สมชัย ศรีสุทธิยากร | สมานฉัน ไม่ใช่เธอ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

แนวคิดเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ถูกหยิบยกขึ้นมา จากการอภิปรายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเมื่อวันที่ 26-27 ตุลาคม 2563 โดยหลายฝ่ายเห็นว่า น่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สถานการณ์การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในปัจจุบันคลี่คลายลงได้

การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ดังกล่าวมิใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะในอดีต เมื่อมีความขัดแย้งแตกต่างทางความคิด การพบปะเจรจาหาหนทางให้ทั้งสองฝ่ายทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ให้ยอมรับและยอมถอยคนละก้าว ก็เป็นกระบวนการที่เคยเกิดขึ้น แม้ว่าจะยังไม่เคยเห็นผลของความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมเป็นแบบอย่างของการดำเนินการได้ก็ตาม

แต่ไม่ว่าแนวคิดดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ สิ่งที่ต้องเข้าใจร่วมกันคือ ความสำเร็จดังกล่าวขึ้นอยู่กับปัจจัยสนับสนุนหลายประการ มิใช่เพียงแค่อยากตั้งก็ตั้งแล้วหวังว่าจะสำเร็จ

หรือเพียงปากบอกว่าอยากสมานฉันท์ แต่การกระทำล้วนตรงข้าม

บรรยากาศการเจรจา

การสร้างบรรยากาศที่ดีที่เอื้อต่อการเจรจา มีรายละเอียดดังนี้

1) การเจรจาที่อยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียม สามารถดำเนินการได้ด้วยการกำหนดจำนวนตัวแทนที่เท่ากัน มีระดับความสามารถในการตัดสินใจที่เป็นตัวแทนของแต่ละฝ่ายที่เท่าเทียมกัน ภายใต้สถานที่ที่เป็นกลาง และให้มีโอกาสในด้านการนำเสนอข้อมูลที่เท่าเทียมกัน

สมมุติว่าฝ่ายหนึ่งส่งตัวแทนที่มีอำนาจมา แต่อีกฝ่ายหนึ่งยังส่งเพียงแค่ระดับล่างที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจใดๆ มาร่วมประชุม เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งต้องตัดสินใจก็ต้องกลับไปขออนุญาตขอความเห็นจากผู้มีอำนาจ กรณีเช่นนี้เรียกว่า ไม่เท่าเทียม ดังนั้น การคัดเลือกตัวแทนเข้ามาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

2) บรรยากาศที่ปราศจากการข่มขู่คุกคาม ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจที่มีตามกฎหมายจับกุมคุมขังด้วยข้อหาสารพัดกับอีกฝ่ายหนึ่ง ย่อมไม่ใช่บรรยากาศที่สนับสนุนไปสู่การเจรจาแบบสมานฉันท์

ตัวอย่างหนึ่งในอดีต เช่น ในเดือนพฤษภาคม 2557 กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ประกาศกฎอัยการศึก และเชิญตัวแทน 7 ฝ่ายเข้าร่วมเจรจาแก้ปัญหาวิกฤตที่สโมสรกองทัพบก และถือโอกาสใช้อาวุธควบคุมผู้เข้าร่วมประชุมและก่อการรัฐประหาร เป็นกรณีตัวอย่างที่อาจนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจของคู่กรณีที่เข้าร่วมเจรจาได้

3) บรรยากาศที่พูดคุยกันด้วยเหตุผล แต่ละฝ่ายต้องลดทิฐิและการเห็นความถูกต้องของฝ่ายตนแต่ฝ่ายเดียว ต้องเปิดกว้างในการรับเหตุผลของฝ่ายตรงข้าม ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงและหลักการทางวิชาการหรือหลักปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลเป็นตัวตั้งในการเจรจา

การสร้างกระแสความชิงชังให้เกิดขึ้นในสังคม การให้ถ้อยคำหยาบคายหรือสร้างกระแสชิงชังต่อฝ่ายตรงข้าม (Hate Speech) ทั้งที่กระทำโดยฝ่ายที่สนับสนุนรัฐหรือฝ่ายตรงข้ามต้องรณรงค์ให้ละเว้นหรือลดระดับลง

กลไกของรัฐที่สนับสนุน

ฝ่ายรัฐเป็นฝ่ายที่มีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จในการสมานฉันท์ โดยนอกเหนือจากผู้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เป็นตำแหน่งทางการเมืองที่จะแสดงออกในเชิงนโยบายแล้ว กลไกของรัฐในระดับรองต้องมีการแสดงออกในทางที่สอดคล้องกันด้วย

แต่สิ่งที่เราเห็น กลับเป็นว่ากลไกของรัฐในระดับล่าง กลับพยายามใช้กฎหมายบ้านเมืองทุกฉบับ ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ร.บ.การควบคุมโรคติดต่อ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไปจนถึง พ.ร.บ.จราจร พ.ร.บ.รักษาความสะอาด หรือแม้กระทั่งประกาศเกี่ยวกับการอนุญาตใช้เครื่องกระจายเสียงในที่สาธารณะเพื่อเอาผิดทุกทางกับผู้ชุมนุม

ปรากฏการณ์ของการออกหมายจับแทนที่จะใช้หมายเรียก การฝากขัง การคัดค้านการประกันตัว หรือปรากฏการณ์จับปล่อยจับปล่อยทุกครั้งที่เมื่อศาลไม่อนุมัติการฝากขังก็ใช้หมายจับอื่นเข้ามาควบคุมตัวต่อ

