที่ของตน

เมื่อถามว่า ในสถานการณ์นี้บทบาทของทหารเป็นอย่างไร พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า บทบาทของทหารก็เป็นไปตามที่ได้ระบุไว้ ทั้งเรื่องงานชายแดน การดูแลประชาชนที่ประสบความเดือดร้อน

จนกระทั่งมาสู่คำถามสำคัญ มีการเรียกร้องให้ทำรัฐประหาร

คำตอบจาก พล.อ.ณรงค์พันธ์ก็คือ “รัฐประหารติดลบ”

 

ถือเป็นคำตอบที่โน้มนำไปในทาง “นิ่ง” และไม่ได้โน้มนำที่จะเป็นการเติมเชื้อไฟให้ร้อนแรง

จะเปรียบเป็นการชัตดาวน์ “รัฐประหาร” ก็ได้

ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดี

เพราะหากผู้บัญชาการทหารบก ซึ่ง “กุมกำลัง” ทั้งประเทศเอาไว้ในมือ พยายามยืนอยู่ในที่ตั้ง

ไม่เอนไหวไปกับเสียงเชียร์ให้ย้อนกลับไปใช้วิธีพิเศษอีกครั้ง ก็เป็นเรื่องที่เหมาะสม

เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็เป็นการสืบเนื่องมาจากรัฐประหารปี 2549 และ 2557 แทบทั้งสิ้น

และที่น่ากังวล มันได้ทะลุเพดานไปยังเรื่องอื่น ซึ่งละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อน โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน

ทำให้การแก้ไขปัญหายุ่งยากขึ้นไปอีก

ดังสถานการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่คณะราษฎรเคลื่อนขบวนมุ่งไปสู่พระบรมมหาราชวัง ศาลหลักเมือง วัดพระแก้ว เพื่อร่วมกันยื่นหนังสือให้มีการปฏิรูปสถาบัน

ซึ่งแม้จะจบลงด้วยดี แต่ก็มีเหตุการณ์สุ่มเสี่ยงที่จะพลิกผันไปสู่ความรุนแรง หรือสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ได้ตลอด

 

ทั้งนี้ ในสายตาของฝ่ายความมั่นคงอย่าง พล.อ.ณรงค์พันธ์มองว่าสถานที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนไป ทั้งหมดเป็นสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหล่านี้มีใครรับประกัน หรือรับผิดชอบได้หรือไม่ต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

“แม้การชุมนุมจะเป็นไปโดยสงบและสันติ แต่ในขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า มีกลุ่มคนซึ่งเราก็เห็นแล้วในคลิปว่าเขาเตรียมสิ่งของที่มีลักษณะคล้ายกับประทัด ที่มีไฟจุดขว้างข้ามรถบัส ผมถามว่าหากปล่อยไป จะโดยเจตนาหรือไม่เจตนา หากปาเข้าไปในศาลหลักเมือง วัดพระแก้ว เกิดความเสียหาย ใครจะออกมายืนรับผิดชอบ แล้วความรู้สึกของคนทั้งประเทศจะเป็นอย่างไร” พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าว

ผู้บัญชาการทหารบกกล่าวอีกว่า นี่คือสิ่งที่เราต้องช่วยกัน ในส่วนของเจ้าหน้าที่เขาพร้อมอยู่แล้ว เพราะอุทิศตนและยอมรับอยู่แล้ว แต่อย่าไปเอาประเด็นนั้นมาเป็นความขัดแย้ง ขอให้มองว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อส่วนรวมและประเทศชาติ จะเกิดอะไรขึ้นหากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทำตรงนั้น เพียงแต่ว่าสุดท้ายแล้วถือเป็นเรื่องดีที่สามารถเจรจากันได้ว่าทำได้แค่ไหน

“เขตพระราชฐานมีลักษณะคล้ายกับบ้าน เราก็ไม่ต้องการให้ใครมาบุกรุก ทุกคนก็รักบ้านตัวเองและครอบครัวตัวเอง สิ่งที่ผมพยายามก็คืออย่าให้เกิดความรุนแรง เพราะสถานการณ์ตอนนี้เรากำลังดีขึ้น”

 

ทั้งนี้ ฝ่ายผู้ชุมนุมพยายามชี้แจงว่า วัตถุคล้ายประทัดดังกล่าวเป็นเพียงพลุควันที่ไม่มีอันตราย และไม่ได้มีเป้าหมายที่มากไปกว่าเพื่อใช้พรางตัวไม่ให้ถูกฉีดน้ำ

แต่กระนั้นในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานดังกล่าว ก็มีโอกาสที่จะทำให้สถานการณ์พลิกผันไปได้

และบีบให้แต่ละฝ่ายไม่มีทางเลือกอื่น นอกจาก “แตกหัก” ต่อกัน

ซึ่งก็โชคดีที่ถึงตอนนี้ยังไม่เกิด “เหตุ” ดังกล่าว

แต่ในอนาคตอันใกล้ ยากที่จะคาดหมาย

เพราะถึงตอนนี้ ข้อเรียกร้อง 3 ประการของฝ่ายคณะราษฎรคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบัน

แทบมิได้มีการตอบสนอง

แถมยังมีแท็กติกขัดขวางอยู่ตลอด

ย่อมทำให้ผู้ชุมนุมมีแนวโน้มที่จะต้องยกระดับแรงกดดันขึ้นไปเรื่อยๆ

ขณะที่ฝ่ายต่อต้านก็เริ่มก่อตัวเป็นเครือข่ายมากขึ้น เมื่อผสมกับกลไกของรัฐ ก็อาจทำให้เกิดการปะทะกันทั้งทางความคิดและทางกาย

ซึ่งหากบานปลายไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นนองเลือด โดยอาจจะมีบางฝ่ายหวังลึกให้เกิดเช่นนั้น

การรัฐประหารที่ถูกชัตดาวน์ลงด้วยผู้บัญชาการทหารบก ทำให้โอกาส “ติดลบ”

อาจจะไม่ใช่เช่นนั้นตลอดไป

เงื่อนไขมี

แรงผลักดันลับๆ มี

เสียงเชียร์มี

จากรัฐประหารติดลบ

          ก็อาจกลายเป็นบวกได้ อย่าประมาทเด็ดขาด