สิ่งต่างๆ เหล่านี้มิได้ส่งเสริมให้เกิดการเจรจาเชิงสมานฉันท์แต่จะยิ่งนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น

การคัดเลือกตัวแทนการเจรจาที่เหมาะสม

การกำหนดโครงสร้างและวิธีการได้มาของคณะกรรมการสมานฉันท์ ทั้งในด้านจำนวนและคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมล้วนเป็นเงื่อนไขสำคัญของความสำเร็จ

การออกแบบที่ดีต้องมีจำนวนของคู่ขัดแย้งที่เท่ากันและมีคุณสมบัติอยู่ในระดับที่เสมอกัน และอาจมีคนกลางอีกจำนวนหนึ่งไม่มากไปกว่าตัวแทนแต่ละฝ่ายของคู่ขัดแย้งโดยคนกลางต้องเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายจริง ยกตัวอย่างเช่น คณะกรรมการสมานฉันท์อาจประกอบด้วยคู่กรณีที่ขัดแย้งฝ่ายละ 6 คน และมีกรรมการที่เป็นกลางอีก 6 คน รวมเป็น 18 คน เป็นต้น

การได้มาซึ่งคณะกรรมการที่เป็นกลาง อาจให้แต่ละฝ่ายเสนอชื่อบุคคลที่ฝ่ายตนเห็นว่ามีความเป็นกลางขึ้นมาเป็นจำนวน 3 หรือ 4 เท่าของจำนวนในสัดส่วนของฝ่ายตนเองและให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นฝ่ายเลือกในบัญชีรายชื่อเหล่านี้ เพื่อให้ได้คนที่ทั้งสองฝ่ายเห็นว่ามีความเป็นกลางเชื่อถือได้

หรืออาจมีวิธีการแบบอื่นได้ตามความเหมาะสม แต่ไม่ใช่การแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจรัฐแต่ฝ่ายเดียว

รูปแบบและวาระการประชุม

จําเป็นต้องมีการผสานรูปแบบการประชุมทุกรูปแบบเพื่อให้เกิดความสำเร็จ ทั้งประชุมกลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็ก ประชุมรวม ประชุมแยก ประชุมลับและประชุมเปิดเผย เพื่อให้เกิดความสำเร็จโดยผู้เป็นประธานและกรรมการที่เป็นกลางต้องเป็นผู้มีบทบาทนำในการประชุม

การจัดวาระการประชุม ให้เริ่มจากเรื่องขัดแย้งกันน้อย หรือตกลงกันได้ง่ายเป็นหัวข้อในการเจรจาก่อน ตัวอย่างเช่น หากข้อเรียกร้องมี 3 ข้อ คือ ให้นายกรัฐมนตรีลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก็อาจเรียงจากเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องแรก ตามมาด้วยเรื่องการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี และ สุดท้ายที่เรื่องการปฏิรูปสถาบัน

เรื่องง่ายที่ประสบความสำเร็จ อาจสร้างความพึงพอใจให้แก่คู่กรณีจนอาจลดระดับความต้องการในเรื่องยากได้

กรอบระยะเวลาการดำเนินการ

แม้ประเด็นความขัดแย้งจะเป็นเรื่องความจำเป็นเร่งด่วน แต่การเร่งรัดการเจรจาอาจไม่เป็นผลดีคือ ขาดระยะเวลาในการพิจารณาไตร่ตรองหรือหาทางออกที่เหมาะสม แต่ในทางตรงข้ามการยืดหรือขยายเวลาที่เกินกว่าความจำเป็นก็อาจถูกมองว่าเป็นการยื้อเวลาให้เกิดประโยชน์แก่ฝ่ายตนเองเท่านั้น

ระยะเวลา 2-3 เดือนจึงน่าจะเป็นกรอบเวลาของการทำงานที่ไม่สั้นหรือยาวเกินไป โดยหากมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นได้จริง กรอบเวลาการทำงานดังกล่าวต้องเป็นกรอบที่ทุกฝ่ายมุ่งเจรจาด้วยสันติ ฝ่ายรัฐต้องยุติการให้อำนาจรัฐเพื่อคุกคามฝ่ายผู้ชุมนุม ฝ่ายผู้ชุมนุมก็ต้องยุติการชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาล

เปรียบเหมือนการยุติการรบชั่วคราว จนกว่าผลของการเจรจาเป็นที่ยุติ

ผลการประชุมและการนำไปสู่การปฏิบัติ

ข้อตกลงที่ได้จากการประชุมเพื่อสร้างความสมานฉันท์ ควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรที่ลงนามร่วมกันระหว่างคู่กรณีโดยจะต้องเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง โดยอาจมีลำดับขั้นของการดำเนินการก่อนหลังและควรมีกระบวนการรายงานความคืบหน้าและความสำเร็จต่อประชาชน

คณะกรรมการสมานฉันท์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นกลไกที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อความสมานฉันท์และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ได้อย่างแท้จริง

แต่หากมุ่งเพียงแค่ได้เปรียบ เพื่อแก้เกมทางการเมือง หรือเพื่อยื้อสถานการณ์ออกไปชั่วคราว

อันนั้น สมานฉัน ไม่ใช่สมานเธอ